กุญแจไขความสำเร็จและความโชคดี จากคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน
Powered by OrdaSoft!
กุญแจไขความสำเร็จและความโชคดี จากคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน

"โองการจำนวนมากของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้อธิบายถึงคุณลักษณะพิเศษของผู้ที่บรรลุความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ไว้ สำหรับผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ที่แท้จริงในชีวิตของตนนั้น จำเป็นที่จะต้องนำเอาคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานเหล่านี้มาเป็นบรรทัดฐานและเทียบเคียงเข้ากับตัวเอง เพื่อจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเอง อันจะทำให้ตัวเรากลายเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่บรรลุสู่ความสำเร็จและความรอดพ้นได้ตามที่ตนเองปรารถนา ซึ่งในที่นี้เราจะขอชี้ถึงบางส่วนของโองการเหล่านี้"

การอิบาดะฮ์และการนมาซด้วยความนอบน้อมถ่อมตน

     ในตรรกะของคัมภีร์อัลกุรอาน การดำเนินชีวิตในโลกนี้ ใครก็ตามที่สามารถทำอิบาดะฮ์ (นมัสการ) และเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงทรงสูงส่งด้วยความนบนอบ เขาคือผู้ประสบความสำเร็จแล้วในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า บางคนแม้ในชีวิตเขาจะไม่ละทิ้งการนมาซและการอิบาดะฮ์ แต่การนมาซและการอิบาดะฮ์ของเขาขาดคุณลักษณะของความนบนอบ การมีจิตมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าและความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงต่อพระองค์ ซึ่งทำให้การนมาซและการอิบาดะฮ์นั้นไม่ส่งผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขา คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะประการหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่ประสบความสำเร็จ คือความนอบน้อมในการนมาซ โดยกล่าวว่า

 قَدْ اَفْلَحَ الْمُؤْمِنُونَ الَّذِینَ هُمْ فِی صَلاتِهِمْ خاشِعُونَ

“แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว คือบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในการนมาซของพวกเขา” (1)

      คำว่า "คอชิอูน" มาจากคำว่า "คุชูอ์" หมายถึง สภาพของความนอบน้อมถ่อมตน ความมีจิตมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าและการรักษามารยาททั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

การหลีกห่างจากสิ่งไร้สาระ

     คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 وَ الَّذينَ هُمْ عَنِ اللَّغْوِ مُعْرِضُونَ

“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้ออกห่างจากเรื่องไร้สาระทั้งหลาย” (2)

หนึ่งในอุปสรรคกีดขวางการพัฒนาการสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) การบรรลุสู่ความสำเร็จและความรอดพ้นของมนุษย์ คือการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งต้องห้ามและเรื่องไร้สาระต่างๆ ใครก็ตามที่ในชีวิตของเขาไม่สามารถแยกระหว่างการกระทำที่ดีงามและการกระทำที่ไร้สาระ และนำตัวเองออกห่างจากสิ่งไร้สาระและไม่ก่อประโยชน์แก่ชีวิตของตนเองได้แล้ว เขาก็ไม่อาจนำพาตนเองให้บรรลุสู่ความสำเร็จและการพัฒนาตนไปสู่ความสมบูรณ์ทางด้านจิตวิญญาณได้ คำว่าสิ่งไร้สาระนั้น ไม่ใช่แค่เพียงคำพูดและการกระทำที่ไร้สาระและไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์เพียงเท่านั้น ทว่าแม้แต่ความคิดที่ไร้สาระและไร้แก่นสารที่ทำให้มนุษย์หมกมุ่นจนหลงลืมจากการรำลึกถึงพระเจ้าและการคิดใคร่ครวญในสิ่งที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งหมดล้วนอยู่ในความหมายของคำว่า “ลัฆว์” (สิ่งไร้สาระ) ทั้งสิ้น

     การจ่ายซะกาตและการจัดสรรทรัพย์สินบางส่วนในทางของอัลลอฮ์ คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าว่า

 وَ الَّذينَ هُمْ لِلزَّكاةِ فاعِلُونَ

“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้บริจาคซะกาต” (3)

     ในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน ใครก็ตามที่ในชีวิตของเขาได้จัดสรรส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของเขาให้เป็นทานซะกาตและเป็นปัจจัยในการช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ยากของบรรดาผู้ที่ยากจนขัดสนในสังคม เขาจะเข้าอยู่ในหมู่ผู้ที่ประสบความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ การรักนวลสงวนตัวและการรักษาพรหมจารี

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จและเป็นผู้โชคดีในทัศนะของคำภีร์อัลกุรอานนั่นคือ การรักนวลสงวนตัวและการหลีกเลี่ยงจากการละเมิดประเวณี พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสในเรื่องนี้ว่า

 وَالَّذينَ هُمْ لِفُرُوجِهِمْ حافِظُونَ

“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาอวัยวะพึงสงวนของพวกเขา” (4)

การระวังรักษาตักวา (ความยำเกรงพระเจ้าและความสำรวมตนจากความชั่ว)

     การระวังรักษาตักวา หมายถึง การที่มนุษย์ผู้มีตักวาจะมีคุณลักษณะหนึ่งหรือสภาพหนึ่งเกิดขึ้นในตัวเขา ซึ่งจะช่วยยับยั้งเขาจากการทำความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า และจะช่วยส่งเสริมเขาสู่การเชื่อฟังและการปฏิบัติตนเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์ แน่นอน สภาพดังกล่าวนั้นต้องอาศัยการฝึกฝนและการข่มใจตัวเอง พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสถึงคุณลักษณะของการมีตักวาและผลบั้นปลายของมันว่า

 اتَّقُوا اللَّهَ يا أُولِي الْأَلْبابِ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ

“จงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด โอ้ปวงผู้มีสติปัญญาเอ๋ย! เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ" (5)

การสำนึกผิดและการหวนกลับสู่พระผู้เป็นเจ้า

    บางครั้งการดำเนินชีวิตโดยปราศจากความผิดบาปนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็นเข็ญใจยิ่ง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของปวงศาสดา (อ.) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) แต่กระนั้นก็ตาม หากผู้ใดที่การดำเนินชีวิตทางโลกนี้ของเขาได้พลั้งพลาดและกระทำในสิ่งที่เป็นความผิดบาป เขาจะต้องไม่สิ้นหวังจากความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากความสิ้นหวังดังกล่าวนั้นคือบาปที่ร้ายแรงที่สุด

 إِنَّهُ لَا يَيْأَسُ مِن رَّوْحِ اللَّهِ إِلَّا الْقَوْمُ الْكَافِرُونَ

“แท้จริงจะไม่สิ้นหวังจากความเมตตาของอัลลอฮ์ นอกจากหมู่ชนผู้ปฏิเสธ” (6)

    และในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน บุคคลที่สำนึกผิด ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองและหวนกลับมาสู่พระผู้เป็นเจ้า เขาคือผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง

 وتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَميعاً أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُون

“และพวกเจ้าจงกลับเนื้อกลับตัวมาสู่อัลลอฮ์โดยพร้อมเพียงกันเถิด โอ้ปวงผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ประสบความสำเร็จ” (7)

เดือนรอมฎอนเดือนแห่งการเตาบะฮ์

    ท่านอายะตุลลอฮ์อะลีคอเมเนอี ได้กล่าวในสุนทโรวาทของท่านในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า : เดือนรอมฎอน ถูกเรียกว่า "มุบาร็อก" (เดือนอันจำเริญ) เหตุผลของความจำเริญของเดือนนี้ เนื่องจากมันคือทางรอดพ้นจากไฟนรกและหนทางแห่งความสำเร็จในการเข้าสู่สวรรค์ ซึ่งในบทดุอาอ์ประจำวันของเดือนรอมฎอนได้กล่าวว่า

 وَ هذا شَهرُ العِتقِ مِنَ النّارِ وَ الفَوزِ بِالجَنَّة

"และเดือนนี้คือเดือนของการปลดปล่อยจากไฟนรก และความสำเร็จในการได้รับสวรรค์" (8)

    และท่านยังได้ชี้ถึงการใช้โอกาสจากเดือนอันจำเริญนี้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง และการเตาบะฮ์ (การสารภาพผิดและการกลับเนื้อกลับตัว) พร้อมกันนั้น ท่านกล่าวว่า : ในดุอาอ์อีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า

 وَ هذا شَهرُ اِلانابَةِ وَ هذا شَهرُ التَّوبَة

“เดือนนี้คือเดือนแห่งการหวนกลับ และเดือนนี้คือเดือนแห่งการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์)”

(อิกบาลุลอะอ์มาล เล่มที่ 1 หน้าที่ 25)

    ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เดือนรอมฎอนในปีนี้จะเป็นเดือนแห่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองของพวกเราทุกคน เป็นเดือนแห่งการย้อนกลับสู่พระผู้เป็นเจ้า และเป็นเดือนที่เราจะบรรลุสู่ความเป็นบ่าวของพระองค์ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตทางด้านจิตวิญญาณและปรโลก


แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 1 -2

(2) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 3

(3) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 4

(4) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 5

(5) อัลกุรอานอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 100

(6) อัลกุรอานบทยูซุฟ โองการที่ 87

(7) อัลกุรอานบทอันนูร โองการที่ 31

(8) อิกบาลุลอะอ์มาล เล่มที่ 1 หน้าที่ 90

(9) อิกบาลุลอะอ์มาล เล่มที่ 1 หน้าที่ 25


ที่มา : ส่วนหนึ่งจากคุฏบะฮ์นมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

เรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 852 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24778844
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
28752
52431
206226
24215661
1044509
1618812
24778844

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 16:28:40