แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในความขาดทุน จากอัลกุรอานบทอัลอัศริ์ โองการที่ 2 เราสามารถรับรู้ได้ว่า ตลอดเวลามนุษย์อยู่ในการขาดทุน โดยธรรมชาติในตัวของมนุษย์นั้นมีต้นทุนอย่างหนึ่งที่กำลังดำเนินไปสู่การสิ้นสลาย เนื่องจากว่าต้นทุนของมนุษย์นั้นคืออายุขัยของเขาที่ไม่สามารถจะพิทักษ์รักษามันเอาไว้ได้…
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า
قال الکاظم(علیه السلام): «أما اِنَّ أَبْدانَکُمْ لَیْسَ لَها ثَمَنٌ اِلاّ الجَنَّةَ، فَلا تَبیعوها بِغَیْرِها
“พึงรู้เถิดว่า เรือนร่างของพวกท่านนั้นไม่มีราคาใดๆ (ที่คู่ควร) สำหรับมัน นอกเสียจากสวนสวรรค์ ดังนั้นจงอย่าขายมันด้วยกับสิ่งอื่นนอกจากสวรรค์” (1)
ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี อิบนุอะบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวไว้ในสำนวนคำพูดที่คล้ายกันนี้ว่า
أَلا حُرٌّ یَدَعُ هذِهِ اللُّمَاظَةَ لاَهْلِها؟ اِنَّهُ لَیْسَ لاَنْفُسِکُمْ ثَمَنٌ اِلاّ الْجَنَّةَ، فَلا تَبیعُوها اِلاّ بِها
“ไม่มีอิสระชนคนใดเลยกระนั้นหรือที่จะละทิ้งเศษอาหาร (ความลุ่มหลงในวัตถุทางโลก) นี้ แท้จริงไม่มีราคาใดสำหรับชีวิตขอพวกท่านนอกจากสวรรค์ ดังนั้นจงอย่าขายมัน นอกจากด้วยกับสวรรค์เท่านั้น” (2)
จากบทอัลอัศริ์ เราสามารถรับรู้ได้ว่า ตลอดเวลามนุษย์อยู่ในการขาดทุน โดยธรรมชาติในตัวของมนุษย์นั้นมีต้นทุนอย่างหนึ่งที่กำลังดำเนินไปสู่การสิ้นสลาย
«إِنَّ الاِنسَانَ لَفِى خُسْر»
(แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในความขาดทุน) (อัลกุรอานบทอัลอัศริ์ โองการที่ 2)
เนื่องจากว่าต้นทุนของมนุษย์นั้นคืออายุขัยของเขาที่ไม่สามารถจะพิทักษ์รักษามันเอาไว้ได้ มันจะค่อยๆ สิ้นสลายลงไป และทุกลมหายใจของมนุษย์คือการย่างก้าวไปสู่ความตาย
«نَفَسُ الْمَرْءِ خُطَاهُ الى أَجَلِهِ»
“ลมหายใจของคนเรานั้น คือย่างก้าวไปสู่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเขา” (3)
ดังนั้น อายุขัย คือ ต้นทุนที่กำลังดำเนินไปสู่การสิ้นสลาย และมนุษย์นั้นอยู่ในสภาพของความขาดทุน ต้นทุนดังกล่าวนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากต้นทุนของนักลงทุนผู้หนึ่งคือทองคำ มันจะคงสภาพอยู่ได้ แต่ถ้าหากมันเป็นแอปเปิล จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เพราะมิเช่นนั้นแล้วมันจะพบกับความเสียหาย แล้วอายุขัยของคนเราซึ่งเป็นต้นทุนที่กำลังดำเนินไปสู่การสิ้นสลายลงไปนั้น ควรจะเปลี่ยนเป็นสิ่งใด เพื่อจะได้ไม่ขาดทุน? แต่ละคนจะแลกเปลี่ยนต้นทุนแห่งอายุขัยของเขาด้วยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางคนแลกเปลี่ยนมันด้วยกับอารมณ์ใคร่ ความปรารถนาและความสุขต่างๆ ทางโลก บางคนแลกเปลี่ยนมันด้วยกับการรวบรวมสะสมความมั่งคั่งและบางคนก็แลกเปลี่ยนมันด้วยกับการแสวงหาตำแหน่งชื่อเสียง
ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน มนุษย์ทั้งหมดอยู่ในความขาดทุน และผู้ที่จะได้รับผลกำไรนั้นมีเพียงผลที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงเท่านั้น
إِلاَّ الَّذِینَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ
“นอกจากบรรดาผู้ที่ศรัทธาและประพฤติแต่ความดี และพวกเขาตักเตือนกันด้วยสัจธรรม และตักเตือนกันด้วยขันติธรรม”
(อัลกุรอานบทอัลอัศริ์ โองการที่ 2-5)
โองการนี้ชี้ให้เห็นถึงหลักการสำคัญสี่ประการสำหรับความรอดพ้นจากความขาดทุน
หลักการแรก คือ : ประเด็นของความศรัทธา (อีหม่าน) ซึ่งกล่าวไว้ในลักษณะครอบคลุมทั่วไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงสิ่งที่เป็นที่เคารพนับถือทั้งหมด
หลักการที่สอง : การกระทำที่ดีงาม (อะมั้ลซอและห์) ซึ่งเป็นผลของความศรัทธา ด้วยเหตุนี้เอง โดยทั่วไปแล้วในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน คำว่า “อีหม่าน” (ความศรัทธา) มักจะมาเคียงคู่กับ “อะมั้ลซอและห์” (การกระทำที่ดีงาม) ในฐานะที่เป็น “สิ่งจำเป็นที่เกี่ยวข้องต่อกันและกัน”
مَنْ عَمِلَ صَالِحاً مِّنْ ذَکَر أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْیِیَنَّهُ حَیَاةً طَیِّبَةً
“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นแน่นอนยิ่งเราจะให้เขามีชีวิตที่ดีงามยิ่ง” (4)
หลักการที่สาม : การกำชับแนะนำซึ่งกันและกันไปสู่สัจธรรมและความจริง เพื่อที่ทุกคนจะได้แยกแยะความจริงออกจากความเท็จได้เป็นอย่างดี
หลักการที่สี่ : ความอดทนและการยืนหยัด และการกำชับซึ่งกันและกันในสิ่งดังกล่าว
ในฮะดีษที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ได้กล่าวว่า : ท่านทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ร่างกายและการดำรงอยู่ของพวกท่านนั้นไม่มีราคาใดที่ควรคู่นอกจากสวรรค์ ถ้าหากพวกท่านขายมันด้วยกับสิ่งอื่นนอกจากสวรรค์ พวกท่านได้ขาดทุนแล้ว สรวงสวรรค์นี้ไม่ใช่เพียงเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ทางด้านวัตถุเท่านั้น ทว่ามันคือความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและความพึงพอพระทัยของพระองค์ ดังที่คัมภีร์อัล กุรอานได้กล่าวว่า
یَا أَیَّتُهَا النَّفْسُ الْمُطْمَئِنَّةُ * ارْجِعِيْ إِلَى رَبِّكِ رَاضِیَةً مَّرْضِیَّةً * فَادْخُلِيْ فِيْ عِبَادِيْ * وَادْخُلِيْ جَنَّتِيْ
“โอ้ชีวิตที่สงบมั่นเอ๋ย จงกลับคืนสู่พระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยความยินดีอีกทั้งได้รับความพึงพอพระทัย (จากอัลลอฮ์) เถิด แล้วจงเข้ามาอยู่ในหมู่ปวงบ่าวของข้าเถิด และจงเข้ามาอยู่ในสวรรค์ของข้าเถิด” (5)
ท่านมัรฮูมนะรอกี กล่าวว่า : คนเจ้าเล่ห์ผู้หนึ่งได้เข้ามาในร้านขายของชำแห่งหนึ่งและกล่าวว่า “ถั่ววอลนัทเมล็ดละเท่าไร” เจ้าของร้านกล่าวว่า “สิบเหรียญ” เขากล่าวอีกว่า “ถ้าหนึ่งร้อยเมล็ดราคาเท่าไร” ผู้ขายกล่าวว่า “หนึ่งเหรียญ” เขาถามอีกว่า “ถ้าหนึ่งเมล็ดจะเป็นราคาเท่าไร” ผู้ขายกล่าวว่า “เมล็ดเดียวไม่มีราคา (ตีราคาไม่ได้)” ชายเจ้าเล่ห์ผู้นั้นจึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นฉันเอาเมล็ดเดียว” เขาหยิบถั่วหนึ่งเมล็ดแล้วก็เดินออกไป เขาได้กลับมาใหม่อีกครั้งและกล่าวว่า “คุณบอกว่าเมล็ดเดียวไม่มีราคาใช่ไหม ฉันจะเอาอีกเมล็ดหนึ่ง” คนขายก็ยื่นให้เขาอีกเมล็ดหนึ่ง แล้วเขาก็เดินออกไป และเขาก็กลับมาใหม่เป็นครั้งที่สามและครั้งที่สี่ และขอถั่ววอลนัทครั้งละหนึ่งเมล็ด ในที่สุดเจ้าของร้านได้จับคอเสื้อเขาและกล่าวว่า “เจ้าต้องการจะเอาต้นทุนของฉันไปจากฉันจนหมดสิ้นเลยหรือ เพียงข้ออ้างที่ว่าแต่ละเมล็ดของมันไม่มีค่าใดๆ”
หลังจากที่ท่านมัรฮูมนะรอกี ได้ยกเรื่องเล่านี้แล้ว ท่านกล่าวว่า “ชัยฏอน (มารร้าย) จะทำเช่นเดียวกันนี้กับอายุขัยของมนุษย์ ตลอดอายุขัยนั้นมีระยะเวลาที่ยาวนาน แต่แค่เพียงชั่วโมงเดียวนั้นไม่มีความสำคัญอะไรมากนัก แล้วชั่วโมงต่างๆ ก็ค่อยๆ ถูกทำลายไปจากมนุษย์ มันได้ทำลายวันนี้และพรุ่งนี้ไปจากเรา จนกระทั่งช่วงเวลาหนึ่งพลันเราก็จะพบว่า เราได้สูญเสียอายุขัยทั้งหมดของเราไปเสียแล้ว”
ความโชคดีเป็นของผู้ที่เขาได้รู้ถึงคุณค่าของอายุขัยของตนเองก่อนที่จะสูญเสียมันไป ทั้งนี้เนื่องจากว่าผู้ที่ขาดทุนโดยแท้จริงนั้น คือผู้ที่สูญเสียอายุขัยของตนเองไปอย่างไร้ค่า
แหล่งอ้างอิง :
[1] ตุฮะฟุลอุกูล หน้าที่ 410
[2] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ กะลิมาตุ้ลกิศ็อรที่ 456
[3] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ กะลิมาตุ้ลกิศ็อรที่ 74
[4] อัลกุรอานบท อันนะฮ์ลุ โองการที่ 97
[5] อัลกุรอานบท อัลฟัจรุ์ โองการที่ 27-30
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ