อิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) สัญลักษณ์ของคุณธรรม
Powered by OrdaSoft!
No result.

อิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) สัญลักษณ์ของคุณธรรม

      อิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) เป็นอิมาม (ผู้นำ) ท่านที่ 11 ของสายธารอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ท่านถือกำเนิดในวันที่ 8 รอบีอุลอาคิร ฮ.ศ. 232 ท่านเป็นอิมามที่มีอายุที่แสนสั้น และใช้ชีวิตทั้งหมด (28 ปี) ของท่านอยู่ในค่ายทหารในเมืองซามัรรออ์ พร้อมกับท่านอิมามฮาดีย์ (อ.) บิดาของท่าน ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของระบอบปกครองเผด็จการของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ หลังจากการเป็นชะฮีดของบิดาของท่าน สภาพดังกล่าวก็ยังคงดำเนินอยู่ และหลายครั้งที่ท่านถูกคุมขังอยู่ในคุกโดยบรรดาผู้กดขี่แห่งยุคสมัยของท่าน ระยะเวลาในการเป็นอิมามของท่านนั้นเพียงแค่หกปี

      ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ก็เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของท่านที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมความดีทั้งมวล และเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากลักษณะที่เลวร้ายทั้งมวล คุณธรรมและความดีงามต่างๆ ของท่านนั้นไม่เพียงแต่หมู่มิตรและผู้ปฏิบัติตามท่านเท่านั้นที่กล่าวขานถึง ทว่าแม้แต่บรรดาศัตรูที่ร้ายกาจและมีความเกลียดชังท่าน ก็ยังต้องเอ่ยปากชื่นชมและยกย่องสรรเสริญท่าน เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ จะกล่าวถึงตัวอย่างหนึ่งไว้ ณ ที่นี้

ท่านอิมาม (อ.) คือภาพสะท้อนของคุณธรรมและความดีงาม

      อะห์มัด บินอับดุลลอฮ์ บินคอกอน ซึ่งพ่อของเขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในรัฐบาลของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ เป็นหนึ่งในคณะเสนาบดี เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ต่อต้านและมีความเป็นศัตรูต่อบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เขารับผิดชอบหน้าที่ในการจัดเก็บและดูแลเกี่ยวกับภาษีอากรต่างๆ ในเมืองกุม เขากล่าวว่า

      "ฉันไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จักใครที่อยู่ในแนวทางของอะลีที่อยู่ในเมืองซามัรรออ์นี้ ที่จะเหมือนกับฮะซัน บินอะลี ในด้านความสุขุม ความสงบเสงี่ยม การระมัดระวังตนจากสิ่งต้องห้าม การให้ และความเอื้ออารีของเขา"

      วันหนึ่งอบูมุฮัมมัด (อิมามฮะซัน อัสกะรีย์) ได้มาพบอับดุลลอฮ์ บินคอกอน บิดาของฉัน ฉันมองไปยังเขาและได้เห็นคุณลักษณะของความยิ่งใหญ่ ความมีเกียรติและความสง่างามจากใบหน้าของเขา บิดาของฉันออกมาต้อนรับเขาด้วยการให้เกียรติอย่างมาก ฉันรู้สึกไม่พอใจและโกรธต่อการแสดงออกดังกล่าวของบิดาของฉัน ฉันได้ถามถึงเหตุผลของการแสดงความให้เกียรติดังกล่าว และขอให้ท่านบอกให้ฉันรับรู้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นใครกัน บิดาของฉันกล่าวว่า

      "เขาเป็นผู้นำของชาวชีอะฮ์ และเป็นบุคคลสำคัญแห่งครอบครัวบนีฮาชิม เขาเป็นผู้คู่ควรต่อฐานะความเป็นผู้นำของประชาชาติ (อุมมะฮ์) เนื่องจากมีคุณลักษณะที่งดงามต่างๆ อย่างเช่น คุณธรรม ความบริสุทธิ์ ความสุขุมเยือกเย็น การระวังตนจากความชั่ว ความสมถะ การไม่ยึดติดต่อชีวิตทางโลก ความเคร่งครัดในอิบาดะฮ์ ความมีมารยาทที่งดงามและความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า"

      จากนั้น อะห์มัด บินอับดุลลอฮ์ ได้กล่าวเสริมว่า "อบูมุฮัมมัด อิบนิริฎอนั้น เป็นผู้มีเกียรติและมีคุณลักษณะที่สูงส่งอย่างแท้จริง" (1)

การส่งเสริมการรับใช้บริการสังคมและเพื่อนมนุษย์

      อบูฮาชิม กล่าวว่า : วันหนึ่งฉันอยู่กับท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ท่านได้กล่าวว่า

      "ในสวรรค์นั้น มีประตูหนึ่งที่ถูกเรียกว่า "มะอ์รูฟ" จะไม่มีใครผ่านเข้าไปทางมันได้ นอกจากอะฮ์ลุลมะอ์รูฟ (ผู้ที่ทำคุณงามความดีต่อสังคมและรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์)"

       ทันทีที่ฉันได้ยินคำพูดนี้จากท่านอิมาม (อ.) ฉันได้ขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าและรู้สึกปีติยินดีอย่างมาก เนื่องจากหนึ่งในการกระทำในชีวิตประจำวันของฉันคือการให้บริการต่อประชาชนและตอบสนองความต้องการต่างๆ ของผู้ที่ประสบความทุกข์ยาก เมื่อสิ่งที่ฉันคิดอยู่ในใจของฉันจบลง ท่านอิมามได้มองมายังฉันและกล่าวว่า

      "ใช่แล้ว! ดังนั้นเจ้าจงปฏิบัติในสิ่งที่เจ้ากระทำต่อไปเถิด เพราะแท้จริงคนที่ทำคุณงามความดีในโลกนี้นั้น พวกเขาจะเป็นมีสถานะอันสูงส่ง (เข้าสู่ประตูมะอ์รูฟ) ในปรโลก โอ้อบูฮาชิมเอ่ย! ขออัลลอฮ์ทรงบันดาลให้เจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา และทรงเมตตาแก่เจ้า" (2)

       ในฮะดีษอีกบทหนึ่งจากท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ท่านได้กล่าวว่า

"คุณลักษณะสองประการที่ไม่มีสิ่งใดสูงส่งยิ่งไปกว่ามัน นั่นคือ การมีศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์ และการทำคุณประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์" (3)

       จะเห็นได้ว่า ในคำสอนของอิสลามนั้น จะเน้นย้ำมิติทางด้านสังคมเป็นอย่างมาก มนุษย์เราจะประสบความสำเร็จในชีวิตและบรรลุสู่ความผาสุกอย่างแท้จริงโดยลำพังไม่ได้ ตราบที่คนรอบตัวเราหรือสังคมของเรายังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง หน้าที่ของมุสลิมทุกคนคือการร่วมมือกันในการรับใช้และดูแลสังคมของตนเองในด้านต่างๆ อย่างเช่น การขจัดความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่า ในอิสลามเรามีคำสอนในเรื่องของซะกาต คุมส์และการทำทานอาสา (ซอดะเกาะฮ์) เป้าหมายหนึ่งของมันก็คือสิ่งนี้ หรือการกำกับดูแลพฤติกรรมโดยรวมของสังคม อิสลามก็ได้กำหนดคำสอนในเรื่องของ "การกำชับความดี" และ "การห้ามปรามความชั่ว" ไว้

เชิงอรรถ :

(1) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 503

(2) อัลมะนากิบ, อิบนุชะฮ์ร์อาชูบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 464

(3) ตุหัฟฟุลอุกูล, หน้าที่ 489

แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 768 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10291304
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
13407
84077
312149
9524455
97484
2045354
10291304

พฤ 02 พ.ค. 2024 :: 04:06:20