พฤติกรรมบางอย่างในชีวิตทางโลกนี้ที่เป็นสาเหตุแห่งความตกต่ำของมนุษย์ และความหมายของความตกต่ำนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงความตกต่ำทางจิตวิญญาณ
ในโองการต่างๆ ของคำภีร์อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) มากมาย ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับความตกต่ำ (ซุกูฏ) ของมนุษย์ : จุดประสงค์ของความตกต่ำของมนุษย์ในที่นี้ ก็คือสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า ในที่นี้ เราจะชี้ถึงปัจจัยบางประการ
ในโอวาท (เมาอิเศาะฮ์) บทหนึ่งของท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ท่านกล่าวว่า :
مَنِ اِسْتَطَاعَ أَنْ يَمْنَعَ نَفْسَهُ مِنْ أَرْبَعَةِ أَشْيَاءَ فَهُوَ خَلِيقٌ بِأَنْ لاَ يَنْزِلَ بِهِ مَكْرُوهٌ أَبَداً قِيلَ وَ مَا هُنَّ قَالَ اَلْعَجَلَةُ وَ اَللَّجَاجَةُ وَ اَلْعُجْبُ وَ اَلتَّوَانِي
"ผู้ใดก็ตามที่สามารถหักห้ามตนเองจากลักษณะนิสัย 4 ประการได้ ย่อมคู่ควรต่อเขาที่สิ่งอันไม่พึงประสงค์ใดๆ จะไม่มาประสบแก่เขาตลอดไป" มีผู้ถามว่า : "สิ่งเหล่านั้น คืออะไรกระนั้นหรือ?" ท่านตอบว่า : "ความรีบร้อน ความดันทุรัง ความหลตนเอง และความเฉื่อยชา" (1)
1.ความรีบร้อน (اَلْعَجَلَةُ) คือการรีบด่วนในการตัดสินใจหรือทำการใดๆ โดยปราศจากการคิดใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ
ในบางหะดีษ (วจนะ) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เตือนถึงผลร้ายของรีบร้อนและความพลีพลามไว้ว่า :
إِيَّاكَ وَ العَجَلَ فَأِنّه مَقرُونٌ بِالعِثار
"จงระวังจากความรีบร้อน เพราะแท้จริงมันอยู่คู่กับความพลั้งพลาด" (2)
2. ความดันทุรัง (اَللَّجَاجَةُ) ความดื้อรั้นและการยืนกรานในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างหนึ่งและจะนำความหายนะที่ร้ายแรงมาสู่ผู้ที่มีลักษณะนิสัยเช่นนี้
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงผลของความดันทุรังและการยืนกรานในสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่า :
إيّاكَ وَاللَّجاجَةِ فَإنَّ أوَّلَها جَهْلٌ وَآخِرَها نَدامَةٌ
"จงระวังความดันทุรัง เพราะแท้จริงเริ่มต้นของมันคือความโง่เขลา และจุดสุดท้ายของมันคือความสำนึกเสียใจ" (3)
มนุษย์ส่วนใหญ่ที่พลาดโอกาสจากความดีงามและการชี้นำทางของปวงศาสดา (อ.) ก็เกิดจากลักษณะนิสัยดังกล่าว คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
وَإِذَا قِيلَ لَهُمْ تَعَالَوْاْ إِلَىٰ مَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ وَإِلَى ٱلرَّسُولِ قَالُواْ حَسْبُنَا مَا وَجَدْنَا عَلَيْهِ ءَابَآءَنَآ ۚ أَوَلَوْ كَانَ ءَابَآؤُهُمْ لَا يَعْلَمُونَ شَيْـًۭٔا وَلَا يَهْتَدُونَ
"และเมื่อมีผู้กล่าวกับพวกเขาว่า ท่านทั้งหลายจงมาสู่สิ่งที่อัลลอฮ์ ได้ทรงประทานลงมา และมาสู่ศาสนทูตเถิด พวกเขาก็กล่าวว่า เพียงพอแก่เราแล้ว สิ่งที่เราได้พบบรรพบุรุษของเราดำรงตนอยู่บนสิ่งนั้น ถึงแม้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาไม่เข้าใจสิ่งใด และไม่ได้รับการชี้นำกระนั้นหรือ?" (4)
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องราวของศาสดานูห์ (อ.) อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
قَالَ رَبِّ إِنِّى دَعَوْتُ قَوْمِى لَيْلًۭا وَنَهَارًۭا فَلَمْ يَزِدْهُمْ دُعَآءِىٓ إِلَّا فِرَارًۭا وَإِنِّى كُلَّمَا دَعَوْتُهُمْ لِتَغْفِرَ لَهُمْ جَعَلُوٓاْ أَصَٰبِعَهُمْ فِىٓ ءَاذَانِهِمْ وَٱسْتَغْشَوْاْ ثِيَابَهُمْ وَأَصَرُّواْ وَٱسْتَكْبَرُواْ ٱسْتِكْبَارًۭا
"เขา (นุห์) กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ได้เรียกร้องเชิญชวนหมู่ชนของข้าพระองค์ทั้งกลางคืนและกลางวัน แต่การเรียกร้องเชิญชวนของข้าพระองค์มิได้เพิ่มพูนสิ่งใดแก่พวกเขานอกจากการหลบหนี และแท้จริงทุกครั้งที่ข้าพระองค์เรียกร้องเชิญชวนพวกเขาเพื่อที่พระองค์จะได้ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา พวกเขาก็เอานิ้วมืออุดหูของพวกเขา และเอาเสื้อผ้าของพวกเขาคลุมโปง และพวกเขายังคงดื้อรั้น และยโสโอหังอย่างยิ่ง" (5)
3. ความหลงตนเอง (اَلْعُجْبُ) คือการที่บุคคลไม่เห็นข้อบกพร่องและจุดอ่อนของตน และถือว่าความดีของตนยิ่งใหญ่และดีที่สุดแล้ว และมองเห็นตัวเองว่าเหนือกว่าบุคคลอื่นๆ
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงความหลงตนเองว่า :
العُجبُ رَأسُ الجَهلِ
"ความหลงตนเองคือจุดสูงสุดของความโง่เขลา" (6)
الإِعجابُ يَمنَعُ من الازدِيادِ
"ความหลงตนเองจะหักห้ามจากการเพิ่มพูน" (7)
4. ความเฉื่อยชา (اَلتَّوَانِي) ความเกียจคร้าน การผัดวันประกันพรุ่งและความล่าช้า
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
مَن أطاعَ التَّوانِيَ ضَيَّعَ الحُقوقَ
"ผู้ใดที่ปฏิบัติตามความเกียจคร้าน เขาได้ทำลายสิทธิทั้งหลาย (ที่เขาพึงจะได้รับ)" (8)
เชิงอรรถ :
1. ตุหะฟุลอุกูล, หน้า 222
2. ฆุรอรุลหิกัม, เล่ม 2
3. มุสตัดร็อก ซะฟีนะตุลบิฮาร، เล่ม 9 ، หน้า 228
4. อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 104
5. อัลกุรอานบทนูห์ โองการที่ 5-7
6. มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่ม 3, หน้า 1815
7. นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลิมาตุลกิศอร, หน้า 167
8. นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 239
ที่มา : เนื้อหาโดยสรุปจากคุฏบะฮ์แรกของนมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)
เรียงเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ