ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เยาวชนนั้นถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดของสังคม เนื่องจากสัญชาตญาณ (ฟิฏเราะฮ์) และธรรมชาติของเยาวชนคนหนุ่มสาวนั้น มีความสะอาดบริสุทธิ์ จึงมีความตื่นตัวและมีชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา ความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของแต่ละสังคมก็ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าและการพัฒนาของเยาวชนคนหนุ่มสาว
เยาวชนเป็นเสมือนแขนที่ทรงพลังในการป้องกันและการสร้างสรรค์ในแต่ละสังคม ทุกๆสังคมของมนุษย์นั้น เยาวชนคนหนุ่มสาวจะเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา พลังและความเจริญก้าวหน้า และจะมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง ด้วยเหตุนี้เอง เยาวชนคนหนุ่มสาวจึงเป็นที่ได้รับความสนใจและคาดหวังเป็นพิเศษของปวงศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าและบรรดานักปฏิรูปสังคม
เมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติ ความต้องการและบุคลิกภาพของเยาวชนในยุคของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ส่วนใหญ่ของบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) จะเป็นผู้ที่มีอายุอยู่ในวัยหนุ่มสาวนี้ เนื่องจากพวกเขามีคุณลักษณะพิเศษต่าง ๆ อาทิเช่น จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ รักความสวยงาม ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว ความคิดสร้างสรรค์ ความซื่อสัตย์ ความรักในเสรีภาพ ความเสียสละและอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะถูกสำแดงในรัฐและการปกครองของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (1)
แต่จำเป็นที่เยาวชนคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่มีความรักความผูกพันต่อท่านอิมาม (อ.) นั้นจะต้องรับรู้ว่า ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านนั้น พวกเขาจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร?
ในบทความนี้เราจะมาพิจารณาดูหน้าที่หลักและสำคัญยิ่ง สี่ประการสำหรับเยาวชนผู้รอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ได้แก่
1.ความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์)
หนึ่งในประเด็นที่สำคัญในการรู้จักอิมามซะมาน (อ.) คือ ความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนา ในคำแนะนำที่มีต่อกุเมล บินซิยาด ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และภูมิปัญญาว่า :
یا کمیلُ ما مِنْ حَرَکةٍ الاّ وَ أنْتَ مُحْتاجٌ فیها إلی مَعْرَفَةٍ
“โอ้กุเมลเอ๋ย! ไม่มีการเคลื่อนไหว (และการกระทำ) ใด ๆ นอกจากเจ้าจำเป็นจะต้องมีความรู้ (และความเข้าใจ) ในมัน” (2)
ประเด็นเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ก็จำเป็นต้องมีความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ บรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวจำเป็นจะต้องทำความรู้จักต่อท่านอิมามแห่งยุคสมัยของตนและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่สุดต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวท่าน
อบูนัศริ์ (คนรับใช้ผู้หนึ่งของท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้พบกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ก่อนหน้าการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่าน) ในครั้งที่เขาได้พบกับท่านอิมาม (อ.) นั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ถามเขาว่า :
“ท่านรู้จักฉันไหม?” เขาตอบว่า : “ใช่ข้าพเจ้ารู้จัก! ท่านคือนายของฉัน และเป็นบุตรของบรรดานายของฉัน” ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า : “จุดประสงค์ของฉันไม่ใช่การรู้จักเช่นนี้” อบูนัศริ์ได้ถามว่า : “แล้วจุดประสงค์ของท่านคืออะไร ท่านจงกล่าวมาเถิด”
ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า :
أَنَا خَاتِمُ الْأَوْصِیَاءِ وَ بِی یَدْفَعُ اللَّهُ الْبَلَاءَ عَنْ أَهْلِی وَ شِیعَتِی
“ฉันคือตัวแทนคนสุดท้าย (ของท่านศาสดา) และโดยสื่อของฉันอัลลอฮ์จะทรงปัดป้องความทุกข์ยาก (บะลาอ์) ไปจากครอบครัวของฉันและจากชีอะฮ์ของฉัน” (3)
การรู้จักท่านอิมาม (อ.) อย่างถูกต้องนั้นจะเป็นแนวทางไปสู่การรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ที่แท้จริงเช่นนี้ต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :
“… เรามีสิทธิเหนือพวกท่านสามประการ คือ การที่พวกท่านจะต้องรู้จักความดีงามของเรา จะต้องปฏิบัติตามเราและจะต้องรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (การมาของมะฮ์ดี) … ” (4)
ดังนั้นในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น การทำความรู้จักต่อท่าน คือกุญแจสำคัญของชีวิตและสถานะการดำรงอยู่ของเรา จำเป็นที่เราจะต้องมีความรู้จักต่ออิมามของตนเอง เพราะถ้าหากเราไม่รู้จักท่าน เราจะเป็นผู้หลงทาง และจะมีชีวิตแบบยุคมืด :
مَنْ ماتَ وَ لَمْ يَعْرِفْ إمامَ زَمانِهِ ماتَ مَيْتَةً جاهِلِيَّةً
“ใครก็ตามที่ตายลง โดยที่ไม่รู้จักอิมาม (ผู้นำ) แห่งยุคสมัยของตน เขาตายในสภาพญาฮิลียะฮ์ (ความไม่รู้ในเรื่องศาสนา)” (5)
นอกจากนี้ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็ได้กล่าวเช่นกันว่า :
لايقبلُ اللهُ مِنَ العِبادِ عَمَلاً اِلّا بِمَعْرِفَتنا
“อัลลอฮ์จะไม่ยอมรับการกระทำจากปวงบ่าว นอกจากด้วยการมีความรู้จักต่อเรา” (6)
2.ความรัก
ความรักนั้น คือผลพวงที่เกิดจากความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และการรู้จักต่อสิ่งหนึ่ง และยิ่งความรู้และการรู้จักของคนเราที่มีต่อสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นมากเพียงใด ความรักของเขาที่มีต่อสิ่งดังกล่าวก็จะเพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น
ถ้าหากมนุษย์เป็นผู้ที่มีความใฝ่ฝันที่สูงส่งแล้ว เขาจะมุ่งแสวงหาผู้เป็นที่รักที่แท้จริง หากเรามีความรักและความผูกพันต่อท่านอิมามซะมาน (อ.) แล้วจะต้องมีสีสันและกลิ่นไอของผู้เป็นที่รักอยู่ในตัวเอง เพราะท่านอิมามซะมาน (อ.) นั้น รักเรามากถึงขั้นที่ท่านจะปัดป้องความทุกข์ยาก (บะลาอ์) ออกไปจากเราและจะภาวนาขอพร (ดุอาอ์) ให้แก่เรา จะเป็นสิ่งที่ดีงามยิ่งเสียกระไร ที่ความรักดังกล่าวนี้จะเป็นความรักของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เราในฐานะที่มีความรักและความผูกพันต่อท่านอิมาม (อ.) เราก็จะอธิษฐานวิงวอนขอให้ท่านมีสุขภาพที่ดีและให้พระผู้เป็นเจ้าทรงรีบเร่งอนุมัติการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่าน ไม่ใช่ว่าเฉพาะในยามที่เราประสบกับปัญหาและความทุกข์ยากเราจะบากหน้าไปหาท่าน เราจะต้องใช่ชีวิตในลักษณะที่จะทำทำให้หัวใจของท่านรู้สึกปิติยินดีในตัวเรา ใครก็ตามที่กล่าวอ้างความรักและความเป็นมิตรต่อบรรดาผู้เป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้า (เอาลิยาอุลลอฮ์) เขาจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามความต้องการต่าง ๆ ของบุคคลเหล่านั้น
3.การเชื่อฟัง :
หนึ่งในความสวยงามและความสุขของเยาวชนคนหนุ่มสาว คือการใช้ชีวิตอยู่ในหนทางของการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะเป็นสื่อทำให้พวกเขาได้รับการอนุเคราะห์และความเมตตาจากพระองค์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า :
إنَّ اللّه يُحِبُّ الشّابَّ الَّذى يُفنى شَبابَهُ فى طاعَةِ اللّه
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตวัยหนุ่มสาวของตนไปในการเชื่อฟังอัลลอฮ์” (7)
จะต้องเข้าใจว่าการเชื่อฟังผู้ปกครองของพระผู้เป็นเจ้า (วะลียุลลอฮ์) นั้นก็เช่นเดียวกับการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า และใครก็ตามที่กล่าวอ้างความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่ออิมามซะมาน (อ.) จำเป็นที่เขาจะต้องอุตสาห์พยายามในการเชื่อฟังด้วย
ในบทซิยาเราะฮ์ “อัลญามิอะฮ์ อัลกะบีเราะฮ์” ได้กล่าวว่า :
مَنْ أَطَاعَکُمْ فَقَدْ أَطَاعَ اللَّه
“ใครก็ตามที่เชื่อฟังพวกท่าน แน่นอนเขาได้เชื่อฟังอัลลอฮ์แล้ว”
ท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อัลอันซอรี ได้เล่าว่า : “ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวกับฉันว่า :
يَا جَابِرُ، أَيَكْتَفِي مَنِ انْتَحَلَ التَّشَيُّعَ أَنْ يَقُولَ بِحُبِّنَا أَهْلَ الْبَيْتِ؟ فَوَاللَّهِ، مَا شِيعَتُنَا إِلَّا مَنِ اتَّقَى اللَّهَ وَأَطَاعَهُ، وَمَا كَانُوا يُعْرَفُونَ يَا جَابِرُ إِلَّا بِالتَّوَاضُعِ، وَالتَّخَشُّعِ، وَالْأَمَانَةِ، وَكَثْرَةِ ذِكْرِ اللَّهِ، وَالصَّوْمِ، وَالصَّلاةِ، وَالْبِرِّ بِالْوَالِدَيْنِ، وَالتَّعَاهُدِ لِلْجِيرَانِ مِنَ الْفُقَرَاءِ وَأَهْلِ الْمَسْكَنَةِ، وَالْغَارِمِينَ، وَالأَيْتَامِ، وَصِدْقِ الْحَدِيثِ، وَتِلاوَةِ الْقُرْآنِ، وَكَفِّ الأَلْسُنِ عَنِ النَّاسِ إِلا مِنْ خَيْرٍ،
“โอ้ญาบิร! คนที่อ้างตนว่าปฏิบัติตามแนวทางชีอะฮ์นั้น เพียงพอหรือที่เขาจะกล่าวว่ารักเรา อะฮ์ลุลบัยติ์เพียงเท่านั้น? ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ไม่ใช่ชีอะฮ์ของเรา นอกจากผู้ที่มีความยำเกรงอัลลอฮ์และเชื่อฟังพระองค์เท่านั้น โอ้ญาบิร! และพวกเขาจะไม่ถูกรู้จัก นอกเสียจากด้วยการมีความอ่อนโยน ความนอบน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ (อะมานะฮ์) การรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย การถือศีลอด การนมาซ การทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง การเอาใจใส่ต่อเพื่อนบ้านผู้ยากไร้ คนยากจนขัดสน ผู้มีหนี้สิน เด็กกำพร้า มีวาจาสัจ อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและยับยั้งวาจาจากเพื่อนมนุษย์ นอกจากสิ่งที่ดีงาม” (8)
ดังนั้นเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เป็นผู้รอคอยการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น นอกจากการแสดงความรักและความผูกพันต่ออัลลอฮ์และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้วยังจำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากเขาได้กระทำบาป ก็จะต้องไม่สิ้นหวังจากความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากประตูของการสำนึกผิดและการกลับตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) นั้นยังคงเปิดอยู่เสมอ ดังที่ท่านอิมามซะมาน (อ.) ได้วิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งให้ทรงประทานความสำเร็จ (เตาฟีก) ในการสำนึกผิดและการกลับตัวกลับใจ ให้แก่บรรดาเยาวชนคนหนุ่มว่า :
وَ تَفَضَّلْ …. عَلَى الشَّبَابِ بِالْإِنَابَةِ وَ التَّوْبَةِ
“(โอ้พระผู้เป็นเจ้า!) และได้โปรดประทานความสำเร็จแก่เยาวชน ในการกลับตัวกลับใจและการสารภาพผิดด้วยเถิด” (9)
เยาวชนที่ยึดแนวทางของการเชื่อฟังด้วยการละวางจากกิเลสตัณหา เขาได้เริ่มตนการโบยบินสู่โลกอันสูงส่งและจะเป็นเหมือนเช่นมวลมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ดังเช่นที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า : “โอ้เยาวชนที่ละทิ้งจากอารมณ์ใคร่ของตนเอ๋ย! เธอจะได้อยู่ ณ ที่ฉันนั้นเหมือนกับบางส่วนจากหมู่ทวยเทพ”. (10)
กิจกรรมและการเคลื่อนไหว :
บทบาทสำคัญของเยาวชนนั้นก็คือการที่พวกเขาจะต้องกระตือรือร้น ดำเนินกิจกรรมการเคลื่อนไหวและทันยุคทันสมัยอยู่ในเวทีของของเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) อยู่ตลอดเวลา เพราะเนื่องจากบรรดาศัตรูของความเชื่อเกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้น พวกเขาทำงานอย่างเอาจริงเอาจังมาก และเกี่ยวกับกรณีนี้เป็นที่คาดหวังจากบรรดาเยาวชนของอิหร่านมากกว่าทั้งหมด เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์พวกเขามีสถานะที่เป็นพิเศษกว่าใคร ๆ และในอนาคตก็จะเป็นเช่นเดียวกันนี้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามซะมาน (อ.) ที่เป็นชาวอิหร่านไว้ โดยที่ท่านได้แตะไปที่ไหล่ของท่านซัลมาน อัลฟาริซี และกล่าวว่า : “จุดประสงค์จากบรรดาผู้ช่วยเหลือของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือผู้ร่วมแผ่นดินของบุรุษผู้นี้”
จากนั้นท่านกล่าวว่า :
لَوْ کَانَ الدِّینُ مُعَلَّقًا بِالثُّرَیَّا لَتَنَاوَلَهُ رِجَالٌ مِنْ أَبْنَاءِ فَارِسَ
“หากศาสนาถูกแขวนอยู่ที่ดาวลูกไก่ แน่นอนยิ่งปวงบุรุษจากลูกหลานแห่งเปอร์เซียจะเป็นผู้ได้รับมันมา” (10)
ดังนั้น บรรดาผู้ช่วยเหลือและผู้ที่มีความรักผูกพันต่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) นั้น พวกเขาจะต้องยกระดับมุมมองและวิสัยทัศน์ต่างๆ ของตนที่มีต่อการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า การรู้จักอิมามและโลกแห่งการดำรงอยู่ของตน เนื่องจากแผนงานของท่านอิมามซะมาน (อ.) นั้นคือ แผนงานระดับโลก
ดังนั้นบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านก็จำเป็นจะต้องมีมุมมองที่เปิดกว้างและระดับโลกเช่นเดียวกัน และจะต้องวางแผนกลยุทธ์ที่ถูกต้องเหมาะสมในทิศทางของการจัดเตรียมพื้นฐานสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) และการปฏิวัติโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ในอีกด้านหนึ่ง จำเป็นที่พวกเขาจะต้องเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญ ความเสียสละ ความอดทน ความมีจิตใจที่มั่นคงและแน่วแน่ให้เกิดขึ้นในตนเอง
เราขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดทรงประทานความสำเร็จ (เตาฟีก) แก่เราทุกคนในการฝึกฝนตนเองให้มีคุณลักษณะและคุณธรรมของบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) เพื่อที่ว่าในขั้นแรกจะได้เป็นผู้ที่มีความศรัทธาที่แท้จริงต่อท่าน และในขั้นที่สองเราจะเป็นผู้ช่วยเหลือของท่าน และในขั้นสุดท้ายเราจะใช้ชีวิตอยู่เยี่ยงชีวิตของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) อินชาอัลลอฮ์ (หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์)
แหล่งอ้างอิง :
1)- ดูเพิ่มเติมจากหนังสือ “กุรอาน มะฮ์ดี วะญะวอน”
2)- ตุหะฟุลอุกูล , หน้าที่ 171
3)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 52 , หน้าที่ 30
4)- อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 173
5)- กะมาลุดดีน , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 409
6)- อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 142 , บาบอันนะวาดิร
7)- มีซานุลฮิกมะฮ์ , เรย์ ชะฮ์รี , เล่มที่ 5 , หน้าที่ 9
8)- อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 74
9)- อัลมิศบาฮุ , อัลกัฟอะมี , หน้าที่ 280
10)- กันซุลอุมมาล , เล่มที่ 15 , หน้าที่ 785 , ฮะดีษที่ 43106
11)- เมาซูอะฮ์ อะฮาดีษ อัลอิมามิลมะฮ์ดี (อ.ญ.) , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 3744
แปลและเรียบเรียง : มุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่