คำว่า “อีษาร” (การเสียสละ) หมายถึง การให้ความสำคัญต่อผู้อื่นก่อนตนเองหรือมากกว่าตนเอง ไม่ว่าจะในเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง วัตถุ หรือจะเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตก็ตาม นับได้ว่าเป็นคุณลักษณะอันสูงส่งประการหนึ่งทางด้านจริยธรรม ซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญไว้อย่างมากมายในคัมภีร์อัลกุรอาน และในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ทั้งหลาย และคุณลักษณะดังกล่าวนี้เกิดจากการที่มนุษย์ได้ขจัดความเห็นแก่ตัวให้หมดสิ้นไปจากตนเอง
คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงบรรดาผู้ศรัทธาจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งๆ ที่ตนเองเป็นผู้ยากไร้และมีความต้องการ แต่ทว่าพวกเขาได้ให้ความสำคัญต่อบุคคลอื่นมากกว่าตนเอง ดังนั้นเขาจึงยอมเสียสละสิ่งที่ตนเองมีความต้องการให้กับบุคคลเหล่านั้น
وَيُؤْثِرُونَ عَلَى أَنْفُسِهِمْ وَلَوْ كَانَ بِهِمْ خَصَاصَةٌ
“และพวกเขาให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นเหนือกว่าตัวของพวกเขาเอง แม้นว่าพวกเขาจะประสบกับความขัดสนสักปานใดก็ตาม”
(อัลกุรอานบท อัลฮัชรุ โองการที่ 9)
นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน (มุฟัซซิรีน) รายงานเรื่องราวต่างๆ ไว้เกี่ยวกับสาเหตุการประทานโองการนี้ ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับชาวอันศ็อร (บรรดาผู้ช่วยเหลือ) ในวันแห่งชัยชนะเหนือชาวยิวเผ่าบนีนะฎีรว่า “หากพวกท่านประสงค์ก็จงแบ่งปันทรัพย์สินและบ้านเรือนของพวกท่านให้แก่ชาวมุฮาญิรีน (บรรดาผู้อพยพ) เถิด และพวกท่านก็จงมีส่วนร่วมกับพวกเขาในทรัพย์สินเชลยศึกเหล่านั้น และถ้าหากพวกท่านประสงค์ทรัพย์สินต่างๆ และบ้านเรือนทั้งหลายของพวกท่านก็จะเป็นของพวกท่านดังเดิม แต่ทรัพย์สินเชลยศึกเหล่านี้จะไม่ถูกมอบให้แก่พวกท่านแต่ประการใดเลย!”
ชาวอันศ็อรกล่าวว่า “พวกเราจะแบ่งปันทรัพย์สินและบ้านเรือนของพวกเราให้แก่พวกเขา และพวกเราก็จะไม่ขอรับทรัพย์สินเชลยศึกเหล่านี้ แต่พวกเราขอสละให้กับชาวมุฮาญิรีน” โองการข้างต้นถูกประทานลงมาและได้สรรเสริญยกย่องจิตวิญญาณอันสูงส่งของพวกเขา (1)
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) อีกบทหนึ่งกล่าวว่า : มีชายผู้หนึ่งมาหาท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และกล่าวว่า “ข้าพเจ้าหิวอาหาร” ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ให้คนไปนำอาหารจากบ้านมาให้เขา แต่ปรากฏว่าในบ้านของท่านศาสนทูตไม่มีอาหารอยู่เลย ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า “มีใครบ้างที่จะรับชายผู้นี้เป็นแขกของตนในค่ำคืนนี้” ชายผู้หนึ่งจากชาวอันศ็อรรับอาสาพาชายผู้นั้นไปยังบ้านของตน แต่ปรากฏว่าในบ้านของเขาก็ไม่มีอาหารใดๆ เหลืออยู่เลย นอกจากจำนวนเล็กน้อยสำหรับลูกๆ ของตนเอง เขาสั่งให้นำอาหารนั้นมาให้แขก และดับตะเกียงพร้อมกับกล่าวกับภรรยาของตนเองว่า “จงหาทางทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ลูกๆ หลับ” หลังจากนั้นสามีภรรยาคู่นั้นก็นั่งลงยังสำรับอาหาร และขยับปากของตนเหมือนคนที่กำลังเคี้ยวอาหาร ทั้งๆ ที่ไม่ได้หยิบอาหารใดๆ ใส่เข้าไปในปากตนเองเลย แขกผู้นั้นเข้าใจว่าทั้งสองกำลังรับประทานอาหารร่วมกับเขา ดังนั้นเขาจึงรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเพียงจนรู้สึกอิ่ม แต่บุคคลทั้งสองต้องนอนหลับในสภาพที่หิวโหย
ในตอนเช้าบุคคลทั้งสองมาหาท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านศาสนทูตมองไปยังพวกเขาพร้อมกับยิ้มให้ (โดยที่พวกเขามิได้พูดสิ่งใด) ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้อ่านโองการข้างต้น และยกย่องสรรเสริญการเสียสละของบุคคลทั้งสอง
ในคำรายงานต่างๆ ที่รายงานไว้จากบรรดาอะฮ์ลิลบัยต์ (อ.) กล่าวว่า : ผู้รับรองแขกคืนนั้นคือท่านอะลี (อ.) และเด็กๆ คือลูกๆ ของท่าน และบุคคลที่ทำให้เด็กเหล่านั้นนอนหลับในสภาพที่หิวโหย คือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) (2)
การหยิบยื่นสิ่งที่ตนเองมีความต้องการและมีความรักความผูกพันต่อมันเพื่อความอยู่รอดของผู้อื่น นั้นคือ “การเสียสละ” (อีษาร) แต่จุดสูงสุดของการเสียสละ คือการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต และ “ผู้เสียสละ” ก็คือบุคคลที่มีความพร้อมที่จะพลีเลือดเนื้อและชีวิตของตนเองเพื่อความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า ในหนทางแห่งการปกป้องหลักคำสอนของศาสนา และเพื่อความเป็นอยู่ที่สงบสุขและดีกว่าสำหรับเพื่อนมนุษย์
ในเหตุการณ์แห่งวันอาชูรอ บุคคลผู้เสียสละและพลีอุทิศคนแรกนั้นคืออิมามฮุเซน (อ.) ผู้ซึ่งเตรียมพร้อมแล้วที่จะพลีอุทิศชีวิตของตนเองเพื่อศาสนาของอัลลอฮ์ (ซบ.) และเลือกเอาความพึงพอพระทัยของพระองค์มาก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง และท่านยังได้เรียกร้องประชาชนเช่นเดียวกันว่า ใครก็ตามที่พร้อมจะพลีเลือดเนื้อและชีวิตของตนเองในหนทางนี้ เขาจงร่วมเดินทางไปกับท่าน สู่แผ่นดินกัรบะลาอ์
مَنْ کانَ باذِلا فینا مُهْجَتَهُ،... فَلْیَرْحَلْ مَعَنا
“ผู้ใดก็ตามที่พร้อมจะพลีอุทิศเลือดเนื้อของตนในหนทางของเรา...ดังนั้น เขาจงออกเดินทางไปพร้อมกับเราเถิด...” (3)
บรรดาสาวกของอิมามฮุเซน (อ.) ก็เช่นกัน แต่ละคนได้พลีเลือดเนื้อและชีวิตของตนเองเพื่ออิมาม (ผู้นำ) ของพวกเขา เราสามารถพบเห็นภาพและแบบอย่างอันสวยงามของบรรดาผู้เสียสละและพลีอุทิศตนเหล่านั้นได้ในตลอดช่วงเวลาของเหตุการณ์แห่งอาชูรอ
เชิงอรรถ
[1] ตัฟซีร มัจญ์มะอุล บะยาน, เล่ม 9, หน้า 260.
[2] แหล่งอ้างอิงเดิม.
[3] บิฮารุล อันวาร, เล่ม 44, หน้า 366.
บทความโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่