ในคืนครบรอบวันคล้ายวันเสียชีวิตของท่านหญิงอุมุลบะนีน (อ.) พิธีไว้อาลัยได้ถูกจัดขึ้นในฮะรัม (สถานฝังศพ) ของท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ในเมืองนะญัฟ ประเทศอิรัก
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน มีนามว่า ฟาฏิมะฮ์ บินติ ฮัซซาม ภรรยาคนที่สองของท่านอิมามอะลี, บิดาของนางชื่อว่า ฮัซซาม บิน คอลิด มาจากเผ่าบนีกิลาบ
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ซ.) ถูกขนานนามว่า เป็นหนึ่งในบรรดามารดาตัวอย่างแห่งประวัติศาสตร์ ตราบที่โลกยังคงดำรงอยู่ คุณลักษณะอันสูงส่งของท่านก็ยังคงถูกล่าวขานถึง และจะยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากบทเรียนแห่งมารยาท การเชื่อฟังผู้นำ (วิลายะฮ์) ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และการมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ่งต่อปัญหาและความเจ็บปวดของยุคสมัย คือ ส่วนหนึ่งจากบทเรียนที่บุตรชายทั้งสี่คนของท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ซ.) ได้เรียนรู้จากสำนักคิดแห่งมารดาของตน และทำให้พวกท่านกลายเป็นอมตะ
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน ไม่เพียงแต่ยอมรับท่านอิมามอะลี (อ.) ในฐานะสามีของท่านเพียงเท่านั้น แต่ยังถือว่าท่านคืออิมาม (ผู้นำ) ของท่านด้วย นี่คือมุมมอง วิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่ยึดถืออิมาม (ผู้นำ) เป็นแกนหลักในการดำเนินชีวิต ท่านหญิงอุมมุลบะนีน (ซ.) ได้รับการอบรมขัดเกลามาจากครอบครัวที่เพียบพร้อมไปด้วยมารยาทและจริยธรรม ท่านเป็นผู้ระวังรักษามารยาทแห่งความเป็นบ่าวที่ดี ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า มีความสุภาพอ่อนน้อมและความถ่อมตนต่อประชาชน แต่ทว่าภาพปรากฏที่ชัดเจนที่สุดในความมีมารยาทของท่านหญิง คือสิ่งที่ท่านได้แสดงออกต่อท่านอิมามอะลี (อ.)
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน ไม่เคยคิดว่าตนเองคือตัวแทนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) แต่ท่านถือว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้รับใช้ลูกๆ ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ท่านอับบาส (อ.) จึงได้เรียนรู้มาจากแหล่งที่มาของมารยาทและการอบรมขัดเกลานี้ ท่านจึงเรียกท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นพี่ชายของท่านว่า “ยาซัยยิดี” (โอ้นายของฉัน) หรือ “ยาอบาอับดิลลาฮ์” (โอ้ท่านอบาอับดิลลาฮ์) ตลอดเวลา แม้บุคคลทั้งสองจะมีบิดาคนเดียวกัน แต่ความนอบน้อมถ่อมตนและมารยาทของท่านที่มีต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นก็เนื่องมาจากวิสัยทัศน์และมุมมองที่ลุ่มลึกของท่านที่มีต่อสถานภาพอันสูงส่งของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) มารดาของท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายต่างมารดาของเขา และนี่คือบทเรียนที่ท่านหญิงอุมมุลบะนีนได้สอนแก่ลูกๆ ของตนเองนับตั้งแต่วัยเยาว์ ภารกิจอันสูงส่งในการอบรมขัดเกลาบุตร นับว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดสำหรับสตรี ท่านหญิงอุมมุลบะนีน จึงนับว่าเป็นหนึ่งในผู้อบรมขัดเกลาแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน เสียชีวิตในวันที่ 13 เดือนญะมาดิษษานี ปี ฮ.ศ ที่ 70 หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาชูรอ ร่างของท่านถูกฝังอยู่ใน “สุสานบะเกี๊ยะอ์”
ที่มา : mashreghnews
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่