บทบาทและหน้าที่ ในมิติของผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.)
Powered by OrdaSoft!
No result.

บทบาทและหน้าที่ ในมิติของผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.)

การรอคอย (อินติซอร) อิมามมะฮ์ดี (อ.) จำเป็นจะต้องอรรถาธิบายให้ประชาชนได้รับรู้ทั้งมิติด้านนอกและมิติด้านในของมัน เพื่อไม่ให้การรอคอยนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่าและเนื้อหา และถูกสรุปไว้แต่เพียงในขอบเขตของการวิงวอนขอดุอาอ์เพียงเท่านั้น หากเรากำลังรอคอยแขกผู้มีเกียรติคนหนึ่ง เราควรจะทำอะไรบ้าง?

      ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

اَلْمُنْتَظِرُ لاَمْرِنا کَالْمُتَشَحِطِّ بِدَمِه فى سَبیلِ اللهِ

"ผู้ที่รอคอยกิจการ (การปรากฏตัวของมะฮ์ดี) ของเรานั้น ประดุจดังผู้ที่เปื้อนไปด้วยเลือด (ในการต่อสู้) ในหนทางของอัลลอฮ์" (1)

     สองมิติของการอรรถาธิบายที่สามารถกล่าวถึงได้ เกี่ยวกับริวายะฮ์ (คำรายงาน) นี้ โดยไม่มีความขัดแย้งต่อกัน นั่นคือ

      1.ผู้ที่รอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) พวกเขาจะกระทำสิ่งต่างๆ ที่ผลของมันจะมีความเท่าเทียมกับญิฮาด (การต่อสู้) ในทางของพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นที่ท่านอิมามอลี (อ.) ได้กล่าวว่า "ญิฮาด (การต่อสู้) นั้นจะนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ ความสูงส่งและศักดิ์ศรีของศาสนา ชัยชนะของสัจธรรมและความยุติธรรม" (2)

      ผลของการรอคอยของบรรดาผู้รอคอยที่แท้จริงก็เช่นเดียวกันนี้ มันคือการรอคอยที่ดำเนินไปภายใต้การขัดเกลาตน การนำเอาตามบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลามมาปฏิบัติ และการทำให้เสียงเรียงร้องของศาสนาดังไปถึงยังจุดต่างๆ อันไกลโพ้นของโลก โดยอาศัยการใช้ประโยชน์จากปากกา การพูดและเครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

คำถาม : เราจะเป็นผู้รอคอยแบบใด?

คำตอบ : ผู้รอคอยบางคน เพียงแค่กล่าวซ้ำๆ ประโยคที่ว่า "โอ้ท่านอิมาม! โปรดรีบเร่งการปรากฏตัวของท่านเถิด” เพียงแค่นี้พวกเขาก็คิดว่าตนเองเป็นผู้รอคอยแล้ว! บางคนสรุปการรอคอยไว้แค่การอ่านดุอาอ์ “นุดบะฮ์”  การอ่านซิยาเราะฮ์ “อาลิยาซีน” และอื่นๆ ในทำนองเพียงเท่านี้ นอกเหนือไปจากนี้ บางคนก็จะไปยังมัสยิดญัมการอนอันศักดิ์สิทธิ์ และคิดว่าสิ่งนี้ก็เพียงพอแล้ว!

      การอรรถาธิบายต่างๆ เกี่ยวกับ “การรอคอย” (อินติซ๊อร) ในลักษณะเช่นนี้ เป็นเหตุทำให้เมื่อเราพิจารณาคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ จะทำให้เรารู้สึกประหลาดใจ และถามตัวเองว่า "เป็นไปได้อย่างไรที่ผลรางวัลของการอ่านดุอาอ์เพียงบทหนึ่งจะเทียบเท่ากับความอุตสาห์พยายามของมุญาฮิด (นักต่อสู้) ที่เกลือกกลิ้งอยู่บนกองเลือดของตนเอง!" แต่หากเราอรรถาธิบาย “การรอคอย” (อินติซ๊อร) ว่า มันคือ การเตรียมพร้อมของประชาคมโลก สำหรับการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แล้ว การรอคอยนี้จะเทียบเท่ากับญิฮาด (การต่อสู้) ยิ่งไปกว่านั้น บางทีอาจจะมีมิติต่างๆ ที่กว้างขวางกว่า!

      2.มิติด้านนอกของการรอคอย ก็คือ การอรรถาธิบายแบบแรกนั้นเอง แต่มิติด้านในของการรอคอย (อินติซ๊อร) นั้นคือ การต่อสู้กับจิตใจและอารมณ์ใฝ่ต่ำ เราจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างและเตรียมพร้อมตัวเอง เนื่องจากท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) คือผู้ที่จะมาสถาปนาความยุติธรรม หากตัวเราเป็นผู้อธรรมแล้วเราจะสามารถเป็นผู้รอคอยท่านได้อย่างไรกัน? ท่านคือผู้สะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าหากเราเป็นผู้ที่แปดเปื้อน แล้วเราจะกล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้รอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านได้อย่างไร?

      ดังนั้นการรอคอยที่แท้จริงนี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้ก็จำเป็นที่เราจะต้องทำการต่อสู้กับตัวเอง และเราจะต้องสร้างเสริมตัวเองจนถึงขั้นที่เราจะคู่ควรต่อการเป็นทหารของท่านอิมาม (อ.) แน่นอนยิ่งว่าญิฮาด (การต่อสู้) กับตัวเองนั้นมีความยากลำบากกว่าญิฮาด (การต่อสู้) กับศัตรูหลายเท่านัก ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองในฮะดีษ (วจนะ) ที่มีชื่อเสียงบทหนึ่ง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงได้กล่าวกับบรรดามุสลิมที่เดินทางกลับมาจากสงครามที่หนักหน่วงว่า

مَرْحَباً بِقَوْم قَضَوْا اَلْجِهادَ الاَصْغَرَ وَ بَقِىَ عَلَیْهِمُ الْجِهادُ الاَکْبَرَ،

قالُوا : وَ مَا الْجِهادُ الاَکْبَرُ؟ قالَ: اَلْجِهادُ مَعَ النَّفْسِ

“ยินดีต้อนรับหมู่ชนที่ได้เสร็จสิ้นจากการต่อสู้เล็ก (ญิฮาด อัซฆัร) และยังคงเหลือการต่อสู้ใหญ่ (ญิฮาด อักบัร) สำหรับพวกเขา” ประชาชนได้กล่าวว่า “การต่อสู้ใหญ่ (ญิฮาด อักบัร) นั้นคืออะไร?” ท่านกล่าวว่า “การต่อสู้กับตัวเอง” (3)

      บทสรุปในที่นี้ก็คือ “การรอคอย” (อินติซอร) อิมามมะฮ์ดี (อ.) จำเป็นจะต้องอรรถาธิบายให้ประชาชนได้รับรู้ทั้งมิติด้านนอกและมิติด้านในของมัน เพื่อไม่ให้การรอคอยนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่าและเนื้อหา และถูกสรุปไว้แต่เพียงในขอบเขตของการวิงวอนขอดุอาอ์เพียงเท่านั้น หากเรากำลังรอคอยแขกผู้มีเกียรติคนหนึ่ง เราควรจะทำอะไรบ้าง? แน่นอน เราจะทำความสะอาดทั้งร่างกายของตัวเราและจัดเตรียมบ้านของเราให้อยู่ในสภาพที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วบรรดาผู้ที่รอคอยการมาของท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) ไม่จำเป็นสำหรับพวกเขาหรือที่จะต้องตระเตรียมความพร้อมบ้านเรือนของตนเอง?!

หน้าที่ของผู้รอคอย คือความพยายามที่จะเข้าใกล้ชิดต่ออิมามของตน

      ท่านอิมามซะมาน (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับความพยายามของบรรดาผู้รอคอยในการที่จะเข้าใกล้ชิดต่อความรักของพวกท่าน (อะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)) ไว้เช่นนี้ว่า :

فَلْيَعْمَلْ كُلُّ امْرِء مِنْكُمْ بِما يُقَرَّبُ بِهِ مِنْ مَحَبَّتِنا، وَلْيَتَجَنَّبْ ما يُدْنيهِ مِنْ كَراهِيَّتِنا وَ سَخَطِنا

“แต่ละคนจากพวกท่านจงปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้ตนเข้าใกล้ความรักของเรา และจงหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่จะทำให้ตนเข้าใกล้ความรังเกียจและความโกรธของเรา” (4)

      ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การใกล้ชิดบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) รวมถึงท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ผู้เร้นกายนั้นจะเกิดขึ้นได้ภายใต้การให้ความสำคัญอย่างพอเพียงต่อข้อบัญญัติ (อะห์กาม) ต่าง ๆ ของอิสลาม ในที่นี้เราจะชี้ถึงฮะดีษสองบทจากท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) เกี่ยวกับการให้ความสำคัญต่อข้อบัญญัติต่าง ๆ ของอิสลาม

การให้ความสำคัญต่อการนมาซ

      ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

ما أُرْغِمَ أَنْفُ الشَّيْطانِ بِشَىْء مِثْلِ الصَّلوةِ، فَصَلِّها وَ أَرْغِمْ أَنْفَ الشَّيْطانِ

"ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ชัยฏอนต่ำต้อยได้เท่ากับการนมาซ ดังนั้นจงทำนมาซและทำให้ชัยฏอนต่ำต้อยเถิด” (5)

      ดังนั้นการมองในแง่ดีต่อการอ้างเหตุผลต่าง ๆ อย่างเช่น “ขอให้หัวใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ก็เพียงพอแล้ว” และอื่น ๆ นั้น จะไม่ให้คุณประโยชน์ใด ๆ แน่นอนยิ่งว่าในเรื่องของความสะอาดบริสุทธิ์ของหัวใจนั้นไม่เป็นที่สงสัยแต่อย่างใด แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า หัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ดวงใดกันหรือที่จะมีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่กลับไม่มีความปรารถนาและความผูกพันที่จะสนทนาและพร่ำพรอดภาวนาสิ่งที่ตนเองต้องการกับพระองค์? ในขณะที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

وَ إِذا نادَيْتُمْ إِلَى الصَّلاةِ اتَّخَذُوها هُزُواً وَ لَعِباً ذلِكَ بِأَنَّهُمْ قَوْمٌ لا يَعْقِلُون

“และเมื่อพวกเจ้าได้เรียกร้องไปสู่การนมาซ พวกเขาก็ถือเอาการนมาซเป็นการเย้ยหยันและการล้อเล่น นั่นเป็นเพราะว่าเขาเป็นกลุ่มชนที่ไม่ใช้ปัญญา”

(บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 58)

การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

      ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับการรับใช้ประชาชนไว้เช่นนี้ว่า :

أَرْخِصْ نَفْسَكَ  وَ اقْضِ حَوائِجَ النّاسِ

“จงลดตัวของท่านลง (เพื่อการรับใช้เพื่อนมนุษย์) และจงสนองตอบความต้องการต่าง ๆ ของเพื่อนมนุษย์เถิด” (6)

       เมื่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้สั่งให้บรรดาชีอะฮ์และผู้รอคอยท่าน ให้ทำการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในความเป็นจริงแล้วโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานได้สอนแก่เราเช่นนี้ว่า :

إِنَّ الَّذينَ آمَنُوا وَ عَمِلُوا الصَّالِحاتِ وَ أَقامُوا الصَّلاةَ وَ آتَوُا الزَّكاةَ لَهُمْ أَجْرُهُمْ عِنْدَ رَبِّهِمْ وَ لا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَ لا هُمْ يَحْزَنُون

“แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธา และประกอบสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย และดำรงไว้ซึ่งการนมาซและจ่ายซะกาตนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา และจะไม่มีความกลัวใด ๆ เกิดขึ้นกับพวกเขา และพวกเขาก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ”

(บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 277)

      บรรดาผู้ศรัทธาและผู้รอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น เพื่อที่จะเสริมสร้างจิตวิญญาณของตนให้เกิดความเข้มแข็งนั้น จำเป็นที่จะต้องผูกสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณต่อพระผู้เป็นเจ้า และเพื่อที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความเจริญก้าวหน้าทางโลก จำเป็นที่พวกเขาจะต้องให้การช่วยเหลือและมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) รอคอยการกระทำและการแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ของเรา

      ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ถือว่าการประวิงเวลาในการปรากฏกาย (ซุฮูร) และการพบกับบรรดาชีอะฮ์ของท่านนั้น เป็นผลมาจากความบกพร่องในทางปฏิบัติของบรรดาชีอะฮ์และหมู่มิตรของท่านเอง โดยท่านกล่าวว่า :

لَوْ أَنَّ أَشْياعَنا وَفَّقَهُمُ اللّهُ لِطاعَتِهِ عَلَى اجْتِماع مِنَ الْقُلُوبِ فِى الْوَفاءِ بِالْعَهْدِ عَلَيْهِمْ لَما تَأَخَّرَ عَنْهُمُ الْيمْنُ بِلِقائِنا وَ لَتَعَجَّلَتْ لَهُمُ السَّعادَةُ بِمُشاهَدَتِنا

“หากบรรดาชีอะฮ์ของเรา อัลลอฮ์ทรงประทานความสำเร็จแก่พวกเขาในการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์ ด้วยการหลอมรวมดวงใจในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่พระองค์ทรงกำหนดไว้แก่พวกเขาแล้ว แน่นอนยิ่งความจำเริญในการพบเราจะไม่ถูกประวิงให้ล่าช้าออกไป และแน่นอนยิ่งความโชคดีในการได้เห็นเราก็จะรีบเร่งขึ้นสำหรับพวกเขา” (7)

      อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ว่า จุดประสงค์จากการพบเห็นท่านอิมาม (อ.) นั้น คือการได้รับเกียรติในการปรากฏตัวของท่านอิมาม (อ.) และการได้รับสิ่งดีงามต่าง ๆ อันท่วมท้นจากท่าน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อใดก็ตามที่สภาพแวดล้อมทางสังคมของบรรดาผู้รอคอยและบรรยากาศทางด้านจิตวิญญาณเอื้ออำนวย อย่างเช่นในช่วงสงครามที่ถูกบังคับ (สงครามแปดปีระหว่างอิหร่านกับอิรัก) สิ่งดีงามต่าง ๆ อันท่วมท้น (ฟุยูฎ๊อด) จากพระผู้เป็นเจ้าก็ถูกประทานให้แก่บรรดาผู้รอคอยโดยผ่านท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

يا أَيُّهَا الَّذينَ آمَنُوا إِنْ تَنْصُرُوا اللَّهَ يَنْصُرْكُمْ وَ يُثَبِّتْ أَقْدامَكُمْ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! หากพวกเจ้าช่วยเหลืออัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงช่วยเหลือพวกเจ้า และจะทรงทำให้เท้าของพวกเจ้ามั่นคง”

(บทมุฮัมมัด โองการที่ 7)

     และในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้ชี้ถึงประเด็นเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนของท่านต่อบรรดาชีอะฮ์และบรรดาผู้รอคอยในการเผชิญหน้ากับศัตรู ว่า :

إِنّا غَيْرُ مُهْمِلينَ لِمُراعاتِكُمْ، وَ لا ناسينَ لِذِكْرِكُمْ، وَ لَوْ لا ذلِكَ لَنَزَلَ بِكُمُ اللاَّواهُ، وَ اصْطَلَمَكُمُ الاْعْداءُ، فَاتَّقُوا اللّهَ جَلَّ جَلالُهُ وَ ظاهِرُونا

“แท้จริงเรามิได้ละเลยต่อการดูแลเอาใจใส่พวกท่าน และมิได้หลงลืมที่จะนึกถึงพวกท่าน และหากมิเช่นนั้นแล้ว แน่นอนยิ่งความทุกข์ยากต่าง ๆ จะถาโถมลงมายังพวกท่าน และบรรดาศัตรูจะถอนรากถอนโคนพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงให้การสนับสนุนช่วยเหลือเรา” (8)

     ในฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ท่านอิมาม (อ.) ต้องการจะกล่าวว่า ทำนองเดียวกับที่ฉันคอยสนับสนุนและคอยให้การช่วยเหลือพวกท่าน พวกท่านก็จงสนับสนุนและให้การช่วยเหลือฉันเถิด พวกท่านกำลังรอคอยความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมซึ่งจะบรรลุความเป็นจริงได้ด้วยการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของฉัน ดังนั้นก็จงยืนหยัดต่อสู้กับการกดขี่และความอยุติธรรมในระดับโลกเถิด...

คำพูดส่งท้าย

      ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) เรียกร้องให้เราผู้รอคอยทั้งหลายดำรงการนมาซ และระวังรักษาตักวา (ความยำเกรง) ต่อพระผู้เป็นเจ้าในการดำเนินชีวิต กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุกสิ่งที่จะเป็นสื่อทำให้เราเข้าใกล้ความรักของท่านและอิมามท่านอื่น ๆ หากสังคมของบรรดาผู้รอคอยอุตสาห์พยายามในการปฏิบัติตามศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าและเสริมสร้างความเข็มแข็งต่อมันแล้ว การเสริมสร้างความมั่นคงในจุดยืนและเจตนารมณ์แก่สังคมนี้ก็จะถูกประทานลงมาจากพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านอิมามผู้เร้นกายของพระองค์


แหล่งที่มา :

(1) บิฮารุลอันวาร เล่ม 10 หน้า 104

(2) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ กะลิมาตุลกิซอร เล่ม 252

(3) มีซานุลฮิกมะฮ์ หมวดที่ 586 ฮะดีษที่ 2741 (เล่มที่ 2 หน้า 140)

(4) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 1, หน้า 176

(5) มันลายะห์ฎุรุฮุลฟะกีฮ์, เล่ม 1, หน้า 498

(6) ชีฟเตกอน อิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.), กอฎี ซาฮิดี, เล่ม 1, หน้า 116

(7) อัลอิห์ติญาจ, ฏ็อบริซี, เล่ม 2, หน้า 498

(8) อัลอิห์ติญาจ, ฏ็อบริซี, เล่ม 2, หน้า 497


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1017 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9943646
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
23790
58984
419191
9045061
1795180
2060970
9943646

ส 27 เม.ย. 2024 :: 10:10:48