คำว่า “มะอาด” ในภาษาอาหรับมี3ความหมายคือ “การกลับคืน” (ความหมายตามรากศัพท์) “สถานที่กลับ” และ “เวลากลับ”
ในเนื้อหาที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้คือความหมายแรก และจุดประสงค์ของคำว่า “มะอาด” (การกลับ) ในที่นี้คือ การกลับคืนสู่ชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งของมนุษย์หลังจากความตาย เพื่อที่จะรับผลตอบแทนรางวัลหรือโทษทัณฑ์ของการกระทำต่างๆ ที่เขาได้กระทำไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ (ดุนยา)
ความเชื่อในเรื่องของ “มะอาด” และการกลับคืนสู่ชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งของมนุษย์ทุกคนในปรโลก ถือเป็นหลักศรัทธาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของศาสนาทั้งมวลที่มีแหล่งที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า บรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าต่างได้เน้นย้ำอย่างมากถึงหลักการศรัทธาข้อนี้ และถือว่าการปฏิเสธมันเท่ากับเป็นการปฏิเสธศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าเลยทีเดียว
คัมภีร์อัลกุรอานไม่เพียงแต่จะถือว่า “มะอาด” (การกลับคืนสู่ชีวิตใหม่) เป็นเรื่องที่เป็นไปได้เพียงเท่านั้น ทว่ายังได้แจ้งข่าวถึงการจะบังเกิดขึ้นของมันไว้ด้วยความหนักแน่นและชัดเจน และถือว่ามันคือพันธสัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่อาจละเมิดเป็นอย่างอื่นได้ และในคัมภีร์อัลกุรอานก็ได้กล่าวถึงความเชื่อในเรื่องของ “มะอาด” (การกลับคืนสู่ชีวิตใหม่ในโลกหน้า) และ “อัดล์” (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า) ไว้ ซึ่งถูกนับว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น (ฎ้อรูเราะฮ์) ในระดับเดียวกับความเชื่อมั่นต่อการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะ โองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานจำนวนมากกว่า 20 โองการ ได้กล่าวถึงคำว่า “อัลลอฮ์” พร้อมกับคำว่า “วัลเยามุลอาคิร” (วันแห่งปรโลก) นอกเหนือจากนั้นเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับโลกหน้า (อาคิเราะฮ์) โดยตรง ยังมีมากกว่าสองพันโองการ
ความเชื่อมั่นในเรื่องของ “มะอาด” วางอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับและการมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ (รูห์) ซึ่งถือเป็นแก่นแท้ (มาฮียะฮ์) ของมนุษย์ทุกคน และเป็นสิ่งที่จะยังคงดำรงอยู่ภายหลังจากความตาย (รายละเอียดและการพิสูจน์ในเรื่องของวิญญาณนั้นจำเป็นต้องกล่าวถึงในเนื้อหาอันเฉพาะ) อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ถึงความจำเป็นของการมี “มะอาด” (การกลับคืนสู่ชีวิตใหม่ในโลกหน้า) สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานและข้อพิสูจน์ต่างๆ หลายประการ ทั้งที่เป็นข้อพิสูจน์ในเชิงสติปัญญา และที่เป็นหลักฐานในเชิงตัวบทอ้างอิง
ในเนื้อหาของบทความนี้ เราจะขอนำเสนอข้อพิสูจน์ทางด้านสติปัญญาเพียงสองประการ พร้อมกับการอ้างอิงหลักฐานจากตัวบทของคัมภีร์อัลกุรอานประกอบในส่วนท้าย เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาอันจำกัดของบทความนี้
ข้อพิสูจน์ถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของ “มะอาด”
ข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “ฮิกมะฮ์” (วิทยปัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้า) : ในการอธิบายข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “ฮิกมะฮ์” สามารถนำเสนอในรูปของข้อสมมุติฐานได้ดังต่อไปนี้
ประการแรก :
พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงวิทยปัญญายิ่ง (อัลฮะกีม) กล่าวคือ การกระทำต่างๆ อันเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่ก่อประโยชน์นั้น ย่อมจะไม่บังเกิดขึ้นจากพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงไว้ซึ่งความความสมบูรณ์ ไร้ซึ่งความต้องการใดๆ ทั้งปวง (อัลฆ่อนี) และไม่มีเป้าหมายใดๆ ในการกระทำของพระองค์ที่จะย้อนกลับไปสู่ “ซาต” (ตัวตน) ของพระองค์ แต่กระนั้นก็ตาม การกระทำ (เฟี๊ยะอ์ลุน) ของพระองค์ เป็นสิ่งที่เปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาและเป็นสิ่งที่มีเป้าหมาย ทว่าเป้าหมายของการกระทำของพระองค์นั้น คือการทำให้สรรพสิ่งถูกสร้างที่ดำรงอยู่ทั้งมวลดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ (กะม้าล) ที่แท้จริงของมนุษย์
ประการที่สอง :
การสร้างมนุษย์ คือการกระทำอย่างหนึ่งจากบรรดาการกระทำ (อัฟอาล) ของพระผู้เป็นเจ้า และอยู่บนพื้นฐานของวิทยปัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้า (ฮิกมะฮ์) ดังนั้นการสร้างมนุษย์ถือเป็นการกระทำที่มีเป้าหมายต่างๆ อันเป็นการเฉพาะ
ประการที่สาม :
เป้าหมายสูงสุดของการสร้างมนุษย์ก็คือ เพื่อให้เขาได้ไปถึงซึ่งความสมบูรณ์ (กะม้าล) อันเป็นนิจนิรันดร์ และการบรรลุสู่ความเป็นจริงของเป้าหมายดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอันเป็นนิรันดร์แห่งปรโลก ทั้งนี้เนื่องจากการพิจารณาถึงความซับซ้อน ความยิ่งใหญ่แห่งการดำรงอยู่ของเขา และความพร้อมความสามารถต่างๆ อันทรงคุณค่าของเขา หากการดำเนินชีวิตอยู่ของมนุษย์ถูกจำกัดอยู่ในชีวิตเพียงไม่กี่วันของโลกดุนยา (โลกนี้) และด้วยกับความตายทำให้ชีวิตของเขาจบสิ้นลงโดยปราศจากการเคลื่อนย้ายไปสู่ปรโลกอันเป็นนิรันดรแล้ว ถือว่าการสร้างมนุษย์ขึ้นมาย่อมจะกลายเป็นเรื่องไร้สาระและไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่า มนุษย์มีองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งที่นอกเหนือไปจากร่างกายที่เป็นวัตถุ ซึ่งนั้นก็คือวิญญาณ (รูห์) ที่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ และสามารถที่จะกลายเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ อย่างเป็นนิรันดร์ได้ และในอีกมุมหนึ่ง สัญชาตญาณทางธรรมชาติประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบรรจงสร้างไว้ในตัวมนุษย์ นั่นก็คือความรักและความมุ่งมาตรปรารถนาที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ ฉะนั้นการมีอยู่ของสองสิ่งนี้ (คือวิญญาณที่พร้อมจะดำรงอยู่ตลอดไป และความปรารถนาที่จะดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์) จะสอดคล้องกับวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) แห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้าได้ก็ต่อเมื่อ จะต้องมีการดำรงชีวิตใหม่ในโลกอื่นที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าเขาอีก ที่นอกเหนือไปจากการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ที่ปิดฉากลงด้วยกับความตายของเขา
ดังนั้นจากสมมุติฐานดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า จำเป็นจะต้องมีการดำรงชีวิตใหม่สำหรับมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังการดำรงชีวิตที่มีขอบเขตจำกัดแห่งโลกนี้ (ดุนยา) เพื่อจะได้ไม่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อฮิกมะฮ์ (ความมีวิทยปัญญา) แห่งพระผู้เป็นเจ้า
ข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “อะดาละฮ์” (ความยุติธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้า) : เกี่ยวกับข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “อะดาละฮ์” สามารถอธิบายได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้
ประการแรก :
พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม (อาดิล) กล่าวคือ การกระทำที่เป็นความอธรรมและการกดขี่ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นจากพระองค์ได้เลย
ประการที่สอง :
ความยุติธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้าเป็นตัวกำหนดว่า บรรดาผู้ประพฤติดีและบรรดาผู้ที่ประพฤติชั่วแต่ละคน จะต้องได้รับผลรางวัลตอบแทนและโทษทัณฑ์ตามความเหมาะสมของตนเอง
ประการที่สาม :
ในโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคนมีอิสรเสรีในการเลือกและการปฏิบัติการงานต่างๆ ทั้งที่ดีงามและเลวร้าย ในด้านหนึ่งนั้นเราจะพบเห็นบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตของตนเองไปในการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และรับใช้บริการปวงบ่าวของพระองค์ และในอีกด้านหนึ่ง เราจะพบเห็นคนชั่วจำนวนไม่น้อย เพื่อสนองตอบอารมณ์ใคร่แห่งมารร้ายต่างๆ ของตนเอง พวกเขาได้ยื่นมือเข้าสู่ความอธรรมต่างๆ ที่เลวร้ายที่สุด และกระทำความชั่วต่างๆ ที่เลวร้ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะได้พบเห็นในโลกนี้ที่บรรดาผู้ประพฤติดีและบรรดาผู้ประพฤติชั่ว กลับมิได้รับรางวัลตอบแทนและโทษทัณฑ์ที่คู่ควรต่อการกระทำต่างๆ ของพวกเขา ผู้ประพฤติดีจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความคับแค้นและความยากลำบากนานัปการ
ในทางกลับกันเราจะพบเห็นว่าบรรดาผู้ปฏิเสธ คนชั่วและผู้อธรรมจำนวนไม่น้อย กลับมีชีวิตอยู่ด้วยความมั่งคั่ง สุขสบาย และได้รับปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะอ์มัต) ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตทางดุนยา (โลกนี้) อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยพื้นฐานแล้วการดำเนินชีวิตทางโลกนี้ (ดุนยา) ไม่อาจสนองตอบรางวัลหรือโทษทัณฑ์ของการกระทำต่างๆ ของมนุษย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ได้สังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนนับพันคน แต่เราก็ไม่สามารถลงโทษเขาด้วยการฆ่าให้ตายตกไปตามกัน (กิซ๊อซ) ได้มากไปกว่าหนึ่งครั้ง โดยที่อาชญากรรมอื่นๆ ของเขายังคงติดค้างอยู่โดยยังมิได้รับการลงโทษทัณฑ์ ในขณะที่บนพื้นฐานของความยุติธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้า ทุกๆ คนที่กระทำความดีหรือความชั่ว แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด ก็สมควรที่เขาจะต้องได้รับผลของมันอย่างครบถ้วน
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อหลักความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า จำเป็นจะต้องมีอีกโลกหนึ่งเพื่อที่จะทำให้ผู้ที่กระทำความดีและผู้ที่กระทำความชั่วทั้งมวลได้รับผลรางวัลและโทษทัณฑ์จากการกระทำต่างๆ ของตนเองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และนั่นก็คือโลกหน้า (อาคิเราะฮ์)
หลักฐานบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของ “มะอาด” ในคัมภีร์อัลกุรอาน
โองการอัลกุรอานจำนวนมากได้จุดประกายในการพิสูจน์หาเหตุผลทางสติปัญญา ถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของ “มะอาด” และสามารถที่จะกล่าวได้ว่าโองการเหล่านั้นให้ความสำคัญต่อข้อพิสูจน์สองประการข้างต้น (คือข้อพิสูจน์ว่าด้วย “ฮิกมะฮ์” ของพระผู้เป็นเจ้า และข้อพิสูจน์ว่าด้วย “อะดาละฮ์” ของพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งจะขอยกตัวอย่างโองการต่างๆ ดังต่อไปนี้
อัลกุรอานโองการที่ 115 ของบทอัลมุอ์มินูน ได้นำเสนอในรูปแบบของการตั้งคำถามในเชิงปฏิเสธ (อิสติฟฮาม อัลอิสตินการี) โดยกล่าวว่า
أَفَحَسِبْتُمْ أَنَّمَا خَلَقْنَاكُمْ عَبَثًا وَأَنَّكُمْ إِلَيْنَا لَا تُرْجَعُونَ ﴿١١٥﴾
“พวกเจ้าคิดกระนั้นหรือ ว่าเราได้สร้างพวกเจ้าขึ้นมาอย่างไร้สาระ และแท้จริงพวกเจ้าจะไม่กลับคืนไปสู่เรา”
โองการอันจำเริญนี้ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า หากไม่มี “มะอาด” การกลับคืนไปสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งแล้ว การสร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลกนี้จะกลายเป็นสิ่งไร้สาระทันที แต่ทว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมีวิทยปัญญา (อัล ฮะกีม) ย่อมจะไม่กระทำสิ่งที่ไร้สาระและปราศจากเป้าหมาย ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีอีกโลกหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อมนุษย์ทั้งมวลจะได้กลับคืนไปสู่พระองค์
สิ่งที่ควรกล่าวเสริมในที่นี้ก็คือ การสร้างมนุษย์ขึ้นมาคือเป้าหมายสูงสุดสำหรับการสร้างโลกนี้ (ดุนยา) ดังนั้นหากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้เป็นสิ่งไร้สาระและปราศจากเป้าหมายที่สอดคล้องกับวิทยปัญญาแล้ว แน่นอนยิ่งการสร้างโลกนี้ก็ย่อมเป็นสิ่งไร้สาระและไร้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน และอีกประการหนึ่งที่สามารถรับรู้ได้จากโองการต่างๆ ก็คือ การมีอยู่ของโลกหน้า (อาคิเราะฮ์) นับได้ว่าเป็นตัวกำหนดถึงความมีวิทยปัญญาของการสร้างโลกนี้ และจากตัวอย่างในการพรรณนาถึงคุณลักษณะของปวงผู้มีปัญญา
อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า
الَّذِينَ يَذْكُرُونَ اللَّـهَ قِيَامًا وَقُعُودًا وَعَلَىٰ جُنُوبِهِمْ وَيَتَفَكَّرُونَ فِي خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ رَبَّنَا مَا خَلَقْتَ هَـٰذَا بَاطِلًا سُبْحَانَكَ فَقِنَا عَذَابَ النَّارِ ﴿١٩١﴾
“และ (ปวงผู้มีปัญญานั้น) พวกเขาจะพินิจพิจารณาการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน (และเมื่อนั้นพวกเขาจะกล่าวว่า) โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าฯ พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งนี้ (จักรวาล) มาโดยไร้สาระ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ โปรดทรงคุ้มครองเหล่าข้าฯ ให้พ้นจากการลงโทษของไฟนรกด้วยเถิด”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 191)
จากโองการนี้สามารถสรุปได้ว่า การคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับลักษณะและวิธีการสร้างจักรวาลนั้นจะทำให้มนุษย์ตระหนักถึงวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) แห่งพระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณ (อัลฮะกีม) ได้ทรงมองเห็นเป้าหมายอันเปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาจากการสร้างอันยิ่งใหญ่นี้ และพระองค์มิได้ทรงสร้างมันอย่างไร้สาระและปราศจากเหตุผล และหากไม่มีอีกโลกหนึ่งที่ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการสร้างจักรวาลนี้แล้ว การสร้างของพระผู้เป็นเจ้าย่อมกลับกลายเป็นสิ่งไร้สาระและไร้เป้าหมาย
โองการจากคัมภีร์อัลกุรอานอีกส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ถึงข้อพิสูจน์ทางสติปัญญา เกี่ยวกับความจำเป็นของการมี “มะอาด” ที่สอดคล้องกับข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “อะดาละฮ์” (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า) กล่าวคือ เป็นไปตามหลักความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า นั่นก็คือ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้บรรดาผู้ประพฤติดีและบรรดาผู้ประพฤติชั่ว ได้รับผลรางวัลและโทษทัณฑ์จากการกระทำต่างๆ ของตนเอง และท้ายที่สุดพระองค์จะทรงจำแนกพวกเขาเหล่านั้นออกจากกัน และเนื่องจากโลกนี้การจำแนกดังกล่าวมิได้เกิดขึ้น ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีอีกโลกหนึ่งบังเกิดขึ้น เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงสำแดงความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ของพระองค์ออกมาให้เป็นรูปธรรม
ตัวอย่างจากโองการเหล่านั้นคือ ในอัลกุรอานบทอัลญาซิยะฮ์ โองการที่ 21 และ 22 พระองค์ได้ทรงตรัสว่า
أَمْ حَسِبَ الَّذِينَ اجْتَرَحُوا السَّيِّئَاتِ أَن نَّجْعَلَهُمْ كَالَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ سَوَاءً مَّحْيَاهُمْ وَمَمَاتُهُمْ ۚ سَاءَ مَا يَحْكُمُونَ ﴿٢١﴾
“บรรดาผู้ประพฤติชั่วทั้งหลายคาดคิดหรือว่า เราจะปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนดังบรรดาผู้ศรัทธาและประพฤติแต่ความดีงาม ไม่ว่าจะในช่วงการมีชีวิตอยู่ของพวกเขาและในการตายของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาตัดสินนั้นช่างเลวร้ายยิ่งนัก"
وَخَلَقَ اللَّـهُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ بِالْحَقِّ وَلِتُجْزَىٰ كُلُّ نَفْسٍ بِمَا كَسَبَتْ وَهُمْ لَا يُظْلَمُونَ ﴿٢٢﴾
และอัลลอฮ์ได้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินขึ้นมาด้วยสัจธรรม และเพื่อทุกๆ ชีวิตจะได้รับการตอบแทนตามสิ่งที่เขาได้ขวนขวายเอาไว้ และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรมแต่อย่างใด”
ในอัลกุรอานบทอัลกอลัม โองการที่ 35 และ 36 อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า
أَفَنَجْعَلُ الْمُسْلِمِينَ كَالْمُجْرِمِينَ ﴿٣٥﴾
“ดังนั้นจะให้เราปฏิบัติต่อบรรดาผู้ยอมสวามิภักดิ์ (มุสลิมีน) เช่นเดียวกับบรรดาผู้กระทำชั่วกระนั้นหรือ"
مَا لَكُمْ كَيْفَ تَحْكُمُونَ ﴿٣٦﴾
เกิดอะไรขึ้นกับพวกเจ้า พวกเจ้าตัดสินเช่นนั้นได้อย่างไร”
บนพื้นฐานของโองการต่างๆ ข้างต้น ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน ปวงบ่าวผู้มีศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์และผู้ประพฤติดีทั้งหลายย่อมไม่เท่าเทียมกัน หรือมีสถานะเสมอเหมือนกันกับบรรดาคนบาปและผู้ประพฤติชั่ว ทว่าเป็นสิ่งที่มั่นใจได้ว่า คนกลุ่มแรกนั้นย่อมดีกว่าคนกลุ่มที่สอง และพวกเขาจะต้องได้รับตำแหน่งและความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ต่างๆ ที่สูงส่งกว่าและดีเลิศกว่าจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแน่นอน แต่ดั่งที่เราทุกคนได้ประจักษ์ดีแล้วว่า สัญญาต่างๆ แห่งคัมภีร์อั กุรอานไม่อาจเป็นจริงได้ในโลกนี้ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีอีกโลกหนึ่งหลังจากโลกนี้ และในโลกใหม่นั้นคำมั่นสัญญาต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าจะถูกทำให้บรรลุผลขึ้นจริง และผลรางวัลอันแท้จริงของบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจะถูกมอบให้ และโทษทัณฑ์อันเที่ยงแท้แน่นอนจะถูกตอบสนองแก่บรรดาคนชั่วและผู้ปฏิเสธทั้งมวล
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET-สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่