รางวัลพิเศษที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.)
Powered by OrdaSoft!
No result.
รางวัลพิเศษที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.)

รางวัลพิเศษของพระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ ที่จะไปถึงบรรดาผู้ประพฤติดีและปฏิบัติตนเป็นที่พึงพอพระทัยของพระองค์ ไม่มีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นจากพระองค์โดยไร้เหตุผลและปราศจากสาเหตุ และความรักที่พระองค์มีต่อปวงบ่าวของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่กว่า...

    ชีวิตทางโลกนี้เต็มไปด้วยเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ บ้างก็ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดีและสุดยอดสำหรับมนุษย์ และบ้างก็ดูแย่และไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ เหตุผลและวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของเหตุการณ์บางอย่างก็เป็นที่ประจักษ์ชัดในช่วงชีวิตนี้ แต่วิทยปัญญาของเหตุการณ์บางอย่างก็ยังไม่เป็นที่รับรู้สำหรับมนุษย์ ถ้าหากเรายอมรับอย่างแท้จริงว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงปรีชาญาน (ฮะกีม) และไม่มีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นจากพระองค์โดยไร้เหตุผลและปราศจากสาเหตุ และความรักที่พระองค์มีต่อปวงบ่าวของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่กว่าความรักที่แม่แต่ละคนมีต่อลูกของนางแล้ว วิธีของเราในการมองเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตจะเปลี่ยนไป และไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากความสวยงาม คำพูดอันล้ำค่าของท่านหญิงซัยนับ (อ.) หลังจากเหตุการณ์อันแสนขมขื่นแห่งอาชูรอ ที่ท่านได้กล่าวว่า :

ما رأیتُ الّا جمیلاً

"ฉันไไม่เห็นสิ่งใดนอกจากสิ่งสวยงาม" (1) คำพูดนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าของท่านในเรื่องนี้

    สิ่งที่ทำให้หัวใจของผู้ศรัทธาเข้มแข็งนั้นก็คือ ไม่มีการกระทำดีใดที่จะไม่ได้รับการตอบแทนในระบบแห่งความยุติธรรมและความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เขาจะได้รับการตอบแทนและชดเชยให้ในรูปที่ดีที่สุดจากพระผู้เป็นเจ้า

    รางวัลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้แก่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดสำหรับคำกล่าวอ้างนี้ ท่านอบาอับดิลลาฮ์ (อ.) ได้พลีอุทิศทุกสิ่งที่ท่านมี ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินและลูกหลาน ตลอดจนชีวิตของท่านเอง ด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างสมบูรณ์ในเส้นทางของพระผู้เป็นเจ้า และพระผู้เป็นเจ้าก็ทรงประทานรางวัลพิเศษให้แก่ท่าน

รางวัลพิเศษและไม่มีใครเหมือนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.)

    ในริวายะฮ์ที่สวยงามจากอิมามบากิร และอิมามซอดิก (อ.) ที่กล่าวว่า :

أَنَّ اللَّهَ سُبْحَانَهُ وَ تَعَالَى عَوَّضَ الْحُسَيْنَ ع مِنْ قَتْلِهِ- بِأَرْبَعِ خِصَالٍ جَعَلَ الشِّفَاءَ فِي تُرْبَتِهِ وَ إِجَابَةَ الدُّعَاءِ تَحْتَ قُبَّتِهِ وَ الْأَئِمَّةَ مِنْ ذُرِّيَّتِهِ وَ أَنْ لَا يُعَدَّ أَيَّامُ زَائِرِيهِ مِنْ أَعْمَارِهِمْ

"แท้จริงอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงทดแทนให้แก่อิมามฮุเซน (อ.) จากการถูกสังหารของท่านสี่ประการ คือ พระองค์ทรงทำให้การเยียวยารักษาอยู่ในดินของท่าน และการตอบรับดุอาอ์อยู่ใต้โดมของท่าน และบรรดาอิมามจะมาจากลูกหลานของท่านและวันเวลาของบรรดาผู้ไปซิยารัตท่านจะไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งจากอายุขัยของพวกเขา" (2)

1) การกำหนดการเยียวยารักษาไว้ในดิน (ตุรบะฮ์) ของอิมามฮุเซน (อ.) :

    ข้อบัญญัติ (ฮุกม์) ที่ชัดเจนประการหนึ่งของศาสนาอิสลามคือการห้ามกินดิน แม้แต่ดินหลุมศพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ตาม นอกจากดินเดียวที่ได้รับการยกเว้นจากข้อบัญญัตินี้ นั่นคือดินจากหลุมศพของท่านอบาอับดิลลาฮ์ อัลฮุเซน (อ.) ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวเกี่ยวกับพื้นดินและสถานที่ฝังศพของท่านไว้เช่นนี้ว่า :

مَوْضِعُ قَبْرِ الْحُسَيْنِ (عليه السلام) مُنْذُ يَوْمَ دُفِنَ فِيهِ رَوْضَةٌ مِنْ رِيَاضِ الْجَنَّة

"สถานที่หลุมศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นับจากวันที่ท่านถูกฝัง คือ สวนหนึ่งจากบรรดาสวนแห่งสวรรค์" (3)

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) จะพกพาถุงซึ่งใส่ดิน (ตุรบะฮ์) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) อยู่กับตัวตลอดเวลา ท่านมักจะใช้ดินนี้ในการสุญูดและนมาซ นอกจากนี้ในริวายะฮ์ต่างๆ ยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า ตัสบีห์ที่ทำขึ้นจากดินของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่เราพกพา แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวซิกร์ด้วยกับมันก็ตาม รางวัลของการกล่าวซิกร์นั้นถูกบันทึกสำหรับเจ้าของมัน โดยที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

مَنْ کانَ مَعَهُ سُبْحَةٌ مِنْ طِینِ قَبْرِ الْحُسَیْنِ علیه السلام کُتِبَ مُسَبِّحا وَ إِنْ لَمْ یُسَبِّحْ بِها

"ผู้ใดก็ตามที่มีตัสเบี๊ยะห์จากดินหลุมศพของอิมามฮุเซน (อ.) อยู่กับเขา เขาจะถูกบันทึกว่าเป็นผู้กล่าวตัสเบี๊ยะห์ แม้ว่าเขาจะไม่ได้กล่าวตัสเบี๊ยะห์ด้วยกับมันก็ตาม" (4)

    กรณีทั้งหมดนี้เฉพาะสำหรับดินของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เท่านั้น และพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบสถานะ (มะกอม) พิเศษนี้แก่ท่านอบาอับดิลลาฮ์ (อ.)

2) การตอบรับดุอาอ์ในฮะรัมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) :

    บางทีความปรารถนาของผู้ศรัทธาทุกคนก็คือ การที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงตอบรับดุอาอ์ของเขา รางวัลพิเศษประการที่สองจากพระผู้เป็นเจ้าสำหรับท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือการขอดุอาอ์ในฮะรัม (สถานฝังศพ) ของท่านจะได้รับการตอบรับ

    ขณะที่ท่านอิมามฮาดี (อ.) อยู่ในเมืองซะมัรรออ์ ท่านได้ล้มป่วยลง ท่านอิมามได้ส่งชาวชีอะฮ์คนหนึ่งไปยังฮะรัมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เพื่อขอดุอาอ์ให้ท่าน  คำถามได้เกิดขึ้นสำหรับชายผู้นั้นว่า ท่านอิมามฮาดี (อ.) เองก็เป็นฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ของพระผู้เป็นเจ้า เหตุใดฉันจึงจะต้องไปขอดุอาอ์ให้ท่านในฮะรัมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ด้วย?

    เขาจึงได้มาหาท่านและถามว่า : ท่านซึ่งเป็นฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ของพระผู้เป็นเจ้า แล้วทำไมข้าพเจ้าจะต้องไปที่นั่นและขอดุอาอ์ให้ท่านด้วย? ท่านอิมามฮาดี (อ.) กล่าวว่า : ทุกสถานที่มีมารยาท มารยาทอย่างหนึ่งของฮะรัมท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือให้ขอดุอาอ์ ณ ที่แห่งนั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้สิทธิของสถานที่นั้นถูกปฏิบัติ ดังนั้นจงไปขอดุอาอ์ให้ฉันที่นั่นเถิด" (5)

3) บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) จะมาจากลูกหลานของท่านอิมามฮุเซน (อ.) :

    สิ่งถูกสร้างที่ดีที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในทั้งสองโลก ตามโองการของคัมภีร์อัลกุรอานและหะดีษทั้งหลายนั้น คือบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ด้วยการแต่งตั้งอิมามเก้าท่าน จากลูกหลานของท่านอิมามฮุเซน (อ.) พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงมอบรางวัลพิเศษและไม่มีใครเหมือนนี้ให้แก่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้ซึ่งเป็นอิมามท่านที่สาม

4) วันเวลาของบรรดาผู้ไปซิยารัตท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งจากอายุขัยของพวกเขา :

    ความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) อันล้ำค่าที่สุดประการหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าคืออายุขัยของมนุษย์ ซึ่งแม้จะเปรียบเทียบกับทองคำ ก็ยังถือเป็นการด้อยค่าเนี๊ยะอ์มัตนี้ของพระผู้เป็นเจ้า เนียะอ์มัตจะผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่สามารถหวนคืนกลับมาหรือชดเชยได้แต่อย่างใด สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการไปซิยารัตท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือเวลาและนาทีจะสูญเสียความหมายของมันไป และเข็มนาฬิกาแห่งอายุขัยของมนุษย์จะหยุดการเคลื่อนไหว ประหนึ่งว่าพระผู้เป้นเจ้าได้ทรงประทานโอกาสอีกครั้งแก่ปวงบ่าวของพระองค์และทรงประทานชีวิตใหม่แก่พวกเขา

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ที่เปี่ยมล้นและศรัทธาอันแน่วแน่ เราจะเชื่อมโยงตนเองกับแสงสว่างแห่งการนำทางและนาวาแห่งความรอดพ้นของพระผู้เป็นเจ้านี้ และได้รับประโยชน์จากการนำทางของพวกท่านในโลกนี้และการอนุเคราะห์ (ชะฟาอัต) ของพวกท่านในโลกหน้า


แหล่งที่มา :

1. อัลลุฮูฟ, ซัยยิดอินุฏอวูซ, หน้า 160

2. บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 44, หน้า 221

3. กามิลุซซิยารอต, อิบนุเกาละวัยฮ์, หน้า 272

4. มันลายะห์ฎุรุฮุลฟะกีฮ์, เชคซอดูก, เล่ม 1, หน้า 268

5. กามิลุซซิยารอต, อิบนุเกาละวัยฮ์, หน้า 274


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 833 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10597035
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
57715
62508
120223
9979155
403215
2045354
10597035

จ 06 พ.ค. 2024 :: 20:54:23