ค.ความดื้อรั้นและการตะแบง
หนึ่งในคุณลักษณะที่น่าตำหนิทางด้านจริยธรรมในความสัมพันธ์ของมนุษย์ คือความดื้อรั้นและการตะแบง ดังที่กล่าวถึงในหนังสือพจนานุกรมและคำศัพท์ว่า ความดื้อรั้น นั้นหมายถึงการยืนกรานในการขัดแย้ง และการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและถึงที่สุดของความเป็นปฏิปักษ์หรือการกระทำในสิ่งที่ถูกห้าม (12) อย่างไรก็ตามทุกประเภทของการขัดแย้งและการเป็นปฏิปักษ์นั้นไม่ใช่ความดื้อรั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่การกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นในเส้นทางที่เป็นเท็จ ไม่ถูกต้องและไม่มีตรรกะและเหตุผล พวกเขาจึงจะเรียกมันว่า ความดื้อรั้น คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า :
وَلَوْ رَحِمْنَاهُمْ وَكَشَفْنَا مَا بِهِم مِّن ضُرٍّ لَّلَجُّوا فِي طُغْيَانِهِمْ يَعْمَهُونَ
"และหากเราเมตตาพวกเขา และเราได้ปลดเปลื้องความทุกข์ยากออกจากพวกเขาแล้ว แน่นอนพวกเขาก็ยังคงดื้อรั้นอยู่ในการละเมิดของพวกเขาอย่างมืดบอด" (13)
แน่นอนยิ่งว่า ในการทำความรู้จักต่อความหมายของความดื้อรั้นในความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยานั้น การพิจารณาถึงความแตกต่างของทั้งสองเพศจะทำให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น กล่าวคือผู้หญิงและผู้ชายนั้นจะมีความแตกต่างกันในแง่ของความต้องการและการสื่อสารทางด้านคำพูดและอารมณ์และและวิธีการของการแสดงความรู้สึกทางจิตใจของตน และคำพูดและพฤติกรรมของพวกเขาไม่ใช่ว่าเป็นความดื้อรั้นและตะแบงเสมอไป ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงในการพูดนั้นจะมุ่งหาผู้สนับสนุนและผู้ยืนยัน และเมื่อพวกนางไม่เห็นการสนับสนุนและการยืนยันจากอีกฝ่ายหนึ่ง พวกนางก็จะยืนกรานหรือกล่าวซ้ำมันเพื่อว่าในที่สุดพวกนางจะพบเห็นผู้สนับสนุนสำหรับคำพูดหรือการกระทำของพวกนาง บางครั้งพฤติกรรมของแบบนี้ของผู้หญิงก็จะถูกตีความโดยผู้ชายว่าเป็นความดื้อรั้นและการตะแบง (14)
ในครอบครัว เมื่อใดก็ตามที่ความดื้อรั้นในความหมายของการยืนกรานในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและขัดแย้งกับความจริงและการดำเนินอย่างต่อเนื่องในเส้นทางของความเท็จและความไม่ถูกต้องแล้ว มันจะเป็นพื้นฐานทำให้เกิดความเสียหายและวิกฤตการณ์ที่เลวร้าย (ฟิตนะฮ์) จำนวนมากมายและดึงมนุษย์ไปสู่ความหายนะและความล้มเหลว ความดื้อรั้นและการตะแบงต่างๆ ภายในครอบครัว จะทำให้เกิดการมุ่งร้ายที่เป็นอันตรายต่อบรรดาสมาชิกของครอบครัวและจะนำไปสู่ความร้าวฉานและการล่มสลายของครอบครัว เนื่องจากคนที่ดื้อรั้นนั้นจะมีทัศนะความเห็นและความคิดที่ไม่ถูกต้อง และความดื้อรั้นและการตะแบงนั้นจะเป็นม่านปิดกั้นความคิดและทัศนะคติของเขาถึงขั้นจะแสดงออกอย่างไร้สติประหนึ่งดังคนเมา ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :
اللَّجوجُ لا رأيَ لَهُ
“คนดื้อรั้นนั้นจะไม่มีความคิด” (15)
لیس للجوج تدبیر
“คนตะแบงนั้นจะไม่มีการบริหารจัดการที่ดี” (16)
คนดื้อรั้นนั้นจะคิดว่าโลกเป็นศัตรูของตนและเชื่อมั่นว่าจะต้องเตรียมพร้อมตนตลอดเวลาสำหรับการป้องกันหรือก่อการละเมิด คนเช่นนี้ต่อหน้าคู่สมรสจะแสดงอำนาจและความเหนือกว่าคู่สมรส บางครั้งก็ใช้กำลังและบางครั้งก็แสดงความก้าวร้าว อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจของเขาคือการแสดงความเหนือกว่าผู้อื่น ในการเผชิญหน้ากับพฤติกรรมเช่นนี้ถ้าหากคู่สมรสต้องการใช้วิธีการเดียวกับเขาทีและยืนกรานความคิดเห็นของตนด้วยความดื้อรั้นและหัวแข็งแล้ว ความไม่ลงรอยกันจะเพิ่มมากขึ้น ในกรณีเช่นนี้ความยืดหยุ่น การให้อภัยและการยอมรับความผิดพลาดเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการหลีกเลี่ยงจากการกระทบกระทั่งและการสร้างความสงบสุขในความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสและผลของมันก็คือเสถียรภาพและความมั่นคงแข็งแกร่งของครอบครัว
ง.การดูถูก
การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นส่วนหนึ่งจากหลักการของความสำเร็จในชีวิตสมรส ในทางตรงกันข้ามการดูถูกคู่สมรสนั้น คือย่างก้าวแรกที่จะนำไปสู่การล่มสลายของรากฐานของครอบครัว การดูถูกผู้อื่นเป็นผลมาจากความหลงตนหรือการจินตนาการของบุคคลเกี่ยวกับบุคลิกภาพของตัวเองซึ่งประกอบไปด้วยความเชื่อของเขาเกี่ยวกับความสามารถ ความรู้สึก ความคิด ความปรารถนา การตัดสินและความพยายามต่างๆ ของเขา โดยปกติแล้ว คนที่มองไม่เห็นคุณค่าของตนเองนั้นจะมองว่าตนเองมีปมด้อย และพวกเขาจะรู้สึกตนเองต่ำต้อย ไร้ค่าและน่ารังเกียจกว่าคนอื่นๆ คนที่มองตนเองว่าสำคัญก็จะปลูกฝังความเย่อหยิ่ง ความทะนงตน ความคุยโวโอ้อวดและการหลงอำนาจในตนเอง พวกเขาจะพยายามแสดงตนว่าเหนือกว่าด้วยการทำลายเกียริของผู้อื่น ภรรยาหรือสามีที่ดูถูกคู่สมรสของตน คิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าและดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะทำลายรากฐานชีวิตคู่ด้วยมือของตัวเอง
ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ที่เกิดจากคู่สมรสที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสมควรที่จะดูถูกเขา การให้อภัยคือสิ่งจำเป็นของทุกความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนนาน คนเราจะกระทำผิดพลาดในชีวิตและการให้อภัยและการแนะนำอย่างเป็นมิตรของคู่สมรสนั้นจะเป็นพื้นฐานป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก จะเสริมสร้างความรู้สึกถึงความใกล้ชิดสนิทสนมและทำให้ชีวิตคู่เกิดความหวานชื่น อย่างไรก็ตามการให้เกียรตินั้นไม่ได้หมายถึงการซ่อนเร้นอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ อย่างเช่นความโกรธและความไม่พอใจที่มีต่อผู้อื่น ทว่าแต่ละกรณีเหล่านี้จำเป็นจะต้องอย่างมีเหตุผลและพร้อมกับการให้เกียรติ รูปแบบของการให้เกียรติที่ดีที่สุดจะถูกแสดงออกในความสามารถที่จะรับฟังและแสดงความสนใจต่อคู่สมรส และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการให้คุณค่าอย่างกระตือรือร้นและการขอบคุณที่เปี่ยมไปด้วยการให้เกียรติ
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของอิสลามได้กำชับสั่งเสียไว้อย่างมากในเรื่องของการให้เกียรติกันระหว่างสามีและภรรยา ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :"ผู้หญิงที่เคารพสามีของเธอและทำร้ายจิตใจของเขานั้น จะเป็นผู้โชคดีและประสบความสำเร็จ" (17) เช่นเดียวกันนี้ท่านยังได้พูดถึงเกี่ยวกับการให้เกียรติของสามีต่อภรรยาว่า :
من اتخّذ امرأة فلیکرمها
"ผู้ใดที่เลือกสตรีผู้หนึ่ง (มาเป็นภรรยา) ดังนั้นเขาจงให้เกียรตินาง” (18)
จ.การจับผิด
การจับผิดเป็นการกระทำที่ไม่น่าพึงประสงค์และไม่เหมาะสมซึ่งไม่มีใครจะอดทนต่อมันได้ คนจ้องจับผิดคือคนที่คอยค้นหาความบกพร่องและข้อผิดพลาดจากบุคคลอื่นๆ เพื่อที่จะเอาชนะเขาหรือเปิดเผยมันต่อผู้อื่นและประจานเขา บางครั้งการกระทำเช่นนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตคู่และระหว่างคู่สมรส ในกรณีที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดความขุ่นเคืองและความเย็นชาในความสัมพันธ์ หรือจะสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตร บางครั้งก่อนการแต่งงานคนผู้หนึ่งอาจจะวาดภาพคู่ครองที่เขาจะแต่งงานด้วยว่าเป็นผู้มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมทุกประการและสะอาดบริสุทธิ์จากข้อผิดพลาดและความไม่ดีทั้งปวงและมองว่าเขาเป็นคู่ครองที่ตนเองต้องการ แต่หลังจากการแต่งงานและการเผชิญกับความเป็นจริงต่างๆ ของการดำเนินชีวิต เนื่องจากพบว่าตัวตนที่แท้จริงของคู่สมรสไม่เป็นไปตามที่เขาคิด ก็จะเริ่มแสดงการติฉินและการจ้องจับผิด
และบางครั้งแม้แต่ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ และไม่ควรใส่ใจก็จะไม่มองข้าม พฤติกรรมเช่นนี้จะสร้างความสั่นคลอนต่อการดำเนินชีวิตคู่ เนื่องจากมันทำให้เกิดความท้อใจหรือการตอบโต้
อีกด้านหนึ่งการหลีกเลี่ยงจากการจับผิดนั้นเราจะละเลยจากข้อผิดพลาดและปัญหาต่างๆ ทางด้านพฤติกรรมโดยสิ้นเชิง สามีและภรรยาจำเป็นจะต้องท้วงติงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของกันและกันและหาทางแก้ไขปรับปรุงกันและกันด้วยความนุ่มนวล ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :
أَحَبُّ إِخْوَانِي إِلَـيَّ مَنْ أَهْدَى إِلَـيَّ عُيُوبِي
“สหายผู้เป็นที่รักยิ่งที่สุดของฉัน คือคนที่แนะนำฉันให้รู้ถึงข้อผิดพลาดต่างๆ ของฉัน” (19)
การท้วงติงในระหว่างสามีและภรรยาจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นด้วยความปรารถนาดีและในการพูดนั้นจะต้องระวังรักษามารยาทและการให้เกียรติอย่างสมบูรณ์ เพื่อที่ว่าการท้วงติงที่ดีและสร้างสรรค์นั้นจะได้ไม่เปลี่ยนเป็นการค้นหาความผิดพลาดและการเป็นปฏิปักษ์ได้
ฉ.การตำหนิประณาม
แต่เป็นที่น่าเศร้าใจที่การตำหนิประณามกลายเป็นหนึ่งในวิธีการโดยทั่วไปในการเผชิญกับความผิดพลาดต่างๆ ของผู้อื่นซึ่งหากมันได้ถูกปฏิบัติจนกลายเป็นนิสัยจะถูกนับว่าเป็นภัยร้ายของคำพูด การตำหนิผู้อื่นจนเป็นนิสัยจะทำให้การความสนใจในความเป็นจริงของชีวิตและสถานะของผู้อื่นลดลง จะสร้างพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตร ความไม่ดีงามและความผิดพลาดจำนวนมากสามารถแก้ไขได้ด้วยแนะนำตักเตือนและการใช้วาจาสุภาพโดยไม่ต้องตำหนิประณาม บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องตำหนิบุคคลหรือคู่สมรสในครอบครัว แต่ถ้ากระทำเช่นนั้นจนเกินความพอเหมาะพอควรแล้ว แทนที่จะเป็นการแก้ไขปรับปรุง จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากติดตามมา
ท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :
الْإفْراطُ فِي الْمَلامَةِ يَشُبُّ نارَ اللَّجاجَةِ
“การตำหนิจนเกินความพอดีนั้นจะก่อไฟของความดื้อรั้น” (20)
ในอีกวจนะหนึ่ง ท่านอิมามอะลี (อ.) อธิบายว่า การหลีกเลี่ยงจากการตำหนิซ้ำซากนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากหลักการสำคัญของการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) เนื่องจากจะเป็นสาเหตุทำให้มันไม่บังเกิดผลและจะทำให้บุคคลยืนกรานและดื้อดึงอยู่ในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของตน
ในอีกวจนะหนึ่ง ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :
إيّاكَ أن تُكرِّرَ العَتبَ ؛ فإنّ ذلكَ يُغري بالذَّنبِ ، و يُهَوِّنُ العَتبَ
“ท่านจงระวังการตำหนิซ้ำซาก เพราะการกระทำเช่นนั้นจะนำมาซึ่งความผิดบาปและจะทำให้การตำหนิเป็นเรื่องไม่สำคัญ” (21)
ผลลบอีกประการหนึ่งของการตำหนิที่ซ้ำซากคือการสร้างความเกลียดชังและการเป็นศัตรู ท่านอิมานอะลี (อ.) กล่าวว่า :
لا تُكثِرَنَّ العِتابَ ؛ فَإِنَّهُ يُورِثُ الضَّغينَةَ ، ويَجُرُّ إلَى البَغيضَةِ
“ท่านจงอย่าตำหนิมากอย่างเด็ดขาด เพราะมันจะก่อให้เกิดความเคืองแค้นและจะชักนำไปสู่ความเป็นศัตรู” (22)
สามีและภรรยาเพื่อที่จะปรับปรุงสายสัมพันธ์ของตนจำเป็นจะต้องรู้ว่าการตำหนิประณามนั้นจะไม่ก่อประโยชน์อะไร ในช่วงเวลาที่มีสถานการณ์ไม่ดีปรากฏขึ้น แทนการตำหนิประณามควรที่จะรับฟังคำพูดของกันและกัน และให้อภัยความผิดพลาดต่างๆ นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสองของผู้อื่น
ช.การขาดการให้อภัย
การให้อภัยและมองข้ามความผิดพลาดของคู่สมรสในการใช้ชีวิตคู่นั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความมั่นคงและการสร้างความสงบสุขในครอบครัว เนื่องจากจะทำให้ความรักและความผูกพันของคู่สมรสเพิ่มขึ้น และจะทำให้ความความขัดแย้งและการมีปากเสียงกันสิ้นสุดลง การให้อภัยเป็นเครื่องหมายของความปรารถนาและมองในแง่ดีต่อคู่สมรสและการดำเนินชีวิต ตรงกันข้ามการขาดการให้อภัยในความสัมพันธ์ทางครอบครัวจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและการมีปากเสียงกันและความขุ่นมัวในความสัมพันธ์ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำชับสั่งเสียไว้ในอัลกุรอานว่า ให้มองข้ามความผิดพลาดของผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นให้อภัยต่อความผิดพลาดของพวกเขา :
وَ لْیَعْفُوا وَ لْیَصفَحُوا أَ لا تحِبُّونَ أَن یَغْفِرَ اللَّهُ لَکمْ وَ اللَّهُ غَفُورٌ رَّحِیمٌ
“และพวกเขาจงอภัยและยกโทษ (ให้แก่พวกเขาเถิด) พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮ์จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นคือผู้ทรงให้อภัยยิ่ง ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (23)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของบรรดามะอ์ซูม (อ.) ก็ได้กำชับสั่งเสียคู่สมรสเช่นกันว่าให้อภัยความผิดพลาดต่อกัน ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ถือว่าการให้อภัยข้อผิดพลาดของคู่สมรสเป็นหนึ่งในสิทธิของเขา
وَ أَمَّا حَقُّ الزَّوْجَةِ فَأَنْ تَعْلَمَ أَنَّ اللَّهَ عَزَّ وَ جَلَّ جَعَلَهَا لَكَ سَكَناً وَ أُنْساً ،... وَ إِذَا جَهِلَتْ عَفَوْتَ عَنْهَا
“สำหรับสิทธิของภรรยานั้น คือการที่ท่านจะรู้ว่าแท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรได้ทรงทำให้นางเป็นแหล่งแห่งความสงบสุขและความสงบมั่น .... และหากนางกระทำผิดด้วยความไม่รู้ ก็จงให้อภัยนางเถิด” (24)
การกระทำดังกล่าวก็จะพบเห็นได้เป็นอย่างดีในจริยวัตรของบรรดาอิมาม (อ.) ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :
کانت امرأة عند أبی (علیه السلام) تؤذیه فیغفر لها
"บิดาของฉันมีภรรยาคนหนึ่งที่มักจะทำผิดต่อท่านเสมอ แต่ท่านก็จะให้อภัยนาง” (25)
ในการดำเนินชีวิตครอบครัว การมีจิตวิญญาณในการให้อภัยความผิดพลาดของผู้อื่นและการไม่ถือโทษพวกเขานั้นเป็นตัวอย่าง ของจริยธรรมอันดีงามและความมีจิตวิญญาณที่สูงส่ง ตลอดจนเป็นหนึ่งในมารยาทของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากน้อยคนนักที่สิทธิใดๆ ของเขาจะไม่ถูกละเมิดและผู้อื่นจะไม่ทำลายเกียรติของเขา เงื่อนไขของความมั่นคงยั่งยืนของชีวิตคู่คือการให้อภัยและการไม่ถือโทษ เนื่องจากหากคู่สมรสจะเอาสิทธิส่วนบุคคลของตนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่มองข้ามจากความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของผู้อื่นเลยนั้น การดำเนินชีวิตจะเป็นเรื่องที่ขมขื่นอย่างมาก และจิตวิญญาณของความบริสุทธิ์ใจและความจริงใจต่อกันก็จะสิ้นสุดลง การให้อภัยจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย กล่าวคือคู่สมรสก็จะไม่ถือโทษและให้อภัยในความผิดพลาดต่างๆ ด้วย เนื่องจากในช่วงเวลาที่บุคคลผู้หนึ่งได้กระทำในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดและบกพร่อง ก็จะคาดหวังให้คนรอบข้างให้อภัย คนที่คาดหวังให้คนอื่นอภัยในความผิดพลาดของตนนั้น เขาเองก็จะต้องให้อภัยและมองข้ามในความผิดพลาดของพวกเขาด้วย เพื่อที่พวกเขาจะได้ให้อภัยตน
อีกด้านหนึ่ง หากใครก็ตามตอบโต้ความไม่ดีงามต่างๆ ของสมาชิกครอบครัวด้วยสิ่งที่ไม่ดีและการแก้แค้น ด้วยวิธีการเช่นนี้ เขาจะก่อให้เกิดความเกลียดชังและความเป็นปรปักษ์ขึ้นกับพวกเขา แต่ถ้าหากปฏิบัติตอบความไม่ดีงามด้วยกับความดีงามและความนุ่มนวล ด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความสำนึกผิดและเห็นพร้องกับตนด้วยความเข้าใจ และจะเปลี่ยนความเกลียดชังของเขาให้กลายเป็นมิตรภาพ ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า :
وَلا تَسْتَوِي الْحَسَنَةُ وَلا السَّيِّئَةُ ادْفَعْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ فَإِذَا الَّذِي بَيْنَكَ وَبَيْنَهُ عَدَاوَةٌ كَأَنَّهُ وَلِيٌّ حَمِيمٌ
“และความดีงามและความเลวร้ายนั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน เจ้าจงปัดป้อง (ความเลวร้าย) ด้วยสิ่งที่ดีกว่า แล้วเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้าและระหว่างเขาเคยเป็นศัตรูกันก็จะกลับกลายเป็นประหนึ่งมิตรที่สนิทกัน” (26)
ซ.ขาดความหึงหวงและความหึงหวงที่ไม่เหมาะสม
ในตัวบทต่างๆ ทางศาสนาทางศาสนา ความหึงหวงเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่น่าสรรเสริญที่สุดของมนุษย์ และได้รับการยกย่องจากบรรดาอิมาม ท่านอิมามอะลี (อ.) ถือว่าความหึงหวงนี้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาของเขา (27) การแสดงความหึงหวงของผู้ชายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมสังคมและการปกป้องครอบครัว ด้วยการมีอยู่ของมันจะทำให้บรรดาสตรีปลอดภัยจากสายตาของพวกมักมากในกามของสังคม และจะไม่ปรากฏตัวในสถานที่ที่กลัวว่าจะไม่มีความปลอดภัยและมีอันตราย ด้วยการขาดคุณสมบัติดังกล่าวนี้ในตัวผู้ชายทั้งหลาย การดูแลและการควบคุมที่ถูกต้องต่อการไปมาและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของสตรีก็จะไม่เกิดขึ้น
มีรายงานว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับชาวอิรักผู้หนึ่งว่า :
یا أَهْلَ الْعِرَاقِ نُبِّئْتُ أَنَّ نِسَاءَكُمْ يُوَافِينَ الرِّجَالَ فِي الطَّرِيقِ أَ مَا تَسْتَحْيُونَ و قال لَعَنَ اللَّهُ مَنْ لا يَغَارُ
“โอ้ชาวอิรักเอ๋ย! ฉันได้ข่าวมาว่า บรรดาภรรยาของพวกท่านไปหา (พูดคุยกับ) บรรดาผู้ชายตามท้องถนน พวกท่านไม่ละอายใจหรือกระไร?” และท่านกล่าวว่า : “ขออัลลอฮ์ทรงสาปแช่งบุคคลที่ไม่ทีความหึงหวง” (28)
พร้อมกับการยกย่องสรรเสริญความหึงหวงของบรรดาผู้ชายนั้น ระหว่างความหึงหวงที่ดีงามและความหึงหวงที่ไม่ถูกไม่ควร (ความหึงหวงผิดที่) ก็มีความแตกต่างกัน ความหึงหวง การปกป้องและการควบคุมสตรีจะต้องไม่นำไปสู่การแสดงออกต่างๆ ที่รุนแรงเลยเถิดและเป็นสาเหตุในการทำร้ายและการกดขี่ข่มเหงสตรีอย่างเด็ดขาด ตัวอย่างเช่น การที่สามีจะไม่อนุญาตให้ภรรยาของเขาเดินทางไปไหนมาไหนกับเครือญาติของตนแม้แต่คนที่ไว้วางใจได้ และจะห้ามภรรยาไม่ให้คบหาสมาคม ผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติและเข้าร่วมในการเป็นแขกรับเชิญอย่างไร้เหตุผลเพียงเพราะสาเหตุของการมองในแง่ร้าย บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เองในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ จึงได้แยกแยะไว้อย่างชัดเจนระหว่างความหึงหวงที่ดีงามและความหึงหวงที่ไม่ถูกไม่ควร และพร้อมกับการตำหนิประณามกรณีที่สอง ยังได้เตือนถึงผลกระทบทางลบต่างๆ ในทางจิตวิทยาของมันที่จะเกิดกับครอบครัว ในจดหมายของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่ส่งถึงท่านอิมามฮะซัน (อ.) กล่าวว่า :
إيّاكَ و التَّغايُرَ في غيرِ مَوضِعِ الغَيرَةِ، فإنَّ ذلكَ يَدعُو الصَّحيحَةَ مِنهُنَّ إلَى السَّقَمِ
“เจ้าจงระวังการแสดงความหึงหวงที่ไม่ใช่ที่ เพราะสิ่งนั้นจะชักนำผู้หญิงที่เป็นคนดีไปสู่ความป่วยไข้ ...” (29)
การหึงหวงที่ไม่เหมาะไม่ควรนั้นจะเป็นสาเหตุของการปิดกั้นและกลายเป็นข้อจำกัดต่อสตรีจนเกิดความพอดีในสังคมและในสภาพแวดล้อมของครอบครัว และบางทีข้อจำกัดนี้จะเป็นสาเหตุนำไปสู่การทำลายขอบเขตต่างๆ และความพยายามที่จะเป็นอิสระจากกรอบนี้ โดยที่ด้วยกับมุมมองเฉพาะของผู้ชายจะดึงไปสู่ความขัดแย้งและการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ฌ.การไม่รักนวลสงวนตัว
การรักนวลสงวนตัวและความบริสุทธิ์เป็นหนึ่งในคุณลักษณะแห่งความสมบูรณ์ที่โดดเด่นที่สุดของมนุษย์และมีคุณค่าสูงสุด โดยที่ในคำสอนของศาสนาของเรา โดยเฉพาะในคัมภีร์อัลกุรอานได้เน้นย้ำเรื่องนี้ไว้อย่างมาก คัมภีร์อัลกุรอานถือว่าพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงและคุณลักษณะที่โดดเด่นประการหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธาคือการรักนวลสงวนตัวและการรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ โดยกล่าวว่า :
وَالَّذِينَ هُمْ لِفُرُوجِهِمْ حَافِظُونَ إِلَّا عَلَى أَزْوَاجِهِمْ أوْ مَا مَلَكَتْ أَيْمَانُهُمْ فَإِنَّهُمْ غَيْرُ مَلُومِينَ
“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาอวัยวะพึงสงวนของพวกเขา (ให้อยู่ในความบริสุทธิ์) เว้นแต่แก่บรรดาคู่ครองของพวกเขา หรือที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง (คือทาสี) ในกรณีเช่นนั้นพวกเขาจะไม่ถูกตำหนิ” (30)
แม้ในสังคมปัจจุบัน จะคาดหวังคุณลักษณะนี้ (ความรักนวลสงวนตัว) จากบรรดาผู้หญิง แต่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ด้วยมุมมองที่กว้างกว่าถือว่า ความรักนวลสงวนตัวและการรักษาความบริสุทธิ์นั้นคือหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายทั้งสามีและภรรยาและเป็นอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ที่ดีเลิศที่สุด ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้กำชับสั่งเสียภรรยาและสามีว่า จงช่วยเหลือกันในการรักษาความบริสุทธิ์ (พรหมจรรย์) ด้วยการเสริมแต่งตัวเองแก่กันและกัน ความรักนวลสงวนตัวและความสะอาดบริสุทธิ์นั้นจะก่อให้เกิดผลดีต่างๆ อย่างเช่น การป้องกันคู่ครองของตนเองจากคนชั่ว การเสริมสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของครอบครัว การดึงดูดความไว้วางใจของคู่ชีวิตและอื่นๆ การขาดความรักนวลสงวนตัวและการรักษาความบริสุทธิ์นั้นจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายขึ้นในครอบครัวได้เช่นกัน ในมุมมองของอิสลาม ขอบเขตของการแสวงหาความสุขทางเพศ คือการใช้ประโยชน์จากคู่ครองตามกฎหมาย (ศาสนบัญญัติ) และการออกนอกขอบเขตนี้ถือเป็นการละเมิด ความรักนวลสงวนตัวและการรักษาความบริสุทธิ์นั้นไม่เพียงแต่ในมุมมองของศาสนาเท่านั้น ทว่าในมุมมองของมนุษย์เพื่อความมั่นคงยั่งยืนของชีวิตสมรสนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สามีและภรรยาด้วยการระวังรักษาตักวา (ความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า) และความรักนวลสงวนตัวจะช่วยปกป้องคู่ครองของตนจากเภทภัยต่างๆ และจะช่วยปกปิดข้อบกพร่องของกันและกัน
สถิติต่างๆ ที่ชัดเจนและเป็นเอกสารอ้างอิงแสดงให้เห็นว่า ด้วยกับการเพิ่มขึ้นของการเปลือยกายในโลก ปัญหาการหย่าร้างและการแตกร้าวของชีวิตสมรสก็เพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ ตามมา ในสภาพแวดล้อมที่ความรักนวลสงวนตัวและการรักษากฎเกณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าในความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงปลกคลุมอยู่ คู่สมรสก็จะมีความผูกพันต่อกัน และความรู้สึก ความรักและอารมณ์ของพวกเขาก็จะมีต่อกัน แต่ในตลาดเสรีของการเปลือยกายที่ผู้หญิงได้กลายเป็นสินค้าร่วม (แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเพศ) ความศักดิ์สิทธิ์ของพันธะสัญญาของการสมรสจะไม่มีความหมายอีกต่อไป ครอบครัวต่างๆ จะล่มสลายอย่างรวดเร็วเหมือกับใยแมงมุม และเด็กๆ จะขาดผู้ให้การอบรมเลี้ยงดู เนื่องจากสามีภรรยาออกจากขอบเขตของความสัมพันธ์ทางเพศที่ชอบด้วยกฎหมาย และจะก่อให้เกิดความร้าวฉานต่อความรักและความผูกพันที่มีต่อกัน และเป็นพื้นฐานนำไปสู่การทรยศและความปรารถนาที่เลยเถิดของอีกฝ่ายหนึ่ง
ญ.การติดยาเสพติด
การติดยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคมที่อาจกล่าวได้ว่าความเสียหายต่างๆ ของมันอันเนื่องมาจากความกว้างขวางและการครอบคลุมของมันนั้น ไม่มีสิ่งใดสามารถที่จะเปรียบเทียบกับมันได้ ในมุมมองทางด้านสังคมวิทยาให้ความสำคัญอย่างมากต่อผลกระทบต่างๆ ที่ร้ายแรงของการติดยาเสพติด โดยที่ผลพวงอันเลวร้ายของมันจะเกิดขึ้นกับผู้ติดยาเสพติดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่าคู่สมรส ลูกๆ ครอบครัว มิตรสหาย เพื่อนร่วมงานและสังคมทั้งหมดจะตกเป็นเป้าของผลกระทบต่างๆ ที่ร้ายแรงของมันด้วยเช่นกัน
การวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่าครอบครัวของบรรดาผู้ติดยาเสพติดจะมีความแตกต่างอย่างมากกับครอบครัวปกติโดยที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อหรือแม่ที่ติดยาเสพติดกับลูกๆ และความสัมพันธ์ทางสังคมของครอบครัวนี้ รวมทั้งหน้าที่ทางด้านต่างๆ ของครอบครัว อย่างเช่น การมีเพศสัมพันธ์ หน้าที่ทางเศรษฐกิจ การศึกษาและอื่น ๆ จะเกิดความบกพร่อง แต่ละกรณีเหล่านี้จะเป็นบ่อเกิดของปัญหามากมายสำหรับครอบครัว สถิติร้อยละ 34 ของการหย่าร้างเกิดจากการติดยาเสพติดและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ชี้ให้เห็นได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ (31)
การติดยาเสพติดของผู้ชายจะก่อให้เกิดความบกพร่องในบทบาทและหน้าที่ต่างๆ ทางครอบครัวโดยที่ภรรยาของคนเหล่านี้จำต้องกลายเป็นผู้แบกรับภาระรับผิดชอบในครอบครัวแทนผู้ชาย ในอีกด้านหนึ่งพวกนางจะรู้สึกถึงอันตรายจากการที่ตนเองและลูก ๆ ของพวกนางจะติดยาเสพติด เนื่องจากบุคคลติดยาเสพติดนั้นเพื่อที่จะหลุดพ้นออกจากการตำหนิประณามต่างๆ ของผู้อื่นจะหันหน้ามาสู่การทำให้สมาชิกในครอบครัวติดยาเสพติดด้วย ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าทางด้านเศรษฐกิจ การใช้ความรุนแรงกับคู่ภรรยา การบังคับขู่เข็ญภรรยาเพื่อจัดหายาเสพติดให้ตน และความเป็นไปได้ของการเกิดโรค อย่างเช่นโรคเอดส์และโรคตับอักเสบก็จะอาจเกิดขึ้นกับครอบครัวเหล่านี้ได้
เชิงอรรถ :
12.ฟัรฮังก์ มุอีน, ภายใต้คำ “لج” , “ستیزه کردن” และ “لجاج ورزیدن”
13.อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 75
14.ดู : เจะฮ์รอ มัรดอน ดุรูฆ มีกูยัน วะซะนอน เกรเยะฮ์ มีกุนัน, บาร์บารา และ เอเลน พีซ, แปลโดย นาดีด ร่อชีด และ นัซรีน กุลดอร, หน้าที่ 23-50, เตหะราน, ออซีม
15.ฆุร่อรุ้ลหิกัม วะดุร่อรุ้ลกิลัม, อัลดุลวาฮิด ออมะดี, หน้าที่ 464, ฮะดีษที่ 10662, กุม, ดัฟตัรตับลีฆอต อิสลามี
16.เล่มเดิม, ฮะดีษที่ 10664
17.บิฮารุ้ลอันวาร, มุฮัมมัด บากิร มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 103,หน้าที่ 253, เบรุต, มุอัซซะซะฮ์ อัลวิฟาอ์
18.วะซาอิลุชชีอะฮ์, มุฮัมมัด ฮะซัน ฮุรรุ้ลอามิลี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 61, ฮะดีษที่ 5913, กุม, อาลุลบัยติ์
19.หนังสืออ้างอิงเดิม, เล่มที่ 12, หน้าที่ 25, ฮะดีษที่ 15547
20.ฆุร่อรุ้ลหิกัม วะดุร่อรุ้ลกิลัม, ฮะดีษที่ 4507, หน้าที่ 223
21.เล่มเดิม, ฮะดีษที่ 4510
22.เล่มเดิม, ฮะดีษที่ 11007, หน้าที่ 479
23.อัลกุรอานบทอัลนูร โองการที่ 22
24.วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 15, ฮะดีษที่ 20226, หน้าที่ 174
25.อัลกาฟี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 511
26 .อัลกุรอานบทฟุศศิลัต โองการที่ 34
27.นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 124
28.บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 76,ฮะดีษที่ 115, หมวดที่ 84, อัดดิยาซะฮ์ วัลกิยาดะฮ์
29.วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 15, ฮะดีษที่ 25524, หน้าที่ 237
30.อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 7-8
31.อิอ์ติยาด พีชกีรี ยอ ดัรมอนี, ญะลีล อิฟฟะตี, หน้าที่ 8, อินติชาร๊อต นีกอ ระวิช
เขียนโดย : อะอ์ซ็อม นูรี นักวิจัยและครูของสถาบันการศึกษาศาสนาแห่งเมืองกุม
แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ที่มา : สาส์นจากฟากฟ้า
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่. All Right Reserved