ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้ด้วยเป้าหมายเพื่อที่จะฟื้นฟูและชุบชีวิตใหม่ให้กับบทบัญญัติต่างๆ ของคัมภีรอัลกุรอานและซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และทำลายบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) ที่เกิดขึ้นในศาสนา อันเป็นผลมาจากอำนาจการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์ ตลอดเส้นทางจากนครมะดีนะฮ์จนถึงแผ่นดินกัรบะลา ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายในการยืนหยัดต่อสู้ของท่าน
ในจดหมายฉบับหนึ่งของท่านที่เขียนทิ้งไว้เป็นวะซียัต (คำสั่งเสีย) แก่มุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮ์ น้องชายของท่าน ก่อนเดินทางออกจากมะดีนะฮ์ โดยที่เนื้อหาส่วนหนึ่งของจดหมายนั้นท่านได้เขียนว่า
و انی لم اخرج اشرا و لا بطرا و لا مفسدا و لا ظالما و انما خرجت لطلب الاصلاح فی امة جدی (ص) , ارید ان امر با المعروف و انهی عن المنكر و اسیر بسیره جدی و ابی علی ابن ابیطالب
“และแท้จริงฉันมิได้ยืนหยัดขึ้นด้วยความอวดดีและความทะนง และมิได้ (ยืนหยัดขึ้น) ในสภาพของผู้ก่อความเสียหายและก่อการอธรรม แต่แท้จริงแล้วฉันได้ยืนหยัดขึ้นเพื่อแสวงหาการปรับปรุงในหมู่ประชาชาติของตาของฉัน ฉันปรารถนาที่จะกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว และฉัน (ปรารถนาที่) จะเดินตามแนวทางของตาของฉันและของบิดาของฉัน คืออะลี บินอบีฏอลิ” (1)
ในจดหมายอีกฉบับหนึ่งที่ท่านได้ส่งถึงบรรดาประชาชนชาวเมืองบัศเราะฮ์ ท่านกล่าวว่า
وَ اَنـَا اَدْعـُوكـُمْ اِلى كـِتـابِ اللّهِ وَ سـُنَّةِ نـَبـِیِّهِ(صلی الله علیه و آله) فـَاِنَّ السُّنَّةَ قـَدْ اُمـیـتـَتْ وَ اِنَّ الْبدعَةَ قَدْ اُحْیِیَتْ، وَ اِنْ تَسْمَعُوا قَوْلى وَ تُطیعُوا اَمْرى اَهْدِكُمْ سبیلَ الرَّشادِ
“และฉันขอเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านสู่คัมภีร์ของอัลลอฮ์และซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดาของพระองค์ (ซ็อลฯ) เพราะแท้จริงซุนนะฮ์ได้ถูกทำลายลง และบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) ถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ หากพวกท่านรับฟังคำพูดของฉันและปฏิบัติตามคำสั่งของฉัน ฉันก็จะชี้นำพวกท่านไปสู่แนวทางอันถูกต้อง” (2)
จากคำพูดโดยรวมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในตลอดเส้นทางดังกล่าวจนถึงการเป็นชะฮีดของท่าน ทำให้เราประจักษ์ถึงเป้าหมายอันสูงส่งของขบวนการยืนหยัดต่อสู้แห่งอาชูรอได้เป็นอย่างดีว่า แท้จริงแล้วส่วนหนึ่งของมันคือการฟื้นฟูหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน การฟื้นฟูและชุบชีวิตใหม่ให้กับซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และแนวทางของท่านอิมามอะลี (อ.) การทำลายความเบี่ยงเบนต่างๆ การทำให้สัจธรรมถูกนำกลับมาใช้และดำรงอยู่ในสังคม การทำลายอำนาจการปกครองแบบเผด็จการของผู้ปกครองที่กดขี่ การสถาปนาความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมให้เกิดขึ้นในเวทีต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราพิจารณาตรวจสอบเกี่ยวกับเป้าหมายของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ) และคุณลักษณะพิเศษทั้งหลายของรัฐบาลโลกของท่าน เราก็จะพบเห็นเป้าหมายและแรงบันดาลใจต่างๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ หรือยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่สำนวนคำพูดของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ก็มีความคล้ายคลึงกับสำนวนคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นอย่างมาก
การอธิบายถึงคุณลักษณะและแนวทางการปกครองของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้น ท่านอมีรุลมุอ์มินีมอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า
يَعطِفُ الهَوي عَلَي الهُدي، إذا عَطَفُوا الهُدي عَلَي الهَوي، و يَعطِفُ الرَّأي عَلَي القُرآنِ، إذا عَطَفُوا القرآنَ علي الرَّأي
“เขา (อิมามมะฮ์ดี) จะโน้มนำอารมณ์ใฝ่ต่ำให้กลับมาสู่ทางนำ ในขณะที่พวกเขา (บุคคลอื่น) ได้เบี่ยงเบนทางนำไปสู่อารมณ์ใฝ่ต่ำ และเขาจะโน้มนำความคิดเห็น (และความเชื่อต่างๆ ของประชาชน) ให้กลับไปสู่คัมภีร์อัลกุรอาน ในขณะที่บุคคลอื่นๆ ได้เบี่ยงเบนคัมภีร์อัลกุรอานไปสู่ทัศนะความเห็น (และการตีความด้วยความคิดของตนเอง)” (3)
فیریکم کیف عدل السیرة و یحیی میت الکتاب و السنۀ
“...ดังนั้นเขาจะแสดงให้พวกท่านเห็นถึงวิถีชีวิตที่เที่ยงธรรม และจะชุบชีวิตใหม่แก่คัมภีร์และซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ที่ตาย (และถูกหลงลืม) ไป” (4)
ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวไว้ในคำรายงานบทหนึ่งว่า
يدعو الناس الي کتاب الله و سنة نبيه و الولاية لعلي بن ابي طالب و البراءة من عدوه
“(กออิม อาลิมุฮัมมัด) จะเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์สู่คัมภีร์ของอัลลอฮ์และซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดาของพระองค์ และวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอะลี บินอะบีฏอลิบ และการออกห่างจากศัตรูของท่าน” (5)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะทำลายบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) ทั้งมวลที่ถูกสร้างขึ้นในศาสนาที่ปรากฏอยู่ในทั่วทุกมุมของโลก และในทางตรงข้าม ท่านจะนำเอาซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ละประการมาใช้ปฏิบัติในสังคมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์” (6)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ยังได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะปฏิบัติตามแบบฉบับและวิถีปฏิบัติของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านได้กล่าวเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงและการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ใหม่ในแง่มุมต่างๆ ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า
یصنع کما صنع رسول الله ، یهدم ما کان قبله کما هدم رسول الله أمر الجاهلیه و یستأنف الاسلام جدیدا بعد أن یهدم ما کان قبله
“เขาจะกระทำเช่นเดียวกับที่ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ได้กระทำ เขาจะทำลายสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น เหมืนกับที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ได้ทำลายกิจการแห่งยุคมืด (ญาอฮิลียะฮ์) และเขาจะทำให้อิสลามเริ่มต้นขึ้นใหม่ หลังจากที่สิ่งที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ได้ถูกทำลายลงไป” (7)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า
لایترک بدعة إلا ازالها و لا سنته إلا اقامها
“จะไม่มีบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) ใดๆ ถูกปล่อยไว้ เว้นแต่เขาจะทำลายมัน และไม่มีซุนนะฮ์ (แบบฉบับที่ดีงาม) ใดๆ ถูกปล่อยไว้ เว้นแต่เขาจะธำรงมันขึ้นมาใหม่” (8)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้อธิบายแนวทางการปกครองและการตัดสินของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการเผชิญหน้ากับความอธรรมของท่าน การกดขี่และความชั่วร้ายต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม โดยที่อบูอะลี บินอุตบะฮ์ ได้รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าว
إذا قام القائم ( عليه السلام ) حكم بالعدل ، وارتفع في أيامه الجور ، وأمنت به السبل ، وأخرجت الأرض بركاتها، ورد كل حق إلى أهله ، ولم يبق أهل دين حتى يظهروا الاسلام ويعترفوا بالايمان
“เมื่อกออิม (อ.) ได้ยืนหยัดขึ้น เขาจะปกครอง (และทำการตัดสิน) ด้วยความยุติธรรม ความอธรรม ในช่วงวันเวลา (แห่งการปกครอง) ของเขา (การกดขี่) จะถูกขจัดให้หมดไป เส้นทางต่างๆ จะเกิดความปลอดภัย ความจำเริญ (บะรอกัต) ต่างๆ ที่อยู่ในแผ่นดินจะถูกนำออกมา สิทธิ (และภารกิจการงาน) ทั้งหมดจะถูกมอบคืนแก่เจ้าของของมัน และจะไม่มีศาสนิกชนใดๆ หลงเหลืออยู่ เว้นแต่พวกเขาจะยอมรับอิสลามและยอมจำนนต่อความศรัทธา”
จากนั้นท่านกล่าวว่า
أما سمعت الله سبحانه يقول : وَلَهُ أَسْلَمَ مَن فِي السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ طَوْعًا وَكَرْهًا وَإِلَيْهِ يُرْجَعُونَ
“เจ้าไม่ได้ยินหรือที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงตรัสว่า “และเฉพาะพระองค์เท่านั้น ผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินต่างยอมจำนน ทั้งด้วยความสมัครใจและฝืนใจ และยังพระองค์ที่พวกเขาจะถูกนำกลับไป” (9)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวต่อไปอีกว่า
وحكم بين الناس بحكم داود ، وحكم محمد صلى الله عليه وآله . فحينئذ تظهر الأرض كنوزها ، وتبدي بركاتها ، ولا يجد الرجل منكم يومئذ موضعا لصدقته ولبره ، لشمول الغنى جميع المؤمنين
“เขาจะตัดสินในระหว่างมนุษย์ด้วยกฎการตัดสินของดาวูด และกฎการตัดสินของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และในช่วงเวลานั้นแผ่นดินจะเปิดเผยขุมคลังต่างๆ ของมันออกมา และจะทำให้ความจำเริญ (บะรอกัต) ต่างๆ ของมันปรากฏขึ้น และในวันนั้นจะไม่มีคนใดในหมู่พวกเจ้าเป็นผู้รับการบริจาคทาน (ซอดาเกาะฮ์) และการให้ในสิ่งที่ดีงามจากเขา เนื่องจากความมั่งคั่งจะครอบคลุมเหนือผู้ศรัทธาทั้งมวล...” (10)
ในตัฟซีรอัยยาชี ได้บันทึกรายงานบทหนึ่งจากร่อฟาอะฮ์ บินมูซา ซึ่งกล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวเกี่ยวกับโองการ
وَلَهُ أَسْلَمَ مَن فِي السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ طَوْعًا وَكَرْهًا
“และเฉพาะพระองค์เท่านั้น ผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินต่างยอมจำนน ทั้งด้วยความสมัครใจและฝืนใจ”
โดยท่านกล่าวว่า
اذا قام القائم عليه السلام لاتبقى ارض الا نودي فيها بشهادة ان لا آله الا الله وان محمداً رسول الله صلى الله عليه وآله
“เมื่อกออิม (อ.) ได้ยืนหยัดขึ้น จะไม่มีแผ่นดินใดหลงเหลืออยู่ เว้นแต่ในแผ่นดินนั้นจะถูกเรียกร้องไปสู่การปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือศาสนทูตของอัลลอฮ์” (11)
มีบันทึกไว้ในตัฟซีร “อัยยาชี” เช่นกัน อิบนิบะกีร กล่าวว่า : ฉันได้ถามท่านอะบัลฮะซัน (อ.) เกี่ยวกับพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า
وَلَهُ أَسْلَمَ مَن فِي السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ طَوْعًا وَكَرْهًا
“และเฉพาะพระองค์เท่านั้น ผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินต่างยอมจำนน ทั้งด้วยความสมัครใจและฝืนใจ”
ท่านกล่าวว่า
انزلت في القائم عليه السلام اذا خرج باليهود والنصارى والصابئين والزنادقة واهل الردّة والكفار في شرق الارض وغربها فعرض عليهم الاسلام، فمن اسلم طوعاً امره بالصلاة والزكاة وما يؤمر به المسلم ويجب لله عليه، ومن لم يسلم ضرب عنقه، حتى لا يبقى في المشارق والمغارب احد الا وحّد الله.
“โองการนี้ถูกประทานลงมาในเรื่องของกออิม (อ.) เมื่อเขาปรากฏตัวขึ้นต่อพวกยะฮูดี นัศรอนี ซอบิอีน ซินดีก ผู้ที่หันออกจากศาสนา และผู้ที่ปฏิเสธทั้งในทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยที่เขาจะนำเสนออิสลามแก่พวกเขา ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ยอมรับด้วยความสมัครใจ เขาจะให้บุคคลนั้นทำการนมาซ จ่ายซะกาต และสิ่งที่มุสลิมทุกคนถูกสั่งใช้ ซึ่งเป็นวาญิบ (หน้าที่จำเป็น) เหนือเขาที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อ (ความใกล้ชิด) ต่ออัลลอฮ์ และผู้ใดก็ตามที่ไม่ยอมจำนน เขาจะฟันลงบนต้นคอของผู้นั้น จนกระทั้งไม่มีบุคคลใดหลงเหลืออยู่ในทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เว้นแต่เขาจะยอมรับในความเป็นเอกะของอัลลอฮ์”
อิบนิบะกีร กล่าวว่า : ฉันได้กล่าวกับท่านอิมามว่า
جعلت فداك ان الخلق اكثر من ذلك
“ข้าพเจ้าขอพลีเพื่อท่าน! แท้จริงมนุษย์นั้นมีมากมายเกินกว่าจะทำสิ่งนั้นได้” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า
ان الله اذا اراد امراً قلّل الكثير وكثّر القليل
“แท้จริงแล้วเมื่ออัลลอฮ์ทรงประสงค์ในสิ่งหนึ่ง พระองค์จะทรงทำให้คนจำนวนมากมีจำนวนน้อย และคนจำนวนน้อยมีจำนวนมาก” (12)
ในรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ในฮะดีษ (วจนะ) ที่มีเนื้อหายาวบทหนึ่งซึ่งท่านได้กล่าวถึงเรื่องราวของกออิม คือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ในช่วงเวลาที่ท่านปรากฏตัว โดยกล่าวว่า
ولا تبقى (ارض) في الارض قرية الا نودي فيها بشهادة ان لا آله الا الله(وحده لاشريك له) وان محمداً رسول الله
“และจะไม่มีหมู่บ้านใดบนแผ่นดินหลงเหลืออยู่ เว้นแต่ (ประชาชน) มันจะถูกเรียกร้องไปสู่การปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ (เพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดสำหรับพระองค์) และมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือศาสนทูตของอัลลอฮ์”
และท่านกล่าวต่อว่า “นั่นคือพระดำรัสของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งที่ว่า
وَلَهُ أَسْلَمَ مَن فِي السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ طَوْعًا وَكَرْهًا
และเฉพาะพระองค์เท่านั้น ผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินต่างยอมจำนน ทั้งด้วยความสมัครใจและฝืนใจ”
และท่านได้กล่าวต่อไปอีกว่า
ولايقبل صاحب هذا الامر الجزية كما قبلها رسول الله صلى الله عليه وآله وسلم وهو قول الله:
“(มะฮ์ดี) ผู้มีอำนาจในกิจการนี้ จะไม่รับส่วยเหมือนที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เคยรับมัน นั่นคือพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า
وَقاتِلُوهُمْ حَتَّى لا تَكُونَ فِتْنَةٌ وَيَكُونَ الدِّينُ لِلَّهِ
และจงต่อสู้กับพวกเขา จนกระทั่งไม่มีวิกฤตการณ์อันเลวร้าย และศาสนาจะเป็นของอัลลอฮ์” (13)
บทสรุปก็คือ นอกเหนือจากความเหมือนกันของเป้าหมายต่างๆ ของขบวนการต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในเหตุการณ์แห่งกัรบะลาและในวันอาชูรอ กับขบวนการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ) ในช่วงการปกครองและรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ) นั้น เมล็ดพันธ์และต้นกล้าต่างๆ ที่ถูกบ่มเพาะไว้ในเหตุการณ์การยืนหยัดต่อสู้แห่งกัรบะลาก็จะเจริญงอกงามและออกดอกออกผล ด้วยความจำเริญ (บะรอกัต) และความดีงามของรัฐบาลนี้ โลกจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม เป้าหมายต่างๆ ของศาสดาทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า นับจากอาดัม (อ.) จนถึงคอตะมุลอัมบิยาอ์ มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จะถูกทำให้บรรลุผล มนุษยชาติจะได้สัมผัสและลิ้มรสที่แท้จริงของสันติภาพ ความสงบสุขและความผาสุกไพบูลย์
แหล่งอ้างอิง
(1) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 44 หน้าที่ 329
(2) ตารีค อัฏฏ็อบรี เล่มที่ 4 หน้าที่ 266
(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฏบะฮ์ที่ 138
(4) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 51 หน้าที่ 130
(5) อิลซามุนนาซิบ หน้าที่ 177
(6) ยะนาบีอุลมะวัดดะฮ์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 62
(7) อัลฆ็อยบะฮ์ นุอ์มานี หน้าที่ 230
(8) อิรชาด เชคมุฟีด เล่มที่ 2 หน้าที่ 385
(9) อัลกุรอานบทอาลุอิมรอน โองการที่ 83
(10) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 52 หน้าที่ 338-339
(11) ตัฟซีร อัลอัยยาชี เล่มที่ 1 หน้าที่ 183
(12) ตัฟซีร อัลอัยยาชี เล่มที่ 1 หน้าที่ 183
(13) ตัฟซีร อัลอัยยาชี เล่มที่ 2 หน้าที่ 60 ; อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 93
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่