การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (ฟะร็อจญ์) โดยการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ณ.) นั้น เป็นหนึ่งในความหวังที่ยิ่งใหญ่ของผู้ดำเนินรอยตามสำนักคิดของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) มันคือสื่อแห่งการมีความหวังต่ออนาคต ในการเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนสังคมแห่งอิสลาม ที่สำคัญมันคือความเชื่อมั่นถึงความแน่นอนของการปรากฏกาย (ซุฮูร) และการรอคอยที่แท้จริงในการเกิดขึ้นจริง การรอคอย หมายถึงการรัดเข็มขัด การเตรียมความพร้อมตัวเองในทุก ๆ ด้าน เพื่อเป้าหมายที่ท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) จะยืนหยัดขึ้นเพื่อเป้าหมายดังกล่าว
ท่านอับดุลอะซีม อัลฮุซัยนี (ร.ฎ.) กล่าวว่า "ฉันได้เข้าพบท่านอิมามญะวาด (อ.) นายของฉัน เพื่อต้องการที่จะถามท่านว่า "กออิม" นั้นคือ “มะฮ์ดี” หรือว่าเป็นบุคคลอื่น ท่านได้กล่าวแก่ฉันก่อนที่ฉันจะพูดว่า :
يَا أَبَا الْقَاسِمِ إِنَّ الْقَائِمَ مِنَّا هُوَ الْمَهْدِيُّ الَّذِي يَجِبُ أَنْ يُنْتَظَرَ فِي غَيْبَتِهِ وَ يُطَاعَ فِي ظُهُورِهِ وَ هُوَ الثَّالِثُ مِنْ وُلْدِي وَ الَّذِي بَعَثَ مُحَمَّداً ص بِالنُّبُوَّةِ وَ خَصَّنَا بِالْإِمَامَةِ إِنَّهُ لَوْ لَمْ يَبْقَ مِنَ الدُّنْيَا إِلَّا يَوْمٌ وَاحِدٌ لَطَوَّلَ اللَّهُ ذَلِكَ الْيَوْمَ حَتَّى يَخْرُجَ فِيهِ فَيَمْلَأَ الْأَرْضَ قِسْطاً وَ عَدْلًا كَمَا مُلِئَتْ جَوْراً وَ ظُلْماً وَ إِنَّ اللَّهَ تَبَارَكَ وَ تَعَالَى لَيُصْلِحُ لَهُ أَمْرَهُ فِي لَيْلَةٍ كَمَا أَصْلَحَ أَمْرَ كَلِيمِهِ مُوسَى علیه السلام إِذْ ذَهَبَ لِيَقْتَبِسَ لِأَهْلِهِ نَاراً فَرَجَعَ وَ هُوَ رَسُولٌ نَبِيٌّ
“โอ้อบัลกอซิม! แท้จริงกออิมของเรานั้นก็คือมะฮ์ดี ผู้ซึ่งจำเป็นที่จะต้องรอคอยเขาในช่วงการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของเขา และจะต้องเชื่อฟังเขาในช่วงการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของเขา เขาเป็นบุตรชั้นที่สามของฉัน ขอสาบานต่อ (พระผู้เป็นเจ้า) ผู้ที่ได้ทรงแต่งตั้งมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาเป็นศาสดา และได้ทรงเลือกสรรเราให้ดำรงตำแหน่งอิมาม (ผู้นำ) ว่า มาตรแม้นว่าไม่มีเวลาเหลืออยู่สำหรับโลกนี้นอกจากเพียงวันเดียว อัลลอฮ์ก็จะทรงทำให้วันนั้นยาวนานออกไปจนกว่าเขา (กออิม) จะยืนหยัดขึ้น โดยที่เขาจะทำให้แผ่นดินนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเที่ยงธรรมและความยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มันถูกทำให้เต็มไปด้วยการกดขี่และความอธรรม และแท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง จะแก้ไขปรับปรุงกิจการของเขาให้แก่เขาภายในคืนเดียว เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงกิจการของมูซา กะลีมุลลอฮ์ (อ.) เมื่อท่านได้ออกไปเพื่อค้นหาไฟให้แก่ครอบครัวของตน และได้กลับมาในสภาพที่ (ได้รับแต่งตั้งให้) เป็นร่อซุลและนบี”
ต่อจากนั้นท่านกล่าวว่า : أَفْضَلُ أَعْمَالِ شِيعَتِنَا انْتِظَارُ الْفَرَج “อะมั้ล (การงาน) ที่ดีที่สุดของชีอะฮ์ของเรานั้น คือการรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (ด้วยมือของมะฮ์ดี)” [1]
การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (ฟะร็อจญ์) โดยการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ณ.) นั้น เป็นหนึ่งในความหวังที่ยิ่งใหญ่ของผู้ดำเนินรอยตามสำนักคิดของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) มันคือสื่อแห่งการมีความหวังต่ออนาคต ในการเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนสังคมแห่งอิสลาม ที่สำคัญมันคือความเชื่อมั่นถึงความแน่นอนของการปรากฏกาย (ซุฮูร) และการรอคอยที่แท้จริงในการเกิดขึ้นจริงของมัน
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ถือว่า “อะมั้ล” (การกระทำอิบาดะฮ์) ที่ดีเลิศที่สุดนั้นคือการรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยากจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง โดยที่ท่านกล่าวว่า :
اَفْضَلُ اَعْمالِ اُمَّتِی اِنتظارُ الفَرَجِ مِنَ اللَّهِ عَزَّوَجَلَّ
“อะมั้ล (การกระทำอิบาดะฮ์) ที่ประเสริฐที่สุดนั้นคือการรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยากจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร” [2]
ดั่งที่ได้ถูกอธิบายไว้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของท่านอับดุลอะซีม อัลฮุซัยนี ว่า อะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ถือว่าตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (อินติซอรุ้ลฟะญัร) นั้นคือการดำรงอยู่ของท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) ในสังคม ทั้งนี้เนื่องจากว่าสำหรับมุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) ทุกคนนั้น การปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมาม คือการคลี่คลายความทุกข์ยากอย่างแท้จริง แต่การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (อินติซอรุลฟะญัร) ที่ถูกสั่งเสียไว้อย่างมากมายและได้อธิบายว่าเป็นอะมั้ล (อิบาดะฮ์) ที่ดีที่สุดของชาวชีอะฮ์นั้น มีความหมายอย่างไร? กล่าวคือ มนุษย์เรามีหน้าที่แค่เพียงยกมือขอดุอาอ์และวิงวอนขอการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะอฮ์ดี (อ.ญ.) จากพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้นหรือ?
ในการอธิบายและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับคำว่า “อินติซอร” (การรอคอย) นั้น ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลาม ได้กล่าวว่า :
“ความหมายของคำว่า “อินติซอร” (การรอคอย) นั้นหมายถึง เราเป็นผู้รอคอยมืออันทรงพลังของผู้ธำรงความยุติธรรมที่จะมาปรากฏกาย และจะมาทำลายการครอบงำของความอธรรมและการกดขี่ที่ได้พิชิตเหนือมนุษยชาติเกือบทั้งหมดอยู่ในขณะนี้ และท่านจะมาทำการโค่นทำลายสภาพของความอธรรมและการกดขี่นี้ และทำให้กลิ่นไอแห่งความยุติธรรมแผ่คลุมในชีวิตของมวลมนุษย์ เพื่อมนุษย์ทั้งหลายจะได้สัมผัสกับความยุติธรรม นี่คือความต้องการโดยทั่วไปของคนที่มีชีวิตและที่มีสติ คนที่ไม่ได้ซุกหัวอยู่ในรังดักแด้ คนที่ไม่พึงพอใจกับสภาพชีวิตที่ดำเนินอยู่ของตน คนที่มองดูภาพรวมของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ชาติอย่างที่ควรจะเป็น ...
แน่นอนโดยธรรมชาติแล้วเขาจะอยู่ในสภาพของการรอคอย นี่คือความหมายของการรอคอย (อินติซอร) การรอคอย หมายถึงความไม่พึงพอใจ การไม่ยอมรับสภาพที่กำลังเป็นอยู่ของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และความพยายามเพื่อจะไปให้ถึงยังสภาพที่คู่ควรเหมาะสม แน่นอนยิ่งว่าสภาพที่คู่ควรเหมาะสมนี้ จะบรรลุความเป็นจริงโดยมืออันทรงพลังของท่าน “วะลียุลลอฮ์” ท่านฮุจญะติบนิ้ลฮะซัน อิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ผู้เป็นเจ้าของแห่งยุคสมัย (ซอฮิบุซซะมาน) จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมตนเองสำหรับการเป็นทหาร ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความพร้อมสำหรับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าว …
การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (อินติซอรุ้ลฟะญัร) นั้น ไม่ได้หมายถึงการที่คนเราจะนิ่งเฉยโดยไม่กระทำสิ่งใด ไม่ได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการปฏิรูปและการปรับปรุงใด ๆ เลย พึงพอใจแต่เพียงว่าเราเป็นผู้รอคอยท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) สิ่งนี้ไม่ใช่การรอคอย รอคอยอะไรหรือ? การรอคอยมืออันทรงพลังแห่งพระเจ้า (หมายถึงอิมามมะฮ์ดี) ที่จะมา และโดยการช่วยเหลือของคนเหล่านี้ที่ท่านจะทำลายการครอบงำของความอธรรมให้หมดไป ทำให้สัจธรรมมีชัยและความยุติธรรมปกคลุมการดำเนินชีวิตของประชาชน และทำให้ธงแห่งเตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระเจ้า) โบกสะบัดขึ้น ทำให้มนุษย์เป็นบ่าวอย่างแท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า (ดังนั้น) จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจนี้ …
การสถาปนาระบอบสาธารณรัฐอิสลาม คือหนึ่งจากการเตรียมการสำหรับการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ ทุกการกระทำในทิศทางของการผดุงความยุติธรรมนั้น คือย่างก้าวหนึ่งที่นำไปสู่เป้าหมายอันสูงส่งดังกล่าว นี่คือความหมายของการรอคอย การรอคอยคือการเคลื่อนไหว การรอคอยไม่ใช่การหยุดนิ่ง การรอคอยไม่ใช่การละวางและการนั่งเฉยปล่อยให้งานเกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง การรอคอยคือการขับเคลื่อน การรอคอยคือการเตรียมความพร้อม การเตรียมความพร้อมนี้จะต้องถูกรักษาไว้ในตัวของเราและในสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงประทานเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) แก่ประชาชนผู้มีเกียรติของเรา แก่ชนชาติอิหร่านที่พวกเขาสามารถย่างก้าวผ่านขั้นตอนที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ และจัดเตรียมบรรยากาศของการรอคอยแล้ว นี่คือ ความหมายของ “อินติซอรุ้ลฟะญัร” (การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก) …
การรอคอย หมายถึงการรัดเข็มขัด การเตรียมความพร้อมตัวเองในทุก ๆ ด้าน เพื่อเป้าหมายที่ท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) จะยืนหยัดขึ้นเพื่อเป้าหมายดังกล่าว การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์นี้จะถูกกระทำเพื่อเป้าหมายดังกล่าว และนั่นก็คือการสถาปนาความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม การเสริมสร้างการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ชีวิตแห่งพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นบ่าวแห่งพระผู้เป็นเจ้า นี่คือความหมายของ “อินติซอรุลฟะญัร” (การรอคอยกาคลี่คลายความทุกข์ยาก)” [3]
แหล่งที่มา :
[1] กะมาลุดดี วะ ตะมามุนเนี๊ยะอ์มะฮ์, เชคซอดูก, เล่มที่ 2, หน้าที่ 49
[2] เล่มเดิม, หน้าที่ 357
[3] คำปราศรัยของท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี, ในการเข้าพบของประชาชน ในวันที่ 15 ชะอ์บาน (ตรงกับ 27/5/1387 ของอิหร่าน)
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่.