ผลกรรมจากการโกหก มนุษย์กลายเป็นศัตรูกับ (มลาอิกะฮ์) ทวยเทพ

ผลกรรมจากการโกหก มนุษย์กลายเป็นศัตรูกับ (มลาอิกะฮ์) ทวยเทพ

เราทุกคนทราบดีถึงผลต่างๆ ที่เลวร้ายของการโกหก แต่เพื่อที่จะออกห่างจากความชั่วร้ายดังกล่าวนี้มากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่ดีที่เราจะมาย้ำเตือนกันในเรื่องนี้ การกระทำชั่วบางประการจะนำพามนุษย์ไปสู่ความชั่วและบาปอื่นๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ด้วยกับการโกหกอย่างหนึ่งสามารถจะทำให้คนเราโกหกและกระทำสิ่งที่เป็นบาปอื่นๆ มากยิ่งขึ้น”

       สำหรับความชั่วร้ายของการโกหกนั้นเพียงพอแล้วที่เราจะรับรู้ว่า ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ได้กล่าวไว้ว่า :

جُعِلَتِ الخَبائِثُ في بَيْتٍ وَجُعِلَ مِفْتاحُهُ الكَذِبَ

"ความชั่วร้ายทั้งมวลนั้นได้ถูกรวมไว้ในบ้านหลังหนึ่ง และกุญแจของมันคือเป็นการโกหก" (1)

       พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งก็ทรงตรัสเกี่ยวกับความชั่วร้ายของการพูดโกหกและความน่าเกลียดของคำพูดจากบรรดาผู้โกหกไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นกันว่า :

إِنَّما یَفْتَرِی الْكَذِبَ الَّذینَ لا یُؤْمِنُونَ بِآیاتِ اللَّهِ وَ أُولئِكَ هُمُ الْكاذِبُون

"แท้จริงบรรดาผู้ไม่ศรัทธาต่อโองการทั้งหลายของอัลลอฮ์นั้น จะกุความเท็จขึ้น และพวกเล่านั้นคือผู้กล่าวเท็จ" (2)

       แน่นอนยิ่ง โองการนี้แม้จะพูดถึงความชั่วร้ายของการกุเรื่องเท็จต่อพระผู้เป็นเจ้าและท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ก็สื่อให้เข้าใจถึงความความเลวร้ายและความน่าเกลียดของการโกหก ซึ่งเป็นไปได้ว่าคนที่ชอบพูดโกหกนั้น บางครั้งอาจไปไกลถึงขั้นกุเรื่องเท็จต่อพระผู้เป็นเจ้าและท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทั้งนี้เนื่องจากท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวกับลูกๆ ของท่านว่า :

اتَّقُوا الْكَذِبَ الصَّغِیرَ مِنْهُ وَ الْكَبِیرَ فِی كُلِّ جِدٍّ وَ هَزْلٍ فَإِنَّ الرَّجُلَ إِذَا كَذَبَ فِی الصَّغِیرِ اجْتَرَى عَلَى الْكَبِیرِ

"จงเกรงกลัว (อัลลอฮ์) จากการโกหก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ในทุกการพูดจริงหรือการล้อเล่นก็ตาม เพราะแท้จริง คนเราเมื่อพูดโกหกในเรื่องเล็กน้อยได้ เขาก็จะกล้า (โกหก) ในเรื่องใหญ่" (3)

        และท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

 لَا یَجِدُ عَبْدٌ حَقِیقَةَ الْإِیمَانِ حَتَّى یَدَعَ الْكَذِبَ جِدَّهُ وَ هَزْلَه

"ไม่มีบ่าวคนใดเลยที่จะพบกับความศรัทธาที่แท้จริงได้ จนกว่าเขาจะละทิ้งการโกหก ไม่ว่าจะเป็นการพูดจริงหรือการล้อเล่นก็ตาม" (4)

 

การละทิ้งบาปอื่นๆ ได้โดยการละทิ้งการพูดโกหก

        ชายผู้หนึ่งได้มาพบท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และกล่าวว่า : "ข้าพเจ้าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ข้าพเจ้าควรละทิ้งความชั่วอะไรก่อน?" ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : "จงละทิ้งการโกหก" เขาจึงสาบานกับตัวเองว่า เขาจะไม่โกหกอีกต่อไป จากนั้นเขาก็กลับไป เมื่อเขาต้องการที่จะกระทำชั่วเขาได้พูดกับตัวเองว่า : "ถ้าฉันทำความชั่วนี้แล้ว หากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถามฉันว่า เจ้าทำความชั่วเช่นนี้หรือ? หากฉันจะตอบว่า ไม่ใช่ ฉันก็โกหกท่านและหากฉันจะบอกว่า ใช่ บทลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าก็จะถูกดำเนินกับฉัน" ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เขาจึงละทิ้งการพูดโกหกและความชั้่วอื่นๆ (5)

การโกหกกับความเป็นศัตรูของมวลมลาอิกะฮ์

         คนที่ชอบพูดโกหกนั้นจะหมดความน่าเชื่อถือและคนที่พูดโกหกแม้จะน้อยครั้งก็ตาม แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เขาก็จะโกหกมากขึ้นเรื่อยๆ ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้กำชับสั่งเสียเราว่าอย่าคบคนที่ชอบโกหกเป็นมิตรและอย่าขอคำปรึกษาหารือจากเขา เนื่องจากว่า คนเช่นนี้เป็นเหมือนภาพลวงตาที่จะทำให้เห็นสิ่งที่ผิดเป็นถูก และมองเห็นสิ่งถูกเป็นผิด ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

وَإِيَّـاكَ وَمُصَادَقَةَ الكَذَّابِ فَإِنَّهُ كاَلسَّرَّابِ يُقْرِبُ عَلَيْكَ البَعِيْدَ وَيُبْعِدُ عَلَيْكَ القَـرِيْبَ

“จงอย่าคบมิตรกับคนชอบโกหก เพราะเขาเหมือนกับภาพลวงตา (มิราจ) ที่จะทำให้เจ้ามองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลว่าอยู่ใกล้ และจะทำให้เจ้ามองเห็นสิ่งอยู่ใกล้ตัวว่าอยู่ไกล” (6)

        และท่านอิมามอะลี (อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า :

یَكْتَسِبُ الْكَاذِبُ بِكَذِبِهِ ثَلَاثاً سَخَطَ اللَّهِ عَلَیْهِ وَ اسْتِهَانَةَ النَّاسِ بِهِ وَ مَقْتَ الْمَلَائِكَةِ لَه

"คนโกหกนั้นจะได้รับผลกรรมสามประการจากการโกหกของเขา คือ ความโกรธกริ้วของอัลลอฮ์จะเกิดขึ้นกับเขา การดูถูกเหยียดหยาม (และความไม่ไว้วางใจ) ของประชาชนที่มีต่อเขา และความเกลียดชังของมวลมลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ต่อเขา" (7)

        ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดี หากบุคคลที่มีพฤติกรรมเช่นนี้จะระมัดระวังตนจากความชั่วร้ายต่างๆ ของการโกหก ที่จะทำให้ตนเองหมดความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจในโลกนี้ และได้รับการลงโทษในปรโลก ดั่งที่ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

ثَمَرَةُ الْكَذِبِ الْمَهَانَةُ فِي الدُّنْيَا وَ الْعَذَابُ فِي الْآخِرَة

“ผลของการพูดโกหก คือ ความต่ำต้อยไร้เกียรติในโลกนี้ และการถูกลงโทษในปรโลก” (8)


เชิงอรรถ :

  1. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 69, หน้า 263
  2. อัลกุรอาน บทอันนะห์ลุ โองการที่ 105
  3. อุศูลุลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 338
  4. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 69, หน้า 262
  5. มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่ม 9, หน้า 89
  6. ฆุรอรุลฮิกัม, ฮะดีษที่ 10092
  7. ฆุรอรุลฮิกัม, ฮะดีษที่ 4418
  8. ฆุรอรุลฮิกัม, ฮะดีษที่ 4400

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 736 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25181194
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
6700
38686
45386
24887231
366897
1079962
25181194

จ 23 ธ.ค. 2024 :: 06:31:11