คุณค่าของการมีอยู่ของภรรยา
คุณค่าของการมีอยู่ของภรรยาในบ้านนั้นมีมากถึงขั้นที่นางได้ถูกนับเป็นหนี่งในปัจจัยของการผ่อนคลายและความสงบสุขสำหรับชีวิตของสุภาพบุรุษ (1) และการพูดคุยกับนางถือเป็นหนึ่งในการกระทำที่ดีและน่าสรรเสริญ นอกจากนี้การนมาซสองร่อกะอัตของบุคคลที่มีมีคู่ครองนั้นดีกว่าการทำอิบาดะฮ์ตลอดทั้งคืนของคนที่ไม่มีคู่ครอง
ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งได้กล่าวว่า :
رَكْعَةٌ يُصَلِّيهَا مُتَزَوِّجٌ أَفْضَلُ مِنْ سَبْعِيْنَ رَكْعَةً يُصَلِّيهَا عَزَبٌ
“หนึ่งร่อกะอัตที่คนแต่งงานนมาซนั้น ประเสริฐกว่าเจ็ดสิบร่อกะอัตที่คนโสดนมาซ” (2)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : ชายผู้หนึ่งได้มายังบิดาของฉัน ท่านจึงถามเขาว่า : “เจ้ามีภรรยาหรือไม่?” เขาตอบว่า : “ไม่มี” บิดาของฉันกล่าวว่า : “ฉันไม่ปรารถนาที่โลกและสรรพสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่ในมันจะเป็นของฉัน โดยที่ฉันจะใช้เวลาในยามค่ำคืนโดยไม่มีภรรยา” จากนั้นท่านกล่าวว่า : “สองร่อกะอัตที่คนมีภรรยานมาซนั้นประเสริฐกว่าการที่คนโสดจะทำนมาซในยามกลางคืนของเขาและถือศีลอดในยามกลางวันของเขา” ต่อจากนั้นบิดาของฉันได้มอบเงินให้แก่เขาเจ็ดดีนาร และกล่าวกับเขาว่า : “เจ้าจงแต่งงานด้วยกับเงินจำนวนนี้เถิด” จากนั้นบิดาของฉันได้กล่าวว่า :
قَالَ رَسُوْلُ الله (صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَ آلِهِ وَ سَلَّمَ) : اتَّخِذُوا الأَهْلَ فَإِنَّهُ أَرْزَقُ لَكُمْ
“ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : ท่านทั้งหลายจงหาคู่ครองเถิด เพราะแท้จริงมันจะเป็นสื่อเพิ่มพูนปัจจัยดำรงชีพแก่พวกท่าน” (3)
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
كُلُّ لَهْوِ الْمُؤْمِنِ بَاطِلٌ إِلَّا فِيْ ثَلَاثٍ : فِيْ تَأْدِيْبِهِ الْفَرَسَ وَ رَمْيِهِ عَنْ قَوْسِهِ وَمُلَاعَبَتِهِ امْرَأَتَهُ فَإنَّهُنَّ حَقٌّ
“ทุกการสนุกสนานของผู้ศรัทธานั้นเป็นโมฆะ (ไม่ถูกต้อง) ยกเว้นในสามประการ คือ : ในการฝึกม้า การยิงธนูและการหยอกล้อกับภรรยาของเขา เพราะแท้จริงทั้งสามประการนี้เป็นสิ่งถูกต้อง (มีคุณค่า)” (4)
สถานภาพของสตรีในฐานะของความเป็นมารดาและสิทธิต่างๆ ของนางนั้นได้ถูกกล่าวถึงไปแล้ว ในที่นี้ เราจะมาพูดถึงสิทธิต่างๆ ของสตรีในฐานะความเป็นภรรยา ภรรยาและสามีนั้นมีสิทธิต่างๆ มากมายต่อกัน ซึ่งหากได้ระวังรักษาและปฏิบัติตามสิทธิเหล่านั้นจะทำให้การดำเนินชีวิตเกิดความหวานชื่นและมีความสุข (5) และการไม่ระวังรักษาในเรื่องนี้จะนำมาซึ่งความขมขื่นและไร้ความสุขในชีวิตคู่
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงเปรียบสตรีว่าเป็นอาภรณ์ (เครื่องนุ่งห่ม) ของบุรุษ และบุรุษก็เป็นอาภรณ์ของสตรี โดยพระองต์ทรงตรัสว่า :
هُنَّ لِبَاس لَّكُم وَأَنتُم لِبَاس لَّهُنَّ
“พวกนางเป็น (ประหนึ่ง) อาภรณ์ของพวกเจ้า และพวกเจ้าก็เป็น (ประหนึ่ง) อาภรณ์ของพวกนาง” (6)
อาภรณ์ (เครื่องนุ่งห่ม) นั้น เป็นสื่อปกป้องจากเภทภัย เครื่องปกปิดจากข้อตำหนิต่างๆ ข่วยปกป้องความหนาวเย็น เป็นเครื่องประดับและเป็นบ่อเกิดแห่งความสงบสุขของมนุษย์ ภรรยาและสามีจะทำหน้าที่เช่นนี้แก่กันและกันโดยมีเงื่อนไขว่า หลักการสำคัญสองประการคือ “มะวัดดะฮ์” (ความรัก) และ “เราะห์มะฮ์” (ความเมตตา) จะต้องปกคลุมอยู่ในชีวิตของบุคคลทั้งสอง (7)
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :
وَمِنْ آيَاتِهِ أَنْ خَلَقَ لَكُم مِّنْ أَنفُسِكُمْ أَزْوَاجًا لِّتَسْكُنُوا إِلَيْهَا وَجَعَلَ بَيْنَكُم مَّوَدَّةً وَرَحْمَةً
“และส่วนหนึ่งจากสัญลักษณ์ทั้งหลายของพระองค์ คือการที่พระองค์ได้ทรงสร้างคู่ครองแก่พวกเจ้าจากตัวพวกเจ้าเอง เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และพระองค์ทรงบันดาลความรักและความเมตตาในระหว่างพวกเจ้า” (8)
นอกจากนี้ในการปฏิสัมพันธ์กับภรรยานั้นพระองค์ได้ทรงกำชับซ้ำอยู่บ่อยครั้งว่า :
وَعَاشِرُوهُنَّ بِالْمَعْرُوفِ
“และจงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี” (9)
ในการจ่ายมะฮัร (ทรัพย์ที่ผู้ชายจะมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้หญิงในการแต่งงาน) (10) สิทธิต่างๆ ที่พึงปฏิบัติต่อนาง (11) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต (12) และแม้แต่ในขณะที่แยกทางกันและการหย่าร้างภรรยา พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำชับสั่งให้ปฏิบัติด้วยความดีงาม ดังนั้นในทุกสภาพสามีจะต้องไม่อธรรมต่อภรรยาของตน และจะต้องไม่มองข้ามหรือละเลยต่อสิทธิต่างๆ และสถานะของนาง แม้นางจะประพฤติผิดก็ตาม หรือแม้แต่เกี่ยวกับภรรยาที่ถูกหย่านั้นการมอบฮะดียะฮ์ (ของขวัญ) ให้แก่นางตามความสามารถของสามีก็ได้ถูกกำชับสั่งเสียไว้ โดยที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
لَّا جُنَاحَ عَلَيْكُمْ إِن طَلَّقْتُمُ النِّسَاءَ مَا لَمْ تَمَسُّوهُنَّ أَوْ تَفْرِضُوا لَهُنَّ فَرِيضَةً ۚ وَمَتِّعُوهُنَّ عَلَى الْمُوسِعِ قَدَرُهُ وَعَلَى الْمُقْتِرِ قَدَرُهُ مَتَاعًا بِالْمَعْرُوفِ ۖ حَقًّا عَلَى الْمُحْسِنِينَ
“ไม่เป็นบาปแก่พวกเจ้า หากพวกเจ้าทำการหย่าสตรี ในกรณีที่พวกเจ้ายังมิได้แตะต้อง (หลับนอนร่วมกับ) พวกนาง หรือยังมิได้กำหนดมะฮัร (ค่าสมรส) ใดๆ แก่พวกนาง และจงมอบทรัพย์สินแก่พวกนาง (เป็นการปลอบใจ) สำหรับผู้ที่มีความกว้างขวางนั้นก็ตามกำลังความสามารถของเขา และสำหรับคนที่ขัดสนนั้นก็ตามกำลังความสามารถของเขา เป็นทรัพย์สินที่มอบให้โดยคุณธรรม เป็นสิทธิหน้าที่เหนือผู้กระทำดีทั้งหลาย” (13)
หลังจากหลายโองการ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงตรัสซ้ำคำสั่งที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากนี้ และได้ทรงตอกย้ำมันในฐานะสิทธิประการหนึ่งที่จำเป็นและสมควรยิ่งเหนือความรับผิดชอบของบรรดาผู้ที่ปรารถนาจะเป็นผู้ยำเกรง โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสเช่นนี้ว่า :
وَلِلْمُطَلَّقَاتِ مَتَاعٌ بِالْمَعْرُوفِ حَقًّا عَلَى الْمُتَّقِينَ
“และสำหรับบรรดาหญิงที่ถูกหย่านั้นจะได้รับทรัพย์สิน (สิ่งอำนวยสุข) โดยคุณธรรม เป็นสิทธิหน้าที่เหนือผู้ยำเกรงทั้งหลาย” (14)
ของขวัญ (ปลอบใจ) นี้ เป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากมะฮัรของผู้หญิงซึ่งเป็นวาญิบ (หน้าที่จำเป็น) เหนือมุสลิมชายทุกคน และเป็นไปตามประโยคที่ว่า «حَقًّا عَلَى الْمُتَّقِينَ» (เป็นสิทธิหน้าที่เหนือผู้ยำเกรงทั้งหลาย) เป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นของขวัญ (ปลอบใจ) ที่เป็นมุสตะฮับที่บรรดาชายผู้ยำเกรงจะจ่ายมัน (15)
บนพื้นฐานของคำสอนเหล่านี้ของคัมภีร์อัลกุรอาน ในวจนะของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ก็มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) มากมายเกี่ยวกับการทำดีต่อภรรยา ซึ่งส่วนหนึ่งในเรื่องนี้เราได้กล่าวไปแล้วในหมวดการทำดีต่อครอบครัวและในที่นี้เราจะชี้ถึงอีกบางส่วน
รางวัลของการทำดีต่อภรรยา
หนึ่งในกรณีที่สำคัญที่สุดของการทำดีต่อภรรยาคือการแสดงความรักต่อนางและเสริมแต่งรูปลักษณ์ภายนอกที่ดีของผู้ชาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ครอบครัวเกิดความเข้มแข็ง
ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) กล่าวในการกำชับสั่งเสียต่อมุฮัมมัด ฮะนาฟียะฮ์ว่า :
فَإِنَّ الْمَرْأَةَ رَيْحَانَةٌ ولَيْسَتْ بِقَهْرَمَانَةٍ، فَدَارِهَا عَلَى كُلِّ حَالٍ وَأَحْسِنِ الصُّحْبَةَ لَهَا فَيَصْفُوَ عَيْشُكَ
“แท้จริงผู้หญิงนั้นคือช่อดอกไม้ และนางไม่ใช่ผู้รับใช้ ดังนั้นจงปฏิบัติดี (เอาอกเอาใจ) ต่อนางในทุกสภาพ และจงอยู่ร่วมกับนางด้วยดี แล้วชีวิตของเจ้าจะมีความสุข” (16)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :
لَا غِنَى بِالزَّوْجِ عَنْ ثَلَاثَةِ أَشْيَاءَ فِيمَا بَيْنَهُ وَ بَيْنَ زَوْجَتِهِ وَ هِيَ : الْمُوَافِقَةُ : لِيَجْتَلِبَ بِهَا مُوَافَقَتَهَا وَ مَحَبَّتَهَا وَ هَوَاهَا وَ حُسْنُ خُلُقِهِ مَعَهَا وَ اسْتِعْمَالُهُ اسْتِمَالَةَ قَلْبِهَا بِالْهَيْئَةِ الْحَسَنَةِ فِي عَيْنِهَا وَ تَوْسِعَتِهِ عَلَيْهَا
“สามีนั้นมีความจำเป็นต่อสามประการในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเขาและระหว่างภรรยาของเขา คือ : 1.ความเห็นชอบ (โอนอ่อนกับนาง) เพื่อดึงดูดความเห็นชอบ ความรักและความต้องการของนางมายังตน 2.การแสดงกิริยามารยาทที่ดีต่อนาง และ 3.การใช้วิธีการโน้มน้าวหัวใจของนางด้วยรูปลักษณ์ที่ดีในสายตาของนาง และการให้ความกว้างขวาง (ชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย) แก่นาง” (17)
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ก็กล่าวเช่นกันว่า :
تَهْيِئَةُ الرَّجُلِ لِلْمَرْأَةِ مِمًّا تَزِيْدُ فِيْ عِفَّتِهَا
“การเสริมแต่งรูปลักษณ์ของผู้ชายสำหรับภรรยานั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมความบริสุทธิ์ของนาง” (18)
รางวัลแห่งปรโลกของการทำดีต่อภรรยา
แม้ว่ารางวัลตอบแทนแห่งปรโลกที่ได้ถูกกล่าวถึงไปแล้วในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการรับใช้บริการต่อครอบครัวนั้น จะครอบคลุมถึงการทำดีต่อภรรยาด้วยเช่นกันก็ตาม แต่ในที่นี้เราจะชี้ถึงฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ เกี่ยวกับรางวัลตอบแทนของการรับใช้บริการและการทำดีต่อภรรยาโดยเฉพาะ
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า : “วันหนึ่งท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เข้ามายังพวกเรา ในขณะที่ฟาฏิมะฮ์ (อ.) นั่งอยู่ข้างหม้อ และฉันกำลังคัดเลือกและทำความสะอาดถั่วอยู่นั้น ท่านกล่าวว่า : “โอ้อบัลฮะซัน!” ฉันกล่าวตอบว่า : “ครับท่าน โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์” ท่านกล่าวว่า :
اِسْمَعْ مِنِّيْ وَمَا أَقُوْلُ إِلَّا مِنْ أَمْرِ رَبِّيْ، مَا مِنْ رَجُلٍ يُعِيْنُ امْرَأَتَهُ فِيْ بَيْتِهَا إِلَّا كَانَ لَهُ بِكُلِّ شَعْرَةٍ عَلَى بَدَنِهِ عَبَادَةُ سَنَةٍ، صِيَامٌ نَهَارُهَا وَ قِيَامٌ لَيْلُهَا
“จงรับฟังจากฉัน และฉันจะไม่พูดสิ่งใดเว้นแต่มาจากคำสั่งของพระผู้อภิบาลของฉัน ไม่มีชายคนใดที่ช่วยเหลือภรรยาของตนในบ้านของนาง นอกจากเขาจะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยกับทุกๆ เส้นขนที่มีอยู่บนร่างกายของเขา เทียบเท่ากับการอิบาดะฮ์หนึ่งปี คือการถือศีลอดในยามกลางวันและการกิยาม (ทำอิบาดะฮ์) ในยามกลางคืน” (19)
และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวในตอนท้ายว่า :
يَا عَلِيُّ! لَا يَخْدُمُ الْعِيَالَ إِﻻَّ صِدِّيْقٌ أَوْ شَهِيْدٌ أَوْ يُرِيْدُ اللهُ بِهِ خَيْرَ الدُّنْيأ وَالْآخِرَةِ
“โอ้อะลีเอ๋ย! ไม่มีผู้ใดที่รับใช้ครอบครัว (ภรรยา) นอกจากผู้สัจจริง หรือชะฮีด หรือผู้ที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะให้เขาได้รับความดีงามทั้งในโลกนี้และในปรโลก” (20)
รางวัลของความอดทนของสามีต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีของภรรยา
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنْ صَبَرَ عَلَى سُوْءِ خُلُقِ امْرَأَتِهِ وَ احْتَسَبَهُ أَعْطَاهُ اللهُ بِكُلِّ مَرَّةٍ يَصْبِرُ عَلَيْهَا مِنَ الثَّوَابِ مِثْلَ مَا أَعْطَى أَيُّوْبَ عَلَى بَلَائِهِ
“ผู้ใดก็ตามที่อดทนต่ออุปนิสัยที่ไม่ดีของภรรยาของตนและหวังผลรางวัลมัน อัลลอฮ์จะทรงประทานรางวัลให้แก่เขาในทุกๆ ครั้งที่เขาอดทนต่อนาง เหมือนกับสิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานให้แก่ (ศาสดา) อัยยูบ (ที่อดทน) ต่อบะลาอ์ (การทดสอบ) ของเขา” (21)
ขอบเขตในการทำดีของสามีต่อภรรยา
ขอบเขตของการทำดีของสามีต่อภรรยา คือการสนองตอบความจำเป็นต่างๆ ที่แท้จริงให้แก่นางและการจัดหาปัจจัยอำนวยสุขและการกินดีอยู่ดีให้กับนางตามความเหมาะสม และกระทั่งว่า ในการสนทนาและการปฏิสัมพันธ์กับนางนั้น ได้ถูกกำชับสั่งเสียไว้โดยที่จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติตามความปรารถนาและอารมณ์ฝ่ายต่ำของนาง เช่นดียวกับการเชื่อฟังบิดามารดา แม้จะมีสถานะสูงส่งเพียงใดก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่นำไปสู่การตั้งภาคี (ชิกร์) ต่อพระผู้เป็นเจ้าและความต้องการของท่านทั้งสองจะต้องไม่ขัดแย้งกับคำสั่งต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
يَا عَلِيُّ! مَنْ أَطَاعَ امْرَأَتَهُ أَكَبَّهُ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ عَلَى وَجْهِهِ فِي النَّارِ.
“โอ้อะลีเอ๋ย! ผู้ใดก็ตามที่เชื่อฟังภรรยาของเขา อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรจะทำให้เขาคว้ำคะมำบนใบหน้าลงสู่ไฟนรก”
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ถามว่า :
وَمَا تِلْكَ الطَّاعَةُ؟
“การเชื่อฟังดังกล่าวนั้นคืออะไร?”
ท่านกล่าวตอบว่า :
يَأْذَنُ لَهَا فِي الذَّهَابِ إلَى الْحَمَّامَاتِ وَالْعُرُسَاتِ وَالنَّائِحَاتِ وَلُبْسِ الثِّيَابِ الرِّقَاقِ.
“คือการที่เขาจะอนุญาตนางในการไปห้องอาบน้ำสาธารณะ ไปงานฉลองสมรส งานไว้ทุกข์ (ด้วยชุดแต่งกายที่ไม่เหมาะสม) และการสวมใส่เสื้อผ้าที่บาง” (22)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่ง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
وَ اَلْمَرْأَةُ إِذَا خَرَجَتْ مِنْ بَابِ دَارِهَا مُتَزَيِّنَةً مُتَعَطِّرَةً وَ اَلزَّوْجُ بِذَاكَ رَاضٍ بُنِيَ لِزَوْجِهَا بِكُلِّ قَدَمٍ بَيْتٌ فِي اَلنَّارِ فَقَصِّرُوا أَجْنِحَةَ نِسَائِكُمْ وَ لاَ تُطَوِّلُوهَا فَإِنَّ فِي تَطْوِيلِ أَجْنِحَتِهَا نَدَامَةً وَ جَزَاؤُهَا اَلنَّارُ وَ فِي قَصْرِ أَجْنِحَتِهَا رِضًا وَ سُرُورٌ وَ دُخُولُ اَلْجَنَّةِ بِغَيْرِ حِسَابٍ اِحْفَظُوا وَصِيَّتِي فِي أَمْرِ نِسَائِكُمْ حَتَّى تَنْجُوا مِنْ شِدَّةِ اَلْحِسَابِ وَ مَنْ لَمْ يَحْفَظْ وَصِيَّتِي فَمَا أَسْوَأَ حَالَهُ بَيْنَ يَدَيِ اَللَّهِ تَعَالَى
“และเมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงได้ออกจากประตูบ้านของนางในสภาพที่ประดับประดาตนและใช้เครื่องหอม และสามีของนางมีความพอใจต่อสิ่งนั้น ด้วยกับทุกย่างก้าว (ของนาง) บ้านหลังหนึ่งจะถูกสร้างขึ้นให้กับสามีของนางในนรก ดังนั้นพวกท่านจงตัดปีกบรรดาสตรีของพวกท่าน และอย่าทำให้ปีกของนางยาว (อย่าปล่อยให้นางออกเที่ยวอวดกายนอกบ้าน) เพราะแท้จริงในการทำให้ปีกของนางยาว (ให้สิทธิในการไปไหนมาไหนโดยอำเภอใจ) นั้น จะนำมาซึ่งความสำนึกเสียใจ และโทษทัณฑ์ของนางก็คือไฟนรก และในการทำให้ปีกของนางสั้น (จำกัดสิทธิในการไปไหนมาไหมตามอำเภอใจ) นั้น จะนำมาซึ่งความพึงพอใจ ความปิติยินดีและการเข้าสู่สวรรค์โดยไม่มีการสอบสวน พวกท่านทั้งหลายจงจดจำคำสั่งเสียของฉันในเรื่องของสตรี (ภรรยา) ของพวกท่านไว้เถิด เพื่อที่พวกท่านจะได้รับความรอดพ้นจากการสอบสวนที่ยากลำบาก (ในวันพิพากษา) และผู้ใดที่ไม่จดจำ (และปฏิบัติตาม) คำสั่งเสียของฉัน ดังนั้นเขาจะมีสภาพที่เลวร้ายยิ่งเพียงใด ณ เบื้องพระพักตร์ของอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่ง!” (23)
นอกจากนี้ยังมีริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้ชี้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ของประชาชาติ (อุมมะฮ์) ของท่านที่จะเป็นสาเหตุนำมาซึ่งบะลาอ์ (ความทุกข์ยาก) ของพวกเขา หนึ่งในพฤติกรรมดังกล่าวเหล่านั้น คือการเชื่อฟัง (ฏออัต) ของผู้ชายต่อภรรยาของตน โดยท่านกล่าวว่า :
إِذَا عَمِلَتْ أُمَّتِي خَمْسَ عَشْرَةَ خَصْلَةً حَلَّ بِهَا اَلْبَلاَءُ .... وَ أَطَاعَ اَلرَّجُلُ زَوْجَتَهُ وَ عَقَّ أُمَّهُ
“เมื่อใดก็ตามที่ประชาชาติของฉันกระทำสิบห้าประการ บะลาอ์ (ความทุกข์ยาก) จะลงมายังพวกเขา .... และเมื่อผู้ชายเชื่อฟังภรรยาของเขาและเนรคุณต่อมารดาของเขา... ” (24)
โทษทัณฑ์ของการใช้ความรุนแรงของสามีกับภรรยา
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنْ ضَرَبَ امْرَأَةً بِغَيْرِ حَقٍّ فَأَنَا خَصْمُهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ، لَا تَضْرِبُوْا نِسَاءَكُمْ ، فَمَنْ ضَرَبَهُنَّ بِغَيْرِ حَقٍّ فَقَدْ عَصَى اللهَ وَ رَسُوْلَهُ
“ผู้ใดก็ตามที่ตบตีภรรยาโดยไร้ความชอบธรรม ดังนั้นฉันจะเป็นคู่พิพาทของเขาในวันกิยามะฮ์ พวกท่านจงอย่าตบตีบรรดาสตรีของพวกท่าน ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ตบตีพวกนางโดยไร้ความชอบธรรม แน่นอนเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์” (25)
โทษทัณฑ์ของการไม่จ่ายมะฮัรของภรรยา
มะฮัรของภรรยาเป็นหนึ่งในหนี้ที่เป็นภาระผูกพันที่การจ่ายมันถือเป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับทางศาสนา) และการล่าช้าในการจ่ายมันโดยเจตนาถือเป็นบาป
ตามคำรายงานของอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส ก่อนหน้าที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จะวะฟาต (เสียชีวิต) ท่านได้กล่าวคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของท่านในนครมะดีนะฮ์ ท่านได้ให้คำแนะนำตักเตือนโดยที่ดวงตาทั้งหลายต้องหลังน้ำตาและดวงใจทั้งหลายรู้สึกหวั่นกลัวว่า :
وَ مَنْ ظَلَمَ امْرَأَةٍ مَهْرَهَا فَهُوَ عِنْدَ اللهِ زَانٍ وَ يَقُوْلُ اللهُ لَهُ يَوْمَ القِيَامَةِ : عَبْدِيْ زَوَّجْتُكَ أَمَتِيْ عَلَى عَهْدِيْ فَلَمْ تَفِ لِيْ بِالْعَهْدِ فَيَتَوَلَّى اللهُ عَزَّ وَ جَلَّ طَلَبَ حَقَّهَا فَيَسْتَوْجَبُ حَسَنَاتِهِ كُلَّهَا فَلَا يَفِي بِحَقِّهَا فَيُؤْمَرُ بِهِ إِلَى إِلَى النَّارِ
“และผู้ใดก็ตามที่อธรรมต่อภรรยาในเรื่องของมะฮัรของนาง ดังนั้น ณ อัลลอฮ์ เขาคือผู้ล่วงประเวณี และอัลลอฮ์จะทรงตรัสกับเขาในวันกิยามะฮ์ว่า : บ่าวของข้า! เจ้าได้แต่งงานกับบ่าวหญิงของข้าด้วยพันธสัญญาที่ให้ไว้ต่อข้า แต่เจ้าไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อข้า ดังนั้นอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรจะทรงทำหน้าที่ในการทวงสิทธิของนาง ดังนั้นพระองค์จะทรงเอาความดีทั้งหมดของเขา (ทดแทนให้นาง) แต่ก็ไม่อาจทดแทนสิทธิของนางได้ ดังนั้นพระองค์บัญญชาให้นำเขาไปยังนรก” (26)
เชิงอรรถ :
(1). อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 189
(2). อัลมุกนิอะฮ์, หน้า 4972
(3). ตะห์ซีบุลอะหฺกาม, เล่ม 7, หน้า 239-240
(4). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 50
(5). อัลฟะกีฮ์, เล่ม 4, หน้า 392 : ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) กล่าวว่า :
، فَدَارِهَا عَلَى كُلِّ حَالٍ وَأَحْسِنِ الصُّحْبَةَ لَهَا فَيَصْفُوَ عَيْشُكَ
“ดังนั้นจงปฏิบัติดี (เอาอกเอาใจ) ต่อนางในทุกสภาพและจงอยู่ร่วมกับนางด้วยดี แล้วชีวิตของเจ้าจะมีความสุข”
(6). อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 187
(7). ดูเพิ่มเติมจากหนังสือ ตัฟซีรตัสนีม, เล่ม 9, หน้า 460-462
(8). อัลกุรอานบทอัรรูม โองการที่ 21
(9). อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 19
(10). อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 25
(11). อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 228
(12). อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 233
(13). อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 236
(14). อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 241
(15). ดูเพิ่มเติมใน ตัฟซีรตัสนีม, เล่ม 11, หน้า 520
(16). อัลฟะกีฮ์, เล่ม 4, หน้า 392
(17). ตุหะฟุลอุกูล, หน้า 323
(18). มะการิมุลอัคลาก, หน้า 97
(19). ญามิอุลอัคบาร, หน้า 102
(20). ญามิอุลอัคบาร, หน้า 103
(21). ษะวาบุลอะอ์มาล, หน้า 287
(22). อัลฟะกีฮ์, เล่ม 4, หน้า 362
(23). ญามิอุลอัคบาร, หน้า 158
(24). อิรชาดุลกุลูบ, หน้า 71
(25). อิรชาดุลกุลูบ, หน้า 175
(26). ษะวาบุลอะอ์มาล, หน้า 280-283
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่