สองหลักประกันจากความเมตตาของพระเจ้า
ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงรางวัลและของขวัญต่างๆ ของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีตักวา (ความยำเกรง) ที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาของความศรัทธา (อีหม่าน) ที่ลึกซึ้งและความยำเกรง (ตักวา) ตัวอย่างหนึ่งจากโองการเหล่านั้น พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :
یا أَیُّهَا الَّذِینَ آمَنُوا اتَّقُوا اللّهَ وَ آمِنُوا بِرَسُولِهِ یُؤْتِکُمْ کِفْلَیْنِ مِنْ رَحْمَتِهِ وَ یَجْعَلْ لَکُمْ نُوراً تَمْشُونَ بِهِ وَ یَغْفِرْ لَکُمْ وَ اللّهُ غَفُورٌ رَحِیمٌ
“โอ้บรรดผู้ศรัทธาเอ๋ย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และจงศรัทธาต่อศาสนทูตของพระองค์เถิด แล้วพระองค์จะทรงประทานโชคผลสองประการจากความเมตตาของพระองค์ให้แก่พวกเจ้า และจะทรงบันดาลแสงสว่างแก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ก้าวเดินไปด้วยกับมัน และจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยอย่างมากมาย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (1)
ผู้ที่จะได้รับสองหลักประกันจากความเมตตาของพระเจ้า
ในโองการข้างต้น พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสต่อบรรดาผู้ศรัทธาทุกคนที่ทางภายนอกได้ยอมรับคำประกาศเชิญชวนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความศรัทธาที่มั่นคง (อีหม่าน รอซิก) ความศรัทธาที่ที่จะทำให้ก้นบึ้ง (ด้านใน) ของหัวใจของพวกเขาสว่างไสวและปรากฏให้เห็นในการกระทำ (อะอ์มาล) ต่างๆ ของพวกเขา
คำว่า “กิฟลุน” (کِفْل) หมายถึง โชคผลหรือสิ่งที่จะได้รับซึ่งจะช่วยขจัดความต้องการของมนุษย์ และด้วยเหตุนี้เองเรียกผู้ค้ำประกันว่า "กะฟีล" (کفیل) ซึ่งช่วยจัดการกับปัญหาของคู่สัญญาหรือคู่กรณีและจะทำให้ผลประโยชน์ได้เกิดขึ้นแก่เขา
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของคำว่า “โชคผลสองประการ” (کِفْلَیْنِ) ในที่นี้ ก็คือสองความดีงาม (ฮะซะนะฮ์) ที่ปรากฏอยู่ในโองการที่ 201 ของซูเราะฮ์ (บท) อัลบะกอเราะฮ์นั่นเองที่กล่าวว่า :
رَبَّنا آتِنا فِی الدُّنْیا حَسَنَةً وَ فِی الآخِرَةِ حَسَنَةً
“โอ้พระผู้อภิบาลของเรา! โปรดประทานความดีงามในโลกนี้ และความดีงามในปรโลกให้แก่พวกเราด้วยเถิด” (2)
ผลรางวัลของผู้ศรัทธาที่มีตักวา
เกี่ยวกับผลรางวัลที่สองของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีความยำเกรง (ตักวา) ตามโองการข้างต้นที่กล่าวว่า : “และจะทรงบันดาลแสงสว่างแก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ก้าวเดินไปด้วยกับมัน” (وَ یَجْعَلْ لَکُمْ نُوراً تَمْشُونَ بِهِ) นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานบางคนได้กล่าวว่า : "จุดประสงค์ก็คือ" แสงแห่งศรัทธา" (นูรุลอีมาน) ที่มันจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของผู้ศรัทธาและทางด้านขวาของพวกเขาในวันกิยามะฮ์ และจะทำให้เขาฝ่าความมืดในทุ่งมะห์ชัรไปได้โดยอาศัยมัน และพวกเขาจะมุ่งหน้าไปสู่สวรรค์และความผาสุกอันเป็นนิรันดร์ ดังที่โองการที่ 12 ของซูเราะฮ์เดียวกันนี้ได้กล่าวว่า :
يَوْمَ تَرَى الْمُؤْمِنِينَ وَالْمُؤْمِنَاتِ يَسْعَىٰ نُورُهُم بَيْنَ أَيْدِيهِمْ وَبِأَيْمَانِهِم بُشْرَاكُمُ الْيَوْمَ جَنَّاتٌ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا ۚ ذَٰلِكَ هُوَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ
“วันที่เจ้าจะเห็นบรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง ที่แสงสว่าง (นูร) ของพวกเขาจะฉายแสง ณ เบื้องหน้าของพวกเขา และ ทางเบื้องขวาของพวกเขา (จะมีเสียงกล่าวว่า) วันนี้มีข่าวดีแก่พวกเจ้า คือสวนสวรรค์หลากหลายที่มีธารน้ำหลายสายไหลผ่าน ณ เบื้องล่างของมัน โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นคือชัยชนะ อันยิ่งใหญ่” (3)
ในขณะที่นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานอีกบางคนเชื่อว่า หมายถึง "แสงแห่งอัลกุรอาน" (นูรุลกุรอาน) ที่จะเกิดกับบรรดาผู้ศรัทธาในโลก ดังที่ในโองการที่ 15 ของซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์) ได้กล่าวว่า :
قَدْ جاءَکُمْ مِنَ اللّهِ نُورٌ وَ کِتابٌ مُبِینٌ
“แท้จริงแสงสว่างจากอัลลอฮ์ และคัมภีร์อันชัดแจ้งนั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว” (4)
แต่ตามรูปการภายนอกแล้ว โองการนี้มีความหมายครอบคลุม (มุฏลัก) แบบกว้าง ๆ และไม่เฉพาะเจาะจงกับโลกนี้ หรือปรโลกแต่อย่างใด และกล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือว่า ความศรัทธา (อีหม่าน) และความยำเกรง (ตักวา) จะเป็นสื่อทำให้ม่านปิดกั้นต่างๆ ถูกขจัดออกไปจากหัวใจของผู้ศรัทธา และเปิดเผยให้เห็นภาพของข้อเท็จจริงต่างๆ และผลของมันจะทำให้เขาได้รับญาณทิพย์พิเศษ โดยที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาหรือมีศรัทธาที่อ่อนแอจะไม่ได้รับมัน
และกรณีที่ว่า มีการระบุไว้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ที่ว่า : จุดประสงค์ของ "แสงสว่าง" (นูร) ในโองการข้างต้น ก็คืออิมามมะอ์ซูม (ผู้บริสุทธิ์) ที่ประชาชนจะปฏิบัติตามท่านนั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นการอธิบายถ฿งหนึ่งจากบรรดาตัวอย่าง (มิศดาก) ของคำว่า นูร (แสงสว่ง) นั่นเอง
และรางวัลที่สามของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีความยำเกรง (ตักวา) ก็คือ การอภัยโทษความผิดบาปทั้งหลาย (وَ یَغْفِرْ لَکُمْ) “และพระองค์จะทรงอภัยโทษแก่พวกเจ้า” เนื่องจากว่าหากปราศจากการอภัยโทษดังกล่าวนี้แล้ว จะไม่มีผลรางวัลใดๆ หวานชื่นสำหรับมนุษย์ ประการแรก จำเป็นต้องปลอดภัยจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า และหลังจากนั้นด้วยแสงสว่างแห่งความศรัทธา (นูรอีหม่าน) และความยำเกรง (ตักวา) ค้นพบหนทางของตน และในที่สุดก็จะบรรลุสู่ความเมตตาที่ทวีคูณจากพระผู้เป็นเจ้า
ความสัมพันธ์ตักวา (ความยำเกรง) และญาณทิพย์ (ความเข้าใจที่ถ่องแท้)
คัมภีร์อัลกุรอานได้พูดถึงผลต่างๆ ที่มากมายสำหรับตักวา (ความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า) การขจัดม่านปิดกั้นต่างๆ ออกจากความและหัวใจของมนุษย์
ความสัมพันธ์ระหว่าง "ตักวา (ความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า)" และ "การมีญาณทิพย์" (การหยั่งรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) นั้นได้ถูกกล่าวถึงในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ตัวอย่างเช่น ในโองการที่ 29 ของซูเราะฮ์อัลอันฟาล ได้กล่าวว่า :
یا أَیُّهَا الَّذِینَ آمَنُوا إِنْ تَتَّقُوا اللّهَ یَجْعَلْ لَکُمْ فُرْقاناً
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! หากพวกเจ้ายำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงประทานเครืองจำแนก (ระหว่างความจริงและความเท็จ) แก่พวกเจ้า” (5)
และในโองการที่ 282 ของซูเราะฮ์ (บท) อัลบากอเราะฮ์ ได้กล่าวว่า :
وَ اتَّقُوا اللّهَ وَ یُعَلِّمُکُمُ اللّهُ
“และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์ แล้วพระองค์สอนให้พวกเจ้ารู้” (6)
และโองการที่เรากำลังพูดถึงข้างต้นได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า :
وَ یَجْعَلْ لَکُمْ نُوراً تَمْشُونَ بِهِ
“และจะทรงบันดาลแสงสว่าง (นูร) แก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ก้าวเดินไปด้วยกับมัน”
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองนอกเหนือไปจากมิติต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณที่บางครั้งอาจจะไม่เป็นที่รับรู้ได้สำหรับเรา ในแง่ของการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางปัญญาก็สามารถเข้าใจและยอมรับได้ เนื่องจากว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของการรับรู้และความเข้าใจ (มะอ์ริฟะฮ์) และม่านปิดกั้นที่สำคัญที่สุดต่อหัวใจของมนุษย์นั้น คืออารมณ์ใฝ่ต่ำ กิเลสตัณหาความเพ้อฝันที่ยาวไกล
การตกเป็นทาสของวัตถุและความเย้ายวนใจของโลกแห่งวัตถุ ซึ่งจะไม่ปล่อยให้มนุษย์รับรู้และตัดสินใดๆ ได้อย่างถูกต้องและมองเห็นสัจธรรมความเป็นจริงในรูปลักษณ์ที่มันควรจะเป็น แต่ภายใต้แสงแห่งศรัทธา (อีหม่าน) และความยำเกรงพระเจ้า (ตักวา) ฝุ่นควันเหล่านี้จะลดตัวลง เมฆหมอกและความมืดมนที่ปลกคลุมท้องฟ้าแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์ก็จะหายไป แสงอาทิตย์แห่งสัจธรรมและข้อเท็จจริงก็จะสาดส่องเข้าสู่หัวใจของคนเรา และเขาจะเข้าใจข้อเท็จจริงต่างๆ ตามที่มันเป็น และมันจะเป็นความสุขและความหวานชื่นที่ไม่อาจสาธยายได้ของการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องและลึกซึ่งที่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จะได้รับและจะเปิดทางเบื้องหน้าให้แก่เขาเพื่อที่จะย่างก้าวไปสู่เป้าหมายอันศักดิ์สิทธิ์
ใช่แล้ว! ตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) จะให้การรู้แจ้งและญาณทิพย์แก่มนุษย์ เช่นเดียวกับที่การรู้แจ้งและการหยั่งรู้นั้นก็จะทำให้มนุษย์เกิดตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) กล่าวคือทั้งสองจะมีผลสนองและปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน ด้วยเหตุนี้เองในฮะดีษ (วจนะบทหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :
لَوْ لا أَنَّ الشَّیاطِینَ یَحُومُونَ عَلى قُلُوبِ بَنِى آدَمَ لَنَظَرُوا إِلى مَلَکُوتِ السَّمواتِ
“หากบรรดามาร (ชัยฏอน) ไม่ว่ายวนอยู่รอบจิตใจของลูกหลานอาดัมแล้ว แน่นอนยิ่งพวกเขาจะได้มองไปที่อาณาจักรแห่งชั้นฟ้าทั้งหลาย" (7)
เพื่อที่จะเข้าใจคำพูดนี้ได้ดียิ่งขึ้น เราจะมาพิจารณาคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่กล่าวว่า :
لا دِینَ مَعَ هَوى لاعَقْلَ مَعَ هَوى مَنِ اتَّبَعَ هَوَاهُ أَعْمَاهُ وَ أَصَمَّهُ وَ أَزَلَّهُ وَ أَضَلَّهُ
“ศาสนาไม่อาจอยู่ร่วมกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ สติปัญญาไม่อาจอยู่ร่วมกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจะทำให้เขามืดบอด ทำให้เขาเป็นใบ้ และจะทำให้เขาผิดพลาดและหลงทาง” (8)
เชิงอรรถ:
1.อัลกุรอานบทอัลหะดีด โองการที่ 28
2.อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 201
3.อัลกุรอานบทอัลหะดีด โองการที่ 12
4.อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 15
5.อัลกุรอานบทอัลอันฟาล โองการที่ 9
6.อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 28
7.ญามิอุซซะอาดาต , มุลลา นะรอกี , เล่ม 1 , หน้า 18
8.ตัฟซีรนะมูเนะฮ์ , มะการิม ชีราซี, เล่ม 7, หน้า 140
ที่มา : คุฏบะฮ์นมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)
เรียงเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ