ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ในตลอดช่วงชีวิตของท่านนั้น ท่านได้ผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์ที่สำคัญๆ มากมาย ในความเป็นจริงแล้ว ท่านหญิงเป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์และนักเผยแผ่ที่สำคัญที่สุดท่านหนึ่งในเรื่องของวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) และอิมามะฮ์ (ตำแหน่งผู้นำ) หลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ผู้ซึ่งด้วยคำพูดต่างๆ ที่หนักแน่นและเข้มแข็งพร้อมทั้งการให้เหตุผลด้วยโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ท่านได้ถ่ายทอดสาส์นของขบวนการยืนหยัดต่อสู้แห่งอาชูรอไปสู่สังคม และได้เปิดโปงความอธรรมและการกดขี่ของระบบการปกครองอย่างชัดเจน ในตำราและแหล่งข้อมูลทางศาสนา มีการกล่าวถึงคุณธรรมและความประเสริฐของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ไว้มากมาย แต่เพื่อความเหมาะสมกับเนื้อหาของบทความ จะขอกล่าวถึงเพียงบางส่วนไว้ในที่นี้ :
1.ชื่อของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้ถูกเลือกโดยพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง มีรายงานว่า สามวันหลังจากการกำเนิดของท่านหญิงนั้น ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กลับมาจากการเดินทาง ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้อุ้มท่านหญิงไปหาท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อขอให้ท่านตั้งชื่อให้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ได้กล่าวว่า :
ما كنت لأسبق ربّي
"ฉันจะไม่ล้ำหน้าองค์พระผู้อภิบาลของฉัน"
จนกระทั่ง ญิบรออีล (อ.) ได้ลงมา และกล่าวกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า :
سمِّ هذه المولودة زينب، فقد اختار الله لها هذا الإسم
"จงตั้งชื่อทารกน้อยผู้นี้ว่า ซัยนับ แน่นอนยิ่ง อัลลอฮ์ได้ทรงเลือกชื่อนี้แก่นาง" (1)
2. ในหะดีษ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แนะนำสถานะของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ว่า ท่านนั้นเหมือนกับท่านหญิงคอดีญะฮ์ อัลกุบรอ (อ.) โดยกกล่าวว่า : "ฉันขอสั่งเสียกับประชาชาติของฉัน ทั้งที่อยู่ในที่นี้และไม่ได้อยู่ในที่นี้ว่า จงรักษาเกียรติเด็กผู้หญิงคนนี้ แท้จริงเธอนั้นเหมือนกับ คอดีญะฮ์ อัลกุบรอ” (2)
3. สถานะทางด้านความรู้ของท่านหญิงซัยนับ (อ.) สูงส่งยิ่ง ถึงขั้นที่ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กล่าวถึงท่านว่า :
يا عمةُ، أنتِ بحمد الله عالمةٌ غير مُعلَّمة، وفَهِمَة غير مُفهَّمة
"โอ้ป้าจ๋า! มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์! ท่านคือผู้รู้เเละนักปราชญ์ที่ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้จากครู และท่านคือผู้ที่เข้าใจโดยปราศจากผู้ที่มาทำความเข้าใจให้กับท่าน" (3)
คำพูดนี้ของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) แสดงถึง "อิลม์ ละดุนนี" (ความรู้จากการดลใจของพระผู้เป็นเจ้า) เหมือนดั่งที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้รับจากการวิวรณ์ (วะห์ยู) ของพระผู้เป็นเจ้า
4.ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ในหะดีษ (คำรายงาน) เกี่ยวกับการหลั่งน้ำตาให้กับท่านหญิงว่า : "ญิบรออีล (อ.) บอกกับฉันว่า... ใครก็ตามที่ร้องไห้เนื่องจากซัยนับ รางวัลของเขาก็จะเหมือนกับผู้ที่ร้องไห้ให้กับพี่น้องของนาง คือ ฮาซันและฮุเซน (อ.)” (4)
5. อีกมุมหนึ่งของความประเสริฐของท่านหญิงซัยนับ (อ.) อยู่ในความสัมพันธ์ของของท่านที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ในลักษณะที่ท่านหญิงไม่เคยละทิ้งการนมาซตะฮัจญุดในช่วงชีวิตของท่านเลย และให้ความสำคัญกับการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) อย่างมาก จนท่านได้รับการขนานนามว่า "อาบิดะฮ์ อาลิ อะลี" (ผู้ทำอิบาดะฮ์ แห่งวงศ์วานของท่านอะลี (อ.)) (5)
การให้ความสำคัญกับการทำอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืนนั้น ท่านหญิงซัยนับ กุบรอ (อ.) แม้แต่ในคืนที่ 10 และ 11 ของเดือนมุฮัรร็อม อันเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากและทุกข์ระทมที่สุดในชีวิตของท่านนั้น ท่านก็ไม่ละทิ้ง ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บุตรสาวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า :"ในคืนวันอาชูรอ ป้าของฉันยืนทำอิบาดะฮ์อยู่ในมิห์รอบ (ที่ทำอิบาดะฮ์) อยู่ตลอดเวลา ท่านทำนมาซ วิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าและน้ำตาของท่านก็ไหลอย่างต่อเนื่อง" (6)
ความผูกพันของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าจะเห็นได้จากคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในวันอาชูรอ ขณะกล่าวคำอำลาท่านหญิงผู้เป็นน้องสาวก่อนออกสู่สนามรบนั้น ท่านกล่าวกับน้องสาวของท่านว่า :
یا اختی لا تنسینی فی نافلة اللیل
“โอ้น้องสาวของฉัน! โปรดอย่าลืมฉันในการนมาซในยามค่ำคืน" (7)
และความสัมพันธ์อันมั่นคงที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนี้เองที่ทำให้ท่านหญิงกล่าวกับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งในช่วงเวลาแห่งความทุกข์โศกยิ่งของท่านในวันอาชูรอ เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายของท่านถูกสังหารโดยเหล่าศัตรูว่า :
الهی تقبل منا هذا القربان
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดทรงยอมรับการพลีนี้จากเหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด" (8)
และในความทุกข์โศกอันแสนสาหัสยิ่งนั้น ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ไม่เห็นสิ่งใด นอกจากความสวยงาม
เชิงอรรถ :
- ซัยนะตุลกุบรอ, หน้า 16-17
- อัลคอซออิซอตุซซัยนะบียะฮ์, หน้า 44
- อัลอิห์ติญาจ, เล่ม 2, หน้า 27
- มัรด์ ออฟะรีน รูซกอร ซินเดกี ฮัซรัต ซัยนับ กุบรอ (อ.), หน้า 11
- ซัยนับ อัลกุบรอ บินติลอิมาม, หน้า 61
- ซัยนับ เกาะฮ์รอมอน ดุคตัร อะลี, หน้า 106
- ริยาฮัยนิชชะรีอะฮ์, เล่ม 3, หน้า 62
- มักตัล อัลฮุเซน (อ.) , มุก็อรร็อม, หน้า 322
บทความ : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่