“อิบาดะฮ์” และ “จิตวิญญาณ” ในความผูกพันต่อพระผู้เป็นเจ้า
ส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะเฉพาะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นหัวหน้าของมวลชะฮีด (ซัยยิดุชชุฮะดาอ์) คือ ความรักและความผูกพันต่อการอิบาดะฮ์ (การนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า) และการภาวนาขอพร (มุนาญาต) สิ่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของปวงบ่าวพิเศษแห่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์อัลฟุรกอน เกี่ยวกับปวงบ่าวเฉพาะของพระองค์ว่า
الَّذِينَ يَبِيتُونَ لِرَبِّهِمْ سُجَّدًا وَقِيَامًا
“บรรดาผู้ที่ใช้ชีวิตในยามค่ำคืนในสภาพของผู้ที่ก้มกราบและยืน (นมัสการ) ต่อองค์พระผู้อภิบาลของเขา” (1)
การรอิบาดะฮ์ (นมัสการ) ต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นมีผลต่างๆ เป็นพิเศษในด้านการขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) และเป็นบ่อเกิดของการพัฒนาทางจิตใจและจิตวิญญาณของมนุษย์ การอิบาดะฮ์ (นมัสการ) และการภาวนาขอพร (มุนาญาต) ต่อพระผู้เป็นเจ้า จะช่วยทำให้จิตใจและจิตวิญญาณของปวงบ่าวมีความผูกพันกับอำนาจสัมบูรณ์ที่ไม่มีสิ้นสุดแห่งพระผู้เป็นเจ้า อีกทั้งเป็นการดึงมนุษย์ออกมาจากการจมปักอยู่กับความทะนงและความหลงตนเอง มาสู่ความสำรวมตนและความนอบน้อมถ่อมตน ทำให้เขาถูกรวมเข้าอยู่ในหมู่ปวงผู้มีคุณธรรมและผู้ที่มีหัวใจผูกพันอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้กล่าวไว้ในอีกโองการหนึ่งเกี่ยวกับปวงบ่าวผู้ยำเกรงและผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากพระองค์ว่า
كَانُوا قَلِيلًا مِنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ * وَبِالأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ
“พวกเขาจะนอนหลับเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากยามค่ำคืน และพวกเขาจะขออภัยโทษในยามดึก” (2)
การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า (อิบาดะฮ์) การภาวนาขอพรของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และการได้มาซึ่งตำแหน่งอันสูงส่งทางจิตวิญญาณของท่าน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งเหรียญตราที่กลายเป็นฉายานามของท่านที่ว่า “อันนัฟซุลมุฏมะอินนะฮ์” (จิตอันสงบมั่น) (3)
วันหนึ่งท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงอ่านซูเราะฮ์อัลฟัจญ์รุ ในนมาซวาญิบและนมาซนาฟิละฮ์ของท่านเถิด ซึ่งมันคือซูเราะฮ์ของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) และท่านมีความผูกพันกับซูเราะฮ์นี้เป็นอย่างมาก” อบูอุซามะฮ์ ได้ถามว่า "ซูเราะฮ์นี้กลายเป็นของอิมามฮุเซน (อ.) ได้อย่างไร" ท่านอิมาม กล่าวว่า "เจ้าไม่เคยได้ยินโองการนี้หรือ”
يَا أَيَّتُهَا النَّفْسُ الْمُطْمَئِنَّةُ ارْجِعِي إِلَى رَبِّكِ رَاضِيَةً مَرْضِيَّةً
“โอ้ดวงจิตอันสงบมั่นเอ๋ย จงกลับคืนไปสู่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยความพึงพอใจ อีกทั้งได้รับความพึงพอพระทัย (จากพระองค์)”
(ซูเราะฮ์อัลฟัจญ์รุ/อายะฮ์ที่ 27-30)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวต่อไปว่า “จุดประสงค์จากคำว่า อันนัฟซุลมุฏมะอินนะฮ์ (จิตอันสงบมั่น) นั่นคือ ท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ท่านคือผู้ที่มีดวงจิตที่สงบมั่น เป็นผู้มีความพึงพอใจและเป็นที่พึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า สาวกของท่านเป็นส่วนหนึ่งจากวงศ์วาน (อาลิ) ของมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ในวันกิยามะฮ์ (โลกหน้า) พวกเขาจะพึงพอใจต่อ (การตอบแทนของ) พระผู้เป็นเจ้า และพระผู้เป็นเจ้าก็จะทรงพึงพอพระทัยจากพวกเขาผู้ใดก็ตามที่อ่าน “ซูเราะฮ์อัลฟัจญ์รุ” เป็นประจำ ในสรวงสวรรค์เขาจะได้เข้าอยู่ในสถานที่เดียวกับท่านอิมามฮุเซน บิน อะลี (อ.)" (4)
บทดุอาอ์ (คำวิงวอนขอพร) “อะรอฟะฮ์” ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งด้านจิตวิญญาณอันสูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ส่วนหนึ่งของเนื้อหาดุอาอ์บทนี้ท่านอิมาม (อ.) ได้ภาวนาคร่ำครวญต่อพระองค์เช่นนี้ว่า
ماذا وَجَدَ مَن فَقَدَكَ ؟ ومَا الَّذي فَقَدَ مَن وَجَدَكَ ؟ لَقَد خابَ مَن رَضِيَ دونَكَ بَدَلاً ،
ولَقَد خَسِرَ مَن بَغى عَنكَ مُتَحَوِّلاً
“(ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) ผู้ที่สูญเสียพระองค์ไปนั้นเขาจะพบสิ่งใดหรือ และผู้ที่ค้นพบพระองค์นั้นเขาสูญเสียสิ่งใดหรือ บุคคลที่พึงพอใจต่อสิ่งอื่นแทนที่พระองค์นั้น แน่นอนยิ่งเขาได้พลาดหวังแล้ว และบุคคลที่ค้นหาสิ่งอื่นแทนที่พระองค์นั้น แน่นอนยิ่งเขาได้ขาดทุนแล้ว” (5)
การขอประวิงเวลาเพื่อการอิบาดะฮ์
ในช่วงเย็นของของวันที่ 9 มุหัรรอม (ตาซูอา) อุมัร บิน ซะอัด ได้ออกคำสั่งการโจมตี ท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส (อ.) ได้รับบัญชาจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้ไปขอประวิงเวลาจากฝ่ายศัตรูในค่ำคืนที่ 10 อาชูรออีกคืนหนึ่ง หากพวกเขาจะโจมตีก็ขอให้เป็นวันถัดไป ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้อธิบายถึงเหตุผลของการขอประวิงเวลาการสู้รบดังกล่าวต่อท่านอับบาซ (อ.) น้องชายของท่านว่า
يا عباس! اركب بنفسی انت يا اخی... ارجع اليهم فان استطعت ان تؤخرهم الی غدوة وتدفعهم عنا العشية،
لعلنا نصلی لربنا الليلة وندعوه ونستغفره، فهو يعلم انی كنت احب الصلوة له وتلاوة كتابه وكثرة الدعاء والاستغفار
“โอ้อับบาสเอ๋ย ขอสาบานด้วยชีวิตของฉัน โอ้น้องรักของพี่ เจ้าจงควบม้าย้อนกลับไปยังพวกเขา (อีกครั้ง) เถิด ซึ่งหากเจ้าสามารถขอประวิงเวลาจากพวกเขาไปจนถึงพรุ่งนี้เช้าได้ ดังนั้นเจ้าก็จงปกป้องพวกเราจากพวกเขาในค่ำคืนนี้เถิด เพื่อว่าเราจะได้ทำนมาซ วิงวอนขอพรและขออภัยโทษจากพระผู้อภิบาลของเราในค่ำคืนนี้ ซึ่งพระองค์ทรงรอบรู้เป็นอย่างยิ่งว่า แท้จริงฉันรักการนมาซ รักการอ่านคัมภีร์ของพระองค์ การวิงวอนขอพรและขออภัยโทษต่อพระองค์อย่างมากมาย” (6)
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) มีความรักและความผูกพันต่อการนมาซ การรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าและการวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) เป็นอย่างมาก ถึงขั้นยอมขอประวิงเวลาการสู้รบจากฝ่ายศัตรูไปอีกค่ำคืนหนึ่งเพื่อที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่ท่านนั้นเป็นผู้ยืนหยัดและต้านทานความต้องการต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมของศัตรูอย่างห้าวหาญและแข็งแกร่งเป็นที่สุด
การอิบาดะฮ์และการวิงวอนขอพรของบรรดาวีรบุรุษแห่งอาชูรอ
ตลอดช่วงชีวิตของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านมีความรักและความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อพระผู้เป็นเจ้า และจะทำอิบาดะฮ์ (นมัสการ) ต่อพระองค์จากก้นบึ้งของจิตใจ คุณลักษณะต่างๆ แห่งความดีงาม การอิบาดะฮ์และการภาวนาขอพรเยี่ยงผู้ที่มีความผูกพันของท่านเหล่านี้เองที่ได้ดึงดูดบรรดาผู้ใฝ่หาและผู้จาริกบนหนทางมุ่งสู่พระผู้เป็นเจ้าให้มาห้อมล้อมอยู่รอบตัวท่าน บรรดาสาวกผู้ซื่อสัตย์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือผู้ที่ได้รับการอบรมขัดเกลา (ตัรบิยะฮ์) จากสำนักคิดแห่งฮุเซน (อ.) ทุกคนล้วนเป็นผู้มุ่งมั่นต่อการอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืนและเป็นราชสีห์ในยามกลางวัน ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้พรรณนาถึงคุณลักษณะของบรรดาบุรุษผู้ทรงคุณธรรมเหล่านี้ว่า
رُهبانٌ بِالَّليلِ اُسْدٌ بِالنَّهارِ.
“(บรรดาบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น) พวกเขาคือผู้ปลีกวิเวก (เพื่อการอิบาดะฮ์) ในยามค่ำคืน และเป็นประหนึ่งราชสีห์ในยามกลางวัน” (7)
(คือมีพละกำลังที่เข้มแข็งในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามศึกสงคราม)
ในที่นี้จะขอชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างบางส่วนจากบรรดาสาวกของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
1. ท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส (อ.) แม้จะเป็นผู้ที่มารยาทที่ดีงาม มีคุณธรรมที่สูงส่ง มีรูปร่างหน้าตาและบุคลิกลักษณะที่งดงามก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นและดึงดูดความสนใจของผู้คนมากที่สุดที่ปรากฏอยู่ในตัวท่านนั่นก็คือร่องรอยของการซุญูด (ก้มกราน) ต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างยาวนาน ที่อยู่บนหน้าผากอันเปล่งปลั่งไปด้วยรัศมีของท่าน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองผู้ที่ลงมือสังหารท่านอับบาสจึงกล่าวออกมาด้วยความรันทดและเศร้าเสียใจอย่างรุนแรงว่า
إنّي قَتَلتُ شابّا مَعَ الحُسَينِ بَينَ عَينَيهِ أثَرُ السُّجودِ ، فَما نِمتُ لَيلَةً مُنذُ قَتَلتُهُ
“แท้จริงฉันได้สังหารเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่อยู่ร่วมกับฮุเซน ผู้ซึ่งบนหน้าผากระหว่างดวงตาทั้งสองของเขามีร่องรอยของการซุญูด (ก้มกราบต่อพระผู้เป็นเจ้า) ฉันไม่สามารถหลับตาลงได้ (อย่างสุขสบาย) เลยแม้แต่คืนเดียว นับจากช่วงเวลาที่ฉันได้สังหารเขา” (8)
2. ท่านหญิงซัยนับ กุบรอ (อ.) ก็เช่นเดียวกัน ในด้านของอิบาดะฮ์ (การนมัสการ) จิตวิญญาณของท่านได้ไปถึงยังตำแหน่งอันสูงส่งจนกระทั่งว่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในช่วงเวลาของการอำลา ท่านได้ขอจากท่านหญิงให้ช่วยวิงวอนขอดุอาอ์ให้แก่ท่าน โดยกล่าวว่า
يا أُختاهُ، لا تنسيني في نافلةِ الليلِ
“โอ้น้องรักของพี่ อย่าได้ลืมฉันในนมาซยามค่ำคืน (ของเธอ)” (9)
มีรายงานจากท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ซึ่งกล่าว่า “ท่านหญิงซัยนับ น้าสาวของฉัน หลังจากเหตุการณ์ในวันอาชูรอแล้ว บนเส้นทางจากเมืองกูฟะฮ์จนถึงเมืองชาม และในช่วงที่วิกฤตที่สุดทางด้านจิตใจ ท่านได้ทำนมาซด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามที่สุด แต่ในบางครั้งท่านจะทำนมาซในท่านั่ง ทั้งนี้เนื่องจากท่านได้มอบอาหารให้กับบรรดาเด็กกำพร้า จนบางครั้งท่านก็ต้องนอนหลับในสภาพของที่เป็นผู้หิวโหย” (10)
3. ในช่วงเวลาที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้มายังร่างที่กำลังจะสิ้นลมหายใจของท่านฮะบีบ บินมะซอฮิร ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวถึงการทำอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืนของเขาว่า
لله درُّك يا حبيب، لقد كنت فاضلاً تختمُ القرآنَ في ليلةٍ واحدة
“โอ้ฮะบีบเอ๋ย ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนรางวัลที่ดีงามแก่ท่านด้วยเถิด แน่นอนยิ่งท่านนั้นเป็นผู้ที่มีเกียรติ ท่านมักจะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานจบภายในค่ำคืนเดียว” (11)
บรรดาสาวกของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ทั้งในคำพูดและการกระทำของพวกเขาเปรียบได้ดังกระจกที่สะท้อนออกมาจากท่านอิมาม (อ.) ในค่ำคืนอาชูรอ พวกเขาต่างหมกมุ่นอยู่กับการทำอิบาดะฮ์และการภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า นักประวัติศาสตร์ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “เสียงรำพึงรำพันต่างๆ ที่แสดงออกด้วยความรักและความผูกพันของพวกเขานั้นดังอื้ออึง ประหนึ่งดังเสียงของผึ้งที่ได้ยินไปถึงยังโสตประสาททั้งหลาย”
وباتَ الحُسَينُ عليه السّلام وأصحابُهُ تِلكَ اللَّيلَةَ ولَهُم دَوِيٌّ كَدَوِيِّ النَّحلِ، ما بَينَ راكِعٍ وساجِدٍ وقائِمٍ وقاعِدٍ
“และในค่ำคืนอาชูรอ เสียงคร่ำครวญของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาสาวกของท่านนั้นดังอื้ออึง ประหนึ่งดั่งเสียงอื้ออึงของฝูงผึ้ง ในระหว่างผู้ที่โค้งรูกูอ์ ผู้ที่ซุญูด ผู้ที่ยืนและนั่ง” (12)
บรรดาผู้เข้มงวดอยู่กับการทำอิบาดะฮ์ การภาวนาขอพรและเป็นผู้ที่รู้จักพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง พวกเขาก็คือผู้ซึ่งในวันรุ่งขึ้นของวันนั้น การพลีอุทิศชีวิตและวีรกรรมต่างๆ อันเป็นอัมตะของพวกเขาจะทำให้ชาวฟ้าและชาวดินต้องตกอยู่ในความพิศวงและความประหลาดใจ ในความเป็นจริงแล้วการเสียสละและการพลีอุทิศตนของพวกเขานั้นเป็นผลมาจาก “มะอ์ริฟะฮ์” (ความรู้จัก) ในพระผู้เป็นเจ้าอย่างลึกซึ้งและสมบูรณ์นั่นเอง พวกเขาไปถึงยังตำแหน่งของการรู้จักพระผู้เป็นเจ้าและการยอมรับในเอกภาพของพระองค์ ซึ่งพวกเขาไม่มีความรู้สึกถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานใดๆ ในการสู้รบเลยแม้แต่น้อย
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ได้กล่าวว่า
لَمْ يَجِدُوا أَلَمَ مَسِّ الحَدِيدِ
“พวกเขาไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดใดๆ ต่อการสัมผัสของเหล็ก (หอกและดาบทั้งหลาย)” (13)
มิใช่ว่าพวกเขาไม่ได้เห็นธนู ดาบและหอกเหล่านั้น หรือมิทันได้ระวังมัน หากทว่าความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทางกายของพวกเขา ได้พลีให้กับความมุ่งมาดปรารถนาต่อการเป็นชะฮีด และการกลับไปพบพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งในสภาพที่พระองค์ทรงพึงพอพระทัยต่อพวกเขา พวกเขาเมามายอยู่ในความรักและความผูกพันต่อพระผู้เป็นเจ้าถึงขั้นหลงลืมตัวตน หลงลืมความเจ็บปวดของตนเอง และครุ่นคิดอยู่แต่เฉพาะปรโลกเพียงเท่านั้น
การนมาชของผู้ที่มีความรักและความผูกพัน
หนึ่งในสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด ที่บ่งชี้ถึงความรักและความผูกพันกับการอิบาดะฮ์และการภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าในวิถีการดำเนินชีวิตของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั่นก็คือการนมาซซุฮ์รี่ในวันอาชูรอ เมื่อเวลาเที่ยงวัน (ซุฮ์รี่) มาถึง อบูอุซามะฮ์ ซ็อยดาวี ได้ไปหาท่านอิมาม (อ.) ในขณะที่การต่อสู้กับฝ่ายศัตรูยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือดนั้น เขาได้กล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ว่า “โอ้ท่านอบาอับดิลลาฮ์ ข้าพเจ้าขอพลีเพื่อท่าน แม้ว่าประชาชนเหล่านี้จะพยายามเข้ามาใกล้ท่านด้วยการโจมตีและการจู่โจมอย่างต่อเนื่องของพวกเขา เพื่อต้องการที่จะสังหารท่าน (จนเป็นชะฮีด) ก็ตาม แต่ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า ตราบที่พวกเขายังไม่ได้สังหารข้าพเจ้า พวกเขาจะไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ต่อท่านได้ และข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าในสภาพที่ข้าพเจ้าจะได้ทำนมาซครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้าด้วยการเป็นอิมามของท่าน"
เมื่อได้ยินคำพูดของอบูอุซามะฮ์ ท่านอิมาม (อ.) ได้เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าพร้อมกับกล่าวขึ้นว่า
ذَكَرتَ الصَّلاةَ ، جَعَلَكَ اللّهُ مِنَ المُصَلّينَ الذّاكِرينَ نَعَم ، هذا أوَّلُ وَقتِها
“เจ้าได้เตือนให้รำลึกถึงการนมาซ ขออัลลอฮ์โปรดทำให้เจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ดำรงนมาซ ผู้ซึ่งรำลึก (ถึงพระองค์) ใช่แล้ว! บัดนี้คือช่วงเวลาเริ่มแรกของการนมาซ”
ต่อจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “จงขอให้ฝ่ายศัตรูพักรบชั่วขณะหนึ่งเถิด” แต่เมื่อฝ่ายศัตรูปฏิเสธการพักรบ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงตัดสินใจยืนนมาซท่ามกลางห่าฝนแห่งลูกธนูของศัตรู สาวกสองคนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งมีนามว่า “ซุเฮร บินกีน” และ “ซะอีด บิน อับดุลลอฮ์ ฮะนะฟี” ยืนอยู่ด้านหน้าของท่านอิมาม (อ.) เพื่อคอยคุ้มกันท่าน และใช้หน้าอกของตนเองเป็นโล่กำบังบรรดาลูกธนูของเหล่าศัตรู ท่านอิมามฮุเซน (อ.) พร้อมด้วยสาวกคนอื่นๆ ที่เหลือก็ได้กระทำนมาซซุฮ์ริของวันอาชูรอร่วมกัน ซะอีดผู้ยืนอยู่ท่ามกลางอันตรายเหล่านั้น เขาใช้มือ ใบหน้าและหน้าอกของเขาป้องกันลูกธนูของฝ่ายศัตรู เมื่อการนมาซสิ้นสุดลง เขาก็ล้มฟุบลงสู่พื้นดินในสภาพที่ร่างกายชุ่มไปด้วยเลือด (14) ในขณะที่เขาหายใจเป็นครั้งสุดท้ายนั่น สายตาของเขาเปิดขึ้นและมองไปยังใบหน้าของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยรอยยิ้มที่สง่างาม และในช่วงเวลานั้นเองเขาได้กล่าวกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า
أَوفيتُ يابنَ رسول الله ؟
“โอ้บุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา (ของตนเอง) อย่างสมบูรณ์แล้วใช่ไหม”
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) หัวหน้าของบรรดาเสรีชนได้แสดงการยกย่องเชิดชูความเสียสละและการพลีอุทิศตนของซะอีด และได้กล่าวกับเขาด้วยท่วงทำนองแห่งความพึงพอใจว่า
نَعَم ، أنتَ أمامي فِي الجَنَّةِ
“ใช่แล้ว (เจ้าได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของตนอย่างสมบูรณ์แล้ว) และเจ้าจะได้อยู่เบื้องหน้าฉันในสรวงสวรรค์” (15)
ท่านซัยยิด อิบนุ ฏอวูซ ได้บันทึกไว้ว่า : เมื่อประชาชนได้นับลูกธนูที่อยู่บนเรือนร่างของเขา โดยไม่รวมถึงบาดแผลต่างๆ ที่เกิดจากคมหอกและคมดาบนั้น พบว่าลูกธนูจำนวน 13 ดอกได้ติดอยู่กับมือ ใบหน้าและหน้าอกของซะอีด บินอับดุลลอฮ์ ฮะนะฟี (16)
มุนาญาต (การภาวนาขอพร) ครั้งสุดท้าย
และมุนาญาต (การภาวนาขอพร) ครั้งสุดท้ายของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นคือ ในสถานที่แห่งการถูกสังหารของท่าน โดยท่านอิมาม (อ.) ได้พรรณนาและรำพึงรำพันต่อองค์พระผู้อภิบาลของตน ด้วยความรักและความถวิลหาว่า
اللَّهُمَّ مُتَعَالِيَ الْمَكَانِ ... صَبْراً عَلى قَضائِكَ يا رَبِّ! لا إِلهَ سِواكَ، يا غِياثَ الْمُسْتَغيثينَ، ما لي رَبٌّ سِواكَ،
وَلا مَعْبُودٌ غَيْرُكَ، صَبْراً عَلى حُكْمِكَ يا غِياثَ مَنْ لا غِياثَ لَهُ
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งสถานะอันสูงส่งยิ่ง... ข้าฯ ได้อดทนต่อกำหนดการ (กอฎออ์) ของพระองค์แล้ว โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ ผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ โอ้ผู้ทรงช่วยเหลือแก่บรรดาผู้ขอความช่วยเหลือทั้งหลาย ไม่มีพระผู้อภิบาลอื่นใดสำหรับข้าฯ นอกจากพระองค์เพียงเท่านั้น และไม่มีผู้คู่ควรต่อการเคารพภักดี (สำหรับข้าฯ) นอกจากพระองค์เพียงเท่านั้น ข้าฯ ขออดทนต่อการตัดสินชี้ขาดของพระองค์ โอ้ผู้ทรงให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่มีผู้ให้การช่วยเหลือ (อื่นใด) สำหรับเขาอีกแล้ว (นอกจากพระองค์เพียงเท่านั้น)...”
และต่อจากนั้นท่านได้วางใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยเลือดของท่านลงกับพื้นดิน และทำการซุญูด (ก้มกราบ) ต่อพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย พร้อมกับกล่าวว่า
بِسْمِ الله وَبِالله وَفي سَبيلِ الله وَعلى مِلَّةِ رَسولِ الله
“ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ในหนทางของอัลลอฮ์ และบนศาสนาของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์” (17)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน : อายะฮ์ที่ 64
(2) ซูเราะฮ์อัซซาริยาต : อายะฮ์ที่ 17-18
(3) ตัฟซีรกุมมี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 424
(4) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 218 (เพิ่มข้อมูลโดยผู้แปล)
(5) อิกบาลุลอะอ์มาล, เล่มที่ 2, หน้า 74
(6) มักตัลอบูมัคนัฟ, หน้า 106 ; ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้า 315
(7) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 15, หน้า 188
(8) มะกอติลุฏฏอลิบีน, หน้า 78
(9) วะฟะยาตุลอะอิมมะฮ์, หน้า 441
(10) วะฟะยาตุลอะอิมมะฮ์ , หน้าที่ 441
(11) ชะญะเราะฮ์ ฏูบา, เล่มที่ 2, หน้า 442
(12) อัลลุฮูฟ, หน้า 172
(13) มะดีนะตุลมะอาญิซ, เล่มที่ 3, หน้า 504
(14) ละวาอิญุลอัชญาน, หน้า 146
(15) สุนทรพจน์ของท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) จากมะดีนะฮ์ถึงกัรบะลา, หน้า 202
(16) มิศบาฮุลมุตะฮัจญิด, หน้า 827 ; อิกบาลุลอะฮ์มาล, เล่มที่ 3, หน้า 304
(17) อัลลุฮูฟ, หน้า 206
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ