โองการอัลกุรอานได้เตือนประชาชาติมุสลิมในยุคแรกของอิสลามว่า ในกรณีที่พวกเจ้าบกพร่องและละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแทนที่พวกเจ้าด้วยกลุ่มชนอื่น ซึ่งจะเป็นแบบอย่างสำหรับพวกเจ้า เนื่องจากพวกเขามีการปฏิบัติตนที่ดีกว่าพวกเจ้า.....
ปัจจุบันการปฏิวัติอิสลามด้วยกับสารัตถะทางจิตวิญญาณของมัน ได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับชาวโลกไปแล้ว การกลายเป็นต้นแบบดังกล่าวนี้ ได้เกิดขึ้นภายใต้ความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญต่อค่านิยมต่างๆ ทางศาสนาของประชาชนชาวอิหร่าน
หนึ่งในความแตกต่างของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (22 บะฮ์มัน 57/พ.ศ.2522) ที่มีต่อการปฏิวัติอื่นๆ ของโลก คือสารัตถะทางด้านศาสนาของมัน สารัตถะที่สามารถจะกลายเป็นต้นแบบในระดับโลกได้มากกว่า ประเด็นนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของบรรดานักวิชาการตะวันตก และพวกเขาแต่ละคนต่างได้ชี้ถึงความมีอยู่ของสารัตถะแห่งศาสนาในการปฏิวัติของอิหร่าน และในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ที่มาจากอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ก็ได้ชี้ถึงสารัตถะทางศาสนาของประชาชนชาวอิหร่านไว้ สารัตถะที่สามารถสัมผัสได้ถึงบทบาทของมันในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศได้มากยิ่งขึ้น
กลุ่มชนผู้มีศรัทธาของซัลมาน ฟาริซี
ในอัลกุรอานซูเราะฮ์ (บท) มุฮัมมัด ได้กล่าวว่า :
وَ إِنْ تَتَوَلَّوْا يَسْتَبْدِلْ قَوْماً غَيْرَكُمْ ثُمَّ لا يَكُونُوا أَمْثالَكُمْ
“และหากพวกเจ้าหันหลัง (ออกจากศาสนาของอัลลอฮ์) พระองค์จะทรงแทนที่ด้วยกลุ่มชนอื่นจากพวกเจ้า แล้วพวกเขาจะไม่เป็นเหมือนกับพวกเจ้า”
(อัลกุรอาน บทมุฮัมมัด โองการที่ 38)
โองการนี้ได้เตือนชาวมุสลิมในยุคแรกของอิสลามว่า ในกรณีที่พวกเจ้าบกพร่องและละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแทนที่พวกเจ้าด้วยกลุ่มชนอื่น ซึ่งจะเป็นแบบอย่างสำหรับพวกเจ้า เนื่องจากพวกเขามีการปฏิบัติตนที่ดีกว่าพวกเจ้า
หนังสือตัฟซีรนะมูเนะฮ์ (อัลอัมซาล) ได้เขียนเกี่ยวกับโองการนี้ว่า : นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน (มุฟัซซิรีน) ส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นไว้ใต้โองการนี้ว่า หลังจากการประทานโองการนี้ ซอฮาบะฮ์ (สาวก) บางส่วนของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “กลุ่มชนที่อัลลอฮ์ทรงอ้างถึงพวกเขาในโองการนี้ พวกเขาเป็นใคร?” ในขณะนั้นซัลมาน ฟาริซีได้นั่งอยู่ใกล้ๆ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านศาสนทูตจึงได้ใช้มือแตะไปที่ขา (บางคำรายงานบอกว่าแตะไปที่ไหล่) ของซัลมาน และกล่าวว่า :
هَذَا وَ قَوْمُهُ وَ الَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لَوْ كَانَ الْإِيمَانُ مَنُوطاً بِالثُّرَيَّا لَتَنَاوَلَهُ رِجَالٌ مِنْ فَارِسَ
“ชายผู้นี้และกลุ่มชนของเขา ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ มาตรว่าความศรัทธา (อีหม่าน) จะถูกแขวนอยู่ ณ ดาวลูกไก่ เหล่าบุรุษจากเปอร์เซียก็จะเอามันมาได้” (1)
อย่างไรก็ตาม ฮะดีษบทนี้และและฮะดีษอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ มิใช่เหตุผลของการอวดอ้างตนของชาวอิหร่านและความเหนือกว่าทางด้านชาติพันธุ์ของพวกเขาที่มีต่อชนชาติอื่นๆ แต่นี่คือข้อเท็จจริงหนึ่งที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ชนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะบรรลุสู่อุดมคติ (ในที่นี่หมายถึงศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า) พระผู้เป็นเจ้าก็จะทรงสนับสนุนและให้การช่วยแก่พวกเขา และนี่คือข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :
إِنَّ اللَّهَ لا يُغَيِّرُ ما بِقَوْمٍ حَتَّى يُغَيِّرُوا ما بِأَنْفُسِهِمْ
“แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของหมู่ชนใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพด้วยตัวของพวกเขาเอง”
(อัลกุรอาน บทอัรเราะอ์ดุ โองการที่ 11)
ชนชาติที่ยิ่งใหญ่ของอิหร่านในตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ได้พยายามแสวงหาเรื่องของจิตวิญญาณและคุณค่าต่างๆ แห่งพระเจ้ามาโดยตลอด จนกระทั่งบุรุษแห่งพระเจ้าผู้หนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการยืนหยัดขึ้นของพวกเขา และด้วยผลของการต่อสู้อย่างต่อเนื่องของพวกเขา เป็นระยะเวลาถึง 16 ปี ในที่สุดการปฏิวัติอิสลามก็บรรลุผลชัยชนะในปี พ.ศ. 2522 การปฏิวัติที่ได้วางรากฐานคุณค่าต่างๆ ทางจิตวิญญาณขึ้น และได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เพียงแต่สำหรับบรรดาประเทศในภูมิภาคเท่านั้น แต่ทว่าสำหรับโลกทั้งมวลด้วยเช่นกัน
มีแชล ฟูโก (Michel Foucault) เป็นนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักคิด นักทฤษฎีสังคม นักนิรุกติศาสตร์ และนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส มีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า “แกนและศูนย์กลางที่สำคัญของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน คือเรื่องของจิตวิญญาณ คุณลักษณะนี้ได้จำแนกการปฏิวัติอิสลามออกจากการปฏิวัติอื่นๆ และทำให้มันกลายเป็นต้นแบบใหม่” (2)
ประเด็นที่ปรากฏอยู่ในคำพูดของนักคิดตะวันตกผู้นี้ ก็คือความเป็นต้นแบบของการปฏิวัติทางจิตวิญญาณของอิหร่าน วันนี้รัฐบาลชีอะฮ์และอิสลามของอิหร่านคือต้นแบบสำหรับบรรดาประเทศยุโรป โดยที่พวกเขากำลังค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับมัซฮับ (แนวทาง) และหันหน้ามาสู่มัซฮับนี้
แอนโธนี กิดเดนส์ (Anthony Giddens) นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ และถือว่าเป็นนักสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ ได้กล่าวเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาในการปฏิวัติอิหร่านว่า “บรรดายักษ์ใหญ่ทางความคิดด้านสังคมวิทยา หมายถึง มาร์กซ์ (Karl Marx) เดอร์ไคหม์ (David Émile Durkheim) และมักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) มีทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันไม่มากหรือน้อย พวกเขามองว่ากระบวนการขับเคลื่อนสาธารณะนั้นกำลังทำให้โลกกลายเป็นโลกิยานุวัติ (secularization) และทำให้ศาสนาออกไปอยู่ชายขอบ แต่ทว่านับจากช่วงต้นของทศวรรษที่แปดสิบและด้วยกับการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน เรากำลังเห็นการบรรลุผลในทางตรงข้าม กล่าวคือกระแสการวิวัฒนาการโดยรวมของโลก ได้เริ่มต้นกระบวนการย้อนกลับแล้ว และกำลังขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางของศาสนาและจิตวิญญาณ (Spirituality)” (3)
หลังจากชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามในโลก เราได้เห็นบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ของโลกได้หันมาสนใจเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับอิสลามศึกษาและชีอะฮ์ศึกษา แม้จะเป็นไปได้ว่า เจตนาของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ในการเข้ามาสู่เนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับศาสนา อาจจะไม่มีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจสักเท่าใดก็ตาม แต่โดยภาพรวมแล้วมันได้ทิ้งผลกระทบเชิงบวกของมันแล้ว
โลกได้ตระหนักแล้วว่าจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักต่อการปฏิวัติแห่งจิตวิญญาณของอิหร่าน สาธารณชนทั่วโลกได้เห็นด้วยกับตาของตนเองแล้วว่า รัฐบาลแห่งศาสนารัฐบาลหนึ่ง แม้จะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นศัตรูและความเหี้ยมโหดทั้งหมดเหล่านี้ของศัตรู แต่ก็ยังคงก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและอย่างมีประสิทธิภาพ
ความเป็นต้นแบบทางศาสนาด้วยกับการยึดมั่นต่อคุณค่าต่างๆ
ในคัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า :
يا أَيُّهَا الَّذينَ آمَنُوا إِنْ تَنْصُرُوا اللَّهَ يَنْصُرْكُمْ وَ يُثَبِّتْ أَقْدامَكُم
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากพวกเจ้าช่วยเหลือ (ศาสนาของ) อัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงช่วยเหลือพวกเจ้า และจะทรงทำให้เท้าของพวกเจ้ามั่นคง”
(อัลกุรอาน บทมุฮัมมัด โองการที่ 7)
โองการนี้ถือว่าการช่วยศาสนาของพระเจ้า (คุณค่าต่างๆ ทางศาสนา) จะเป็นสื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บรรดาผู้ศรัทธา ความแข็งแกร่งซึ่งจะอยู่ในสายตาของคนอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
الَّذينَ إِنْ مَكَّنَّاهُمْ فِي الْأَرْضِ أَقامُوا الصَّلاةَ وَ آتَوُا الزَّكاةَ وَ أَمَرُوا بِالْمَعْرُوفِ وَ نَهَوْا عَنِ الْمُنْكَرِ
“(บรรดาผู้ที่ให้การช่วยเหลืออัลลอฮ์ คือ) บรรดาผู้ที่หากเราทำให้พวกเขามีอำนาจในแผ่นดิน พวกเขาจะดำรงการนมาซ และจ่ายทานซะกาต และกำชับกันให้กระทำความดี และห้ามปรามกันให้ละเว้นความชั่ว”
(อัลกุรอาน บทอัลฮัจญ์ โองการที่ 41)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การกลายเป็นต้นแบบของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน พร้อมกับการยึดมั่นและปฏิบัติตามคำสั่งใช้ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่นในสงครามที่ถูกบังคับ (สงครามปกป้องตน 8 ปีจากการรุกรานของอิรัก) บรรดาทหารของอิสลามด้วยกับการยึดมั่นในคุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า เช่น การนมาซในยามกลางคืน (ซอลาตุ้ลลัยน์) การวิงวอนขอดุอาอ์ และอื่นๆ รวมทั้งการเสริมสร้างสปิริตทางด้านจิตใจและการติดอาวุธทางจิตวิญญาณ ได้เป็นสาเหตุทำให้ซัดดัมและบรรดาผู้สนับสนุนของเขาต้องคุกเข่าลง ขณะนี้ความองอาจและความกล้าหาญของพวกเขาได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับชนชาติที่ยิ่งใหญ่ของอิหร่าน และสำหรับชนชาติทั้งหลายที่เป็นเสรีชน โลกได้เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ (ก่อนการปฏิวัติอิสลาม) ต้องประสบกับแผนสมคบคิดต่างๆ ของบรรดานักล่าอาณานิคม ก็เนื่องมาจากการขาดการยึดมั่นในค่านิยมต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า
ในเหตุการณ์ก่อวิกฤตความวุ่นวายในปี 88 (ตรงกับ พ.ศ. 2554) และการหมิ่นประมาทต่อพิธีไว้อาลัยต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ของกลุ่มที่ก่อม็อบและปลุกระดมโดยมีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง ประชาชนที่ยึดมั่นอยู่กับค่านิยมแห่งพระผู้เป็นเจ้า และมีความรักผูกพันต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ออกมาสู่สนาม และได้จัดการกับการก่อวิกฤตความวุ่นวายดังกล่าวลงอย่างราบคาบ
เมื่อโลกได้เห็นประชาชนชาวอิหร่านที่มีจิตวิญญาณทางศาสนาได้ยืนหยัดขึ้น และมีความอุตสาห์พยายามในการพัฒนาประเทศของพวกเขา แน่นอนยิ่งว่าการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับจิตวิญญาณนี้ จะกลายเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ
บทสรุป :
บรรดานักคิดตะวันตก ถือว่าการปฏิวัติทางจิตวิญญาณในอิหร่าน คือต้นแบบสำหรับชาวโลก ต้นแบบที่ก่อรูปขึ้นบนพื้นฐานของการยึดมั่นในค่านิยมแห่งพระผู้เป็นเจ้า และการเสริมสร้างสปิริตทางด้านจิตวิญญาณของบรรดาสมาชิกในสังคม
แหล่งอ้างอิง
(1) ตัฟซีรนะมูเนะฮ์, มะการิม ชีราซี, เล่มที่ 21, หน้าที่ 498
(2) บทความ “การฟื้นฟูแนวคิดทางศาสนา” จากเว็บไซต์ รอซิคูน
(3) บทความ “การฟื้นฟูแนวคิดทางศาสนา” จากเว็บไซต์ รอซิคูน
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่