การเป็นชะฮีด (มรณสักขี) ของท่านอิมามญะวาด (อ.)
Powered by OrdaSoft!
No result.
การเป็นชะฮีด (มรณสักขี) ของท่านอิมามญะวาด (อ.)

รัฐบาลอับบาซียะฮ์ได้เรียกตัวท่านอิมามญะวาด (อ.) ไปยังกรุงแบกแดดสองครั้ง การเดินทางครั้งแรกในสมัยของมะมูนนั้นไม่ยาวนานนัก ครั้งที่สอง ในปี ฮ.ศ. 220 ท่านได้ไปยังกรุงแบกแดดตามคำสั่งของมุอ์ตะซิม อับบาซี และได้ถูกสังหาร (มรณสักขี) ในเดือนซุลเกาะดะฮ์ในปีเดียวกันนั้น...

    วันสุดท้ายของเดือนซุลเกาะดะฮ์ เป็นวันครบรอบการมรณสักขี (ชะฮาดัต) ของท่านอิมามญะวาด (อ.) ท่านอิมามมุฮัมมัดตะกี (อ.) ยังมีชื่อเสียงในนาม "บาบุลหะวาอิจญ์" (ประตูแห่งความต้องการ) อีกด้วย "ญะวาด" (ผู้ใจบุญ) และ "ตะกี" (ผู้ยำเกรงพระเจ้า) เป็นสมญานามที่มีชื่อเสียงที่สุดของท่าน ส่วน "รอฎี"  และ  "มุตตะกี" ก็เป็นส่วนหนึ่งจากสมญานามของท่านเช่นกัน ในขณะที่ท่านอิมามริฎอ (อ.) บิดาผู้มีเกียรติของท่านมรณสักขี ในช่วงปลายเดือนซอฟัร ในปี ฮ.ศ. 203 นั้น ท่านอิมามญะวาด (อ.) มีอายุ 8 ขวบและตำแหน่งอิมามัตได้ถูกถ่ายโอนไปยังท่าน หะดีษอันทรงคุณค่าจำนวนมากมายของท่านอิมาม (อ.) ได้รับการรายงานไว้ในหนังสือต่างๆ เช่น อุยูน อัคบาร อัร ริฎอ, ตุหะฟุลอุกูล, อัลมะนากิบ และ บิฮารุลอันวาร

    รัฐบาลอับบาซียะฮ์ได้เรียกตัวท่านอิมามญะวาด (อ.) ไปยังกรุงแบกแดดสองครั้ง การเดินทางครั้งแรกในสมัยมะมูนนั้นไม่ยาวนานนัก ครั้งที่สอง ในวันที่ 28 เดือนมุฮัรรอม ฮ.ศ. 220 ท่านได้เข้าสู่กรุงแบกแดดภายใต้คำสั่งของมุอ์ตะซิม อับบาซี และได้ถูกสังหาร (มรณสักขี) ในเดือนซุลเกาะดะฮ์ในปีเดียวกันนั้น ในแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ วันมรณสักขีของท่านคือวันที่ 30 เดือนซุลเกาะดะฮ์

    ร่างอันบริสุทธิ์ของท่านอิมามถูกฝังอยู่ข้างหลุมศพของท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ปู่ของท่าน ในเมืองกาซิมัยน์  อายุของท่านอิมามญะวาด (อ.) ณ เวลาของการมรณสักขีนั้น 25 ปี ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นอิมามของสำนักคิดชีอะฮ์ที่มีอายุน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่ท่านได้มรณสักขี (1)

สาเหตุการเป็นชะฮีดของท่านอิมามญะวาด (อ.)

    เกี่ยวกับสาเหตุของการมรณสักขีของท่าน นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า อิบนุ อบี ดาวูด ผู้พิพากษาแห่งแบกแดด เนื่องด้วยความอิจฉาริษยา ได้ใส่ร้ายท่านอิมามต่อหน้ามุอ์ตะซิม เนื่องจากความเห็นที่ถูกต้องของท่านอิมามเกี่ยวกับคำตัดสินในการตัดมือขโมยทำให้เขารู้สึกอับอายต่อหน้านักวิชาการศาสนา (ฟุกอฮาอ์) และข้าราชบริพารกลุ่มใหญ่ สิ่งนี้ได้เสริมสร้างรากเหง้าของความอิจฉาริษยาต่อท่านอิมาม และมุอ์ตะซิม ซึ่งด้วยจากการใส่ร้ายท่านนั้นจึงได้วางแผนการลอบสังหารและการมรณสักขีของท่านอิมาม (อ.) (2)

วิธีการเป็นชะฮีดของท่านอิมามญะวาด (อ.)

    ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ  เมื่อมุอ์ตะซิมได้ขึ้นสู่อำนาจการปกครอง (คิลาฟะฮ์)  เขาและญะอ์ฟัร (น้องชายของอุมมุลฟัฎล์) ได้คิดหาทางที่จะสังหารท่านอิมาม ดังนั้นเขาจึงเขียนจดหมายถึงอับดุลมะลิก ซัยยาต ผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์ และขอให้เขาส่งตัวท่านอิมาม (อ.) ไปยังกรุงแบกแดดพร้อมกับอุมมุลฟัฎล์ เมื่อ ท่านอิมามไปถึงกรุงแบกแดด มุอ์ตะซิมได้เสแสร้งแสดงความเคารพและให้เกียรติต่อท่านและส่งของขวัญให้กับท่านและอุมมุลฟัฎล์ และโดยอาศัยญะอ์ฟัรเขาได้ปลุกปั่นให้อุมมุลฟัฎล์วางยาพิษท่านอิมาม และพี่น้องทั้งสองนี้จุ่มองุ่นด้วยยาพิษแล้วนำไปมอบให้ท่านอิมาม (3)

    หลังจากนั้น อุมมุลฟัฎล์ก็สำนึกเสียใจและร้องไห้ แต่ท่านอิมามได้บอกข่าวแก่นางว่า นางจะป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย แน่นอนว่า ตามริวายะฮ์ต่าง ๆ มีรายงานมากมายเกี่ยวกับวิธีการที่ท่านอิมามถูกสังหารโดยอุมมุลฟัฎล์ (4)

    ในอีกริวายะฮ์ (คำรายงาน) หนึ่ง มุอ์ตะซิม อับบาซี ได้ส่งน้ำส้มไปให้ท่านอิมาม ผ่านทาง "อัชนาส" คนรับใช้ของเขา คนรับใช้ผู้นี้กล่าวกับท่านอิมามว่า : คอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ได้ให้ผู้อาวุโสกลุ่มหนึ่งซึ่งในจำนวนนั้นมีอะห์มัด บิน อบีดาวูด และสะอีด บิน คอฎีบอยู่ร่วมด้วย ดื่มเครื่องดื่มนี้ และเขาสั่งให้ท่านดื่มด้วย ท่านอิมามกล่าวว่า : "ฉันจะดื่มมันตอนกลางคืน" แต่คนรับใช้ผู้นี้ยืนกรานว่าจะต้องดื่มมันขณะที่ยังเย็นอยู่ และท่านอิมามก็ได้ดื่มมันและได้เป็นชะฮีดจากพิษของมัน (5)

เหตุผลในการแต่งงานของท่านอิมามกับอุมมุลฟัฎล์

    ตามแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ การแต่งงานของท่านอิมามกับอุมมุลฟัฎล์นั้น เกิดขึ้นตามคำสั่งของมะมูน อับบาซี เป้าหมายของมะมูนในการแต่งงานครั้งนี้คือการที่ตนจะได้เป็นตาของเด็กทารกจากเชื้อสายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นอกจากนี้ เชคมุฟิด ได้รายงานว่า : มะมูนแต่งงานลูกสาวของเขากับท่านอิมามญะวาด (อ.) เนื่องจากสถานภาพทางวิชาการของท่านอิมาม

    แต่นักค้นคว้าวิจัยบางคนกล่าวว่า การแต่งงานครั้งนี้เป็นเรื่องการเมือง และมะมูนต้องการควบคุมท่านอิมามญะวาด (อ.) และความสัมพันธ์ของท่านกับชาวชีอะฮ์ หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความสนใจและผูกพันต่อลูกหลานของท่านอิมามอะลี (อ.) และเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาลุกขึ้นต่อต้านเขา อย่างไรก็ตาม การแต่งงานครั้งนี้ทำให้เกิดการประท้วงของคนรอบข้างมะมูน เพราะพวกเขากลัวว่าคิลาฟะฮ์ (อำนาจการปกครอง) จะถูกย้ายจากพวกอับบาซียะห์ไปยังลูกหลานท่านอิมามอะลี (6)

    ด้วยการอนุเคราะห์ของพระผู้เป็นเจ้า แผนการทั้งหมดของพวกเขาถูกทำลายลง และอุมมุลฟัฎล์ไม่มีบุตรจากท่านอิมาม และบุตรของท่านทั้งหมด รวมทั้งท่านอิมามฮาดี (อ.) เกิดจากท่านหญิงซุมานะฮ์ มักริบียะฮ์ (7)


แหล่งอ้างอิง :

1. อะอ์ลามุลวะรอ, เล่ม 2, หน้า 106

2. ตัฟซีร อัลอัยยาชี, เล่ม 1, หน้า 32

3. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 50, หน้า 13

4. มะนากิบ อิบนิ อบีฏอลิบ, เล่ม 4, หน้า 384

5. หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม

6. มุนตะฮัลอามาล, เล่ม 2, หน้า 497

(7) อัลอิรชาด, เล่ม 2, หน้า 295


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 588 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

20925868
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
21439
47468
21439
20515463
410405
2496676
20925868

อ 08 ก.ย. 2024 :: 11:37:57