ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น สิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีความจำเป็นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็คือการคบหาสมาคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือเราจะต้องรู้ว่า เราควรจะแสดงออกและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร จึงจะทำให้การดำเนินชีวิตของเราเกิดความสุขและความราบรื่น จำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้ทักษะและศิลปะในการการมีปฏิสัมพันธ์และการแสดงออกต่อผู้อื่น คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นจำเป็นจะต้องมีศิลปะและทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน หากเราขาดความเข้าใจในสิ่งนี้ จะทำให้การดำเนินชีวิตของเราพบกับความอับเฉา ไม่ราบรื่น ความท้อแท้และหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิต ในเนื้อหาของคุฏบะฮ์วันนี้ เราจะชี้ให้เห็นถึงหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งในการแสดงออกและการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่มนุษย์พึงมีต่อกันในการดำเนินชีวิตทางสังคมด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือจริยธรรมที่ดีงามและทรงคุณค่ายิ่งประการหนึ่ง ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะทำให้คนเราสามารถพิชิตและครอบครองหัวใจทั้งของหมู่มิตรและศัตรูได้ ผู้ใดก็ตามที่แสดงต่อเราด้วยความก้าวร้าว ความรุนแรงและความเป็นปฏิปักษ์นั้น แต่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความสุภาพอ่อนโยนที่เราแสดงต่อเขานี่เอง ที่จะสามารถทำให้เขาเปลี่ยนมาเป็นมิตรและมีความรักใคร่ต่อเราได้
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
وَ بالتَّواضُع تَتِمُّ النِّعْمَةُ
“ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น เนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปรานและความดีงามต่างๆ จากพระผู้เป็นเจ้า) จะเกิดความสมบูรณ์ขึ้น” (1)
นอกจากนี้ท่านยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนนั้น มิตรสหายของเขาจะมากมายและเป็นที่รักใคร่ต่อบุคคลอื่นๆ โดยกล่าวว่า :
ثَمَرَةُ التَّواضُعِ اَلمَحَبَّةُ
“ผลของความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น คือความรักใคร่ (จากผู้อื่น)” (2)
หนึ่งในแนวทางที่บรรดาศาสดา (อ.) ยึดถือปฏิบัติและเป็นสื่อสำคัญที่ทำให้พวกท่านประสบความสำเร็จในการประกาศศาสนา การปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงสังคม ก็คือความอ่อนน้อมถ่อมตนและความสุภาพอ่อนโยนดังกล่าว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ แบบอย่างของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) โดยที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า
فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللّهِ لِنتَ لَهُمْ وَلَوْ كُنتَ فَظّاً غَلِيظَ الْقَلْبِ لاَنفَضُّواْ مِنْ حَوْلِكَ
“เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์ ที่เจ้าได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้หยาบคาย และมีจิตใจแข็งกระด้างแล้ว แน่นอนพวกเขาก็ย่อมเตลิดออกไปจากรอบตัวเจ้า” (3)
ในตัวอย่างของท่านศาสดามูซา (อ.) และศาสดาฮารูน (อ.) ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาให้ทั้งสองไปพบกับฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) พระองค์ได้ทรงตรัสต่อท่านทั้งสองว่า
اذْهَبَا إِلَى فِرْعَوْنَ إِنَّهُ طَغَى. فَقُولا لَهُ قَوْلا لَّيِّنًا لَّعَلَّهُ يَتَذَكَّرُ أَوْ يَخْشَى
“เจ้าทั้งสองจงไปหาฟิรเอาน์ แท้จริงเขาเป็นผู้ละเมิด แล้วจงพูดกับเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยน บางทีเขาอาจจะสำนึก หรือเกิดความเกรงกลัว” (4)
การหลีกเลี่ยงจากความยโสโอหัง
เคียงคู่กับการกำชับสั่งเสียในเรื่องของความอ่อนน้อมถ่อมตนและความสุภาพอ่อนโยนนี้ อิสลามก็กำชับสั่งเสียให้เราหลีกเลี่ยงจากลักษณะของความหยิ่งยโส ความอวดอ้างตนและความหลงตนเอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้นอกจากจะทำให้เราขาดมิตรสหายและไม่มีผู้คบหาสมาคมด้วยแล้ว ยังจะเป็นสื่อนำพาตนเองไปสู่ความหายนะและความต่ำต้อยไร้เกียรติอีกด้วย
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า
مَنْ تَكَبَّرَ عَلَى النَّاسِ ذَلَّ
“ผู้ใดที่แสดงความโอหังอวดใหญ่ต่อเพื่อนมนุษย์ เขาจะพบกับความต่ำต้อย” (5)
สาเหตุประการหนึ่งของความหยิ่งยโส ความอวดอ้างตนและความหลงตนเองของมนุษย์นั้น เกิดจากความอ่อนแอและความรู้สึกถึงปมด้อยที่มีอยู่ในตัวเอง และเพื่อที่จะปกปิดหรือชดเชยความอ่อนแอ ความต่ำต้อยและปมด้อยบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเอง ทำให้เขาแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมา แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งดังกล่าว นอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว กลับจะทำลายตัวเองมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า
ما من رَجُلٍ تَکبّرَ أَو تَجبَّرَ الّا لذلَّةٍ یَجدُها فی نَفسِهِ
“ไม่มีบุคคลใดที่แสดงความยโสโอหังหรือวางท่าอวดใหญ่ เว้นแต่เนื่องมาจากความต่ำต้อยไร้เกียรติที่เขาได้พบเห็นในตัวของเขาเอง” (6)
คนที่พยายามจะปกปิดข้อบกพร่อง ปมด้อยหรือความต่ำต้อยของตนเอง โดยการแสดงออกด้วยความยโสโอหังและวางท่าอวดใหญ่นั้น ผลที่เขาจะได้รับจะตรงข้ามกับสิ่งที่เขาคาดหวัง เพราะพฤติกรรมและการแสดงออกดังกล่าว จะเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนยิ่งรังเกียจและมีความรู้สึกในทางลบต่อเขามากยิ่งขึ้น และพฤติกรรมดังกล่าวก็จะเปิดเผยตัวตนของเขามากยิ่งขึ้น หมู่มิตรและประชาชนก็จะปลีกตัวออกห่างจากเขามากยิ่งขึ้น
ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า
مَنْ تَكَبَّرَ عَلَى النَّاسِ ذَلَّ
“ผู้ใดที่แสดงความยโสโอหังต่อเพื่อนมนุษย์ เขาจะพบกับความต่ำต้อย” (7)
นั่นคือลักษณะสองประการที่ตรงข้ามกัน และผลของมันก็จะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันด้วยเช่นกัน
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า
ثَمَرَةُ التَّوَاضُعِ الْمَحَبَّةُ وَثَمَرَةُ الْكِبْرِ الْمَسَبَّة
“ผลของความอ่อนน้อมถ่อมตนคือความรักใคร่ และผลของความยโสโอหังคือการด่าประณาม” (8)
คนที่มีลักษณะของความยโสโอหังและความหลงตนนั้นจะไม่ได้รับความดีงามใดๆ ในชีวิตของตนเอง แม้แต่ในเรื่องของความรู้และวิทยปัญญา เพราะเขาจะไม่ยอมรับสิ่งดีงามใดๆ จากผู้อื่นเนื่องจากความยโสโอหังและความหลงตน
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า
إِنَّ الزَّرعَ يَنبُتُ فِى السَّهلِ وَلايَنبُتُ فِى الصَّفا فَكَذلِكَ الحِكمَةُ تَعمُرُ فى قَلبِ المُتَواضِعِ وَلا تَعمُرُ فى قَلبِ المُتَكَبِّرِ الجَبّارِ، لأِنَّ اللّه جَعَلَ التَّواضُعَ آلَةَ العَقلِ وَجَعَلَ التَّكَبُّرَ مِن آلَةِ الجَهلِ
“แท้จริงการเพาะปลูกจะเจริญงอกงามในพื้นดินที่อ่อนนุ่ม แต่จะไม่เจริญงอกงามในพื้นหินที่แข็ง ทำนองเดียวกัน วิทยปัญญา (และความรู้) จะเจริญงอกงามในหัวใจของผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน แต่จะไม่เจริญงอกงามในหัวใจของผู้หยิ่งยโสและผู้แสดงอำนาจบาตรใหญ่ เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงทำให้ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นสื่อของสติปัญญา และทรงทำให้ความหยิ่งยโสเป็นสื่อของความโง่เขลา” (9)
เชิงอรรถ :
(1) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 224
(2) มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, ฮะดีษที่ 21860
(3) อัลกรุอานบท อาลิอิมรอน โองการที่ 159
(4) อัลกรุอานบท ฏอฮาโองการที่ 43-44
(5) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 77, หน้าที่ 235, ฮะดีษที่ 3
(6) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 15, หน้าที่ 380
(7) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 77, หน้าที่ 235, ฮะดีษที่ 3
(8) ฆุร่อรุ้ลฮิกัม, ฮะดีษที่ 4613 และ 4614
(9) ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 396
บทความ โดย เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET-สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่