ทำไมนักวิชาการซุนนีจึงกล่าวหลังชื่ออิมามอะลี (อ.) ว่า "กัรร่อมัลลอฮุวัจญ์ฮะฮ์" ?

ทำไมนักวิชาการซุนนีจึงกล่าวหลังชื่ออิมามอะลี (อ.) ว่า "กัรร่อมัลลอฮุวัจญ์ฮะฮ์" ?

    หนึ่งในความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและไม่มีใครเหมือนที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้สำหรับท่านอิมามอะลี (อ.) คือ การรุดหน้าผู้อื่นของท่านในการศรัทธา (อีหม่าน) และการยอมรับอิสลาม ท่านอิมามอะลี (อ.) คือผู้ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในอาคารกะอ์บะอ์ เจริญเติบโตในบ้านแห่งวะฮ์ยู (วิวรณ์) และได้รับการอบรมขัดเกลาโดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ครูแห่งมนุษยชาติ เรียนรู้ความศรัทธาและการเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียวจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และประกาศการยอมรับศาสนาอิสลามในขณะมีอายุเพียงสิบขวบ

    บรรดานักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์เมื่อพวกเขาเอ่ยชื่อของท่านอิมามอะลี (อ.) จะกล่าวท้ายชื่อของท่านว่า "كَرَّمَ اللهُ وَجْهَهُ" (ขออัลลอฮ์ทรงทำให้ใบหน้าของท่านมีเกียรติ) ในขณะที่ในกรณีของซอฮาบะฮ์ (สาวกของท่านศาสดา) คนอื่นๆ พวกเขาจะกล่าวว่า "رَضِيَ اللهُ عَنْهُ" (ขออัลลอฮ์ทรงพึงพอพระทัยต่อท่าน)

    เหตุผลของประเด็นนี้ ก็เนื่องจากพวกเขาเองเชื่อว่าท่านอิมามอะลี (อ.) ไม่เคยเคารพบูชารูปเคารพและตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) แม้แต่เพียงชั่วขณะเดียว อันจะเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้กับท่านว่า "رَضِيَ اللهُ عَنْهُ" (ขออัลลอฮ์ทรงพึงพอพระทัยต่อท่าน) ทว่าสมควรยิ่งที่จะกล่าวเกี่ยวกับท่านอะลี (อ.) ว่า "كَرَّمَ اللهُ وَجْهَهُ" (ขออัลลอฮ์ทรงทำให้ใบหน้าของท่านมีเกียรติ)

    บรรดานักวิชาการเหล่านี้ได้ยกหลักฐานจากริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ เพื่อพิสูจน์คำกล่าวอ้างของตน ซึ่งจะชี้ให้เห็นบางส่วนดังนี้ :

ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ในการสนับสนุนคำพูดนี้ :

    อัลฮะละบีย์ได้อ้างคำพูดของมิกรีซีย์ ซึ่งได้เขียนไว้ในหนังสือ "อิมตาอุลอัซมาอ์" ว่า :

و اما على بن ابيطالب فلم يكن مشركا بالله ابدا لأنه كان مع رسول الله (ص) في كفالته كأحد اولاده يتبعه فى جميع اموره فلم يحتج أن يدعى للاسلام، فيقال اسلم

"และสำหรับท่านอะลี บินอะบีฏอลิบนั้น ไม่เคยตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์เลย ทั้งนี้เนื่องจากท่านใช้ชีวิตอยู่กับท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อยู่ในการเลี้ยงดูของท่านเสมือนดั่งลูกคนหนึ่งของท่าน ท่าน (อะลี) จะปฏิบัติตามท่านในทุกกิจการของตน และไม่มีความจำเป็นที่ท่านจะต้องถูกเชิญชวนสู่อิสลาม อันจะกล่าวได้ว่า ท่านได้เข้ารับอิสลามแล้ว" (1)

    ในตัฟซีรอัษษะอ์ละบีย์ได้บันทึกรายงานฮะดีษจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

سباق الأمم ثلاثة لم يكفروا بالله طرفة عين علي بن أبي طالب وصاحب يس ومؤمن آل فرعون فهم الصديقون وعلي أفضلهم.

"ผู้ที่รุดหน้าของประชาชาติทั้งหลาย (ในการศรัทธาต่อพระเจ้า) นั้นมีสามคน และพวกเขาไม่เคยปฏิเสธอัลลอฮ์เลยแม้แต่กระพริบตาเดียว นั่นคือ อะลี บินอะบีฏอลิบ และซอฮิบุยาซีน (ฮะบีบ อันนัจญาร) และมุอ์มิน อาลิฟิรเอาน์ (ฮิซกีล) ดังนั้นพวกเขาคือผู้สัจจริง และอะลีคือผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา" (2)

    อิบนุฮะญัร อัลอัซกอลานี แม้จะมีความอคติต่อชีอะฮ์อย่างรุนแรง แต่ก็ได้รายงานจากอิบนิซะอัด ฮะซัน บินซัยด์ ซึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า :

لم يعبد الاوثان قط

"ท่านอะลีไม่เคยเคารพบูชารูปเจว็ดเลย"

    และต่อจากนั้นเขากล่าวว่า :

و من ثم يقال فيه كرم الله وجهه

"และด้วยเหตุนี้เองจึงถูกกล่าวเกี่ยวกับท่านว่า "กัรร่อมัลลอฮุ วัจญ์ฮะฮ์" (ขออัลลอฮ์ทรงทำให้ใบหน้าของท่านมีเกียรติ)" (3)

    อิบนุชะฮ์รอชูบได้กล่าวไว้ในหนังสือ "มะนากิบ อาลิอบีฏอลิบ (อ.)" ว่า :

وَ وَجَدْنَا الْعَامَّةَ إِذَا ذَكَرُوا عَلِيّاً فِي كُتُبِهِمْ أَوْ أَجْرَوْا ذِكْرَهُ عَلَى أَلْسِنَتِهِمْ قَالُوا : " كَرَّمَ اللَّهُ وَجْهَهُ " ، يَعْنُونَ بِذَلِكَ عَنْ عِبَادَةِ الْأَصْنَامِ

"และเราได้พบว่าชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์เมื่อพวกเขากล่าวถึงท่านอะลี (อ.) ในหนังสือของพวกเขา หรือกล่าวถึงท่านด้วยวาจาของพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า : "กัรร่อมัลลอฮุ วัจญ์ฮะฮ์" (ขออัลลอฮ์ทรงทำให้ใบหน้าของท่านมีเกียรติ) พวกเขาหมายถึง (มีเกียรติ) จากการเคารพสักการะรูปเจว็ด" (4)

บ้านที่อิมามอะลี (อ.) เติบโตและได้รับการอบรมขัดเกลา

    สำหรับบ้านที่ท่านอิมามอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้รับการเลี้ยงดูและการอบรมขัดเกลานั้น ก็คือบ้านของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และสิ่งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจอีกประการหนึ่งของท่านอิมามอะลี (อ.) และเป็นหนึ่งในเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) จากพระผู้เป็นเจ้า มุญาฮิด บินญับร์ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.104) กล่าวว่า :

    كَانَ مِمَّا أَنْعَمَ اللَّهُ عَلَى عَلِيِّ بْنِ أَبِي طَالِبٍ وَ أَرَادَ بِهِ الْخَيْرَ أَنَّ قُرَيْشاً أَصَابَتْهُمْ أَزْمَةٌ شَدِيدَةٌ وَ كَانَ أَبُو طَالِبٍ ذَا عِيَالٍ كَثِيرَةٍ ، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ ( صلى الله عليه و آله ) لِلْعَبَّاسِ عَمِّهِ ـ وَ كَانَ مِنْ أَيْسَرِ بَنِي هَاشِمٍ ـ : يَا عَبَّاسُ إِنَّ أَخَاكَ أَبَا طَالِبٍ كَثِيرُ الْعِيَالِ وَ قَدْ أَصَابَ النَّاسَ مَا تَرَى مِنْ هَذِهِ الْأَزْمَةِ فَانْطَلِقْ‏ حَتَّى نُخَفِّفَ عَنْهُ مِنْ عِيَالِهِ ، وَ أَخَذَ رَسُولُ اللَّهِ ( صلى الله عليه و آله ) عَلِيّاً فَضَمَّهُ إِلَيْهِ ، فَلَمْ يَزَلْ عَلِيٌّ مَعَ رَسُولِ اللَّهِ ( صلى الله عليه و آله ) حَتَّى بَعَثَهُ اللَّهُ نَبِيّاً ، فَاتَّبَعَهُ عَلِيٌّ وَ آمَنَ بِهِ وَ صَدَّقَهُ

    "ส่วนหนึ่งจากความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่มีต่อท่านอะลี บินอบีฏอลิบ และพระองค์ทรงประสงค์ความดีงามต่อท่านนั่นก็คือ เมื่อชาวกุเรชได้ประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษกิจที่รุนแรง และท่านอบูฏอลิบมีลูกหลายคน ดังนั้นท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวกับอับบาสลุงของท่าน ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าใครในหมู่บนีฮาชิมว่า : โอ้ท่านอับบาส! อบูฏอลิบพี่ชายของท่านมีลูกมากและประชาชนก็ได้ประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ท่านจงไปแบ่งเบ่าผู้ที่อยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูมาจากเขาเถิด แล้วท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ก็รับเอาท่านอะลีมาไว้ในการอุปการะของตน แล้วท่านอะลีก็ยังคงอยู่กับท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นศาสดา แล้วท่านอะลีก็ปฏิบัติตามท่าน ศรัทธาและยอมรับท่าน" (5)

    ท่านอิมามอะลี (อ.) เองได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

    وَلَقَدْ كُنْتُ أَتَّبِعُهُ اتِّبَاعَ الْفَصِيلِ أَثَرَ أُمِّهِ يَرْفَعُ لِي فِي كُلِّ يَوْمٍ مِنْ أَخْلَاقِهِ عَلَماً وَيَأْمُرُنِي بِالِاقْتِدَاءِ بِهِ وَلَقَدْ كَانَ يُجَاوِرُ فِي كُلِّ سَنَةٍ بِحِرَاءَ فَأَرَاهُ وَلَا يَرَاهُ غَيْرِي وَلَمْ يَجْمَعْ بَيْتٌ وَاحِدٌ يَوْمَئِذٍ فِي الْإِسْلَامِ غَيْرَ رَسُولِ اللَّهِ ( صلى الله عليه وآله ) وَخَدِيجَةَ وَأَنَا ثَالِثُهُمَا أَرَى نُورَ الْوَحْيِ وَالرِّسَالَةِ وَأَشُمُّ رِيحَ النُّبُوَّةِ وَلَقَدْ سَمِعْتُ رَنَّةَ الشَّيْطَانِ حِينَ نَزَلَ الْوَحْيُ عَلَيْهِ ( صلى الله عليه وآله ) فَقُلْتُ يَا رَسُولَ اللَّهِ مَا هَذِهِ الرَّنَّةُ فَقَالَ هَذَا الشَّيْطَانُ قَدْ أَيِسَ مِنْ عِبَادَتِهِ إِنَّكَ تَسْمَعُ مَا أَسْمَعُ وَتَرَى مَا أَرَى إِلَّا أَنَّكَ لَسْتَ بِنَبِيٍّ وَلَكِنَّكَ لَوَزِيرٌ وَإِنَّكَ لَعَلَى خَيْرٍ

    "และฉันได้ติดตามท่าน เหมือนลูกอูฐที่ติดตามรอยแม่ของมัน ในทุกวันท่านจะชูธงสัญลักษณ์จากจริยธรรมของท่านแก่ฉัน และใช้ให้ฉันปฏิบัติตามท่าน และฉันจะอยู่ร่วมกับท่านในถ้ำฮิรออ์ในทุกปี โดยที่ฉันจะเห็นท่านในขณะที่คนอื่นจากฉันไม่ได้เห็นท่าน และบ้านหลังเดียวในอิสลามในวันที่ได้รวมท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านหญิงคอดิญะฮ์ไว้ โดยที่ฉันจะเป็นบุคคลที่สามของพวกเขา ฉันจะเห็นแสง (นูร) แห่งวิวรณ์ (วะห์ยู) และสาส์น และฉันจะสัมผัสกลิ่นไอของความเป็นศาสดา และฉันจะได้ยินเสียงกรีดร้องของชัยฏอนในขณะที่วะห์ยู (วิวรณ์) ถูกประทานลงมายังท่าน ดังนั้นฉันจึงกล่าวถามท่านว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นี่คือเสียงกรีดร้องอะไร? ท่านกล่าวตอบว่า นี่คือชัยฏอน มันได้สิ้นหวังจากการ (ที่มนุษย์จะ) ทำการเคารพภักดีต่อมัน แท้จริงเจ้าจะได้ยินในสิ่งที่ฉันได้ยินและเห็นในสิ่งที่ฉันเห็น เว้นแต่ว่าเจ้าไม่ใช่ศาสดา แต่ทว่าเจ้าคือผู้ช่วยเหลือ และแท้จริงเจ้าอยู่ในความดีงาม" (6)

    คำพูดของบรรดานักวิชาการรวมทั้งฮะดีษต่างๆ ข้างต้น นอกจากจะเป็นเครื่องแสดงถึงความภาคภูมิใจที่ท่านอมีรลมุฮ์มินีน อะลี บิน อบีฏอลิบ (อ.) ได้รับแล้ว ยังเป็นเครื่องถึงสถานะภาพอันสูงส่งของท่านที่มีเหนือประชาชาติมุสลิมทั้งหลาย


เชิงอรรถ:

1. ซีร่อตุลฮะละบียะฮ์, อัลฮะละบีย์, เล่ม 1, หน้า 434 - 435, ดารุ้ลมะอ์ริฟะฮ์

2. ตัฟซีรอัษษะอ์ละบีย์, เล่ม 8, หน้า 126

3. อัศศอวาอิกุลมุห์ริเกาะฮ์, อิบนุฮะญัร อัลอัซกอลานี, หน้า 118

4. อัลมะนากิบ, เล่ม 2, หน้า 177

5. ฟะฎออิลุลค็อมซะฮ์ มิน ซอฮาฮุซซิตตะฮ์, ซัยยิดมุรตะฎอ ฟัยรูซอาบาดี, เล่ม 1, หน้า 215 อ้างจาก "อัลมุสตัดร็อก อะลัซซอฮีฮัยน์, ฮากิม นัยซาบูรี, เล่ม 3, หน้า 576

6. นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 192 (คุฏบะฮ์ อัลกอซิอะฮ์)


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่