ญูน ทาสชราผิวดำ ผู้มีรัศมีดังดวงจันทร์วันเพ็ญ และกลิ่นกายที่หอมหวน
Powered by OrdaSoft!
No result.

ญูน ชายชราผิวดำ ผู้มีรัศมีดังดวงจันทร์วันเพ็ญ และกลิ่นกายที่หอมหวน

     วันจันทร์ที่ 20 มุฮัรรอม ฮิจญ์เราะฮ์ที่ 61 สิบวันหลังจากเหตุการณ์ในวันอาชูรอ ประชาชนกลุ่มหนึ่งจากเผ่าบนีอะซัด ได้ไปพบร่างของ “ญูน” คนรับใช้ของอบูซัรร์ ฆ็อฟฟารีย์ ในสภาพที่ใบหน้าของเขาเปล่งปลั่งไปด้วยรัศมี (นูร) และร่างกายของเขามีกลิ่นหอม แล้วพวกเขาก็ได้จัดการฝังร่างของเขา….

     “ญูน” คือทาสที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ซื้อตัวเขาด้วยเงินจำนวน 150 ดินาร์ (เหรียญทองคำ) และ มอบให้แก่อบูซัรร์ ในช่วงที่อบูซัรร์ถูกเนรเทศไปยังพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งและกันดารที่มีนามว่า “รอบะซะฮ์” คนรับใช้ผู้นี้ได้เดินทางไปยังรอบะซะฮ์เพื่อคอยรับใช้เขา หลังจากการเสียชีวิตของอบูซัรร์ เขาได้กลับมายังเมืองมะดีนะฮ์และทำหน้าที่รับใช้ท่านอิมามอะลี (อ.) จนกระทั้งหลังจากการเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของท่านอิมามอะลี (อ.) เขาได้รับใช้ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) และหลังจากท่านอิมามฮะซัน (อ.) เขาก็ทำหน้าที่รับใช้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) และได้ร่วมเดินทางกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) จากมะดีนะฮ์ไปยังนครมักกะฮ์และจากมักกะฮ์ไปยังกัรบะลาอ์

     เมื่อสงครามในวันอาชูรอได้ทวีความรุนแรงขึ้น เขาได้มาพบท่านอิมามฮุเซน (อ.) และขออนุญาตท่านเพื่อออกสู่สนามรบ เพื่อปกป้องอะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า :

أَنْتَ فِي إِذْنٍ مِنِّي فَإِنَّمَا تَبِعْتَنَا طَلَباً لِلْعَافِيَةِ فَلَا تَبْتَلِ بِطَرِيقِنَا

“บัดนี้เจ้าเป็นอิสระแล้ว ฉันอนุญาตให้เจ้าไปจากที่นี่ได้ เพราะแท้จริงเจ้าได้ติดตามฉันมาเพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ดังนั้นเจ้าอย่าได้มาประสบกับความทุกข์ยากในหนทางของพวกเราเลย”

     ญูนได้ก้มลงจูบแทบเท้าทั้งสองของท่านอิมามฮุเซน (อ.) พร้อมกับกล่าวว่า :

يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ أَنَا فِي الرَّخَاءِ أَلْحَسُ قِصَاعَكُمْ وَ فِي الشِّدَّةِ أَخْذُلُكُمْ وَ اللَّهِ إِنَّ رِيحِي لَمُنْتِنٌ وَ إِنَّ حَسَبِي لَلَئِيمٌ وَ لَوْنِي لَأَسْوَدُ فَتَنَفَّسْ عَلَيَّ بِالْجَنَّةِ فَتَطِيبَ رِيحِي– وَ يَشْرُفَ حَسَبِي وَ يَبْيَضَّ وَجْهِي لَا وَ اللَّهِ لَا أُفَارِقُكُمْ حَتَّى يَخْتَلِطَ هَذَا الدَّمُ الْأَسْوَدُ مَعَ دِمَائِكُمْ

“โอ้บุตรของท่านศาสนทุตแห่งอัลลอฮ์! ในยามสุขสบาย ข้าพเจ้าได้กินจากจานอาหารของพวกท่าน แต่ในยามทุกข์ยากจะให้ฉันละทิ้งไปจากพวกท่านกระนั้นหรือ? ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! แท้จริงกลิ่นกายของข้าพเจ้ามันช่างเน่าเหม็น แท้จริงสายตระกูลของข้าพเจ้าช่างต่ำต้อย และสีผิวของข้าพเจ้ามันช่างดำสนิทเสียเหลือเกิน ดังนั้นขอท่านได้โปรดหายใจรดข้าพเจ้าในสรวงสวรรค์ด้วยเถิด เพื่อกลิ่นกายของข้าพเจ้าจะได้หอมหวน สายตระกูลของข้าพเจ้าจะได้มีเกียรติ และใบหน้าของข้าพเจ้าจะได้ขาวผ่อง ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ข้าพเจ้าจะไม่แยกตัวไปจากพวกท่าน จนกว่าเลือดที่ดำสนิทนี้จะได้ผสมผสานไปกับเลือดของพวกท่าน”

     ญูนได้กล่าวสิ่งนี้ไปพลางก็ร้องไห้ไปพลาง จนกระทั่งท่านอิมามฮุเซน (อ.) เองก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาของตนเองไว้ได้ และได้อนุญาตแก่เขา

     แม้ว่าญูนจะเป็นชายชราที่อยู่ในวัย 90 ปีก็ตาม แต่เด็กๆ ในครอบครัวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเขา เขาได้เดินไปยังกระโจมค่ายพักต่างๆ เพื่อกล่าวคำอำลาและขออภัย (ฮะลาล) ในสิ่งที่ผิดพลาดจากตนเอง เสียงร่ำไห้ของเด็กๆ ได้ดังระงมปกคลุมไปทั่ว เขาได้ปลอบประโลมแต่ละคนให้นิ่งเงียบจากการร่ำไห้และส่งเด็กๆ เหล่านั้นกลับเข้าไปในกระโจมต่างๆ จากนั้นได้ทะยานออกไปยังกลุ่มชนผู้ชั่วชาติของฝ่ายศัตรูประหนึ่งราชสีห์ที่โกรธจัด เขาได้ทำการสู้รบอย่างกล้าหาญ จนกระทั่งพวกศัตรูได้ปิดล้อมอยู่รอบตัวเขาและทำให้เขาได้รับบาดแผลอย่างมากมาย เมื่อร่างของเขาได้ตกสงสู่พื้นดิน ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้นำศีรษะของเขาวางบนตักของท่านและร่ำไห้ด้วยเสียงดัง และได้ใช้มือลูบไปที่ศีรษะและใบหน้าของญูน พร้อมกับกล่าวว่า :

اللَّهُمَّ بَيِّضْ وَجْهَهُ وَ طَيِّبْ رِيحَهُ وَ احْشُرْهُ مَعَ الْأَبْرَارِ وَ عَرِّفْ بَيْنَهُ وَ بَيْنَ مُحَمَّدٍ وَ آلِ مُحَمَّدٍ

“โอ้อัลลอฮ์! โปรดทำให้ใบหน้าของเขาขาวผ่อง และทำให้กลิ่นกายของเขาหอมหวน โปรดรวมเขา (ในปรโลก) เข้ากับบรรดาผู้ทรงคุณธรรม และโปรดทรงแนะนำระหว่างเขาและระหว่างมุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ด้วยเถิด”

      ด้วยบะรอกัต (ความจำเริญ) ของคำวิงวอนขอของท่านอิมาม (อ.) ทำให้ใบหน้าของญูนทาสรับใช้ผู้นี้เจิดจรัสประหนึ่งดังดวงจันทร์วันเพ็ญ และกลิ่นกายที่หอมหวนปรากฏขึ้นจากเรือนร่างของเขา กระทั่งว่า เมื่อพวกเขาได้มาพบร่างของเขาหลังจากการเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ถึงสิบวัน พวกเขาก็ได้พบเห็นใบหน้าของเขาเจิดจรัสไปด้วยรัศมี (นูร) และมีกลิ่นกายที่หอมหวน [2]


แหล่งที่มา :

[1] มุนตะค็อบ อัตตะวารีค, หน้าที่ 311

[2] วะซีละตุดดาร็อยน์ ฟี อันซอริลฮุซัยน์ (อ.) หน้าที่ 115 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้าที่ 23


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 858 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9913463
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
52591
66240
389008
9045061
1764997
2060970
9913463

ศ 26 เม.ย. 2024 :: 21:27:40