หากเราพิจารณาโดยสังเขปในคัมภีร์อัลกุรอาน และทำการศึกษาริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เราจะพบว่า ประเด็นของการ "ตักฟีร" หรือการกล่าวหาชาวมุสลิมว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคัมภีร์อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และขัดแย้งกับทัศนะของบรรดานักวิชาการอิสลาม และไม่มีหลักฐานทางศาสนบัญญัติและเหตุผลทางสติปัญญาใด ๆ ที่จะอนุญาตให้เราทำการตักฟีร (กล่าวหาชาวมุสลิมว่าปฏิเสธศรัทธา) ได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้เนื่องจากว่าระดับต่ำสุดของความเป็นมุสลิมของบุคคลทั้งหลายนั้น คือการที่พวกเขาจะปฏิญาณตนยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าและยอมรับในความเป็นศาสดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) หรือที่เรียกว่า การกล่าวปฏิญาณ “สองกะลิมะฮ์ ชะฮาดะฮ์” ซึ่งแม้จะเป็นแค่เพียงวาจา แต่กระนั้นก็ตามในกรณีเช่นนี้ เลือดของเขา ทรัพย์สินของเขา ชีวิตและเกียรติของเขาจะถูกพิทักษ์คุ้มครอง และไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะทำร้ายและล่วงละเมิดต่อเขาได้
ด้วยเหตุนี้เอง พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจึงทรงตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับการยอมรับอิสลามของชาวอาหรับชนบท (เบดูอิน) กลุ่มหนึ่งว่า :
قَالَتْ الْأَعْرَابُ آمَنَّا قُلْ لَمْ تُؤْمِنُوا وَلَكِنْ قُولُوا أَسْلَمْنَا وَلَمَّا يَدْخُلْ الْإِيمَانُ فِي قُلُوبِكُمْ وَإِنْ تُطِيعُوا اللَّهَ وَرَسُولَهُ لَا يَلِتْكُمْ مِنْ أَعْمَالِكُمْ شَيْئاً إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَحِيمٌ
“ชาวอาหรับชนบทกล่าวว่า เราศรัทธาแล้ว จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านยังมิได้ศรัทธา แต่พวกท่านจงกล่าวว่า เราเข้ารับอิสลามแล้ว เพราะความศรัทธานั้นยังมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกท่าน และถ้าหากพวกท่านเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์แล้ว พระองค์จะไม่ทำให้การงานของพวกท่านด้อยลงแต่ประการใด แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัยยิ่ง ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (1)
บรรดามุฟัซซิรีน (นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน) คนสำคัญทั้งของชีอะฮ์และของซุนนี ในหนังสือตัฟซีรของตนในการอรรถาธิบายโองการนี้ พวกเขาต่างเชื่อว่า ด้วยกับการปฏิญาณ “สองกะลีมะฮ์ ชะฮาดะฮ์” และการยอมรับในเอกานุภาพ (วะห์ดานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าและการยอมรับความเป็นศาสดา (ริซาละฮ์) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เพียงเท่านี้ขั้นตอนแรกของความเป็นมุสลิมของเขาก็เกิดขึ้นแล้ว และเลือด ทรัพย์สิน ชื่อเสียงและเกียรติของบุคคลดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองจากการล่วงละเมิดแล้ว โดยที่พวกเขาจะอ้างอิงความเชื่อนี้จากวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า :
أمرت أن أقاتل الناس حتى يقولوا (لا إله إلا الله)، فإذا قالوا (لا إله إلا الله)، عصموا مني دماءهم وأموالهم إلا بحقها وحسابهم على الله
“ฉันได้ถูกบัญชาให้ทำการต่อสู้กับประชาชน จนกระทั่งพวกเขาจะกล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์” โดยที่เมื่อพวกเขากล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์” พวกเขาก็จะปกป้องเลือดของพวกเขาและทรัพย์สินของพวกเขาจากฉัน เว้นแต่ว่าความจริงแท้ของมันและการตรวจสอบบัญชีพวกเขานั้น อยู่ ณ อัลลอฮ์” (2)
ในตัฟซีร “ญามิอุลบะยาน” ยังได้กล่าวด้วยว่า :
لان الاسلام قول، والايمان قول وعمل
“เนื่องจากอิสลามนั้น คือ คำพูด และอีหม่าน (ความศรัทธา) นั้นคือ คำพูดและการกระทำ” (3) ญามิอุลบะยาน , อัฎฎ็อบรี , เล่มที่ 26 , หน้าที่ 182
นอกจากนี้พวกเขาจะกล่าวภายใต้การอรรถาธิบายโองการนี้ว่า :
“ระหว่างอิสลามกับอีหม่านนั้นมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ อีหม่าน (ความศรัทธา) นั้น เป็นระดับที่สูงกว่าอิสลาม และการยอมรับอิสลามนั้นจะเกิดขึ้นด้วยการปฏิญาณตนยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าและการยอมรับศาสดา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสอดคล้องกับความเชื่อด้านในและการปฏิบัติหรือไม่ก็ตาม" (4)
ท่าน “ซะมัคชะรี” ได้เขียนในเรื่องนี้ว่า : “
الاسلام الدخول فی السلم و الخروج من أن یکون جرباً لمؤمنین، باظهار الشهادتین
“การรับอิสลามคือการเข้าสู่ความสงบสันติ และออกจากการต่อสู้สงครามกับบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ด้วยการกล่าวสองคำปฏิญาณตน" (5)
ท่าน “กุรฏุบี” ได้เขียนว่า :
وحقیقة الایمان التصدیق بالقلب و أمّا الاسلام فقبول ما أتی به النبی فی الظاهر و ذلک یحقن الدم
“และข้อเท็จจริงของความศรัทธา (อีหม่าน) นั้นคือการยอมรับด้วยหัวใจ ส่วนอิสลามนั้นคือการยอมรับทางภายนอกต่อสิ่งที่ท่านศาสดานำมา และสิ่งนั้นจะพิทักษ์ปกป้องเลือดเนื้อ (และชีวิต)" (6)
พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในอีกโองการหนึ่งเกี่ยวกับการเข้ารับอิสลามของบรรดาผู้ปฏิเสธ (กุฟฟาร) ในสนามสงครามว่า :
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا ضَرَبْتُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَتَبَيَّنُوا وَلَا تَقُولُوا لِمَنْ أَلْقَىٰ إِلَيْكُمُ السَّلَامَ لَسْتَ مُؤْمِنًا تَبْتَغُونَ عَرَضَ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا فَعِندَ اللَّهِ مَغَانِمُ كَثِيرَةٌ كَذَٰلِكَ كُنتُم مِّن قَبْلُ فَمَنَّ اللَّهُ عَلَيْكُمْ فَتَبَيَّنُوا إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِمَا تَعْمَلُونَ خَبِيرًا
“โอ้ผู้ที่ศรัทธาทั้งหลาย! เมื่อพวกเจ้าออกเดินทางไปในทางของอัลลอฮ์ ก็จงสืบให้ชัดเจนเสียก่อน และจงอย่ากล่าวแก่ผู้ที่กล่าวสลามแก่พวกเจ้าว่า “ท่านมิใช่เป็นผู้ศรัทธา” โดยที่พวกท่านมุ่งแสวงหาผลประโยชน์แห่งชีวิตทางโลกนี้ แต่ ณ ที่อัลลอฮ์นั้น มีปัจจัยอำนวยสุขอันมากมาย เช่นนั้นแหละที่พวกเจ้าเคยเป็นมาก่อน แล้วอัลลอฮ์ได้ทรงโปรดปรานแก่พวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงจำแนกให้ชัดเจนเสียก่อน (ก่อนที่จะประหารชีวิตผู้ใด) แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (7)
เกี่ยวกับสถานะและสาเหตุของการประทานโองการนี้ ได้มีรายงานว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ส่งคนกลุ่มหนึ่งภายใต้การบัญชาการของ “อุซามะฮ์ บินเซด” ออกไปทำสงคราม ชาวมุสลิมกลุ่มนี้เมื่อไปถึงยังสถานที่และเผ่า "บนีฎุมเราะฮ์" พวกเขาก็พบว่าทุกคนของเผ่านี้ได้หลบหนีไป และมีเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่เนื่องจากทรัพย์สมบัติและความร่ำรวยที่มากมายของเขา บุคคลผู้นี้เมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพของชาวมุสลิม เขาก็กล่าวปฏิญาณตนเข้ารับอิสลาม แต่อุซามะฮ์ไม่ใส่ใจต่อคำปฏิญาณตน (ชะฮาดะตัยน์) ของเขา และได้สังหารชีวิตเขา หลังจากการเดินทางกลับของกองทัพอิสลาม มุสลิมคนหนึ่งได้รายงานเหตุการณ์ต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เรียกตัวอุซามะฮ์มาพบ และตำหนิเขา พรัอมกับกล่าวว่า : “เจ้าฆ่าบุคคลที่กล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์” กระนั้นหรือ? ในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) เจ้าจะตอบอย่างไร?” หลังจากเหตุการณ์นี้เองที่พระผู้เป็นเทรงประทานโองการนี้ลงมา" (8)
ตามรูปการแล้ว เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบันนี้ คนบางกลุ่มที่อ้างตนเป็นมุสลิม อย่างเช่นกลุ่มวะฮ์ฮาบี กลุ่มดาอิช (ISIS) และกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ กำลังทำการตักฟีร (กล่าวหาชาวมุสลิมจำนวนมากว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา) โดยปราศจากเหตุผลที่ชอบธรรมและทำการละเมิดชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติของบุคคลเหล่านั้นอย่างหลับหูหลับตา ในขณะที่บุคคลทั้งหมดเหล่านั้นเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวและต่อความเป็นศาสดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ..... ในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) คนกลุ่มนี้จะตอบคำถาม ณ เบื้องหน้าการตัดสินของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยุติธรรมอย่างไร? และตามการชี้ชัดของโองการอัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตรัสว่า :
بِأَىِّ ذَنْبٍ قُتِلَتْ
"ด้วยความผิดอันใดที่เขาถูกฆ่า” (9)
แล้วคนกลุ่มนี้จะแก้ตัวให้ตนเองได้พ้นผิดอย่างไร?
เชิงอรรถ :
1)- อัลกุรอานบท อัลหุญะร๊อต โองการที่ 14
2)- ญามิอุลบะยาน , อัฎฎ็อบรี , เล่มที่ 26 , หน้าที่ 184
3)- ญามิอุลบะยาน , อัฎฎ็อบรี , เล่มที่ 26 , หน้าที่ 182
4)- ดูเพิ่มเติมจาก ตัฟซีร อัลมีซาน , อัลลามะฮ์ฎอบาฎอบาอี , เล่มที่ 18 , หน้าที่ 329
5)- ตัฟซีร อัลกัชชาฟ , ซะมัคชะรี , เล่มที่ 3 , หน้าที่ 569
6)- อัลญามิอ์ ลิอะห์กามิลกุรอาน , กุรฎุบี , เล่มที่ 16 , หน้าที่ 348
7)- อัลกุรอานบท อันนิซาอ์ โองการที่ 94
8)- อัดดุรรุลมันซูร , ซะยูฏี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 200
9)- อัลกุรอานบท อัตตักวีร โองการที่ 9
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่