เรื่องราวของคัมภีร์อัลกุรอาน | พระผู้เป็นเจ้าทรงนำศาสดามูซา (อ.) กลับไปสู่มารดาของตนอย่างไร?
Powered by OrdaSoft!
No result.

เรื่องราวของคัมภีร์อัลกุรอาน | พระผู้เป็นเจ้าทรงนำศาสดามูซา (อ.) กลับไปสู่มารดาของตนอย่างไร?

ส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ช่วงแรกของชีวิตท่านศาสดามูซา (อ.) ที่ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการประสูติของท่านศาสดามูซา (อ.) (โมเสส) และการกลับคืนไปยังมารดาของท่าน.....

    ชีวิตของปวงศาสดาของพระเจ้า นับตั้งแต่เริ่มต้นของการถือกำเนิดของพวกท่านนั้นล้วนเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์และประเด็นต่างๆ ที่เป็นอุทาหรณ์ การพินิจพิเคราะห์และการใคร่ครวญในทุกแง่มุมของชีวิตของชนชั้นนำของมนุษยชาติเหล่านี้ สามารถเสริมสร้างความรู้สึกในการไว้วางใจต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งให้กับมนุษย์เราได้ หนึ่งในศาสดาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเล่าเรื่องราวมากมายของท่านไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานก็คือท่านศาสดามูซา (อ.) หรือ “โมเสส”

     ส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ช่วงแรกของชีวิตท่านศาสดามูซา (อ.) คือเหตุการณ์การถือกำเนิดของท่าน เรื่องราวได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อฟาโรห์ (ฟิรเอาน์) ได้ฝันในคืนหนึ่งว่า มีไฟปรากฏขึ้นโดยที่มันได้เผาบ้านเรือนของชาวกิบฏี (ชาวคอปท์) หมายถึงชาวอียิปต์ แต่บ้านเรือนของชาวฮีบรู (เผ่าพันธุ์อิสราเอล) ได้ปลอดภัยจากไฟ เขาจึงได้รวบรวมบรรดานักมายากลและหมอดูทั้งหมดมา พวกเขากล่าวว่า จะมีทารกคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้น เขาจะนำศาสนาใหม่มาและจะเรียกร้องเชิญชวนผู้คนไปสู่การเคารพภักดีพระเจ้าและยึดอำนาจการปกครองของฟาโรห์ไปจากเขา เมื่อได้ยินเช่นนั้นฟาโรห์จึงออกคำสั่งให้ฆ่าเด็กทารกผู้ชายทุกคนที่เกิดมาจากเผาพันธุ์อิสราเอล (บนีอิสรอเอล)

      เมื่อมูซา (อ.) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา มารดาของท่านได้วางท่านลงในหีบและนำไปปล่อยลงในแม่น้ำ ในคัมภีร์อัลกุรอานอัลกุรอานบท (บท) ฏอฮา พระผู้เป็นเจ้าทรงอธิบายเรื่องราวนี้แก่ท่านศาสดามูซา (อ.) ไว้ดังนี้ว่า :

إِذْ أَوْحَيْنَا إِلَىٰ أُمِّكَ مَا يُوحَىٰ  أَنِ اقْذِفِيهِ فِي التَّابُوتِ فَاقْذِفِيهِ فِي الْيَمِّ فَلْيُلْقِهِ الْيَمُّ بِالسَّاحِلِ يَأْخُذْهُ عَدُوٌّ لِّي وَعَدُوٌّ لَّهُ

"เมื่อเราได้ดลใจยังมารดาของเจ้าในสิ่งที่ถูกดลใจว่า เจ้าจงวางเขาลงในหีบ แล้วนำมันไปทิ้งลงในแม่น้ำ (ไนล์) แล้วปล่อยให้แม่น้ำพัดเขาเข้าสู่ชายฝั่ง เพื่อ (ฟิรเอาน์) ศัตรูของข้าและศัตรูของเขาจะเก็บเอาเขาไป ..." (1)

      แต่พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงสัญญาแก่มารดาของมูซา (อ.) ว่า นางจะได้พบกับลูกน้อยของนางอีก

      ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) ได้เล่าเรื่องราวของท่านศาสดามูซา (อ.) ไว้ในส่วนหนึ่งของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของท่าน ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต่อเนื่องจากเรื่องราวข้างต้นไว้ดังนี้ว่า :

"... ภรรยาของฟาโรห์ (ฟิรเอาน์) เป็นสตรีที่เป็นคนดี (ซอและห์) จากเผ่าพันธุ์ของอิสราเอล นางกล่าวกับฟาโรห์ว่า : "ตอนนี้เป็นช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิ ได้โปรดพาข้าพระองค์ออกไปจากวังนี้และตั้งกระโจมชายฝั่งแม่น้ำไนล์เถิด เพื่อข้าพระองค์จะได้พักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันเหล่านี้ พวกเขาได้ตั้งกระโจมให้นางริมชายฝั่งแม่น้ำไนล์ และทันใดนั้นเอง หีบ (ของมูซา) ก็ลอยเข้ามาหานาง นางได้กล่าวว่า : พวกเจ้าเห็นสิ่งที่ลอยอยู่ในน้ำเหมือนที่ฉันเห็นใช่ไหม? พวกเขากล่าวว่า : โอ้ราชินี! เหล่าข้าพระองค์ขอสาบานต่อพระเจ้าว่า พวกเราก็เห็นเช่นกัน เมื่อหีบนั้นลอยเข้ามาใกล้ นางได้ลุกลงไปในน้ำแล้วคว้าหีบนั้นด้วยมือของนาง นางเกือบจะจมลงในน้ำ จนกระทั่งเสียงร้องตะโกนได้ดังออกมาจากทุกคน นางหยิบหีบนั้นขึ้นมาจากน้ำแล้วนางได้วางมันลงบนตักของนาง ทันใดนางก็ได้เห็นเด็กทารกที่น่ารักและหน้าตางดงาม นางก็เกิดความเอ็นดูเขาขึ้นมาอย่างจับใจ นางได้โอบกอดทารกน้อยนั้นไว้แล้วกล่าวว่า : "นี่คือลูกชายของฉัน!"

     พวกเขากล่าวว่า : ช่างดีจริง! พระองค์ทรงตรัสดียิ่ง พระองค์และพระราชาแห่งอียิปต์ไม่มีบุตร ดังนั้นพึงรับเขาไว้เป็นบุตรบุญธรรมเถิด นางได้ลุกขึ้นและไปพบฟาโรห์ และกล่าวว่า : ข้าพระองค์ได้เด็กทารกผู้ชายที่บริสุทธิ์และน่ารักน่าเอ็นดูคนหนึ่งมา เราจะรับเขาไว้เป็นบุตรของเรา ซึ่งจะเป็นแก้วตาดวงใจของข้าพระองค์และของพระองค์ แต่ข้าพระองค์เกรงว่าพระองค์จะฆ่าเขา! ฟาโรห์ได้กล่าวว่า : เด็กทารกคนนี้มาจากไหน? นางกล่าวว่า : ข้าพระองค์ไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าน้ำได้พาเขาลอยมา และนางได้พูดรบเร้าจนกระทั้งฟาโรห์เห็นชอบด้วยกับนาง

     เมื่อประชาชนได้ยินว่าพระราชายอมรับทารกคนหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม แต่ละคนที่อยู่กับฟาโรห์จึงส่งภรรยาของตนไป เพื่อให้นมและเป็นแม่นมเขา แต่ทารกน้อยผู้นี้ไม่ยอมกินนมจากใครเลย ภรรยาของฟาโรห์กล่าวว่า : "พวกเจ้าจงไปหาแม่นมให้กับลูกชายของฉันและอย่าดูถูกผู้หญิงคนใดเลย มูซาไม่ยอมรับผู้หญิงคนใดเลย

     มารดาของมูซากล่าวกับพี่สาวของมูซาว่า : จงติดตามเขาไปแล้วดูว่าเจ้าเห็นร่องรอยอะไรของเขาหรือไม่?  นางได้ออกเดินทางไปจนกระทั่งมาถึงวังของพระราชาและกล่าวว่า : ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พวกท่านกำลังหาแม่นม ในเมืองนี้มีหญิงบริสุทธิ์คนหนึ่งที่จะรับเอาบุตรชายของพวกท่านไปอุปการะเลี้ยงดูได้ ภรรยาของฟาโรห์กล่าวว่า : จงพานาง (พี่สาวของมูซา) เข้ามาในวังเถิด เมื่อนางได้เข้ามา ภรรยาของฟิรเอาน์ถามว่า : เจ้ามาจากครอบครัวใด? นางตอบว่า : จากเผ่าพันธุ์อิสราเอล นางกล่าวว่า : จงไปเสียเถิดโอ้สาวน้อย เราไม่ต้องการเจ้า บรรดาสตรีพากันกล่าวว่า : ขอพระเจ้าทรงเมตตาต่อพระองค์! โปรดลองดูก่อนว่าเด็กทารกจะยอมรับนางหรือไม่ ภรรยาของฟาโรห์กล่าวว่า : พวกเจ้าจงคิดดูเถิดว่าหากทารกผู้นี้ยอมรับนาง แล้วฟาโรห์จะทรงพึงพอพระทัยไหม หากทรงทราบว่าเด็กทารกผู้นี้มาจากเผ่าชนอิสราเอลและแม่นมก็มาจากเผ่าชนอิสราเอล? พระองค์จะไม่ทรงพึงพอพระทัยอย่างแน่นอน พวกนางกล่าวว่า : ทรงโปรดลองดูก่อนว่าพระองค์จะทรงยอมรับหรือไม่? ภรรยาของฟิรเอาน์กล่าวว่า : โอ้สาวน้อย! จงไปบอกให้นาง (มารดาของมูซา) เข้ามาในวังเถิด

     พี่สาวของมูซา (อ.) ได้กลับไปพบมารดาของนางและกล่าวว่า : ภรรยาของพระราชาเรียกท่านให้ไปพบ เมื่อนางเข้ามา บรรดาสตรีได้นำมูซา (อ.) มายังนาง นางวางมูซาไว้บนตักแล้ววางเต้านมใส่ลงในปากของทารกและน้ำนมได้ไหลพุ่งลงสู่ลำคอของเขา เมื่อภรรยาของฟาโรห์เห็นว่าเขายอมรับแม่นมผู้นี้ นางจึงได้ลุกไปหาฟาโรห์แล้วกล่าวว่า  : ข้าพระองค์ได้พบแม่นมสำหรับบุตรชายของข้าพระองค์แล้วเขายอมรับนาง ฟาโรห์ถามว่า : นางมาจากครอบครัวใด? นางตอบว่า : มาจากเผ่าชนอิสราเอล! ฟาห์โรกล่าวว่า : เป็นไปไม่ได้ที่ทารกจะมาจากเผ่าชนอิสราเอลและแม่นมก็มาจากเผ่าชนอิสราเอล! แต่ภรรยาของฟาโรห์รบเร้าและกล่าวว่า : "พระองค์ทรงกลัวเด็กทารกคนนี้กระนั้นหรือ? เขาเป็นโอรสของพระองค์และเขาจะได้รับการอบรมเลี้ยงดูในอ้อมอกของพระองค์ ในที่สุดนางก็ทำให้ฟาโรห์เปลี่ยนความคิดของตนและพึงพอใจต่อสิ่งนี้” (2)

     โองการที่ 7 ถึง 13 ของอัลกุรอานอัลกุรอานบท (บท) อัลกอศ๊อศ ก็อธิบายถึงเรื่องราวส่วนนี้จากชีวิตของศาสดามูซา (อ.) ไว้เช่นกัน (3)


เชิงอรรถ :

  1. อัลกุรอานบทฏอฮา โองการที่ 38 และ 39
  2. กะมาลุดดีน วะ ตะมามุนนิอ์มะฮ์, เชคซอดูก, เล่ม 1, หน้า 149 และ 150
  3. อัลกุรอานบทอัลกอศ๊อศ โองการที่ 7 ถึง 13 :

وَأَوْحَيْنَا إِلَىٰ أُمِّ مُوسَىٰ أَنْ أَرْضِعِيهِ ۖ فَإِذَا خِفْتِ عَلَيْهِ فَأَلْقِيهِ فِي الْيَمِّ وَلَا تَخَافِي وَلَا تَحْزَنِي ۖ إِنَّا رَادُّوهُ إِلَيْكِ وَجَاعِلُوهُ مِنَ الْمُرْسَلِينَ

 “และเราได้ดลใจแก่มารดาของมูซาว่า “จงให้นมแก่เขา แต่เมื่อเจ้ากลัวอันตราย (จากการตามล่าของพวกทหารที่จับเด็กผู้ชายฆ่า) เจ้าก็จงโยนเขาลงไปในแม่น้ำ และเจ้าอย่าได้กลัวและอย่าได้เศร้าโศกไปเลย แท้จริงเราจะให้เขากลับไปหาเจ้า และเราจำทำให้เขาเป็นหนึ่งในบรรดาศาสนทูต

فَالْتَقَطَهُ آلُ فِرْعَوْنَ لِيَكُونَ لَهُمْ عَدُوًّا وَحَزَنًا ۗ إِنَّ فِرْعَوْنَ وَهَامَانَ وَجُنُودَهُمَا كَانُوا خَاطِئِينَ

“ครั้นแล้วบริวารของฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) ก็เก็บเขาขึ้นมา (จากแม่น้ำไนล์) เพื่อผลที่สุดแล้วเขาจะกลายเป็นศัตรู และเป็นความเศร้าโศกแก่พวกเขาเอง (ในภายภาคหน้า)  แท้จริงฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) และฮามาน (มหาปุโรหิตของฟาโรห์) และไพร่พลของเขาทั้งสองล้วนเป็นพวกที่ทำผิด”

وَقَالَتِ امْرَأَتُ فِرْعَوْنَ قُرَّتُ عَيْنٍ لِّي وَلَكَ ۖ لَا تَقْتُلُوهُ عَسَىٰ أَن يَنفَعَنَا أَوْ نَتَّخِذَهُ وَلَدًا وَهُمْ لَا يَشْعُرُونَ

“และภริยาของฟิรเอาน์กล่าวว่า “(หวังว่าทารกผู้นี้) เขาจะเป็นแก้วตาสำหรับฉันและสำหรับท่าน พวกท่านอย่าฆ่าเขาเลย บางทีเขาจะให้คุณแก่เรา หรือเราจะถือเอาเขาเป็นลูก” และพวกเขาหารู้สึกตัวไม่ (ว่าในภายภาคหน้าพวกเขาจะเผชิญกับความวิบัติจากทารกผู้นี้)”

وَأَصْبَحَ فُؤَادُ أُمِّ مُوسَىٰ فَارِغًا ۖ إِن كَادَتْ لَتُبْدِي بِهِ لَوْلَا أَن رَّبَطْنَا عَلَىٰ قَلْبِهَا لِتَكُونَ مِنَ الْمُؤْمِنِينَ

“และหัวใจของมารดาของมูซาแทบจะสลาย นางเกือบจะเปิดเผย (เรื่องราวของ) เขา (ให้ทุกคนรู้ว่านางคือแม่ของทารกผู้นี้) หากเรามิได้ทำให้จิตใจของนางมั่นคง เพื่อที่นางจะเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ศรัทธา”

 وَقَالَتْ لِأُخْتِهِ قُصِّيهِ ۖ فَبَصُرَتْ بِهِ عَن جُنُبٍ وَهُمْ لَا يَشْعُرُونَ

“และนางได้กล่าวแก่พี่สาวของเขา “จงติดตามไปดูเขา” แล้วนาง (พี่สาวของมูซา) ได้มองเห็นเขาแต่ไกล โดยที่พวกเขาไม่รู้”

 وَحَرَّمْنَا عَلَيْهِ الْمَرَاضِعَ مِن قَبْلُ فَقَالَتْ هَلْ أَدُلُّكُمْ عَلَىٰ أَهْلِ بَيْتٍ يَكْفُلُونَهُ لَكُمْ وَهُمْ لَهُ نَاصِحُونَ

“และเราได้หักห้ามเขาไว้ก่อนแล้ว (มิให้ดื่มนม) จากแม่นมทั้งหลาย ดังนั้นนาง (พี่สาวของมูซา) จึงกล่าวว่า “ฉันจะชี้แนะพวกท่านถึงครอบครัวหนึ่งที่จะอุปการะเลี้ยงดูทารกคนนี้แก่พวกท่านจะเอาไหม? และพวกเขาล้วนเป็นผู้ปรารถนาดีต่อเขา”

 فَرَدَدْنَاهُ إِلَىٰ أُمِّهِ كَيْ تَقَرَّ عَيْنُهَا وَلَا تَحْزَنَ وَلِتَعْلَمَ أَنَّ وَعْدَ اللَّهِ حَقٌّ وَلَٰكِنَّ أَكْثَرَهُمْ لَا يَعْلَمُونَ

“ดังนั้น เราจึงให้เขากลับไปหามารดาของเขา (อีกครั้งหนึ่ง) เพื่อเขาจะเป็นที่ชื่นตาชื่นใจแก่นาง และนางจะไม่เศร้าโศก และเพื่อนางจะได้รู้ว่า แท้จริงสัญญาของอัลลอฮ์นั้นเป็นจริง แต่ทว่าส่วนมากของพวกเขาไม่รู้”


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 603 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9945290
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
25434
58984
420835
9045061
1796824
2060970
9945290

ส 27 เม.ย. 2024 :: 10:52:05