ความหมายของการยำเกรง (ตักวา) ในอัลกุรอาน

ความหมายของการยำเกรง (ตักวา) ในอัลกุรอาน

คำว่า “ตักวา” ในสำนวนทางศาสนานั้นหมายถึง การหลีกเลี่ยงและการออกห่างจากทุกการกระทำหรือทุกสิ่งที่บั่นทอนและทำลายการยึดมั่นต่อศาสนาในตัวเราหรือทำให้มันอ่อนแอ และเป็นสื่อของการถูกลงโทษทั้งในโลกนี้และในปรโลก.......

      ในคัมภีร์อัลกุรอาน มีประมาณ 210 อายะฮ์ (โองการ) ที่คำว่า “ตักวา” ได้ถูกนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ โดยที่ทั้งหมดจะถูกใช้งานในหนึ่งจากสี่ความหมายดังต่อไปนี้

ความเกรงกลัวพระเจ้า ดังเช่นในบทอัลฮัชร์ โองการที่ 8

يَا أَيُّهَا النَّاسُ اتَّقُواْ رَبَّكُمُ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! จงยำเกรงพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด”

    และในบทอัชชุอะรออ์ โองการที่ 106

إِذْ قَالَ لَهُمْ أَخُوهُمْ نُوحٌ أَلَا تَتَّقُونَ

“เมื่อนูห์ พี่น้องของพวกเขา ได้กล่าวกับพวกเขา (หมู่ชนของตน) ว่า พวกท่านไม่เกรงกลัว (พระเจ้า) หรือ”

การอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) และการยอมตนเป็นบ่าวของพระเจ้า ดังเช่นในบทอันนะห์ลุ โองการที่ 2

أَنَّهُ لَا إِلَٰهَ إِلَّا أَنَا فَاتَّقُونِ

“แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากข้า ดังนั้นจงยำเกรง (เคารพภักดี) ต่อข้าเถิด”

   และในบทอันนะห์ลุ โองการที่ 52 

أَفَغَيْرَ اللَّهِ تَتَّقُونَ

“อื่นจากอัลลอฮ์กระนั้นหรือ ที่พวกเจ้าเคารพภักดี”

การไม่ละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ดั่งเช่นในบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 189

وَأْتُوا الْبُيُوتَ مِنْ أَبْوَابِهَا وَاتَّقُوا اللَّهَ

“และพวกเจ้าจงเข้าบ้านทั้งหลายจากทางประตูของมันเถิด และจงยำเกรงอัลลอฮ์”

การศรัทธามั่นในเอกานุภาพของอัลลอฮ์และการบริสุทธิ์ใจในอะมั้ล (การกระทำ) ดังตัวอย่างเช่นในบทอัลฮุญุร๊อต โองการที่ 3

أُولئِك اَلَّذِینَ اِمْتَحَنَ اَللَّهُ قُلُوبَهُمْ لِلتَّقْوى

“พวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ได้ทรงทดสอบหัวใจของพวกเขา เพื่อตักวา (หมายถึงความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์เพียงผู้เดียว)”

ความหมายโดยรวมของ “ตักวา”

      คำว่า “ตักวา” ในสำนวนทางศาสนานั้นหมายถึง การหลีกเลี่ยงและการออกห่างจากทุกการกระทำหรือทุกสิ่งที่บั่นทอนและทำลายการยึดมั่นต่อศาสนาในตัวเราหรือทำให้มันอ่อนแอ และเป็นสื่อของการถูกลงโทษทั้งในโลกนี้และในปรโลก หรือทำให้คนเราถูกหักห้ามจากความดีงามและสถานภาพอันสูงส่ง (ดะรอญาต) ในปรโลก

   ท่านมัรฮูมชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี ได้อธิบายถึงความหมายของตักวาไว้เช่นนี้ว่า :

    “ตักวา ในศาสนานั้นหมายถึง การที่คนเราจะระวังรักษาตัวเองจากสิ่งที่ในทัศนะของศาสนาและในหลักการต่างๆ ที่ศาสนากำหนดไว้ ถือว่ามันเป็นความผิด เป็นบาป ชั่วร้ายและน่ารังเกียจ” (ดะฮ์ กุฟต๊อร, หน้าที่ 7-8)

    การระวังรักษาและการปกป้องตนเองจากความชั่วและสิ่งที่เป็นบาปที่ศาสนาเรียกว่า “ตักวา” นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในสองรูปแบบ กล่าวอีกสำนวนหนึ่ง เราสามารถมีตักวาได้สองแบบ : คือ ตักวาที่อ่อนแอ และตักวาที่แข็งแกร่ง

    ตักวาแบบแรก หรือตักวาในระดับที่อ่อนแอนั้น คือการที่คนเราจะระวังรักษาตัวเองจากความแปดเปื้อนของความผิดบาปทั้งหลายได้นั้น เขาจะหนีออกจากสิ่งต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความผิดบาป ตลอดเวลาเขาจะเอาตัวออกห่างจากสภาพแวดล้อมของความชั่ว เหมือนกับบุคคลที่พยายามในการระวังรักษาสุขภาพของตัวเองนั้น เขาจะเอาตัวเองออกห่างจากสภาพแวดล้อมที่มีความป่วยไข้และมีเชื้อโรคและออกห่างจากปัจจัยต่างๆ ที่จะเป็นสื่อถ่ายทอดความป่วยไข้มาสู่ตัวเอง ตัวอย่างเช่น เขาจะไม่เข้าใกล้สภาพแวดล้อมไปด้วยเชื้อโรค หรือเขาจะไม่คบหาสมาคมกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดต่อ

    ตักวาแบบที่สอง ตักวาในระดับที่เข้มแข็งนั้น คือการที่เขาจะเสริมสร้างสภาพความเข้มแข็งขึ้นในจิตวิญญาณของตัวเอง โดยที่มันจะเป็นเกราะคุ้มกันความปลอดภัยด้านจิตวิญญาณและศีลธรรม สมมุติว่าหากเขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสื่อและปัจจัยที่จะนำสู่ความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้าแล้ว สภาพและความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณดังกล่าวจะพิทักษ์คุ้มครองเขาและจะคอยยับยั้งเขาจากความแปดเปื้อนและความชั่วทั้งหลายได้ เหมือนกับบุคคลที่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ไว้ ซึ่งเชื้อโรคทั้งหลายไม่อาจส่งผลกระทบใดๆ ต่อร่างกายของเขาที่จะทำให้เขาป่วยไข้ได้

ความสำคัญของ “ตักวา” ในคำพูดของอิมามอะลี (อ.)

    ส่วนหนึ่งจากคำพูดต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) เกี่ยวกับความสำคัญของ “ตักวา”

إِنَّكُمْ إِلى أَزْوادِ التَّقْوى أَحْوَجُ مِنْكُمْ إِلى أَزْوادِ الدُّنْيا

“แท้จริงท่านทั้งหลายมีความจำเป็นต่อเสบียงแห่งตักวายิ่งกว่าเสบียงของโลกนี้”

عَلَیك بِالتُّقی فَاِنَّهُ خُلْقُ الانبیاء

“ท่านทั้งหลายจงมีตักวา เพราะแท้จริงมันคือจริยธรรมของปวงศาสดา”

ثَوبُ التُّقی اَشرَفُ المَلابِس

“อาภรณ์แห่งตักวานั้น คืออาภรณ์ที่มีเกียรติที่สุด”

 اَلتَّقوی ثَمَرةُ الدینِ و اَمارَةُ الیقین

“ตักวานั้นคือผลของความมีศาสนา และเป็นเครื่องหมายของยะกีน”

(จากหนังสือ ฆุร่อรุ้ลหิกัม)


ที่มา : ส่วนหนึ่งจากคุฏบะฮ์นมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

เรียงเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 880 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25177865
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
3371
38686
42057
24887231
363568
1079962
25177865

จ 23 ธ.ค. 2024 :: 01:35:30