หนึ่งในการกระทำที่จำเป็นที่สุดสำหรับชีวิตที่ประสบความสำเร็จ นั้นก็คือการวางแผนและการจัดลำดับความสำคัญกว่าและความจำเป็นก่อนหลังของงานทั้งหลาย
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :
مَنِ اشْتَـغَلَ بِغَيْرِالْمُهِمِّ ضَيَّعَ الأَهـَمَّ
"ผู้ใดที่หมกมุ่นกับงานที่ไม่สำคัญ เขาได้ทำลายงานที่สำคัญกว่า" (1)
จำเป็นที่เราจะต้องให้ราคาและใช้เวลาไปกับทุกสิ่งตามขอบเขตความสำคัญและความจำเป็นของมัน การกระทำทั้งมวลนั้นมีระดับความสำคัญที่แตกต่างกันไป
เรามีงานที่สำคัญกับสำคัญมากกว่า งานที่มีประโยชน์กับมีประโยชน์มากกว่า ในขั้นแรกจำเป็นที่เราจะต้องรู้ถึงลำดับความสำคัญก่อนหลังเหล่านี้ ในขั้นที่สองจำเป็นจะต้องวางแผนและปฏิบัติให้สอดคล้องกับมัน
นี่คือหนึ่งในวิธีการและประเด็นของ "การบริหารจัดการ" ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จมากกว่าในการบรรลุสู่เป้าหมายและการใช้ประโยชน์จากปัจจัยอำนวยต่าง ๆ
อันที่จริงแล้ว ... เราควรกระทำสิ่งใด?!
เราควรพิจารณาว่า มีงานที่สำคัญกว่าใด ๆ บ้างไหมที่ยังค้างคาอยู่?!! หากเราใช้เวลาของตนไปกับงานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่า หรือไม่จำเป็น หรือเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ในอนาคตเราจะต้องสำนึกเสียใจต่อการปล่อยปะละเลยเหล่านี้ และเมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะไม่มีโอกาสทดแทนและชดเชยมัน
การจัดลำดับ "ความสำคัญกว่า" (อะฮัมม์) และ "ความสำคัญรอง" (มุฮิมม์) ในกิจการต่าง ๆ และการวางแผนนั้น คือเงื่อนไขของความสำเร็จ มิเช่นนั้นแล้วสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำจะถูกละเลย และงานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่าจะทำลายต้นทุน เวลาและอายุขัยของเราลง
การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นกว่า
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :
اِنَّ رَأيَكَ لا يَتَّسِعُ لِكُلِّ شَئٍ فَفَرِّغْهُ لِلْمُهِمَّ
"แท้จริงความคิดของท่านนั้นไม่กว้างขวางพอสำหรับทุกสิ่ง ดังนั้นจงทำให้มันว่างเปล่าสำหรับสิ่งที่สำคัญ" (2)
ประเด็นที่ว่า เราควรจะอ่านสิ่งใด เรียนรู้สิ่งใด หรือกระทำอะไร? นั้น จำเป็นที่เราจะต้องเลือกบนพื้นฐานของ "ความสำคัญ", "ความจำเป็น" และ "ความต้องการ"
ศักยภาพของความคิดและสติปัญญาของเรามีความจำกัด
ขอบข่ายของการเรียนรู้ การอ่านหนังสือและวิชาการต่าง ๆ นั้นมีอยู่อย่างกว้างขวางมาก ดังนั้นจึงไม่มีทางอื่นนอกจากจะต้อง "ทำการเลือก"
เมื่อเราไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือและนิตยสารทุกเล่มได้ ก็จำเป็นที่เราจะต้องอ่านสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุดและจำเป็นต่อชีวิตของเรามากที่สุด
ถ้าหากเราทำให้หัวใจและความคิดของเราบรรจุจนเต็มไปด้วยความรู้ต่าง ๆ ที่ไม่มีประโยชน์" ก็จะไม่มีที่เหลือสำหรับศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็น
ในกรณีเช่นนี้ จำเป็นที่เราจะต้องขอทัศนะจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาและแต่ละศาสตร์ และใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความรู้ของพวกเขาเหล่านั้น
ทุกสิ่งที่ท่านกำลังพยายามที่จะเรียนรู้มันนั้น เป็นสิ่งจำเป็น มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อชีวิตของท่านหรือไม่?
จงระวังหากท่านจะต้องรู้สึกสำนึกเสียใจในภายหลังว่า เราไม่น่าที่จะทำให้ความคิดและสติปัญญาของเราถูกบรรจุไปด้วยเนื้อหาต่าง ๆ ที่ไม่มีความสำคัญหรือไร้ประโยชน์เลย!....
แหล่งที่มา :
(1) ฆุร่อรุ้ลหิกัม, เล่มที่ 2, หน้าที่ 330
(2) ฆุร่อรุ้ลหิกัม, เล่มที่ 2, หน้าที่ 606
แปลและเรียบเรียง : มุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่