หากผู้ปกครองปล่อยให้ลูกมีความกล้าหาญหรือเป็นอิสระมากเกินไป ปัญหานี้อาจส่งผลเสียต่อความสามารถของเขาในการยอมรับความรับผิดชอบและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ดังนั้น อิมาม ฮะซัน อัสการี (อ.) จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของขอบเขตและวินัยในการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) เด็ก ...
การอบรมขัดเกลาเด็กและเยาวชนเป็นหนึ่งในข้อกังวลหลักของผู้ปกครองเนื่องจากช่วงเวลาเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการก่อรูปของลักษณะนิสัย พฤติกรรมและค่านิยมของตัวเด็กในอนาคต พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอรูปแบบพฤติกรรม อารมณ์ และสังคมให้กับลูกๆ ของพวกเขา และการขาดความสนใจหรือความผิดพลาดใดๆ ในกระบวนการนี้อาจส่งผลระยะยาวและบางครั้งไม่เยียวยาแก้ไขได้ต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองควรระมัดระวังและใส่ใจต่อความต้องการด้านจิตใจและอารมณ์ของเด็ก กำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้แนวคิดต่างๆ เช่น ความรับผิดชอบ วินัย และความเคารพ นอกเหนือจากการได้รับความรักใคร่
ในช่วงวัยรุ่น ความสำคัญของประเด็นนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากวัยรุ่นที่เมื่อถึงวัยของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและการชี้นำที่เพิ่มมากขึ้น ช่วงชีวิตที่ละเอียดอ่อนนี้จำเป็นที่พ่อแม่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีสติ เพื่อให้วัยรุ่นสามารถค้นพบตัวตนของตนเองและเข้าใจคุณค่าทางศีลธรรมและสังคม การอบรมขัดเกลาที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้สามารถช่วยสร้างบุคลิกภาพที่แข็งแกร่งและสมดุลที่ทนทานต่อความท้าทายในชีวิต ดังนั้น การร่วมทางอย่างมีความเข้าใจของบิดามารดาและการชี้แนะอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวัยรุ่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งของความสำเร็จทางการอบรมขัดเกลา
ในครอบครัวที่เด็กได้รับการสอนถึงวิธีปฏิสัมพันธ์อย่างมีจริยธรรมในลักษณะที่ความเคารพให้เกียรติเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมของเขา เด็กเช่นนี้จะเป็นผลผลิตที่ดีสำหรับพ่อแม่ของเขาอย่างแน่นอนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และพ่อแม่ของเขาก็จะได้รับประโยชน์จากความดีของเขา ในหลุมศพ (อาลัม บัรซัค) และในปรโลก เนื่องจากเด็กที่เป็นคนดีนั้นจะเป็น "อัลบากียาต อัซซอลิฮาต" (ความดีทั้งหลายที่จีรังยั่งยืน) ที่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่ของเขา ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องสอนให้เด็กเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันตั้งแต่แรก ไม่ใช่ทำให้เขาอวดกล้า ท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) กล่าวในริวายะฮ์หนึ่งว่า :
جُرأَةُ الْوَلَدِ عَلى والِدِهِ فى صِغَرِهِ تَـدْعُو إلَى العُـقُوقِ فى کِـبَرِهِ
“ความอวดกล้าของลูกต่อผู้ให้กำเนิดของตนในวัยเด็กจะนำไปสู่การเนรคุณในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่" (1)
ในคำพูดประโยคนี้ ท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาระหว่างพฤติกรรมของเด็กในช่วงอายุยังน้อยกับผลลัพธ์ของมันในวัยผู้ใหญ่ ท่านได้ชี้ถึงหลักการอบรมขัดเกลาที่สำคัญประการหนึ่งโดยกล่าวว่า "การที่เด็กอวดกล้าต่อพ่อในวัยเด็กจะนำไปสู่การไม่เชื่อฟังในวัยผู้ใหญ่" จากมุมมองทางจิตวิทยา เด็กที่อวดกล้าเกินขอบเขตและประพฤติตัวไม่เชื่อฟังในการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่นั้น อาจประสบกับปัญหาต่างๆ ในการเคารพพ่อแม่และผู้อื่นในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุผลของการขาดวินัยและขอบเขตที่ถูกต้อง
ในแง่ของจิตวิทยาพัฒนาการ วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่ค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมต่างๆ จะก่อรูปขึ้น หากในช่วงวัยนี้เด็กไม่เรียนรู้ที่จะระวังรักษาขอบเขตที่เหมาะสมและเคารพให้เกียรติต่อพ่อแม่ของตน เขาอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ซ้ำในชีวิตในช่วงวัยผู้ใหญ่ของเขา การขาดการกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมในวัยเด็กหมายถึงการไม่คำนึงถึงหลักการของวินัยและความสงบเรียบร้อยในบ้าน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสริมสร้างพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การไม่เชื่อฟังและการไม่ยอมรับความรับผิดชอบ
ปัญหานี้ยังย้อนกลับไปที่ประเด็น "การปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก" อีกด้วย เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะทางสังคมและอารมณ์จากผู้ปกครอง หากพ่อแม่ปล่อยให้เด็กกล้าแสดงออกหรือเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป สิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อความสามารถของเขาในการยอมรับความรับผิดชอบและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เมื่อเวลาผ่านไป เด็กเช่นนี้อาจมีปัญหาในการจัดการความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากขาดโครงสร้างการอบรมขัดเกลาที่เหมาะสม
จากมุมมองของจิตวิทยา กุญแจสำคัญประการหนึ่งในการอบรมขัดเกลาที่ถูกต้อง คือความสมดุลระหว่างความรักและวินัย เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรักเพียงอย่างเดียวและปราศจากการระวังรักษาขอบเขตทางการอบรมขัดเกลานั้น อาจรู้สึกว่าเขาสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่มีผลกระทบ ความรู้สึกขาดความรับผิดชอบและการขาดความสนใจต่อสิทธิของผู้อื่นสามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ความอกตัญญูและการไม่เชื่อฟังพ่อแม่ในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้น ท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดขอบเขตและวินัยในการอบรมเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเคารพและความรับผิดชอบ และกลายเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบและน่านับถือในอนาคต
เชิงอรรถ :
1. มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่ม 4, หน้า 3678
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่