เป้าหมายหลักของการแต่งตั้งบรรดาศาสดาในอัลกุรอาน

เป้าหมายหลักของการแต่งตั้งบรรดาศาสดาในอัลกุรอาน

      เป้าหมายหลักของพระผู้เป็นเจ้าในการแต่งตั้งบรรดาศาสดามายังมนุษยชาตินั้น มีอยู่สองประการด้วยกัน เป้าหมายประการแรกคือ การสถาปนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างสิ่งถูกสร้างกับพระผู้สร้างของเขา หรือระหว่างบ่าวกับพระผู้เป็นเจ้า

      กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ การยับยั้งมนุษยชาติจากการเคารพภักดีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากพระผู้สร้างของตนเอง ซึ่งถูกสรุปไว้ในถ้อยคำอันจำเริญ (กะลิมะตุฏฏ็อยยิบะฮ์) لا الهَ الَّا اللهُ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใด (ที่คู่ควร ต่อการเคารพภักดี) นอกจากอัลลอฮ์)

      และเป้าหมายประการที่สองของการแต่งตั้งบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง นั้นก็คือ การสถาปนาความสัมพันธ์ที่ดีงามและเหมาะสมในระหว่างมวลมนุษย์ที่พึงมีต่อกัน บนพื้นฐานของความยุติธรรม สันติภาพ ความจริงใจ ความร่วมมือ ความเมตตา ความรักและการรับใช้บริการซึ่งกันและกัน        

      คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงสองประเด็นนี้ว่า คือสองเป้าหมายและสองภารกิจหลักของบรรดาศาสดา ในกรณีเกี่ยวกับเป้าหมายแรก พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสเกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งเป็นศาสดาท่านสุดท้ายว่า

يا ايُّها النَّبىُّ انّا ارسلناك شاهداً و مبشِّراً و نذيراً. و داعياً الى الله باذنه و سراجاً منيراً

“โอ้ผู้เป็นศาสดา แท้จริงเราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นศาสนทูต เพื่อเป็นสักขีพยาน เป็นผู้แจ้งข่าวดี เป็นผู้ตักเตือน เป็นผู้เชิญชวนสู่อัลลอฮ์ด้วยการอนุมัติของพระองค์ และเป็นประทีปที่ส่องสว่าง”   

(อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 45-46)         

      และเกี่ยวกับเป้าหมายที่สอง พระองค์ทรงตรัสว่า

لقد ارسلنا رسلنا بالبيِّنات و انزلنا معهم الكتاب و الميزان ليقوم النّاس بالقسط

“แน่อนยิ่ง เราได้แต่งตั้งบรรดาศาสนทูตของเรามาพร้อมด้วยหลักฐานต่าง ๆ อันชัดแจ้ง และเราได้ส่งคัมภีร์และตราชูลงมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่ด้วยความยุติธรรม” 

(อัลกุรอานบทอัลหะดีด โองการที่ 25)      

     จะเห็นได้ว่าคัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนเพียงใด ว่าภาระหน้าที่และพันธะกิจของบรรดาศาสดานั้น คือการสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษยชาติ

     ในโองการดังกล่าวได้กล่าวว่า เราได้ส่งบรรดาศาสนทูตของเรามาพร้อมด้วยหลักฐานต่างๆ อันชัดเจน และเราได้ส่งคัมภีร์และคำแนะนำพร้อมด้วยตราชูมาพร้อมกับพวกเขา กล่าวคือกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่มีความยุติธรรม เพื่ออะไร?

      ليقوم النّاس بالقسط เพื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนจะได้ปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และหลักการของความยุติธรรมจะได้ถูกสถาปนาขึ้นในหมู่มนุษยชาติ

     ด้วยเหตุนี้เอง ประเด็นของการสถาปนาความยุติธรรมในหมู่มนุษยชาติ คือวัตถุประสงค์หลักและเป็นเป้าหมายโดยรวมของศาสดาทั้งหมด กล่าวคือ บรรดาศาสดาที่ถูกส่งมานั้น งานหนึ่ง หน้าที่หนึ่ง ภารกิจหนึ่งและพันธะกิจหนึ่งที่พวกท่านมี ตามตัวบทที่ชัดแจ้งของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นก็คือ เรื่องของความยุติธรรม


เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่