ท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส จะไม่นั่งเคียงข้างท่านอิมามฮุเซน (อ.) โดยปราศจากการขออนุญาตจากท่าน และหลังจากได้รับอนุญาตให้นั่งแล้ว ท่านจะนั่งลงเหมือนกับบ่าวผู้ถ่อมตนที่นั่งคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าเจ้านายของตน
หนึ่งในเคล็ดลับของความสำเร็จในชีวิตของบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้นคือเรื่องของ “มารยาท” (อาดาบ) ซึ่งถูกย้ำไว้อย่างมากมายในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ ของอิสลาม และมีผลกระทบอย่างมากมายต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์
หนึ่งในคำจำกัดความต่าง ๆ ที่ถูกอธิบายโดยบรรดาท่านอิมาม (อ.) ในประเด็นที่เกี่ยวกับมารยาท นั่นก็คือฮะดีษบทหนึ่งจากท่านอิมามญะวาด (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
الاْدَبُ عِنْدَ النّاسِ النُّطْقُ بِالْمُسْتَحْسَناتِ لا غَیْرُ، وَ هذا لا یُعْتَدُّ بِهِ ما لَمْ یُوصَلْ بِها إلی رِضَااللهِ سُبْحانَهُ، وَ الْجَنَّةِ، وَ الاْدَبُ هُوَ أدَبُ الشَّریعَهِ، فَتَأدَّبُوا بِها تَكُونُوا أُدَباءَ حَقّاً
“(ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับ) มารยาทในทัศนะของประชาชนนั้น คือการพูดจาที่นิ่มนวลและสวยงามเพียงเท่านั้น ในขณะที่สิ่งนี้ไม่อาจถูกนับ ทั้งนี้เนื่องจากมันไม่อาจนำไปสู่ความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมหาบริสุทธิ์และสรวงสวรรค์ได้ แต่ทว่ามารยาทนั้น คือการระวังรักษาและการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา ดังนั้นท่านทั้งหลายจงฝึกฝนตนเองด้วยสิ่งนี้ แล้วพวกท่านจะเป็นผู้มีมารยาทอย่างแท้จริง” (1)
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ ของอิสลาม หนึ่งในมรดกที่ล้ำค่าที่สุดที่ผู้เป็นพ่อสามารถมอบให้กับลูก ๆ ของตนนั้นถูกแนะนำไว้ว่ามันคือมารยาท ถึงขั้นที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า :
لا میراث کالادب
“ไม่มีมรดกใดที่จะเลอเลิศเหมือนดั่งมารยาท (และการอบรมขัดเกลา)” (2)
ในทัศนะของอิสลามถือว่า มารยาทและการอบรมขัดเกลาบุตรหลานนั้น มีคุณค่ายิ่งกว่าการสนองตอบความต้องการต่างๆ ทางด้านร่างกายและวัตถุ ในฮะดีษอีกบทหนึ่งท่านได้กล่าวว่า :
ما نحل والد ولدا نحلا افضل من ادب حسن
“ไม่มีสิ่งใดที่ผู้ให้กำเนิดจะมอบเป็นของขวัญให้แก่บุตรที่จะประเสริฐยิ่งไปกว่าการมีมารยาทที่ดี” (3)
คุณลักษณะนี้คือหนึ่งจากคุณลักษณะที่สำคัญและเด่นชัดที่สุดที่มีอยู่ในตัวของท่านกอมัร บนีฮาชิม หรือท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส (อ.) ตลอดช่วงชีวิตของท่านและอายุขัยของท่านนั้น ท่านได้พยายามระวังรักษามารยาทด้วยวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งและต่อปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อท่านอบาอับดิลลาฮ์ อิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นพี่ชายของท่าน และท่านคือหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของบรรดาผู้ที่เป็นไปตามคำพูดของท่านอิมามญะวาด (อ.) ที่ได้แสดงให้เห็นถึงมารยาทของตนในระดับสูงสุด ด้วยการระวังรักษาบทบัญญัติและประเด็นต่าง ๆ ของศาสนา และการปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า
คุณลักษณะที่สำคัญและเป็นจุดเด่นเฉพาะตัวนี้ สามารถพบเห็นได้ในมิติต่าง ๆ แห่งการดำเนินชีวิตของท่านอับบาส (อ.) ซึ่งในที่นี้จะขอชี้ให้เห็นตัวอย่างบางส่วนจากมิติเหล่านั้นในชีวิตของมหาบุรุษท่านนี้
1-มารยาทในการเชื่อฟังปฏิบัติตาม
ท่านอบัลฟัฎลิ์ อัลอับบาส (อ.) นั้น ทั้งในการเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าและทั้งในการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ (อิมาม) ของท่านนั้น ถือว่าอยู่ในแนวหน้าและนำหน้าประชาชนทั้งหมดในยุคสมัยของตน เมื่อครั้งที่ท่านอมีรุ้ลมะอ์มินีน อะลี (อ.) ได้ขอให้ท่านอะกีลน้องชายของท่านช่วยคัดเลือกสตรีคนหนึ่งเพื่อมาเป็นภรรยา โดยที่ท่านคาดหวังว่าคุณลักษณะของการเชื่อฟังปฏิบัติตามและการให้การช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.) หัวหน้าบรรดาชะฮีด (ผู้พลีชีพ) จะเป็นส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะต้น ๆ ของบุตรที่จะถือกำเนิดขึ้นมาจากภรรยาในอนาคตของท่าน โดยท่านได้กล่าวว่า :
اُریدُ مِنکَ أن تَختِبَ لی إمرَآةً مِن ذَوِ البُیوتِ وَ الحَسبِ وَ النَّسَبِ وَ الشُّجاعَة لِکَی اُسیبَ مِنها وُلدا یَکونُ شجاعاً أضُدا یَنصُرَ وَلَدیَ الحُسَین لِیُواصیهِ لِنَفسِهِ فی طَفِّ کَربلا
“ฉันต้องการให้ท่านคัดเลือกสตรีคนหนึ่งจากผู้ที่มีบ้านเรือน มีชาติตระกูล มีสายตระกูลที่ดีงามและมีความกล้าหาญ เพื่อที่นางจะได้ให้กำเนิดบุตรแก่ฉันที่มีความกล้าหาญและมีความเข้มแข็ง ซึ่งเขาจะให้การช่วยเหลือฮุเซนบุตรของฉัน เพื่อที่เขา (ฮุเซน) จะมอบภารกิจแก่เขาให้ปฏิบัติแทนตนในแผ่นดินกัรบะลา”
ท่านอับบาสได้ไปถึงระดับหนึ่งของมารยาทในการเชื่อฟังและการปฏิบัติตาม โดยที่ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งได้ฉายภาพบุคลิกภาพอันสูงส่งนี้ของท่านให้ทุกคนได้เห็นโดยกล่าวว่า :
“ท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส จะไม่นั่งเคียงข้างท่านอิมามฮุเซน (อ.) โดยปราศจากการขออนุญาตจากท่าน และหลังจากได้รับอนุญาตให้นั่งแล้ว ท่านจะนั่งลงเหมือนกับบ่าวผู้ถ่อมตนที่นั่งคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าเจ้านายของตน” (4)
จวบจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายในวันอาชูรอ ท่านอับบาสได้อยู่เคียงข้างอิมาม (ผู้นำ) ของตน และคอยให้การพิทักษ์ปกป้องนาย (เมาลา) ของตนและค่ายพักต่าง ๆ ของเหล่าสตรีและเด็ก จนกระทั่งเมื่อลูกหลานและบรรดาผู้ช่วยเหลือผู้ซื่อสัตย์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เสียชีวิตลงจนหมดสิ้นแล้ว ท่านไม่อาจที่จะอดทนต่อไปได้และได้ขออนุญาตท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อจะออกสู่สนามรบ
ท่านได้ไปถึงตำแหน่งอันสูงส่งของมารยาทในการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามผู้นำ โดยที่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับบุคลิกภาพของบุรุษแห่งพระเจ้าท่านนี้ไว้เช่นนี้ว่า :
رَحِمَ الله عمِّي العبّاس، فلقد آثر وأبْلي وَ فَدي أخاهُ بِنَفسِهِ حَتّي قُطِعَتْ يداه، فَأبْدَلَهُ اللهُ عزّ و جلّ بها جناحَيْن يَطِير بهما مع الملائکة في الجنّة، کما جَعَل لِجعفر بْن أبي طالب، و انّ للعباس عندالله تبارک و تعالي منزلة يَغْبِطُهُ بها جميعُ الشُّهداءِ يَوْمَ الْقِيامَةِ
“ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่านอับบาสน้าชายของฉัน แน่นอนยิ่งท่านได้เสียสละ แบกรับความเจ็บปวดและได้พลีอุทิศชีวิตของตนเองแด่พี่ชายของตน จนกระทั่งแขนทั้งสองของท่านถูกตัดขาด ดังนั้นอัลลอฮ์ (ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร) ได้ทรงมอบสองปีกให้ท่านเพื่อโบยบินอยู่ในสวรรค์ร่วมกับมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงประทานให้แก่ท่านญะอ์ฟัร บุตรของท่านอบีฏอลิบ และแท้จริงสำหรับท่านอับบาสนั้นมีตำแหน่ง (อันสูงส่ง) ณ อัลลอฮ์ (ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่ง) ที่บรรดาชะฮีด (ผู้พลีชีพ) ทั้งมวลจะรู้สึกอิจฉา (อยากได้เหมือน) ท่านในตำแหน่งนั้น” (5)
ท่านอับบาสพยายามที่จะอยู่เคียงข้างท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายของตนเองตลอดเวลา เพื่อคอยรับใช้และให้การช่วยเหลือท่าน ในช่วงเวลาที่ท่านถูกเชิญตัวไปเพื่อให้สัตยาบันต่อยาซีดนั้น ท่านอับบาสคือบุคคลหนึ่งที่ได้ร่วมเดินทางไปกับพี่ชายของตนจนถึงดารุ้ลอิมาเราะฮ์ (ตำหนักผู้ปกครอง) และเมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้ออกเดินทางจากมครมะดีนะฮ์มุ่งสู่นครมักกะฮ์ ท่านก็ร่วมทางไปด้วยโดยไม่ละทิ้งพี่ชายของตนไว้อย่างเดียวดาย
2-มารยาทในการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า
ท่านอับบาสเป็นผู้รำลึกและเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งด้วยรูปแบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังเช่นในบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของท่านได้มีปรากฏเช่นนี้ว่า ท่านเป็นบุตรชายของอิมาม (อะลี) ผู้ซึ่งการอิบาดะฮ์ต่าง ๆ ในยามดึกสงัดของท่านเป็นที่เลื่องลือทั้งในหมู่ประชาชนทั้งหลาย ท่านคือบุคคลซึ่งถูกบันทึกเกี่ยวกับสถานภาพของท่านไว้เช่นนี้ว่า :
کانَ فاضِلاً عالِماً عابِداً زاهِداً فَقیهاً تَقیّاً
“ท่านเป็นผู้มีความประเสริฐ เป็นผู้รู้ เป็นผู้เคร่งครัดการอิบาดะฮ์ มีความสมถะ เป็นผู้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (ในเรื่องศาสนา) เป็นผู้มีความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า” (6)
ท่านไม่เพียงแต่จะระวังรักษามารยาทเช่นนี้ต่อพระผู้เป็นเจ้าของตนเท่านั้น ทว่าต่อผู้เป็นนาย (เมาลา) และอิมาม (ผู้นำ) ของตน ท่านก็ไม่เคยลดละในการระวังรักษามารยาทแม้เพียงชั่วขณะเดียว ด้วยการปฏิบัติตามโองการต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ดังตัวอย่างเช่น :
لا تَجْعَلُوا دُعاءَ الرَّسُولِ بَیْنَكُمْ كَدُعاءِ بَعْضِكُمْ بَعْضا
“และพวกเจ้าจงอย่าเรียกขานศาสนทูตในระหว่างพวกเจ้า เหมือนกับการเรียกขานกันเองของพวกเจ้า” (7)
ตลอดระยะเวลา 34 ปีแห่งอายุขัยของท่านอับบาสนั้น ท่านไม่เคยเรียกท่านอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยคำว่า “พี่ชาย” เลย แต่จะเรียกด้วยคำว่า “ซัยยิดี” (นายของฉัน) “เมาลาย” (ผู้ปกครองของฉัน) หรือ “ยับนะร่อซูลิ้ลลาฮ์” (โอ้บุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์)
3-มารยาทด้านจิตวิญญาณ
คำว่า “มารยาทด้านใน” หรือด้านจิตวิญญาณนั้น หมายถึง การที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงยิ่งใหญ่เสมอในความคิด ในจิตใจและในการดำเนินชีวิตของท่าน และสิ่งที่นอกเหนือไปจากพระผู้เป็นเจ้านั้นจะเป็นสิ่งเล็กและไร้ความสำคัญในสายตาของท่าน ดังที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้สาธยายถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีความสูงส่งและมีเกียรติไว้ โดยกล่าวว่า :
عظم الخالق فی أنفسهم فصغر ما دونه فی أعینهم
“(พวกเขาคือผู้ซึ่ง) พระผู้สร้างนั้นทรงยิ่งใหญ่ในจิตใจของพวกเขา ดังนั้นสิ่งที่นอกเหนือไปจากพระองค์เป็นสิ่งเล็กน้อยในสายตาของพวกเขา” (8)
ท่านอับบาส บุตรของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นผู้ทรงยิ่งใหญ่และทรงสูงส่ง โดยที่นอกจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งแล้ว ท่านไม่เคยมีความเกรงกลัวผู้ใดในหัวใจของท่านเลย และด้วยกับการรักษามารยาททางด้านจิตวิญญาณและด้านในหัวใจนี้ ท่านได้ใช้ชีวิตจวบจนวินาทีสุดท้ายอยู่เคียงข้างผู้เป็นนาย (เมาลา) ของท่าน และได้ทำการพิทักษ์ปกป้องครอบครัวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเกินคำบรรยาย และได้ปฏิเสธข้อเสนอต่าง ๆ ของยะซีดผู้ชั่วร้ายที่ส่งผ่านมาโดยชิมร์ บินซิลญูชัน ที่ให้ท่านแยกตัวออกจากท่านอิมามอุเซน (อ.) และเดินทางไปกูฟะฮ์และจะมอบอาชีพ ที่ดินและทรัพย์สินเงินทองให้เป็นรางวัลตอบแทน ท่านกลับรู้สึกไม่พอใจและโกรธกริ้วอย่างรุนแรงต่อข้อเสนอนี้
แหล่งอ้างอิง :
(1) อิรชาดุลกูลูบ, ดัยละมี, หน้าที่ 160
(2) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 13
(3) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 15, หน้าที่ 165
(4) มะอาลิซซิมฏ็อยน์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 443
(5) อัล อามาลี, เชคซอดูก, หน้าที่ 462
(6) มะอาลิซซิบฏ็อยน์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 436
(7) อัลกุรอานบทอันนูร โองการที่ 63
(8) อัซรอรุซซอลาฮ์, หน้าที่ 301
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่