การอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดี (อ.) สุนทโรวาทสุดท้ายของอิมามฮุเซน (อ.) ก่อนการเป็นชะฮีด
Powered by OrdaSoft!
No result.
การอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดี (อ.) สุนทโรวาทสุดท้ายของอิมามฮุเซน (อ.) ก่อนการเป็นชะฮีด

เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์ และเมื่อพิจารณาถึงช่วงวันต่าง ๆ ของการรำลึกถึงการเป็นชะอีด (มรณะสักขี) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) จำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจต่อชีวประวัติและวิถีชีวิตในมิตินี้ของท่านอิมาม (อ.) และทำการวิเคราะห์ตรวจสอบบทบาทของท่านอิมาม (อ.) ในประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์นี้ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับนำเอาประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เชิงปฏิบัติ

    ประเด็นสุดท้ายที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้นำเสนอในวันอาชูรอในฐานะเป้าหมายอันสูงส่งคือประเด็นเกี่ยวกับมะฮ์ดะวียะฮ์ (1) และการกลับมา (ร็อจอะฮ์) (2) ของท่านในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) ซึ่งผลของการนำเสนอประเด็นนี้จะทำให้เกิดการเติบโตและการขับเคลื่อนของสังคมชีอะฮ์

    ตามความเชื่อของชีอะฮ์ มะฮ์ดะวียะฮ์ เป็นหนึ่งในหลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของอิสลาม ซึ่งพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสัญญาถึงการเกิดขึ้นของมันไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานหลายครั้งด้วยความหมายและสิ่งที่ถูกบ่งชี้ (มัฟฮูม) ต่างๆ และพระองค์ได้ทรงกำหนดบรรดาบุคคลที่ดีที่สุดของมวลมนุษยชาติ หมายถึง บรรดาศาสดาและศาสนทูต (อ.) และเหนือกว่าบรรดาศาสนทูต (อ.) ทั่วไป ก็คือบรรดาศาสทูต “อุลุลอัศม์” (บรรดาศาสนทูตที่มีความมุ่งมั่นในการเผยแพร่ศาสนา) ไว้ในเส้นทางสู่การบรรลุความจริงของมัน  ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า : “ประเด็นมะฮ์ดะวียัตเป็นประเด็นหลัก เป็นคำสอน (มะอาริฟ) แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง...นั่นก็คือสิ่งที่ปวงศาสดาทั้งหมดถูกแต่งตั้งมาก็เพื่อสิ่งนี้” (3)

อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) มีความมุ่งมั่นมากที่สุดต่อประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์

    เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์ และเมื่อพิจารณาถึงช่วงวันทั้งหลายของการรำลึกถึงการเป็นชะอีด (มรณะสักขี) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) จำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจต่อชีวประวัติและวิถีชีวิตในมิตินี้ของท่านอิมาม (อ.) และทำการวิเคราะห์ตรวจสอบบทบาทของท่านอิมาม (อ.) ในประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์นี้ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับนำเอาประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เชิงปฏิบัติจากมันออกมา เนื่องจากว่าในเมื่อประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์เป็นหนึ่งในคำสอนหลักที่สำคัญที่สุด บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในฐานะที่เป็นครูของมนุษยชาติย่อมต้องแสดงความมุ่งมั่นและให้ความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) อย่างเต็มที่ต่อประเด็นนี้ไว้ และตั้งเป้าหมายชีวิตของพวกท่านไปในทิศทางนี้  และพวกเราเองก็เช่นกันจำเป็นจะต้องพยายามค้นหาแนวคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นจากชีวิตของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ทั้งนี้เนื่องจากจนถึงขณะนี้เราได้ให้ความสนใจในด้านต่าง ๆ ของชีวิตของบรรดาอิมาม (อ.) ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ นิติศาสตร์ จริยธรรม ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่บทบาทที่มีสำคัญของท่านเหล่านั้นในทิศทางของมะฮ์ดะวียะฮ์และซุฮูร (การปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี) นั้นยังไม่ได้รับการศึกษาและตรวจสอบอย่างจริงจังโดยละเอียด จะมีก็แต่เพียงการกล่าวถึงหะดีษเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) อย่างเดียวเท่านั้น หลักฐานที่ชี้ถึงในเรื่องนี้ก็คือว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเขียนที่เป็นการอธิบาย (ตัฟซีร) เกี่ยวกับแนวคิดภาพรวมเกี่ยวกับมะฮ์ดะวียะฮ์เลยแม้แต่เล่มเดียว และ "ในสถาบันสอนศาสนาและมหาวิทยาลัย ยังไม่มีการแนะนำแนวคิดภายใต้หัวข้อมะฮ์ดะวียะฮ์เลย” (4)

    ระหว่างเส้นทางจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ และจากมักกะฮ์ไปยังกูฟะฮ์ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ชี้ถึงยุคแห่งการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการปกครองอันชอบธรรมของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ซึ่งสามารถที่จะตรวจสอบแง่มุมต่างๆ ของการยืนหยัดต่อสู้ของท่านได้ ด้วยการพิจารณาถึงรหัสลับและสัญลักษณ์บ่งชี้เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ท่านอยู่ต่อหน้าวะลิด บิน อุตบะฮ์ ผู้ปกครองหัวเมืองของยะซีด ในเมืองมะดีนะฮ์ ท่านกล่าวประโยคคำพูดที่น่าความคิดและลึกซึ้งนี้กับวะลีดว่า :

                                                         وَ بِنَا فَتَحَ اللَّهُ وَ بِنَا خَتَمَ اللَّهُ         

          "อัลลอฮ์ทรงเริ่มต้นด้วยสื่อพวกเรา และจะทรงทำให้สิ้นสุดด้วยสื่อพวกเรา"

      จำเป็นต้องถามว่า พวกท่านเริ่มต้นอะไรและจะทำให้อะไรสิ้นสุดลง? ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวต่อไปว่า :

              وَ لَکِنْ نُصْبِحُ وَ تُصْبِحُونَ وَ نَنْظُرُ وَ تَنْظُرُونَ أَیُّنَا أَحَقُ‏ بِالْبَیْعَةِ و بِالْخِلَافَة

          "แต่ทว่าพวกเราและพวกท่านจะรอคอยยามเช้า และพวกเราและพวกท่านจะได้เห็นว่าฝ่ายใดจะคู่ควรยิ่งต่อการได้รับสัตยาบัน (บัยอัต) และต่อตำแหน่งผู้ปกครอง (คิลาฟะฮ์)?" (5)

    ในประโยคคำพูดนี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ชี้ถึงยุคที่ประชาชนทั่วไปจะให้สัตยาบัน (บัยอัต) ต่อท่าน และจะแสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงสิทธิอันชอบธรรมและความคู่ควรของตนที่มีต่ออำนาจปกครอง (คิลาฟะฮ์) แห่งพระเจ้า ในที่นี้จำเป็นต้องถามว่า ทำไมสิ่งที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวไว้นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น แล้วมันจะเกิดขึ้นเมื่อใด? คำพูดประโยคนี้ของท่านอิมาม (อ.) มีความเกี่ยวข้องกับประโยคข้อความหนึ่งจากโองการที่ 102 ของอัลกุรอานซูเราะฮ์ยูนุสหรือไม่? ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

                                  فَانْتَظِرُوا إِنِّی مَعَکُمْ مِنَ الْمُنْتَظِرِینَ

          "ดังนั้นพวกท่านจงรอคอยเถิด แท้จริงฉันก็เป็นหนึ่งในผู้รอคอย พร้อมกับพวกท่าน” (6)

    ในริวายะฮ์บทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้มีการกล่าวถึงการอรรถาธิบายโองการต่างๆ ช่วงต้นของซูเราะฮ์ อัลบะกอเราะฮ์ คือ :

                  الم؛ ذلِكَ الْکِتابُ لا رَیْبَ فِیهِ هُدىً لِلْمُتَّقِینَ؛ الَّذِینَ یُؤْمِنُونَ بِالْغَیْبِ

          "อะลิฟ ลาม มีม คัมภีร์นี้ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ในนั้น เป็นทางนำสำหรับบรรดาผู้ยำเกรง คือบรรดาผู้ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ" (7)

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

المتقون: شیعة علی (علیه السلام)، و الغیب فهو الحجة الغائب، و شاهد ذلك قوله تعالى: وَ یَقُولُونَ‏ لَوْ لا أُنْزِلَ‏ عَلَیْهِ‏ آیَةٌ مِنْ‏ رَبِّهِ‏ فَقُلْ‏ إِنَّمَا الْغَیْبُ‏ لِلَّهِ‏ فَانْتَظِرُوا إِنِّی‏ مَعَکُمْ‏ مِنَ‏ الْمُنْتَظِرِینَ‏

          “บรรดาผู้ยำเกรง คือ ชีอะห์ของอะลี (อ.) และสิ่งเร้นลับ (อัล ฆ็อยบ์) นั้น คือ ฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์ของอัลลอฮ์) ผู้เร้นกาย และพยานหลักฐานในสิ่งนี้คือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ที่พระองค์ทรงตรัสว่า : “และพวกเขากล่าวว่า ทำไมจึงไม่มีสัญญาณ (ปาฏิหาริย์) จากพระผู้อภิบาลของเขาถูกประทานลงมายังเขา จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) แท้จริงสิ่งเร้นลับนั้นเป็นของอัลลอฮ์ พวกท่านจงรอคอยเถิด แท้จริงฉันนั้นอยู่กับพวกท่านในหมู่ผู้รอคอยกับพวกท่านด้วย" (อัลกุรอานบท(ซูเราะฮ์) ยูนุส โองการ (อายะฮ์) ที่ 20) (8)

ประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์ คำเทศนาครั้งสุดท้ายของอิมามฮุเซน (อ.) ในกัรบาลา

    ประเด็น “มะฮ์ดะวียะฮ์” (เรื่องราวเกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดี (อ.) และยุคสุดท้าย),  “ซุฮูร” (การปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี) และ “ร็อจอะฮ์” (การกลับมาของคนกลุ่มหนึ่งก่อนวันสิ้นโลก) นั้นมีความสำคัญมากถึงขั้นที่คำเทศนา (คุฏบะฮ์) ครั้งสุดท้ายของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้พูดถึงประเด็นนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งน่าเสียดายที่ยังได้รับความสนใจน้อยมากจากชาวชีอะฮ์ ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

قَالَ الْحُسَیْنُ (علیه السلام) لِأَصْحَابِهِ قَبْلَ أَنْ یُقْتَلَ إِنَّ رَسُولَ اللَّهِ (صلی الله علیه و آله) قَالَ لِی یَا بُنَیَّ إِنَّكَ سَتُسَاقُ إِلَی الْعِرَاقِ وَ هِیَ أَرْضٌ قَدِ الْتَقَی بِهَا النَّبِیُّونَ وَ أَوْصِیَاءُ النَّبِیِّینَ (علیهم السلام) وَ هِیَ أَرْضٌ تُدْعَی عَمُورَا وَ إِنَّكَ تُسْتَشْهَدُ بِهَا وَ یُسْتَشْهَدُ مَعَكَ جَمَاعَةً مِنْ أَصْحَابِكَ لَا یَجِدُونَ أَلَمَ مَسِّ الْحَدِیدِ وَ تَلَا قُلْنا یا نارُ کُونِی بَرْداً وَ سَلاماً عَلی إِبْراهِیمَ یَکُونُ الْحَرْبُ بَرْداً وَ سَلَاماً عَلَیْكَ وَ عَلَیْهِمْ فَأَبْشِرُوا فَوَ اللَّهِ لَئِنْ قَتَلُونَا فَإِنَّا نَرِدُ عَلَی نَبِیِّنَا قَالَ ثُمَّ أَمْکُثُ مَا شَاءَ اللَّهُ فَأَکُونُ أَوَّلَ مَنْ یَنْشَقُّ الْأَرْضُ عَنْهُ فَأَخْرُجُ

          “ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวกับบรรดาสหายของท่านก่อนที่ท่านจะถูกสังหารว่า แท้จริง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับฉันว่า : "โอ้ลูกน้อยของฉัน! แท้จริงในไม่ช้าเจ้าจะถูกไล่ต้อนไปยังอิรัก มันคือดินแดนที่บรรดาศาสดาและบรรดาผู้สืบทอด (วะซีย์) ของปวงศาสดา (อ.) ไปพบกับมัน และมันคือดินแดนที่ถูกเรียกว่า "อะมูรอ" แท้จริงเจ้าจะเป็นชะฮีดในที่แห่งนั้น และสหายกลุ่มหนึ่งของเจ้าก็จะเป็นชะฮีดพร้อมกับเจ้า พวกเขาจะไม่รู้สึกเจ็บปวดกับคมหอกคมดาบ"

    แล้วท่านก็อ่านโองการ :

                                قُلْنا یا نارُ کُونِی بَرْداً وَ سَلاماً عَلی إِبْراهِیمَ

          "เรา (อัลลอฮ์) กล่าวว่า ไฟเอ๋ย จงเย็นลง และจงให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด"  (และท่านศาสนทูตกล่าวต่อว่า) สงครามจะเย็นลงและเป็นสันติสุข (ไม่สร้างควาเจ็บปวดใดๆ) แก่เจ้าและแก่พวกเขา " (ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวต่อว่า) ดังนั้นจงยินดีต่อข่าวดีเถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ หากพวกเขาฆ่าเรา เราจะไปยังศาสดาของเรา ท่านกล่าวว่า : แล้วฉันจะพำนักอยู่ที่นั้นตราบชั่วเวลาที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ แล้วฉันจะเป็นคนแรกที่แผ่นดินจะแยกออก แล้วฉันจะออกมา "

    จากนั้นท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ได้อธิบายให้บรรดาสหายฟังถึงขั้นตอนต่างๆ ที่พวกท่านจะต้องดำเนินการไปจนถึงดินแดนแห่งการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) (9)

การเติบโตและขับเคลื่อนของสังคม ผลของการให้ความสำคัญต่อประเด็นอิมามฮุเซน (อ.) และมะฮ์ดะวียะฮ์

    เป็นที่ชัดเจนว่า ประเด็นสุดท้ายที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวถึงในวันอาชูรอ ในฐานะเป้าหมายที่สูงส่งประการหนึ่ง คือประเด็น “มะฮ์ดะวียะฮ์” ในขณะที่ในเรื่องราวเกี่ยวกับกัรบาลานั้น เราจะนำเสนอเฉพาะหมวดของการเป็นชะฮีดแก่ผู้ฟังเพียงเท่านั้น หากมีการนำเสนอและพูดคุยเรื่องราวของอาชูรอในส่วนนี้ นอกเหนือจากการร้องไห้และไว้อาลัยต่อการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) แล้ว ชาวชีอะฮ์ยังจะได้ใช้เวลาของพวกเขาเพื่อความหวังในรอคอยการกลับมา (ร็อจอะฮ์) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) อีกด้วย และในทิศทางนี้ วัฒนธรรมของสังคมชีอะห์ จะเป็นวัฒนธรรมที่มีความเคลื่อนไหว (พลวัต) และพัฒนาเติบโต ประเด็นที่น่าคิดก็คือว่า เราจะอ่านในบทซิยารัตว่า  «مُنْتَظِرٌ لِرَجْعَتِکُم‏» "ผู้รอการร็อจอะฮ์ของพวกท่าน" ซึ่งนั่นก็หมายถึงประเด็นนี้

    ในอีกด้านหนึ่ง ในริวายะฮ์อื่น ๆ เกี่ยวกับยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) และช่วงเวลาแห่งการปรกฏตัว (ซุฮูร) นั้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้รับการแนะนำในฐานะเป็นผู้ฟื้นคืนชีพ (ร็อจอะฮ์) กลับมาคนแรก ซึ่งช่วงเวลานั้นท่านจะปกครองยาวนานจนแก่ชรา จนกระทั่งคิ้วทั้งสองของท่านหย่อนยานลงมาปิดตาของท่าน ในเรื่องนี้ ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

أَوَّلُ مَنْ يُكِرُّ فِیْ رَجْعَتِهِ الْحُسَیْنُ بْنُ عَلِي علیه السَّلام یَمْکَثُ فِی الْأَرْضِ حَتّی یَسْقُطَ حَاجِبَاهُ عَلَی عَیْنَیْهِ

           "บุคคลแรกที่จะกลับมายังโลกนี้คือท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้จนกระทั่งคิ้วทั้งสองของท่านจะตกมาปิดดวงตาของท่าน (เนื่องจากวัยชรา)" (10)

    ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอ่านทบทวนชีวประวัติและวิถีชีวิตของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) อีกครั้งจากมุมมองของมะฮ์ดะวียะฮ์ และขยับจากเรียนรู้แค่ชีวประวัติไปสู่การรับรู้แนวความคิดในคำพูดและพฤติกรรมของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในทิศทางที่สอดคล้องกับประเด็นมะฮ์ดะวียะฮ์และซุฮูร นี่เป็นประเด็นที่พระผู้เป็นเจ้าเน้นย้ำในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน


เชิงอรรถ :

(1). “มะฮ์ดะวียะฮ์” คือหลักความเชื่อ (อะกีดะฮ์) ที่เชื่อมั่นในการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของนักปฏิรูป (มุศลิห์) หรือผู้ช่วยให้รอด (มุนญี) จากอะฮ์ลุลบัยต์ (ครอบครัว) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในยุคสุดท้ายก่อนการอวสานของโลก ที่รู้จักกันในหมู่ชาวมุสลิมในนาม "อิมามมะฮ์ดี (อ.)" และเชื่อว่าท่านจะเติมเต็มโลกด้วยความเสมอภาคและความยุติธรรม และท่านจะปรากฏตัวขึ้นเพื่อดำรงศาสนาของอัลลอฮ์และแผ่ขยายสัจธรรมไปทั่วโลก

(2). "ร็อจอะฮ์" คือการฟื้นคืนชีพของคนตายกลุ่มหนึ่งก่อนวันสิ้นโลก และการกลับมาสู่โลกของพวกเขาในช่วงการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)  "ร็อจอะฮ์" เป็นหนึ่งในหลักความเชื่อ (อิอ์ติกอด) ของชีอะฮ์  และได้อ้างอิงหลักฐานจากโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ต่างๆ เพื่อพิสูจน์ถึงประเด็นนี้ นักวิชาการชาวชีอะฮ์เชื่อว่า "ร็อจอะฮ์" นี้จะเกิดขึ้นพร้อมกับการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)

(3). สุนทโรวาท วันที่ 4/18/90 (ปีเปอร์เซีย)

(4). ฮุจญะตุลอิสลาม มีร กาโตลี, ผู้อำนวยการมัจญ์มะอ์ อาลี ตัฟซีร กุรอาน

(5). บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 44, หน้า 325

(6). อัลกุรอานบทยูนุส โองการที่ 102

(7). อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 1-3

(8). อัล บุรฮาน ฟี ตัฟซีร อัลกุรอาน, ซัยยิดฮาชิม บะห์รอนี, เล่ม 1, หน้า 124

(9). อัล-คอรออิจ วัล-ญะรออิห์, เล่ม 2, หน้า 848

(10). อัล-อีกอซ มินัล-ฮัจอะฮ์ บิล-บุรฮาน อะลัล-รอจอะฮ์, หน้า 358


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 563 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

20917990
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
13561
47468
13561
20515463
402527
2496676
20917990

อ 08 ก.ย. 2024 :: 07:33:07