คำว่า "ยุคสุดท้าย” (อาคิรุซซะมาน) ในคำสอนของอิสลามมีการใช้งานในสองความหมาย คือ :
1.ช่วงเวลาที่เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการมาของท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) และจะสิ้นสุดลงด้วยกับการเริ่มต้นของวันฟื้นคืนชีพครั้งยิ่งใหญ่ (วันกิยามะฮ์) และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงเรียกศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า ศาสดาแห่งยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน)
2.ช่วงเวลาที่เริ่มต้นขึ้นด้วยกับการประสูติของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และจะครอบคลุมถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) และยุคของการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่าน และจากนั้นจะสิ้นสุดลงพร้อมกับการเริ่มต้นขึ้นของวันกิยามะฮ์ (วันฟื้นคืนชีพ) และในความหมายที่สองนี้ประกอบไปด้วยสองช่วงเวลา คือ :
ก.ช่วงเวลาแรกซึ่งมนุษย์จะดำเนินไปถึงจุดสูงสุดของความตกต่ำทางศีลธรรม ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและการกดขี่จะปกคลุมทุกสังคมมนุษย์ และตามสำนวนของบรรดาริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ โลกจะเต็มไปด้วยความอธรรม การกดขี่และความรุนแรง
ลักษณะบางประการของช่วงเวลานี้ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ (1) มีดังนี้ :
สภาพของรัฐบาลทั้งหลาย : บรรดาผู้ปกครองจะเป็นคนทุจริต ชั่วร้ายและกดขี่ และรัฐบาลทั้งหลายจะอ่อนแอ เป็นเผด็จการ มีความสั่นคลอนและไม่ยั่งยืน
สภาพของศาสนา : อิสลามและอัลกุรอานจะเหลือแต่เพียงชื่อหรือสัญลักษณ์ และมัสยิดต่างๆ จะถูกสร้างอย่างสวยงาม แต่ประชาชนจะไม่เข้ามัสยิดและผู้คนจะออกห่างจากศาสนา
สภาพทางศีลธรรม : อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ อันได้แก่ ความรัก ความเอื้ออาทรจะอ่อนแอลง และจะไม่มีความเมตตาสงสารต่อกันและกัน ประเภทต่างๆ ของการทุจริต คอรัปชั่น ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจะถูกปฏิบัติอย่างเปิดเผยและโดยปราศจากการห้ามปรามและการยับยั้งใดๆ ในสังคม
สภาพทางด้านความปลอดภัย : ความกลัวและความวิตกกังวลจะปกคลุมไปทั่วและเส้นทางทั้งหลายจะไม่ปลอดภัย อาชญากรรมต่างๆ ที่เลวร้ายและน่าสะพรึงกลัวจะเกิดขึ้น และผู้คนจะปรารถนาความตาย การตายแบบกะทันหัน แผ่นดินไหว สงคราม วิกฤตการณ์ที่เลวร้าย (ฟิตนะฮ์) ต่างๆ โรคภัยและความตายจะมีสูงขึ้น
สภาพทางด้านเศรษฐกิจ : ฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาลและผลผลิตทางการเกษตรจะต่ำ แม่น้ำ ลำคลองและตาน้ำจะแห้ง ข้าวยากหมากแพง ความยากจน ความหิวโหยและความซบเซาของการค้าและการตลาดจะปรากฏทั่วไป
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือว่า ในช่วงเวลาหรือยุคเดียวกันนี้เราก็จะพบเห็นว่ายังมีคนดี (ซอและห์) อยู่ซึ่งพวกเขามีความศรัทธาที่มั่นคงเข้มแข็ง ดังที่ริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ได้กล่าวว่า :
يَا عَلِيُّ أَعْجَبُ النَّاسِ إِيمَاناً وَ أَعْظَمُهُمْ يَقِيناً قَوْمٌ يَكُونُونَ فِي آخِرِ الزَّمَانِ لَمْ يَلْحَقُوا النَّبِيَّ وَ حُجِبَ عَنْهُمُ الْحُجَّةُ فَآمَنُوا بِسَوَادٍ عَلَي بَيَاض
“โอ้อะลี! มนุษย์ที่มีศรัทธาน่ามหัศจรรย์ที่สุดและมีความเชื่อมั่นที่ใหญ่ที่สุดคือหมู่ชนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย พวกเขาไม่ได้เห็นศาสดา และฮุจญะฮ์ (ผู้เป็นข้อพิสูจน์ของพระเจ้า / อิมาม) ก็จะเร้นหายไปจากพวกเขา แต่พวกเขาจะศรัทธาด้วยสีดำที่อยู่บนสีขาว (ตัวอักษรที่ถูกเขียนบนกระดาษ)” (2)
ข.ช่วงเวลาที่สอง สัญญาแห่งพระเจ้าจะบรรลุความจริงและผู้ปลดปล่อยที่ยิ่งใหญ่ คือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะปรากฏกาย (ซุฮูร) และจะจัดตั้งรัฐบาลโลกขึ้นและจะทำการต่อสู้กับการปฏิเสธศรัทธา (กุฟร์) และการกดขี่และจะเติมเต็มโลกนี้ด้วยความยุติธรรม
คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงช่วงเวลานี้ของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไว้ในหลายๆ โองการ ดังเช่น อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :
وَ لَقَدْ كَتَبْنا فِي الزَّبُورِ مِنْ بَعْدِ الذِّكْرِ أَنَّ الْأَرْضَ يَرِثُها عِبادِيَ الصَّالِحُون
“และแน่นอนยิ่งเราได้บันทึกไว้ในคัมภีร์ซะบูร หลังจากซิกร์ (คัมภีร์เตาร๊อต) ว่า แท้จริง (อำนาจการปกครอง) แผ่นดินนี้ปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของข้าจะทำการสืบทอดมัน” (3)
และในอีกที่หนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า :
وَعَدَ اللَّهُ الَّذينَ آمَنُوا مِنْكُمْ وَ عَمِلُوا الصَّالِحاتِ لَيَسْتَخْلِفَنَّهُمْ فِي الْأَرْضِ كَمَا اسْتَخْلَفَ الَّذينَ مِنْ قَبْلِهِمْ وَ لَيُمَكِّنَنَّ لَهُمْ دينَهُمُ الَّذِي ارْتَضي لَهُمْ وَ لَيُبَدِّلَنَّهُمْ مِنْ بَعْدِ خَوْفِهِمْ أَمْناً يَعْبُدُونَني لا يُشْرِكُونَ بي شَيْئاً وَ مَنْ كَفَرَ بَعْدَ ذلِكَ فَأُولئِكَ هُمُ الْفاسِقُونَ
"อัลลอฮ์ทรงสัญญาต่อบรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้กระทำความดีทั้งหลายว่า แน่นอนพระองค์จะทรงให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด (อำนาจการปกครอง) ในแผ่นดิน เสมือนดังที่พระองค์ทรงให้บรรดาชนก่อนพวกเขาเป็นผู้สืบทอดมาก่อนแล้ว และพระองค์จะทรงทำให้ศาสนาของพวกเขาซึ่งพระองค์ทรงพึงพอพระทัย เป็นที่มั่นคงแก่พวกเขา และแน่นอนพระองค์จะทรงเปลี่ยนให้พวกเขาได้รับความปลอดภัย หลังจากความกลัวของพวกเขา โดยที่พวกเขาจะเคารพภักดีข้า ไม่ตั้งภาคีอื่นใดต่อข้า และผู้ใดปฏิเสธศรัทธาหลังจากนั้น ชนเหล่านั้นคือผู้ฝ่าฝืน” (4)
เชิงอรรถ :
1.พิจารณาดู : บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 18, หน้าที่ 146 และเล่มที่ 22, หน้าที่ 452
2.มันลายะห์ฎุรุฮุลฟะกีฮ์, เชคซอดูก, เล่มที่ 4, หน้าที่ 366
3.อัลกุรอานบทอัลอันบิยาอ์ (21) โองการที่ 105
4.อัลกุรอานบทอันนูร (24) โองการที่ 55
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่