ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กลุ่มคนที่รอดพ้นมีหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ การยึดมั่นในวิลายัตของอะ์ลุลบัยต์ (อ.) การรับความรู้จากอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) และการมีความเชื่อในอิมามสิบสองท่าน
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงส่งประทานคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นคัมภีร์แห่งทางนำสุดท้ายผ่านท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) สิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดของพระองค์เพื่อทำหน้าที่ชี้นำแนวทางสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) และความผาสุก (ซะอาดะฮ์) แก่มนุษย์ ท่านศาสดาผู้มีเกียรติ (ซ็อลฯ) ได้ใช้ความอุตสาห์พยายามและทุ่มเทกำลังทั้งหมดของท่าน และทนทุกข์กับความยากลำบากที่สุดเพื่อที่จะบรรลุตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าสติปัญญาของมนุษย์จะน้อยนิดจากการเข้าใจความยากลำบากเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อคิดถึงถ้อยคำของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ทำให้สามารถตระหนักได้เป็นอย่างดีถึงคุณค่าและขอบเขตของภารกิจของท่าน ซึ่งท่านกล่าวว่า :
مَا أُوذِيَ نَبِيٌّ مِثْلَ مَا أُوذِيتُ
"ไม่มีศาสดาคนใดที่ถูกทำร้ายเหมือนดั่งที่ฉันได้ถูกทำร้าย" (1)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หลังจากอดทนต่อความยากลำบากเหล่านี้และเพื่อรักษาผลลัพธ์ต่างๆ ของสิ่งที่ได้รับ โดยพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านไม่ได้ละทิ้งอุมมะฮ์โ (ประชาชาติ) ของท่านไว้โดยปราศจากผู้ชี้นำ และท่านได้แนะนำท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่ง คอลีฟะฮ์ และผู้นำทางประชาชนภายหลังจากท่าน ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งรู้เป็นอย่างดีว่า ชาวมุสลิมที่เนรคุณและคนหน้าซื่อใจคด (มุนาฟิกีน) ที่มีจิตใจมืดบอดจะไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น เพื่อทำให้หลักฐานสมบูรณ์และยุติการโต้เถียงนี้ ท่านจึงกล่าวว่า :
سَتَفْتَرِقُ أُمَّتِي عَلَى ثَلاَثٍ وَ سَبْعِينَ فِرْقَةً مِنْهَا فِرْقَةٌ نَاجِيَةٌ وَ اَلْبَاقُونَ هَالِكُونَ
"ประชาชาติของฉันจะแตกแยกออกเป็นเจ็ดสิบสามกลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มเดียวที่รอดพ้น และกลุ่มที่เหลือจะพินาศ" (2)
ในประเด็นที่ว่าจำนวนเจ็ดสิบสาม เป็นจำนวนเท่านี้จริง หรือเป็นอธิบายให้เห็นถึงจำนวนมากเพียงเท่านั้น ในหมู่นักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือการแยกแยะและการรับรู้ถึงกลุ่มที่รอดพ้น ประเด็นนี้มีความสำคัญมากถึงขั้นที่ว่า ไม่สามารถจะพูดได้อีกต่อไปว่าไม่มีปัญหาอะไร หากฉันจะไม่รับรู้ถึงกลุ่มที่รอดพ้น และไม่เข้าร่วมกับพวกเขา เนื่องจากมันคือประเด็นของเรื่องสวรรค์และนรก ความผาสุก (ซะอาดะฮ์) และความทุกข์เข็ญ (ชะกอวะฮ์)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อธิบายถึงหลักเกณฑ์สามประการในการแยกแยะและรับรู้ถึงกลุ่มที่รอดพ้น เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ทั้งสามนี้อย่างละเอียดแล้ว เราสามารถรับรู้ถึงกลุ่มที่รอดพ้นได้อย่างง่ายดาย
ก. การยึดมั่นในวิลายะฮ์ (อำนาจปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)
หลักเกณฑ์แรกของกลุ่มที่รอดพ้น คือการยึดมั่นและปฏิบัติตามอะอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
فَالنَّاجُونَ اَلَّذِينَ يَتَمَسَّكُونَ بِوَلاَيَتِكُمْ
"ดังนั้นบรรดาผู้รอดคือผู้ที่ยึดติดอยู่กับวิลายะฮ์ของพวกเจ้า" (3)
นี่ก็คือหลักเกณฑ์ที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อธิบายไว้ในหะดีษอัษษะกอลัยน์นั่นเอง ท่านกล่าวว่า :
إِنِّي تَارِكٌ فِيكُمُ اَلثَّقَلَيْنِ مَا إِنْ تَمَسَّكْتُمْ بِهِمَا لَنْ تَضِلُّوا: كِتَابَ اَللَّهِ وَ عِتْرَتِي أَهْلَ بَيْتِي
"แท้จริงฉันคือผู้ละทิ้งสิ่งสำคัญสองสิ่งไว้ในหมู่พวกท่าน หากพวกท่านยึดมั่นต่อทั้งสองนี้ พวกท่านจะไม่หลงทางตลอดไป นั่นคือ : คัมภีร์ของอัลลอฮ์และเชื้อสายของฉัน ผู้เป็นอะฮ์ลุลบัยติ์ (ครอบครัว) ของฉัน" (4)
ข. การใช้ประโยชน์จากความรู้ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)
หลักเกณฑ์ที่สองในการรับรู้กลุ่มทีรอดพ้นคือการรับและใช้ประโยชน์จากความรู้ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
وَ يَقْتَبِسُونَ مِنْ عِلْمِكُمْ
"และพวกเขาจะรับประโยชน์จากความรู้ของของพวกเจ้า" (5)
อิหม่ามบากิร (อ.) ซึ่งท่านเองเป็นผู้ผ่าคลังแห่งความรู้ ได้อธิบายถึงอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ไว้ดังนี้ว่า :
نَحْن خُزَّانُ عِلْمِ اَللَّهِ
"พวกเรา (อะฮ์ลุลบัยติ์) คือคลังความรู้ของพระผู้เป็นเจ้า" (6)
ดังนั้น การรับความรู้จากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) จึงเป็นการรับเอาความรู้จากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง
ค. ยึดมั่นในสิบสองอิมาม
หลักเกณฑ์ที่สามที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อธิบายไว้เพื่อแยกแยะกลุ่มที่รอดพ้นคือจำนวนอิมามของพวกเขา ซึ่งท่านกล่าวว่า จำนวนอิมามของกลุ่มที่รอดพ้นนั้นมีสิบสองคน เท่ากับจำนวนผู้นำกลุ่มชนแห่งวงศ์วานอิสราเอล :
عدَدَ نُقَبَاءِ بَنِي إِسْرَائِيلَ
"จำนวนของพวกเขาเท่ากับจำนวนของนุกอบาอ์แห่งบนีอิสรออีล" (7)
ตามหลักเกณฑ์ทั้งสามที่กล่าวไป มีเพียงกลุ่มเดียวที่รอดพ้น คือ "ชีอะฮ์ อิซนาอะชะรียะฮ์" (ชีอะฮ์สิบสองอิมาม) หรือ "ชีอะฮ์ยะฟะรียะฮ์) ซึ่งเป็นชีอะฮ์เพียงกลุ่มเดียวที่ยึดมั่นในวิลายะฮ์ของอัฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และได้นำความรู้ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) มาใช้ในทุกเรื่องของชีวิตทางโลกนี้และชีวิตทางปรโลกของเขา และ จำนวนอิมามของพวกเขาคือสิบสองคน กลุ่มอื่นๆ ที่เรียกตัวเองว่ามุสลิมไม่มีกลุ่มใดที่มีหลักเกณฑ์ทั้งสามประการ บางกลุ่มได้ยึดมั่นต่อผู้อื่นที่ไม่ใช่อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และแม้แต่ยึดมั่นต่อบรรดาศัตรูของพวกท่าน และบางกลุ่มได้ปิดกั้นตัวเองจากการรับประโยชน์จากความรู้ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และบางคนมีอิมามมากกว่าสิบสองคนหรือ น้อยกว่าจำนวนนี้
เชิงอรรถ :
(1). กัชฟุลฆุมมะฮ์, เล่ม 2, หน้า 537
(2). บิฮารุลอันวาร, เล่ม 36, หน้า 336
(3). เล่มเดิม
(4)]. อิษบาตุลฮุดาต, เล่ม 2, หน้า 189
(5). เล่มเดิม
(6). อัลมะนากิบ, เล่ม 4, หน้า 206
(7). เล่มเดิม
แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2023 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่