ชีวประวัติพอสังเขป ของฟาฏิมะฮ์ บินติ ฮัซซาม (อุมมุลบะนีน)
Powered by OrdaSoft!
No result.

ชีวประวัติพอสังเขป ของฟาฏิมะฮ์ บินติ ฮัซซาม (อุมมุลบะนีน)

ท่านหญิงอุมมุลบะนีน คือ สตรีที่ถือกำเนิดและเจริญเติบโตมาในครอบครัวที่มีเกียรติและมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว คุณลักษณะส่วนตัวของสตรีท่านนี้คือ ความอดทนอดกลั้น ความสุขุมในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านแห่งอิมามัต นั่นคือ บ้านของท่านอิมามอะลี (อ.)

หนึ่งในมารดาผู้มีความโดดเด่นในประวัติศาสตร์ คือ ท่านหญิง อุมมุลบะนีน

    ชีวิตของท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความผูกพันที่มีต่อสถาบันอิมามัต ท่านหญิงคือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการอบรมขัดเกลาบุตรผู้มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และมีมารยาทที่งดงาม อย่างเช่น ท่านอับบาส บินอะลี (อ.)

    การอบรมขัดเกลา ลูกๆ ซึ่งทุกคนจากพวกเขาปฏิบัติตามอิมาม (ผู้นำ) ของตนจวบจนลมหายใจสุดท้าย และไม่เคยคิดที่จะละทิ้งจากการปฏิบัติตามและการเชื่อฟังผู้นำของตน การเป็นผู้ถือสาส์นและความเป็นนักต่อสู้ทางด้านการเมืองของสตรีผู้สูงศักดิ์ท่านนี้ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความงดงามและความยิ่งใหญ่ของท่าน

    ท่านหญิงมีนามว่า “ฟาฏิมะฮ์” นามสร้อยของท่านคือ “อุมมุลบะนีน” บิดาของท่านมีนามว่า “ฮัซซาม” มารดาของท่านมีนามว่า “ชะฮามะฮ์”

    นักประวัติศาสตร์มิได้กล่าวถึงปีแห่งการถือกำเนิดของท่านไว้ แต่กล่าวว่าการถือกำเนิดของบุตรชายคนโตของท่านคือ ท่านอับบาส (อ.) ตรงกับปี ฮ.ศ. 26 สรุปก็คือ การถือกำเนิดของท่านหญิงอุมมุลบะนีน น่าจะอยู่ในช่วง 5 ปีหลังจากการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ์) โดยประมาณ

     สิบปี หลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เสาะหาคู่ชีวิตใหม่ตามความประสงค์และคำสั่งเสียของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ  (อ.)

     อะกีล บิน อะบีฏอลิบ พี่ชายของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสายตระกูล และมีความรอบรู้เป็นอย่างดีเยี่ยมเกี่ยวกับเผ่าต่างๆ และคุณลักษณะเฉพาะทางด้านมารยาทและด้านจิตวิญญาณของเผ่าตระกูลเหล่านั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เชิญท่านอะกีลมาพบ และกล่าวกับเขาว่า “ท่านจงสืบหาคู่ครองให้ฉันสักคน โดยที่นางจะต้องเป็นสตรีที่มีคุณธรรมและมาจากตระกูลที่บรรพบุรุษของนางเป็นเหล่าบุรุษที่มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว”

    อะกีล บิน อะบีฏอลิบ ได้คัดเลือกสตรีผู้มีนามว่า “อุมมุลบะนีน” จากตระกูลบนีกิลาบ ซึ่งมีความกล้าหาญอย่างที่ไม่มีใครเหมือนให้แก่ท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านอิมามอะลี (อ.) ก็พึงพอใจต่อการคัดเลือกนี้ ท่านได้ส่งอะกีลไปหาบิดาของอุมมุลบะนีนเพื่อทำการสู่ขออุมมุลบะนีนเป็นบุตรีที่มีความสะอาดบริสุทธิ์และมีความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า นางเป็นสตรีที่มีเกียรติทางด้านสายตระกูล มีคุณธรรมส่วนตัวและมีธรรมชาติอันบริสุทธิ์ครบสมบูรณ์อยู่ในตัว การดำเนินชีวิตของท่านหญิงอุมมุลบะนีนเพียบพร้อมไปด้วยการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง  มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและรัศมีแห่งความรู้ คุณลักษณะอันสูงส่งดังกล่าวนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ ทำให้เราได้รับรู้ถึงความประเสริฐและความยิ่งใหญ่ของสตรีผู้ทรงความรู้ท่านนี้

     ท่านหญิงอุมมุลบะนีน ไม่เคยคิดว่าตนเองคือตัวแทนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) แต่ท่านถือว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้รับใช้ลูกๆ ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ท่านอับบาส (อ.) จึงได้เรียนรู้มาจากแหล่งที่มาของมารยาทและการอบรมขัดเกลานี้ ท่านจึงเรียกท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นพี่ชายของท่านว่า “ยาซัยยิดี” (โอ้นายของฉัน) หรือ “ยาอบาอับดิลลาฮ์” (โอ้ท่านอบาอับดิลลาฮ์) ตลอดเวลา แม้บุคคลทั้งสองจะมีบิดาคนเดียวกัน แต่ความนอบน้อมถ่อมตนและมารยาทของท่านที่มีต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นก็เนื่องมาจากวิสัยทัศน์และมุมมองที่ลุ่มลึกของท่านที่มีต่อสถานภาพอันสูงส่งของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) มารดาของท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายต่างมารดาของเขา และนี่คือบทเรียนที่ท่านหญิงอุมมุลบะนีนได้สอนแก่ลูกๆ ของตนเองนับตั้งแต่วัยเยาว์ ภารกิจอันสูงส่งในการอบรมขัดเกลาบุตร นับว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดสำหรับสตรี ท่านหญิงอุมมุลบะนีน จึงนับว่าเป็นหนึ่งในผู้อบรมขัดเกลาแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

     อบูนัศร์ นัจญารี กล่าวไว้ในหนังสือ “ซิรรุซซิลซิละติ้ลอะละวียะฮ์” ของท่านว่า: ภายหลังจากการเป็นชะฮีด (การเสียชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.)) ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) จึงมีบุตรกับอุมมุลบะนีน และหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามอะลี (อ.) นางก็มิได้แต่งงานกับใครอีกเลย หลังจากสมรสกับท่านอิมามอะลี (อ.) ไม่นาน ท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ฟาฏิมะฮ์ กิลาบียะฮ์) ได้เสนอแนะต่อท่านอิมาม (อ.) ให้เรียกชื่อนางว่า “อุมมุลบะนีน” (มารดาของบรรดาบุตรชาย) แทนชื่อฟาฏิมะฮ์ เพื่อจะได้ไม่เป็นการตอกย้ำความทรงจำต่างๆ ที่ขมขื่นแก่ลูกๆ ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) เพื่อท่านเหล่านั้นจะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดในการจากไปของมารดา


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1773 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10295519
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
17622
84077
316364
9524455
101699
2045354
10295519

พฤ 02 พ.ค. 2024 :: 05:16:41