ความสำคัญของการทำงานในอัลกุรอานและริวายะฮ์; พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการตอบรับดุอาอ์
Powered by OrdaSoft!
No result.
ความสำคัญของการทำงานในอัลกุรอานและริวายะฮ์; พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการตอบรับดุอาอ์

    อิบาดะฮ์นั้นมีเจ็ดสิบส่วน แต่สิ่งที่น่าสนใจซึ่งตรงข้ามกับความคิดของคนส่วนมากที่ว่าก็คือ ไม่มีการนมัสการ (อิบาดะฮ์) ใดแม้แต่การนมาซ การถือศีลอด การทำฮัจญ์และอื่นๆ ทางด้านของคุณค่าและความประเสริฐ (ฟะฎีละฮ์) ที่จะเทียบเท่ากับการทำงานและความอุตสาห์พยายามในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ (ริษกี) ที่ฮะลาลและการสนองตอบความจำเป็นในการดำรงชีพของครอบครัวได้เลย

    ในโองการอัลกุรอานอายะฮ์ที่ 56 ของซูเราะฮ์ (บท) อัซซาริยาต พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงแนะนำให้รู้ถึงเหตุผลในการสร้างมนุษย์ว่าเพื่อการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) และการยอมตน (ตะอับบุด) ต่อพระองค์ :

وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ

"และข้าไม่ได้สร้างญินและมนุษย์ (เพื่ออื่นใด) เว้นแต่เพื่อพวกเขาจะเคารพภักดีต่อข้า (และจากหนทางนี้พวกเขาพัฒนาสู่ความสมบูรณ์และเข้าใกล้ชิดข้า)!"

    การอิบาดะฮ์ (นมัสการและการเคารพภักดีต่อพระเจ้า) นั้น จะนำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) และจะช่วยจัดพื้นฐานต่างๆ สำหรับความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุและจิตวิญญาณของเขา แต่จุดประสงค์จากคำว่า "อิบาดะฮ์" นั้นคืออะไร?  เมื่อเราได้ยินคำว่า "อิบาดะฮ์" เรามักจะนึกถึงการเคลื่อนไหวบางอย่างอย่างเช่น รุกูอ์ (การโค้งคาระวะ) และซุญูด (การกัมกราบ) และภาพของการนมาซ การวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) จะฉุกขึ้นมาในความนึกคิดของเราอย่างฉับพลัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว "อิบาดะฮ์" ไม่ได้จำกัดอยู่การกระทำและการเคลื่อนไหวในรูปแบบเฉพาะที่รับรู้กันโดยทั่วไปเพียงเท่านั้น ทว่าในอิสลามนั้นมีขอบข่ายที่ครอบคลุมกว้างขวางมากไปกว่านั้น

    ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

الْعِبَادَةُ سَبْعُونَ جُزْءا، أَفْضَلُهَا طَلَبُ الْحَلَال

"อิบาดะฮ์นั้นมีเจ็ดสิบส่วน ที่ประเสริฐที่สุดของมันคือการแสวงหา (ปัจจัยยังชีพ) ที่ฮะลาล" (1)

     ตามฮะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดาบทนี้ อิบาดะฮ์นั้นมีเจ็ดสิบส่วน แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือตรงข้ามกับความคิดของคนส่วนมากที่ว่า ไม่มีอิบาดะฮ์ใดแม้แต่การนมาซ การถือศีลอด การทำฮัจญ์และอื่นๆ ในแง่ของคุณค่าและความประเสริฐ (ฟะฎีละฮ์) จะเทียบเท่ากับการทำงานและความอุตสาห์พยายามในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ (ริษกี) ที่ฮะลาลและการสนองตอบความจำเป็นในการดำรงชีพของครอบครัวได้เลย

    เหตุผลของความประเสริฐที่มากกว่าของการทำงานและความอุตสาห์พยายามในการประกอบอาชีพดังกล่าวก็คือ หากคนเราไม่ทำงานและไม่มีความอุตสาห์พยายามแล้ว ย่อมจะถูกแทนที่ด้วยความเกียจคร้านและการขาดความอดทน และในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านอิมามซอดิก (อ.) ชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองลักษณะนี้จะเป็นอุปสรรคกีดขวางมนุษย์เราจากการได้รับประโยชน์จากโลกนี้ (ดุนยา) และปรโลก (อาคิเราะฮ์) (2) ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :

إِنَّ أَصْنَافاً مِنْ أُمَّتِي لَا يُسْتَجَابُ لَهُمْ دُعَاؤُهُمْ: ... وَ رَجُلٌ يَقْعُدُ فِي بَيْتِهِ وَ يَقُولُ رَبِّ ارْزُقْنِي وَ لَا يَخْرُجُ وَ لَا يَطْلُبُ الرِّزْقَ، فَيَقُولُ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ لَهُ: عَبْدِي، أَ لَمْ أَجْعَلْ لَكَ السَّبِيلَ إِلَى الطَّلَبِ وَ الضَّرْبِ فِي الْأَرْضِ بِجَوَارِحَ صَحِيحَةٍ؟

"คนหลายกลุ่มจากประชาชาติของฉันที่ดุอาอ์ของพวกเขาจะไม่ถูกตอบรับ และ (ในจำนวนนั้น คือ) คนที่นั่งอยู่ในบ้านและกล่าวว่า "โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์! โปรดประทานปัจจัยยังชีพแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด" โดยที่เขาไม่ออกไปแสวงหาปัจจัยยังชีพ ดังนั้นอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกรจะทรงตรัสกับเขาว่า : โอ้บ่าวของข้า! ด้วยกับร่างกายที่สมบูรณ์ (ของเจ้า) ข้าไม่ได้บันดาลแนวทางในการแสวงหา (ปัจจัยยังชีพ) และการท่องไปในแผ่นดินแก่เจ้าดอกหรือ?" (3)

ความเจริญก้าวหน้าของสังคมขึ้นอยู่กับการทำงานและความอุตสาห์พยายามเพียงเท่านั้น

    ประเด็นเกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของการทำงานและความอุตสาห์พยายามนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่ทว่าหากระดับการทำงานและอุตสาห์ความพยายามของสังคมหนึ่งๆ อยู่ในระดับต่ำ ประเทศทั้งประเทศก็จะประสบกับความเสียหาย ประเทศจะหยุดนิ่งและเกิดความล้าหลัง ด้วยเหตุนี้เองมาตรแม้นว่าประชาชนในสังคมหนึ่งๆ จะไม่มีศาสนาก็ตาม แต่หากพวกเขาอุตสาห์พยายามที่จะทำงานตลอดทั้งวันและคืนเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ กฎสากลและหรือกฎธรรมชาติประการหนึ่งของโลกก็คือว่า พวกเขาจะต้องเจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนามากกว่าสังคมต่างๆ ที่ประชาชนเกียจคร้านและรักในความสบาย ทั้งนี้เนื่องจากว่า :

وَأَنْ لَيْسَ لِلْإِنْسَانِ إِلَّا مَا سَعَى

"และมนุษย์จะไม่ได้รับสิ่งใด นอกจากสิ่งที่เขาได้ขวนขวาย" (4)

    หนึ่งในอันตรายที่กำลังคุกคามสังคมของเราวันนี้ คือรอคอยโชคลาภและการแสวงหารายได้และเงินทุนโดยไม่ต้องใช้แรงงานและความอุตสาห์พยายาม คนจำนวนมากจะเลี้ยงชีวิตของตนและครอบครัวโดยอาศัยดอกเบี้ยหรือผลกำไรจากเงินที่ฝากธนาคาร บางคนก็เสี่ยงโชคด้วยการซื้อลอตเตอรี่ หวย การเสี่ยงทาย การเดิมพันและการชิงรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บางคนก็ซื้อดอลลาร์และทองคำสะสมไว้ในช่วงเวลาที่ราคาถูกและจะขายมันในช่วงที่มีราคาสูงโดยคาดหวังว่าจะร่ำรวยโดยทางลัด ในขณะที่อิสลามนั้นส่งเสริมในเรื่องของการใช้จ่าย การผลิตและการสร้างงาน ด้วยเหตุนี้ท่านอิมามซอดิก (อ.) จึงได้ตำหนิประณามพฤติกรรมเหล่านี้ไว้อย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า :

مَا یُخلِفُ الرَّجُلُ بَعدَهُ شَیئاً أَشَدُّ عَلَیهِ مِنَ المَالِ الصَّامِتِ، قَالَ: قُلتُ لَهُ: کَیفَ یَصنَعُ؟ قَالَ یَضَعَهُ فِی الحَائِطِ وَ البُستَانِ وَ الدَّارِ

“คนเราจะไม่ละทิ้งสิ่งใดไว้หลังจาก (ความตายของ) ตนที่ร้ายแรงต่อตัวเขาเองยิ่งไปกว่าทรัพย์สมบัติที่หยุดนิ่ง (เงินสด, ทองคำหรือเงิน)” ผู้รายงานกล่าวว่า : ฉันได้ถามท่านว่า : “แล้วควรจะทำอย่างไร?” ท่านกล่าวว่า : “ใช้มันไปในการทำไร่นา สวนและ (การสร้าง) บ้านเรือน" (5)


เชิงอรรถ :

1.อุซูลุลกาฟี, เล่ม  5, หน้า 78

2.เล่มเดิม, หน้า 85

3. เล่มเดิม, หน้า 67

4.อัลกุรอานบท อัน นัจมุ โองการที่ที่ 39

5.อุซูลุลกาฟี, เล่ม  5, หน้า 91


บทความ : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 583 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24779249
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
29157
52431
206631
24215661
1044914
1618812
24779249

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 16:39:51