ภารกิจของผู้รอคอย (กออิม) ผู้ดำรงความยุติธรรม
Powered by OrdaSoft!
No result.

ภารกิจของผู้รอคอย (กออิม) ผู้ดำรงความยุติธรรม

    หนึ่งในหน้าที่สำคัญในยุคของการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือความมีสปิริตและจิตวิญญาณของการปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงในสังคม ทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม และอุตสาห์พยายามในหนทางของการแก้ไขปรับปรุงและการขัดเกลาสมาชิกของสังคม เพื่อทำให้สังคมและสมาชิกของสังคมมีความพร้อมที่จะยอมรับการมาของรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

وَ لَوْ لَا دَفْعُ اللَّهِ النَّاسَ بَعْضَهُم بِبَعْضٍ لَّفَسَدَتِ الْأَرْض

"และหากว่าอัลลอฮ์ไม่ทรงป้องกันมนุษย์ ซึ่งบางส่วนของพวกเขาด้วยอีกบางส่วนแล้วไซร้ แน่นอนแผ่นดินก็ย่อมเสื่อมเสียไปแล้ว" (1)

   ดังนั้นบรรดาผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ที่ไม่มีความพยายามที่จะช่วยกันแก้ไขปรับปรุงสังคม ความเสื่อมทรามก็จะแผ่ปกคลุมสังคมอย่างกว้างขวาง และความพร้อมของสังคมสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมาม (อ.) ก็จะถูกทำให้ล่าช้าออกไป การปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงสังคมจะเป็นจริงได้ก็ด้วยการอาศัยการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว กฎเกณฑ์ของการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วนี้ถูกเน้นย้ำไว้อย่างมากในตัวบทต่าง ๆ ของอิสลาม ทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานและอัลฮะดีษ

    ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านอิมามซัยนุ้ลอาบิดีน (อ.) ได้ชี้ถึงการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วว่า เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญของบรรดาผู้รอคอย (มุนตะซิร) ท่านได้กล่าวว่า :

    "...พระผู้เป็นเจ้าจะทรงถือว่าพวกเขา (ผู้รอคอยการมาของอิมามมะฮ์ดี) ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) นั้น เปรียบประหนึ่งผู้ที่ถือดาบต่อสู้กับศัตรูของศาสนา เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พวกเขาคือผู้ที่มีความจริงใจต่อเราและเป็นชีอะฮ์ที่แท้จริงของเรา พวกเขาจะเรียกร้องเชิญชวนประชาชนมาสู่ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งโดยลับและโดยเปิดเผย" (2)

    ในฮะดีษจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ท่านได้กล่าวเช่นนี้ว่า :

المنتظرُ لأمرنا كالمتشحِّطِ بدمه في سبيل الله

"ผู้ที่รอคอยกิจการ (การปกครอง) ของเรานั้น ประดุจดั่งผู้ที่แปดเปื้อนไปด้วยเลือดของตนเองในหนทางของอัลลอฮ์" (3)

   ในทัศนะของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) การรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือการรอคอยอำนาจการปกครองของอิสลาม ดังนั้นความพยายามในการจัดเตรียมพื้นฐานไปสู่อำนาจการปกครองดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน และถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) โดยท่านได้กล่าวว่า :

"การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (การมาของอิมามมะฮ์ดี) คือการรอคอยอำนาจของอิสลาม และจำเป็นที่เราจะต้องอุตสาหะพยายามเพื่อทำให้อำนาจของอิสลามบรรลุความเป็นจริงขึ้นในโลกให้ได้ และพื้นฐานต่างๆ ของการปรากฏขึ้นของมันจะต้องถูกจัดเตรียมขึ้น อินชาอัลลอฮ์ (หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์)" (4)

เป้าหมายสูงสุดของการรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

  ในตรรกะของการรอคอยการมาของรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (ผู้ช่วยให้รอด) นั้น เป้าหมายสูงสุดของมันคือ การไปถึงจุดสูงสุดของการปฏิบัติตนเป็นบ่าวที่สมบูรณ์ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า และการไปถึงยังโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าต่าง ๆ แห่งความเป็นมนุษย์ เป็นโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม ความเสมอภาค ความสงบสุขและสันติภาพอย่างแท้จริง ภายใต้การปกครองของบรรดาผู้ทรงคุณธรรม (ซฮลิฮีน) ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :

وَ نُرِیدُ أَن نَّمُنَّ عَلَى الَّذِینَ اسْتُضْعِفُوا فِی الْأَرْضِ وَ نَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَ نَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِینَ

"และเราประสงค์ที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะบันดาลให้พวกเขาเป็นผู้นำ และบันดาลให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด (อำนาจการปกครอง)" (5)

    และสิ่งนี้จะบรรลุความเป็นจริงได้ในยุคการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) มีผู้ถามท่านอิมามริฎอ (อ.) ว่า :

يا ابن رسول اللَّه و من القائم منکم أهل البيت؟

"โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! กออิม (ผู้ดำรงความยุติธรรม) จากพวกท่าน ผู้เป็นอะฮ์ลุลบัยต์นั้นคือใคร?"

   ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า :

الرابع من ولدي ابن سيّدة الإماء، يطهّر اللَّه به الأرض من کلّ جور و يقدّسها من کلّ ظلم، [و هو] الذي يشکّ الناس في ولادته و هو صاحب الغيبة قبل خروجه. فإذا خرج أشرقت الأرض بنوره [بنور ربّها] و وضع ميزان العدل بين الناس فلايظلم أحد أحداً

"เขาคือคนที่สี่จากลูกหลานของฉัน เป็นบุตรชายของหัวหน้าของทาสหญิง อัลลอฮ์จะทรงทำให้แผ่นดินสะอาดบริสุทธิ์จากทุกความอธรรมและการกดขี่ เขาคือผู้ซึ่งมวลมนุษย์จะคลางแคลงใจในการถือกำเนิดขึ้นของเขา เขาคือผู้ที่จะมีการเร้นกายก่อนการยืนหยัดต่อสู้ของเขา และเมื่อเขาปรากฏตัวขึ้น แผ่นดินจะเปล่งประกายไปด้วยรัศมีขององค์พระผู้อภิบาลของมัน และตราชูแห่งความยุติธรรมจะถูกวางลงในระหว่างมวลมนุษย์ โดยที่จะไม่มีผู้ใดอธรรมต่อผู้ใดอีก..." (6)


แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 251

(2) มะฮ์ดี เมาอูด, หน้า 893

(3) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 52, หน้า 123

(4) ซอฮีเฟ่เย่ นูร, เล่ม 2, หน้า 198

(5) อัลกุรอาน บทอัลก็อศ๊อศ โองการที่ 5

(6) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 321 – 322


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่.

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 675 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10292872
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
14975
84077
313717
9524455
99052
2045354
10292872

พฤ 02 พ.ค. 2024 :: 04:33:17