ท่านอบุลฟัฎลิ์ อัลอับบาส ผู้มีความรู้และความเข้าใจที่ถ่องแท้
Powered by OrdaSoft!
No result.

ท่านอบุลฟัฎลิ์ อัลอับบาส ผู้มีความรู้และความเข้าใจที่ถ่องแท้

หนึ่งในคุณลักษณะพิเศษของบรรดาสหายและผู้ช่วยเหลือของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) หรือบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลา ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่สูงส่งสำหรับผู้ที่รอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และผู้ที่ปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ช่วยเหลือท่าน นั้นคือ “การมีวิสัยทัศน์  มุมมองและความเข้าใจที่ลึกซึ้ง”

     คุณลักษณะดังกล่าวนี้ในสำนวนภาษาอาหรับเรียกว่า “บะซีเราะฮ์” (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) ซึ้งในตัวบทและคำสอนของอิสลามจะเรียกคนที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ว่า “อะฮ์ลุลบะซ็อร” หรือ “อะฮ์ลุลบะซออิร” (ผู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง)

      กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) นั้น คือผู้ที่มีความรู้ที่ลุ่มลึกครอบคลุมในทุกๆ ด้านของเรื่องราวและปัญหาต่างๆ และจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความหลอกลวงจากรูปลักษณ์ภายนอก มีความปราดเปรื่อง เข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้ สามารถแยกแยะความถูกต้องออกจากความผิดพลาด และแยกแยะสัจธรรมออกจากความหลงผิดได้อย่างง่ายดาย มีความเข้าใจต่อเบื้องลึกของปัญหา เหตุการณ์ สถานการณ์และกระแสความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และสามารถกำหนดจุดยืนและท่าทีของตนเองต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง

     บะซีเราะฮ์ (การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) เป็นเสมือนประทีปส่องทางและเข็มทิศของความศรัทธา (อีหม่าน) และจิตวิญญาณ คนที่ขาด “บะซีเราะฮ์” จึงมักจะเผชิญกับความผิดพลาดในการเลือกและการตัดสินใจ และจะประสบกับความเบี่ยงเบนออกจากแนวทางที่ถูกต้องได้อย่างง่ายดาย ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

فَقدُ البَصَرِ أهوَنُ مِن فِقدانِ البَصیرَةِ

"การสูญเสียดวงตานั้นยังง่าย (และดี) เสียกว่าการไม่มีบะซีเราะฮ์ (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง)" (1)

     การขาดบะซีเราะฮ์ (ความเข้าใจที่ถ่องแท้และลึกซึ้ง) นี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้บนีอิสรออีลต้องประสบกับฟิตนะฮ์ (การสร้างวิกฤต) ของซามิรีย์ ในช่วงเวลาแค่เพียง 40 วันที่มูซา (อ.) ศาสดาของพวกเขาไม่อยู่ และหันเหออกจากการเคารพภักดีพระเจ้าไปสู่การเคารพบูชารูปปั้นวัวที่ซามิรีย์สร้างขึ้นเพื่อล่อลวงพวกเขา ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับคุณลักษณะของคนที่มีบะซีเราะฮ์ (ความเข้าใจที่ถ่องแท้) ไว้เช่นนี้ว่า

 فَإِنَّمَا الْبَصِيرُ مَنْ سَمِعَ فَتَفَكَّرَ وَنَظَرَ فَأَبْصَرَ وَانْتَفَعَ بِالْعِبَرِ ثُمَّ سَلَكَ جَدَداً وَاضِحاً يَتَجَنَّبُ فِيهِ الصَّرْعَةَ فِي الْمَهَاوِي وَالضَّلَالَ فِي الْمَغَاوِي

"แท้จริงผู้ที่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งนั้น คือผู้ที่รับฟังแล้วคิดใคร่ครวญ มองแล้วพิจารณาไตร่ตรอง แล้วนำไปใช้เป็นแง่คิดและอุทาหรณ์ ต่อจากนั้นเขาจะก้าวเดินไปในทางที่ชัดเจน หลีกเลี่ยงจากการพลัดตกสู่หุบเหวและการหลงทางอยู่ในเส้นทางที่ผิดพลาด (และทางที่ถูกวางไว้เป็นกับดัก)" (2)

     คนที่ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) และวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องนั้น เมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมและวังวนของฟิตนะฮ์ (วิกฤตความขัดแย้ง ความแตกแยกและความชั่วร้าย) ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น เขาจะไม่สามารถแยกแยะสิ่งถูกสิ่งผิดได้ และจะไม่รู้ว่าอะไรคือสัจธรรมและอะไรคือความเท็จ อะไรคือของเทียมและอะไรคือของแท้ และในที่สุดเขาจะย่างก้าวไปในทิศทางเดียวกับฟิตนะฮ์ (วิกฤต) จะกลายเป็นเหยื่อของวิกฤตดังกล่าว หรือบางครั้งจะตกเป็นเครื่องมือในการขยายวงของวิกฤตการณ์ต่างๆ

    โดยธรรมชาติแล้วฟิตนะฮ์นั้นเป็นสิ่งที่มีความคลุมเครือ มีลักษณะสองแง่สองมุม ภายนอกดูดึงดูดใจ ดูมีความสวยงาม ปกคลุมไว้ด้วยความจริงและสิ่งที่เป็นสัจธรรม แต่ด้านในของมันนั้นแฝงไว้ด้วยความเท็จ ความเบี่ยงเบนและความหลอกลวง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีลักษณะของการผสมผสานกันอยู่ระหว่างความจริงกับความเท็จ หรือระหว่างสัจธรรมกับความหลงผิด ซึ่งจะทำให้ผู้คนเกิดความผิดพลาดในการเลือกและการตัดสินใจได้ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

 إِنَّمَا بَدْءُ وُقُوعِ اَلْفِتَنِ أَهْوَاءٌ تُتَّبَعُ وَ أَحْكَامٌ تُبْتَدَعُ يُخَالَفُ فِيهَا كِتَابُ اَللَّهِ وَ يَتَوَلَّى عَلَيْهَا رِجَالٌ رِجَالاً عَلَى غَيْرِ دِينِ اَللَّهِ فَلَوْ أَنَّ اَلْبَاطِلَ خَلَصَ مِنْ مِزَاجِ اَلْحَقِّ لَمْ يَخْفَ عَلَى اَلْمُرْتَادِينَ وَ لَوْ أَنَّ اَلْحَقَّ خَلَصَ مِنْ لَبْسِ اَلْبَاطِلِ اِنْقَطَعَتْ عَنْهُ أَلْسُنُ اَلْمُعَانِدِينَ وَ لَكِنْ يُؤْخَذُ مِنْ هَذَا ضِغْثٌ وَ مِنْ هَذَا ضِغْثٌ فَيُمْزَجَانِ فَهُنَالِكَ يَسْتَوْلِي اَلشَّيْطَانُ عَلَى أَوْلِيَائِهِ

     “แท้จริงจุดเริ่มต้นของการเกิดฟิตนะฮ์ต่างๆ นั้น เกิดจากอารมณ์ใฝ่ต่ำที่ถูกปฏิบัติตาม และข้อบัญญัติต่างๆ ที่ถูกอุตริขึ้น ซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮ์จะขัดแย้งกับมัน และจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าปกครองครอบงำคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยออกนอกไปจากศาสนาของอัลลอฮ์ หากความหลงผิดสะอาดจากการผสมผสานกับสัจธรรม มันก็จะไม่เป็นที่อำพรางใดๆ สำหรับผู้ที่แสวงหา และหากสัจธรรมบริสุทธิ์จากการปกคลุมของความหลงผิด คำพูดต่างๆ ของผู้ที่มีอคติก็จะหยุดลง แต่ทว่ามันถูกนำมาจากตรงนี้กอบมือหนึ่งและจากตรงนี้อีกกอบมือหนึ่ง แล้วผสมผสานเข้าด้วยกัน เมื่อนั้นเองมารร้าย (ชัยฏอน) ก็จะเข้าครอบงำเหนือหมู่มิตรของมัน” (3)

      ตัวอย่างของการขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ที่ปรากฏให้เห็นในยุคสมัยของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นมีอยู่มากมาย ท่านอิมาม (อ.) พยายามอธิบายให้ผู้คนได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งนี้ ตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์สงครามอูฐ (ญะมัล) ชายผู้หนึ่งเกิดความเคลือบแคลงใจและความสับสนเนื่องจากเขาได้เห็นบรรดาบุคคลสำคัญของโลกอิสลามบางคนอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกับท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งเขาจะต้องทำสงครามกับพวกเขาเหล่านั้น อย่างเช่น ฏ็อลฮะฮ์ ซุเบรและท่านหญิงอาอิชะฮ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ชายผู้ตกอยู่ในภวังค์ของความมึนงงสับสนผู้นี้จึงไปพบกับท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) และได้กล่าวว่า

 أیمکن ان یجتمع زبیر و طلحه و عائشة على باطل؟

“เป็นไปได้หรือที่ซุเบร ฏ็อลฮะฮ์และอาอิชะฮ์จะรวมตัวกันบนความหลงผิด”

      ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวตอบเขาว่า

 انك لملبوس علیك; ان الحق و الباطل لا یعرفان باقدار الرجال، اعرف الحق تعرف اهله و اعرف الباطل تعرف اهله

    “แท้จริงเจ้าได้สับสนไปแล้ว แท้จริงแล้วสัจธรรมและความหลงผิดนั้นจะไม่ถูกรู้จักด้วยกับสถานะของบุคคลทั้งหลาย แต่เจ้าจงรู้จักสัจธรรม แล้วเจ้าจะรู้จักผู้ที่อยู่กับสัจธรรม และเจ้าจงรู้จักความหลงผิดแล้วเจ้าจะรู้จักผู้ที่อยู่ในความหลงผิด” (4)

    คนที่มี “บะซีเราะฮ์” (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) นั้นเขาจะทำความรู้จักกับสัจธรรมก่อน และเมื่อรู้แล้วว่าอะไรคือสัจธรรม เขาจะยึดและกำหนดมันเป็นบรรทัดฐานในการรับรู้ แยกแยะและทำความเข้าใจเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้แต่ในการที่จะรับรู้ว่าใครอยู่กับสัจธรรมและความถูกต้องหรือว่าอยู่กับความเท็จและความหลงผิด ก็จะใช้หลักการดังกล่าวนี้ อารมณ์ ความรู้สึกและการยึดติดอยู่กับตัวบุคคลจะไม่มีผลกระทบต่อการเลือกและการตัดสินใจของเขา เขาจะวัดผู้คนทั้งหลาย กระแสแนวคิดและเหตุการณ์ต่างๆ โดยอาศัยบรรทัดฐานและตราชูของสัจธรรมเพียงเท่านั้น ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า

 مَن دَخَلَ فِي هَذَا الدِّينِ بِالرِّجَالِ اَخْرَجَهُ مِنْهُ الرِّجَالُ، وَ مَن دَخَلَ فِيهِ بِالكِتَابِ وَ السُّنَه،ِ زَالَتِ الجِبَالُ قَبلَ اَن يَزُولَ

    “บุคคลใดที่เข้าสู่ศาสนานี้โดยผู้คน ผู้คนเหล่านั้นก็จะทำให้เขาออกจากศาสนา และใครก็ตามที่เข้าสู่ศาสนาด้วยคัมภีร์ (อัลกุรอาน) และซุนนะฮ์ ขุนเขาทั้งหลายจะสลายลงก่อนที่เขาจะสิ้นสลาย (เบี่ยงเบนออกจากความเชื่อและศรัทธาที่ถูกต้อง)” (5)

      ดังนั้นคนที่จะทำงานใหญ่และปฏิบัติภารกิจที่สำคัญนั้นจะต้องมี “บะซีเราะฮ์” (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) คนที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่บนทางนำของพระผู้เป็นเจ้าได้นั้นก็จะต้องมีคุณลักษณะดังกล่าวนี้ และคนที่จะเป็นผู้รอคอยและเป็นผู้ช่วยเหลือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้ โดยเฉพาะในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่าน ก็จะต้องมี “บะซีเราะฮ์” (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) และมีความมั่นคงหนักแน่นเช่นเดียวกัน

لا یَحْمِلَ هذَا الْعَلَمِ اِلَّا اَهْلُ الْبَصَرِ وَ الْصَّبْرِ

“จะไม่อาจถือธง (แบกรับภารกิจ) นี้ได้ นอกจากผู้ที่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) และมีความอดทนอดกลั้นเท่านั้น”

      คำพูดนี้เป็นของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่ท่านได้กล่าวไว้ในเหตุการณ์สงครามซิฟฟีน มีคนกลุ่มหนึ่งจากกองทัพของท่าน ปฏิเสธที่จะทำสงครามกับมุสลิมภายใต้การนำของมุอาวิยะฮ์ สำหรับพวกเขาแล้วเป็นเรื่องที่หนักหน่วงมากที่จะทำการสู้รบกับมุสลิมด้วยกันเอง เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าคนกลุ่มนั้นก็ทำนมาซ อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและเรียกร้องไปสู่สัจธรรม ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) จึงกล่าวกับพวกเขาว่า

 وَقَدْ فُتِحَ بَابُ الْحَرْبِ بَيْنَكُمْ وَبَيْنَ أَهْلِ الْقِبْلَةِ ، وَلاَ يَحْمِلُ هذَا الْعَلَمَ إِلاَّ أَهْلُ الْبَصَرِ والصَّبْرِ وَالْعِلْمِ بِمَوَاضِعِ الْحَقِّ

“และแน่นอนประตูของการทำศึกสงครามถูกเปิดขึ้นระหว่างพวกท่านและระหว่างชาวกิบละฮ์ (ชาวมุสลิม) ด้วยกันเอง ไม่มีผู้ใดที่จะถือธง (แบกรับภารกิจ) นี้ได้ นอกจากผู้ที่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) มีความอดทนอดกลั้น และมีความรู้ถึงตำแหน่งที่อยู่ของสัจธรรมเพียงเท่านั้น” (6)

     บรรดาผู้ช่วยเหลือและสหายที่ร่วมทางไปกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) จนถึงแผ่นดินกัรบะลา และเลือกที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคงบนเส้นทางนี้จวบจนลมหายใจสุดท้าย และยอมพลีชีวิตในหนทางของการต่อสู้พิทักษ์สัจธรรมและอิมามแห่งยุคสมัยของเขา ก็เนื่องจากพวกเขามี “บะซีเราะฮ์” (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) มีมุมมองที่ถูกต้องชัดเจน และสามารถแยกแยะสัจธรรมออกจากความหลงผิด รู้จักและศรัทธามั่นในตัวอิหม่ามของตนเองได้อย่างแท้จริง พวกเขาไม่มีความคลางแคลงสงสัยในความเชื่อมั่น ในจุดยืนและอุดมการณ์ของตัวเองแต่อย่างใดทั้งสิ้น ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงบุคคลลักษณะเช่นนี้ไว้ว่า

 إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ آمَنُوا بِاللَّهِ وَرَسُولِهِ ثُمَّ لَمْ يَرْتَابُوا وَجَاهَدُوا بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنفُسِهِمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ ۚ أُولَٰئِكَ هُمُ الصَّادِقُونَ

     “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั้น คือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ จากนั้นพวกเขาจะไม่เคลือบแคลงสงสัยใดๆ และพวกเขาต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ด้วยทรัพย์สินของพวกเขาและชีวิตของพวกเขา พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่สัจจริง” (7)

     หนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่มีบะซีเราะฮ์ (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) ในท่ามกลางบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็คือท่านอบุลฟัฎลิ์อัลอับบาส (อ.) ท่านอิหม่ามซอดิก (อ.) ได้อธิบายถึงคุณลักษณะของท่านอบุลฟัฎลิ์ อัลอับบาส (อ.) ด้วยสำนวนคำพูดว่า «نافذ البصيرة» (ผู้มีความเข้าใจที่ลุ่มลึกและแหลมคม) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความลุ่มลึกในมุมมองและความมั่นคงหนักแน่นในอีหม่าน (ความศรัทธา) ของท่าน ในการที่จะพิทักษ์ปกป้องสัจธรรมและท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) โดยที่ท่านได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า

 كان عمنا العباس بن علي نافذ البصيرة ، صلب الايمان ، جاهد مع ابي عبد الله (عليه السلام ) : وابلى بلاء حسناً ومضى شهيداً

     “ท่านอับบาส บินอะลี อาของเราเป็นผู้ที่มีความเข้าใจที่ลุ่มลึกและหลักแหลม เป็นผู้ที่มีความศรัทธาแกร่งกล้ามั่นคง ท่านได้ต่อสู้เคียงข้างท่านอบาอับดิลลาฮ์ (อ.) และได้แสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้อย่างงดงาม และได้จบชีวิตลงด้วยการเป็นชะฮีด” (8)

      ในบทซิยาเราะฮ์ของท่านอบัลฟัฎลิ์ อัลอับบาส (อ.) ได้กล่าวว่า

 وَأَنَّكَ قَدْ مَضَيْتَ عَلى بَصِيرَةٍ مِنْ أَمْرِكَ مُقْتَدِياً بِالصَّالِحِينَ وَمُتَّبِعاً لِلْنَبِيِّينَ

“และแท้จริงท่านได้จบชีวิตลงบนความเข้าใจที่ลึกซึ้งในภารกิจหน้าที่ของท่าน เป็นผู้ดำเนินตามแบบอย่างของปวงผู้ทรงคุณธรรมและเป็นผู้ปฏิบัติตามปวงศาสดา” (9)

     บรรดาผู้รอคอยและผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากการมี “บะซีเราะฮ์” (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) มีการยืนหยัดอย่างมั่นคงในความศรัทธาและอุดมการณ์ สิ่งใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าจะมีส่วนช่วยเหลือต่อแนวทางของอิมาม (ผู้นำ) ของพวกเขาได้ พวกเขาก็จะรีบรุดในการกระทำ มีความพร้อมอยู่เสมอที่จะยืนหยัดต่อสู้และปฏิบัติภารกิจในทิศทางดังกล่าวโดยไม่เกรงกลัวต่อการตำหนิของผู้ตำหนิคนใด และการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมาม (อ.ญ.) หรือการปรากฏตัว (ซุฮูร) อยู่ในสังคมของท่าน มิได้มีความแตกต่างใดๆ สำหรับพวกเขา ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามองเห็นสัจจริงในตัวท่านอิมาม (อ.ญ.) ด้วยตาใจของพวกเขา

     ในการบรรยายถึงคุณลักษณะของบรรดาผู้ช่วยเหลือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น มีรายงานจากอบีคอลิด อัลกาบุลีย์ ได้เล่าว่า ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวกับเขาเช่นนี้ว่า

 تَمْتَدُّ الْغَيْبَةُ بِوَلِيِّ اللَّهِ الثَّانِي عَشَرَ مِنْ أَوْصِيَاءِ رَسُولِ اللَّهِ ( صلى الله عليه و آله ) وَ الْأَئِمَّةِ بَعْدَهُ . يَا أَبَا خَالِدٍ : إِنَّ أَهْلَ زَمَانِ غَيْبَتِهِ الْقَائِلُونَ بِإِمَامَتِهِ الْمُنْتَظِرُونَ لِظُهُورِهِ ، أَفْضَلُ أَهْلِ كُلِّ زَمَانٍ ، لِأَنَّ اللَّهَ تَعَالَى ذِكْرُهُ أَعْطَاهُمْ مِنَ الْعُقُولِ وَ الْأَفْهَامِ وَ الْمَعْرِفَةِ مَا صَارَتْ بِهِ الْغَيْبَةُ عِنْدَهُمْ بِمَنْزِلَةِ الْمُشَاهَدَةِ ، وَ جَعَلَهُمْ فِي ذَلِكَ الزَّمَانِ بِمَنْزِلَةِ الْمُجَاهِدِينَ بَيْنَ يَدَيْ رَسُولِ اللَّهِ ( صلى الله عليه و آله ) بِالسَّيْفِ ، أُولَئِكَ الْمُخْلَصُونَ حَقّاً ، وَ شِيعَتُنَا صِدْقاً ، وَ الدُّعَاةُ إِلَى دِينِ اللَّهِ سِرّاً وَ جَهْراً

      “การเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของวะลียุลลอฮ์ (ผู้ปกครองของอัลลอฮ์) คนที่สิบสอง จากบรรดาวะซีย์ (ผู้สืบทอด) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และบรรดาอิหม่ามหลังจากท่านนั้นจะยาวนาน โอ้อบาคอลิดเอ๋ย! แท้จริงผู้ที่อยู่ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของเขา ที่เชื่อมั่นในความเป็นอิหม่ามของเขา รอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของเขานั้น เป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดของคนในทุกยุคสมัย ทั้งนี้เนื่องจากอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงประทานสติปัญญา ความเข้าใจและการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ให้แก่พวกเขา ซึ่งจะทำให้การเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ณ พวกเขานั้นอยู่ในฐานะของการพบเห็น (และการเปิดเผย) และในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นพระองค์จะทรงทำให้พวกเขาอยู่ในฐานะของผู้ที่ทำการต่อสู้อยู่เบื้องหน้าท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ด้วยดาบ พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง เป็นชีอะฮ์ที่สัจจริงและเป็นผู้ที่เรียกร้องเชิญชวนสู่ศาสนาของอัลลอฮ์ทั้งโดยลับและโดยเปิดเผย” (10)

    ใช่แล้ว! พวกเขามีมุมมองและความเข้าใจที่ลึกซึ่งในหนทางนี้ถึงขั้นที่ว่า พวกเขาจะยืนหยัดอย่างมั่นคงในหนทางของการปกป้องสัจธรรม ประหนึ่งดั่งบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิหม่ามฮุเซน (อ.) แม้จะมีการตำหนิประณามและข่มขู่คุกคามของคนใจบอดทั้งหลาย พวกเขาก็ไม่หยุดยั้งและไม่หันเหออกจากความเชื่อมั่นและอุดมการณ์ของตัวเอง


แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลหะยาต, เล่มที่ 18, หน้าที่ 15

(2) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 153

(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 50

(4) อุซูลุลกาฟีย์, เล่มที่ 1, กิตาบุลอักลิ วัลญะฮ์ลิ, หน้าที่ 16, ฮะดีษที่ 16

(5) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 17, หน้าที่ 307

(6) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 173

(7) ซูเราะฮ์อัลฮุญุร๊อต/อายะฮ์ที่ 15

(8) อุมดะตุ้ฏฏอลิบ, อิบนุอันบะฮ์, หน้าที่ 356

(9) มะฟาตีฮุ้ลญินาน

(10) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 122


 เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 545 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24784009
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
33917
52431
211391
24215661
1049674
1618812
24784009

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 18:59:03