ความประเสริฐของท่านหญิงคอดีญะฮ์ บินติคุวัยลิด (อ.)
ความประเสริฐของท่านหญิงคอดีญะฮ์ บินติคุวัยลิด (อ.)

คุณลักษณะที่สูงส่งประการหนึ่งของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) คือการเป็นสตรีผู้มีความคิดที่ยาวไกลและมีความลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาและความชาญฉลาดในการปฏิบัติของท่านนั้นอยู่ในระดับที่สูงส่งอย่างยิ่ง ซึ่งเราสามารถรับรู้ในประเด็นดังกล่าวนี้ได้จากการที่ท่านหญิงตัดสินใจเลือกท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาเป็นสามีคู่ชีวิตในอนาคตของท่าน ท่ามกลางผู้คนที่ร่ำรวยที่มาสู่ขอท่าน

สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าท่านผู้อ่านนี้ คือส่วนหนึ่งจากความประเสริฐของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) สตรีผู้ที่เสียสละและอดทนอดกลั้นในอิสลาม

ส่วนหนึ่งจากความประเสริฐของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.)

1. การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

     คุณลักษณะที่สูงส่งประการหนึ่งของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ) คือการที่ท่านเป็นสตรีที่มีความคิดที่ลึกซึ้งและยาวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาและความชาญฉลาดในทางปฏิบัติของท่านนั้นอยู่ในระดับที่สูงส่งอย่างยิ่ง เราสามารถรับรู้ในประเด็นดังกล่าวนี้ได้จากการที่ท่านหญิงได้ตัดสินใจเลือกท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาเป็นสามีคู่ชีวิตในอนาคตของตนเองจากท่ามกลางบุคคลที่ร่ำรวยที่มาสู่ขอท่าน

     ท่านหญิงคอดีญะฮ์คือสตรีที่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและมีคุณลักษณะอันสะอาดบริสุทธิ์และมีจิตใจที่ใฝ่หาในสิ่งที่เป็นความดีงามและเรื่องของจิตวิญญาณ โดยที่ความเชื่อมั่นที่มีสัจธรรมและความจริงและการมีจิตใจโน้มเอียงไปยังความคุณงามความดีและความสมบูรณ์ต่างๆ นั้นคือคุณลักษณะอันเป็นเฉพาะของตัวตนของท่าน นับจากช่วงวัยสาวของท่านนั้น นับว่าท่านนั้นเป็นหนึ่งจากบรรดาสตรีผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดของฮิญาซและอาหรับ ท่านคือสตรีที่ทำการค้าขายเป็นบุคคลแรกของโลกอาหรับและเป็นหนึ่งจากผู้ประกอบอาชีพการค้าขายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแผ่นดินฮิญาซ แม้กระทั่งก่อนการแต่งงานกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เลื่องลืออยู่ก่อนแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าชื่อเสียงของท่านไม่เพียงแต่ถูกกล่าวขานถึงในประวัติศาสตร์อิสลามเพียงเท่านั้น แต่ทว่าในประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับและเผ่าชนต่าง ๆ ของอาหรับ และในผลงานและข้อเขียนของบรรดานักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่อิสลามก็ได้กล่าวขานถึงความยิ่งใหญ่และความประเสริฐของท่านเอาไว้เช่นกัน

      อิบนุอิสหาก นักบันทึกประวัติศาสตร์โบราณได้ยอมรับเช่นกันว่า : ฐานภาพทางจิตวิญญาณและจริยธรรมที่น่าเคารพที่ไม่มีใครเสมอเหมือนของคอดีญะฮ์นั้นไปถึงขั้นที่ได้รับความกรุณาเป็นพิเศษจากพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นวันหนึ่ง ญิบรออีลในขณะที่นำวะฮ์ยู (วิวรณ์) ลงมายังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “โอ้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จงนำสลาม (ความสันติสุข) ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะไปมอบให้กับคอดีญะฮ์ด้วยเถิด” ท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) ก็ได้กล่าวกับคอดีญะฮ์ว่า “โอ้ คอดีญะฮ์เอ๋ย ญิบระอีลได้นำสลามของพระผู้เป็นเจ้ามายังเธอด้วย” และเมื่อนั้นท่านหญิงคอดีญะฮ์ได้กล่าวตอบว่า “พระผู้เป็นเจ้าพระองค์คือสลาม (ความสันติสุข) สลาม (ความสันติสุข) นั้นมาจากพระองค์ และขอให้สลาม (ความสันติสุข) นั้นพึงมีแด่ญิบรออีลด้วยเถิด”

      ตามทัศนะที่เป็นที่ยอมรับนั้น ก่อนที่ท่านจะแต่งงานกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านหญิงคอดีญะฮ์ได้แต่งงานมาแล้วสองครั้ง และสามีทั้งสองของท่านคือ อะตีก บินอาอิซ และฮินด์ บินบะนาซ ทั้งสองจากท่านหญิงไปด้วยเพราะการเสียชีวิต เนื่องจากการสูญเสียสามีคนที่สองไปทำให้ท่านหญิงมีมุมมองในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป และตัดสินใจว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปท่านจะใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังและจะไม่ยอมมอบตนและทรัพย์สินของตนไปอยู่ในอำนาจของใครอีกต่อไป ซึ่งบางทีการตัดสินใจเช่นนี้อาจเกิดมาจากสภาพทางจิตวิญญาณอันเป็นเฉพาะและความคิดที่สูงส่งจากภายในที่สะอาดบริสุทธิ์ของท่าน และคิดว่าไม่มีใครที่เหมาะสมในการที่จะมาเป็นคู่ครองของท่านได้อีก และไปถึงขั้นที่ว่าท่านมีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระและอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่โดยลำพังโดยไม่ขึ้นอยู่กับใครและไม่พึ่งพาอาศัยผู้ใด

     แต่ทว่าด้วยกับคุณลักษณะอันเป็นพิเศษที่ไม่มีใครเสมอเหมือนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ทำลายความคิดเช่นนี้ออกไปจากท่านหญิง จิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ ความคิดที่เป็นเลิศและแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่สูงส่งของศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ดึงดูดใจท่านหญิงอย่างมาก จนเป็นเหตุทำให้ท่านหญิงล้มเลิกความคิดก่อนหน้านี้ของตนเอง และละทิ้งจากความปรารถนาที่จะอยู่อย่างอิสระตามลำพังนั้นไป และตัดสินใจว่าหลังจากนี้การดำเนินชีวิตของตนจะต้องเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตของบุรุษผู้นี้ตลอดไป

     การแต่งงานในครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ทรัพย์สมบัติของคอดีญะฮ์ในตอนนั้นเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว ทรัพย์สมบัติของสตรีผู้มั่งคั่ง และมีความชาญฉลาดผู้นี้มีมากมาย อยู่ในฐานะเศรษฐีนีอันดับหนึ่งของกุเรช และบุคลอย่างเช่น อบูญะฮัล อุกบะฮ์ บินอาบีมุอีฏ กลายเป็นผู้ที่ไม่มีอะไรเลยเมื่อเทียบกับท่านหญิง

     ความหลงใหลในความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจได้ และความบริสุทธิ์ของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มีมากถึงขั้นที่สามารถเอาชนะจิตใจของสตรีผู้มีความมั่งคั่งที่สุดของอาหรับได้ โดยที่ตัวของนางเองอาสาในการเริ่มที่จะเสนอการแต่งงานกับชายหนุ่มผู้สูงส่งและไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนผู้นี้ วันหนึ่งท่านได้เชื้อเชิญท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ไปพบและในการพบปะกันครั้งนี้ ความลับที่มีอยู่ในจิตใจของนางก็ได้ถูกเปิดเผย และนางได้พูดในสิ่งที่คิดไว้อย่างชัดเจนว่า :

یَابْنَ عَمّ! اِنّی قَدْ رَغِبْتُ فِیکَ لِقِرابَتِکَ مِنّی وَ شَرَفِکَ فی قَوْمِکَ وَ اَمانَتِکَ عِنْدَهُمْ وَ حُسْنِ خُلْقِکَ وَ صِدْقِ حَدِیثِکَ

     “โอ้บุตรชายของลุง! แท้จริงฉันมีความมุ่งหวังในตัวท่านเนื่องในความเป็นเครือญาติของท่านที่มีต่อฉันและเนื่องด้วยความมีเกียรติของท่านในท่ามกลางหมู่ชนของท่าน และความเป็นที่ไว้วางใจ ความมีจริยธรรมที่งดงามและความสัจจริงในคำพูดของท่าน ณ พวกเขาซึ่งท่านได้รักษาความสะอาดบริสุทธิ์ของตนเองไว้ไม่ให้แม้แต่ฝุ่นละอองที่เล็กน้อยที่สุดจากความโสมมทั้งหลายมากล้ำกลายท่านได้ ท่านมีมารยาทที่งดงาม ซื่อสัตย์ และมีสัจจะวาจา ท่านไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อสิ่งใดในการพูดความจริง และท่านไม่ยอมสูญเสียสถานะของความเป็นมนุษย์ของท่านไปต่อสิ่งใด คุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ และลักษณะที่โดดเด่นและดีงามของท่านนี้ได้สร้างความพอใจให้แก่ฉันอย่างมาก และตอนนี้ฉันมีความปรารถนาที่จะเจรจาเสนอความเป็นคู่ครองและเพื่อนคู่คิดต่อท่าน ถ้าหากท่านเห็นด้วยกับข้อเสนอของฉัน ฉันพร้อมในทุกเวลาที่เห็นสมควรและจะดำเนินพิธีการแต่งงานขึ้น" (1)

ประโยคข้างต้นชี้ให้เห็นได้อย่างดีว่าความรักความปรารถนาของสตรีท่านนี้ที่มีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)นั้นไม่ได้มาจากความรักความลุ่มหลงของอารมณ์ใคร่แต่ประการใด แต่ทว่าเนื่องมาจากการรู้จักและความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับคุณลักษณะของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) แต่บรรดาบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเช่นนี้ซึ่งก็คือบรรดาสตรีชาวกุเรชกลุ่มหนึ่งที่ได้ตำหนิท่านหญิงคอดีญะฮ์อย่างรุนแรง จนกระทั่งพวกนางกล่าวว่า”นางนั้น ทั้ง ๆ ที่มีฐานะอันสูงส่ง มีอำนาจและทรัพย์สมบัติมากมาย แต่กลับไปแต่งงานกับลูกกำพร้าของอบูฏอลิบซึ่งเป็นชายหนุ่มที่ยากจนและต่ำต้อยเช่นนี้”

     คอดีญะฮ์ ถือว่าการเลือกของนางนั้นเป็นการเลือกที่มาจากความรู้ความเข้าใจ นางจึงมีความหนักแน่นและยืนหยัดอยู่บนการเลือกของตน และในการโต้ตอบต่อคำพูดที่โง่เขลาและไม่รู้ของพวกนางนั้น นางได้กล่าวว่า ”โอ้สตรีทั้งหลาย ฉันได้ยินมาว่าบรรดาสามีของพวกเธอและตัวของพวกเธอเอง ตำหนิการแต่งงานของฉันกับมุฮัมมัด(ซ็อลฯ) และกล่าวหาฉันต่างๆนาๆ ฉันขอถามตัวของพวกเธอว่าในหมู่พวกเธอมีบุคคลอย่างเช่นมุฮัมมัดอยู่หรือไม่? ในเมืองชาม เมืองมักกะฮ์ และภูมิภาคโดยรอบนี้พวกเธอพบเห็นบุคคลใดที่มีคุณลักษณะเหมือนกับเขาในด้านความประเสริฐ และความมีจริยธรรมที่งดงามบ้างหรือไม่? ฉันแต่งงานกับเขาเนื่องจากคุณลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้และฉันได้พบเห็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเขานั้นเป็นสิ่งที่ดีงามยิ่ง”(2)

     ด้วยกับการผ่านพ้นไปของกาลเวลา ชัยชนะต่าง ๆ ของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)มีอย่างต่อเนื่อง การแผ่ขยายของศาสนาอิสลาม และบรรดาลูกๆอันเป็นที่ระลึกของท่านคอดีญะฮ์ นั่นก็คือ ฟาตีมะฮ์อัซซะฮ์รอ(อ.) ซึ่งอิมามมะอ์ซูม(ผู้บริสุทธิ์)ทั้ง 11 ท่านนั้นได้สืบเชื้อสายมาจากนาง จำเป็นจะต้องกล่าวคำยกย่องสรรเสริญในการเลือกที่งดงามยิ่งของท่านหญิงคอดีญะฮ์(อ.)และการมีความคิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งของนาง ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้อยู่ดูผลแห่งการเลือกที่งดงามยิ่งของตนก็ตาม

2.ความศรัทธาที่มั่นคงและการยอมรับอิสลามที่แข็งแกร่ง

     ผลแห่งความมีสายตาที่แหลมคมของท่านหญิงคอดิญะฮ์ที่ทำให้นางได้ตัดสินใจเลือกท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)เป็นคู่ชีวิตในอนาคตของตนเอง และกลายเป็นสื่อนำสู่ความศรัทธา(อีหม่าน)และการยอมรับอิสลามของนาง และทำให้นางได้รับฉายานามว่า เป็นสตรีมุสลิมคนแรก
อิบนุอับดุลบิรร์ ได้รายงานด้วยสายสืบของตนจากบิดา คืออบีรอเฟี๊ยะอ์ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ได้กระทำนมาซในวันจันทร์(วันที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดา) และในช่วงท้ายของวันนั้นเองที่ท่านหญิงคอดิญะฮ์(อ.)ได้เริ่มการนมาซ (3)

    และท่านอิมามอลี (อ.) เองก็ได้ยืนยันถึงการศรัทธาของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ไว้ดังนี้ :

لَمْ یَجْمَعْ بَیْتٌ واحِدٌ یَؤْمَئِذٍ فیِ اْلاِسْلامِ غَیْرَ رَسُولِ اللّه وَ خَدیجَةَ وَ اَنَا ثالِثُهُمْ. اَری نُورَ الْوَحْیِ وَ الرِّسالَةِ وَ اَشُمُّ ریحَ النُّبُوَّةِ

“ในวันนั้นไม่มีบ้านใดที่ถูกรวมเข้าไว้ในอิสลาม นอกจากท่าศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านหญิงคอดิญะฮ์และฉันคือบุคคลที่สามของพวกเขา ฉันได้เห็นรัศมีแห่งวะห์ยู (วิวรณ์) และสาส์น (ริซาละฮ์ )และฉันได้สัมผัสกลิ่นอายแห่งความป็นศาสดา” (4)

    ท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ได้ยืนหยัดอยู่บนความศรัทธาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และเสียสละในหนทางของอิสลาม และนางไม่เคยละเลยจากการปกป้องผู้นำแห่งอิสลามแม้เพียงเสี้ยววินาทีเดียว

3.ท่านคือสตรีที่ประเสริฐที่สุดทั้งในโลกนี้และในปรโลก

สตรีที่มีความประเสริฐที่สุดในโลกนั้นมีสี่ท่าน ดังที่อิบนิอะซีรได้รายงานจากอานัส บินมาลิกว่าท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้กล่าว่า :

خَیْرُ نِساءِ الْعالَمینَ مریمُ، آسِیةُ، خدیجةُ وَ فاطِمةُ

“สตรีที่ประเสริฐที่สุดของสากลโลกนั้นคือ มัรยัม อาซียะฮ์ คอดีญะฮ์ และฟาฏิมะฮ์(อ)” (5)

    ท่านเหล่านี้คือผู้ซึ่งได้ตระเตรียมเสบียงแห่งสมบูรณ์ไว้ในโลกนี้ และในสวรรค์พวกท่านก็อยู่ในระดับแนวหน้าเช่นเดียวกัน และในท่ามกลางท่านเหล่านั้นก็คือ ท่านหญิงคอดีญะฮ์(อ.) อักรอมะฮ์ได้ รายงานจาก อิบนิอับบาสว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ได้กล่าวว่า :

اَفْضَلُ نِساءِ اَهْلِ الْجَنَّةِ خَدیجةُ بِنْتُ خُوَیْلَدٍ وَ فاطِمةُ بِنْتُ مُحَمَّدٍ وَ مَرْیَمُ ابْنَةُ عِمْرانَ وَ آسِیَةُ بِنْتُ مُزاحِمٍ اِمْرَأةُ فِرْعَوْنَ

“สตรีชาวสวรรค์ที่ประเสริฐที่สุดนั้น คือ คอดีญะฮ์ บุตรสาวของคุวัยลิด ฟาตีมะฮ์ บุตรสาวของมุฮัมมัด(ซ็อลฯ) มัรยัม บุตรสาวของอิมรอนและอาซียะฮ์ บุตรสาวของมะซอฮิมภรรยาของฟิรอูน” (6)

4.ภรรยาที่ประเสริฐที่สุดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

     ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีภรรยาหลายคน แต่ทว่าในด้านสถานภาพของพวกนางนั้นมีความแตกต่างกัน หนึ่งในบรรดาภรรยาเหล่านั้น ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือภายหลังจากการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านได้สร้างความไม่สบายใจและความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อย่างมากมาย และแสดงการเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ตลอดเวลา และพฤติกรรมดังกล่าวนี้เองได้กลายเป็นสาเหตุทำให้ฐานะภาพของนางตกต่ำลง แต่บางคนจากพวกนาง อย่างเช่นท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ตลอดช่วงการดำรงอยู่ของตนนั้นได้พยายามที่จะย่างก้าวไปในหนทางของการเชื่อฟังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ท่าน และผลก็คือว่า ในท่ามกลางบรรดาภรรยาทั้งหมดนั้นท่านหญิงคอดิญะฮ์ (อ.) ได้รับฐานะภาพที่โดดเด่นที่สุด

     ท่านมัรฮูมเชคซุดูกได้รายงานจากท่านอิมามซอดิก(อ) ซึ่งกล่าวว่า : 


تَزَوَّجَ رَسُولُ اللّهِ بِخَمْسَ عَشَرَ اِمْرَأَةً اَفْضَلُهُنَّ خَدیجَةُ بِنْتُ خُوَیْلَدٍ

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้แต่งงานกับสตรี 15 คน บุคคลที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกนางคือคอดีญะฮ์ บุตรสาวของคุวัยลิด” (7)

5. มารดาของท่านหญิงซะฮ์รอ (อ.)

   ตามตัวบทของคัมภีร์อัลกุรอาน บรรดาภรรยาของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้นคือ มารดาทางจิตวิญญาณของบรรดามุอ์มิน (อุมมุลมุอ์มินีน) :

وَ اَزْواجُه اُمَّهاتُهُمْ

“บรรดาภรรยาของเขา(ศาสดา)คือมารดาของพวกเขา(บรรดามุอ์มิน)” (8)

    และท่านหญิงคอดีญะฮ์นั้น ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่สูงส่งที่สุดของโองการนี้ และความโชคดีนี้ก็เป็นโชคผลของท่านคอดีญะฮ์(อ.)ในท่ามกลางบรรดาภรรยาทั้งหมดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั่นก็คือว่า อิมาม 11 ท่านได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากเชื้อสายของนาง โดยผ่านท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วฐานะภาพเช่นนี้ ต้องอาศัยความคู่ควรและเหมาะสมอันสูงส่ง

    และในท่ามกลางบรรดาบุตรของท่านศาสดา(ซ็อลฯ) นั้น ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ(อ.)มีฐานะตำแหน่งที่โดดเด่น ทั้งนี้เนื่องจากว่านางเป็นสตรีที่มีความบริสุทธิ์จากความผิดบาป(อิซมะฮ์) (9) และตำแหน่งอิมาม (อิมามะฮ์) และผู้สืบทอด (วิซอยะฮ์) ภารกิจของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้นก็มาจากเชื้อสายของนาง

6. ความเอื้ออาทรและการให้ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน

ความมั่งคั่งร่ำรวยของท่านหญิงคอดีญะฮ์ในยุคนั้นเป็นที่ล่ำลือกันไปทั่ว ทรัพย์สมบัติของสตรีผู้มั่งคั่งและเฉลียวฉลาดผู้นี้มีมากมายถึงขนาดที่ว่าถูกจัดให้อยู่ในอันดับหนึ่งของชาวกุเรช แม้แต่อบูญะฮัล และอุกบะฮ์บินอบีมุอีฏ เมื่อเทียบกับนางถือว่าเป็นผู้ที่ไม่มีทรัพย์สมบัติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

   บรรดานักประวัติศาสตร์ได้นับคำนวณทรัพย์สมบัติของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ไว้ดังนี้ คือ :

1. อูฐจำนวนหลายพันตัวซึ่งใช้ในการบรรทุกสินค้าของนาง

2. โดมสีเขียวที่ถักทอมาจากไหมและผ้าไหมที่ขึงคลุมอยู่บนหลังคาบ้านของนาง สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยมั่งคั่งของนาง และบรรดาคนยากจนที่ได้เห็นสัญลักษณ์นี้จะมายังบ้านของนางเพื่อขอความช่วยเหลือ

3. มีทาสชายและหญิงจำนวนสี่ร้อยคนที่จะคอยรับใช้และกระทำกิจการงานต่าง ๆ ให้แก่นาง (10)

ภายหลังจากแต่งงานกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมดของตนให้อยู่ในอำนาจการใช้สอยของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และนางได้กล่าวกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า :

اَلْبَیْتُ بَیْتُكَ وَ اَنَا اَمَتُكَ

“บ้านนี้คือบ้านของท่านและฉันก็เป็นทาสรับใช้ของท่าน” (11)

     วะรอเกาะฮ์ บินนูฟิล ซึ่งเป็นลุงของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ภายหลังจากเหตุการณ์นี้เขาได้มาที่บริเวณใกล้ ๆ อาคารกะบะฮ์และได้ยืนอยู่ระหว่างบ่อน้ำซัมซัมกับมะกอมของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และกล่าวด้วยเสียงดังว่า “โอ้ หมู่ชนชาวอาหรับเอ๋ย! จงรู้ไว้เถิดว่าคอดีญะฮ์ต้องการให้พวกเจ้าเป็นสักขีพยานว่านางได้มอบทรัพย์สินทั้งหมดของนาง ไม่ว่าจะเป็น ทาสชายและหญิง ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ปศุสัตว์ สินสอดทองหมั้นและของขวัญต่าง ๆ ให้แก่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และทั้งหมดนั้นคือของขวัญที่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้รับมาจากนาง และการกระทำเช่นนี้ของคอดีญะฮ์ (อ.) เนื่องมาจากความรักและความผูกพันของนางที่มีต่อมุฮัมมัด(ซ็อลฯ) พวกท่านจงเป็นสักขีพยานในสิ่งนี้เถิด” (12) และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สมบัติทั้งหมดเหล่านี้อย่างเต็มที่ในการแผ่ขยายอิสลามและเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ของมัน (13)

7. ความอดทนอดกลั้นที่ไม่มีใครเสมอเหมือน

    บุคคลเยี่ยงท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ที่เจริญเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางความมั่งคั่ง ร่ำรวยนั้น โดยธรรมชาติแล้วจะต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างถนุถนอมและไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากสักเท่าไร แต่ท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) นั้นแม้จะใช้ชีวิตอยู่ในท่ามกลางปัจจัยอำนวยสุขต่างๆมากมาย แต่ภายหลังจากการแต่งงานและการศรัทธามั่นต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นางได้เตรียมพร้อมตนเองสำหรับการอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบากต่างๆ อดทนต่อการบีบคั้นต่างๆของบรรดาผู้ตั้งภาคีชาวมักกะฮ์ การตำหนิของเครือญาติ การปิดล้อมทางด้านเศรษฐกิจในหุบเขาอบีฏอลิบและอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยางการปิดล้อมทางด้านเศรษฐกิจได้สร้างความยากลำบากให้กับนางอย่างมากมาย และแม้จะอยู่ในวัยชราภาพ (63-65 ปี) ก็ตาม นางได้แสดงให้เห็นถึงความอดทนความอดกลั้นอย่างเต็มที่ บินตุชชาฏี ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า คอดีญะฮ์อยู่ในวัยที่ความอดทนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนักสำหรับนางและไม่ใช่เป็นบุคคลที่เคยชินกับการดำเนินชีวิตที่ยากลำเค็ญ แต่กระนั้นก็ตามด้วยกับวัยที่แก่ชราของนางก็ยังสามารถอดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆและด้วยผลของการปิดล้อมทางเศรษฐกิจในหุบเขาที่ได้เกิดขึ้นนั้นทำให้นางต้องจบชีวิตลงในที่แห่งนั้น

8. ผู้สนับสนุนภารกิจการประกาศสาส์นและมีความรักต่อตำแหน่งผู้นำ (อิมามัต)

    สตรี 4 ท่านในโลกนี้ที่ไปถึงยังตำแหน่งแห่งความสมบูรณ์ (กะม้าล) และถูกรู้จักในฐานะสตรีผู้เป็นแบบอย่างและมีความประเสริฐสูงสุด นั่นคือ อาซียะฮ์ มัรยัม คอดีญะฮ์ และฟาฏิมะฮ์ (อ.) และสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือการที่สตรีทั้งสี่ท่านนี้มีคุณลักษณ์ที่เหมือนกันในการปกป้อง และการเชื่อฟังต่อผู้นำในยุคสมัยของตน ท่านหญิงอาซียะฮ์ ได้ปกป้องจากการเป็นผู้นำและการประกาศสาส์นของท่านศาสดามูซา (อ.) จนวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านหญิงมัรยัมอดทนอดกลั้นต่อการดูถูกเหยียดหยามและความทุกข์ยากต่างๆนาๆเพื่อให้การประกาศสาส์นของท่านศาสดาอีซา(อ.)เกิดความมั่นคงแข็งแกร่ง ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ได้คุ้มครองและปกป้องจากอิมาม(ผู้นำ)ของตน คือท่านอะ ลีบินอบีฏอลิบ (อ.) และในที่สุดท่านก็เป็นชะฮีด (เสียชีวิตลง) ในหนทางของอิมามัตและวิลายัต

     และท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) นั้น นางคือผู้สนับสนุนและผู้ปกป้องที่ซื่อสัตย์ต่อการประกาศสาส์นของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อย่างแท้จริง นางได้มอบชีวิตและทรัพย์สินไปในการประกาศสาส์นนี้ นางเป็นทั้งผู้ที่ยึดมั่นต่อศาสนทูตและเป็นผู้ค้ำจุนอิมามัต (ความเป็นผู้นำ) เป็นทั้งผู้สนับสนุนและเคียงบ่าเคียงไหล่ในการประกาศสาส์นและเป็นทั้งผู้ที่รักและให้การสนับสนุนตำแหน่งผู้นำ (อิมามัต) อยู่ตลอดเวลา

     ในกรณีของการปกป้องการประกาศสาส์นนั้นเราได้ชี้ให้เห็นไปแล้วในส่วนต่างๆก่อนหน้านี้ และในส่วนนี้จะขอชี้ให้เห็นแค่เพียงประเด็นเดียว ในสรวงสวรรค์นั้น ท่านศาสดาอาดัม (อ.) ได้มองเห็นการดำเนินชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) และท่านได้กล่าวขึ้นว่า “หนึ่งในความเหนือกว่าของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ที่มีเหนือฉันนั้น ก็คือภรรยาของเขาที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเขาในการดำเนินภารกิจตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่ภรรยาของฉันกลับยุยงฉันให้ฝ่าฝืนพระบัญชาของพระองค์” (15)

     ส่วนในเรื่องของความรักและความผูกพันที่ท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) มีต่อท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น ท่านมัรฮูมมัจญ์ลิซีได้รายงานไว้เช่นนี้ว่า “ภายหลังจากที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แต่งงานกับท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) (และการถือกำเนิดของท่านอะลี (อ.)) ท่านศาสดาได้บอกกล่าวถึงความรักที่ท่านมีต่อท่านอะลี (อ.) และนับจากนั้นเป็นต้นมาท่านหญิงคอดีญะฮ์ก็แสดงออกถึงความรักอย่างมากมายต่อท่านอิมามอะลี (อ.) และนางจะให้คนรับใช้นำเสื้อผ้า เครื่องประดับ ทาสหญิงและเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นไปมอบให้ท่านอิมามอะลี (อ.) อยู่เสมอ จนกระทั่งประชาชนจะพากันพูดว่า “อาลี (อ.) นั้นคือน้องชายของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และเป็นผู้ที่รักที่สุดของเขาและเขาก็ถือได้ว่าเป็นแก้วตาดวงใจของคอดีญะฮ์ (อ.) ... ความกรุณาและความรักของคอดีญะฮ์ (อ.) นั้นถูกส่งมอบไปยังบ้านของอบูฏอลิบทั้งในยามเช้าและยามเย็น” (16)

     ในช่วงเวลาแห่งการถือกำเนิดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) นั้น ได้ทำให้ท่านหญิงคอดีญะฮ์รู้จักกับวิลายัต (อำนาจการปกครอง) ของท่านอิมามอะลี (อ.) มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ (อ.) บุตรสาวของนาง ภายหลังจากการถือกำเนิดขึ้นมาและภายหลังจากการกล่าวปฏิญาณถึงความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นศาสดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) นางได้กล่าวดังนี้ว่า :

وَ اَنَّ بَعْلِی سیّدُ اْلاَوْصِیاء وَ وُلْدِی سادَةُ الاَْسْباط

“และสามีของข้าฯ คือนายของบรรดาวะซี (ผู้สืบทอด) และลูกหลานของข้าฯ คือนายของหมู่ชน” (17)

     นอกเหนือไปจากนี้ท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ยังได้แสดงการยอมรับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอิมามอะลี (อ.) และลูกหลานของท่านอย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลานั้นการเป็นผู้นำ (อิมามัต)ของท่านยังไม่บรรลุสู่ขั้นตอนในทางปฏิบัติเลยก็ตาม

    ท่านมัรฮูมมะฮัลลาตี ได้อ้างคำรายงานจากท่านมัรฮูมมัจญ์ลีซี ซึ่งท่านกล่าวว่า : วันหนึ่งท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เรียกท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) มาหาท่านและกล่าวว่า : นี่คือญิบรออีล พร้อมกับกล่าวว่า สำหรับอิสลามนั้นมีเงื่อนไขต่าง ๆ คือ :

1.การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

2.การยอมรับในความเป็นศาสดาของปวงศาสดา

3.การยอมรับในวันแห่งการฟื้นคืนชีพและการปฏิบัติตามหลักศาสนบัญญัติ

4.การเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้ปกครองกิจการงาน (อุลิลอัมร์) (คืออะลี (อ.)) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์จากลูกหลานของเขา และการแสดงออกในความเป็นศัตรูต่อบรรดาศัตรูของพวกเขา”

    ท่านหญิงคอดีญะฮ์จึงได้แสดงการยอมรับต่อพวกท่านเหล่านั้น (18)

    กรณีเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ (อิมามัต) ของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ.) นั้น ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านหญิงคอดีญะฮ์ว่า :

هُوَ مَولاكِ وَ مَوْلَی الْمُؤْمِنینَ وَ اِمامُهُمْ بَعْدی 

“เขาคือนายของเธอและนายของบรรดาผู้ศรัทธา และเป็นอิมาม (ผู้นำ) ของพวกเขาภายหลังจากฉัน”

    จากนั้นท่านได้วางมือของท่านลงบนมือของอิมามอะลี (อ.) และท่านหญิงคอดียะฮ์ได้วางมือของท่านลงบนมือของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และเช่นนี้เองที่การให้สัตยาบันต่อวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ถูกกระทำขึ้น (19)


เชิงอรรถ :

(1) ซีร่อตุนนะบะวียะฮ์, อิบนุฮิชาม, เล่มที่ 1, หน้าที่ 201 ; ตารีคอัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 521

(2) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 16, หน้าที่ 81 และ เล่มที่ 103, หน้าที่ 374

(3) อัลอิซตีอาบ, เล่มที่ 2, หน้าที่ 419

(4) ตารีคอัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 2, หน้า 208 ; ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอะบิลฮะดีด, เล่มที่ 13, หน้า 197

(5) อัลคิซ็อล, เชคซุดูก, หมวดคิซอลุลอัรบะอะฮ์

(6) อุซุดุลฆอบะฮ์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 437 ; อัลอิซตีอาบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 1821

(7) อัลคิซ็อล, เชคซุดูก, หมวดคิซอลุลอัรบะอะฮ์

(8) อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 5

(9) ) อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 33

(10) อัลวะกออิอ์ วัลฮะวาดิษ, มุฮัมมัด บากิร มัลบูบี, หน้าที่ 13 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 17, หน้าที่ 309 และเล่มที่ 16, หน้าที่ 22

(11) หนังสืออ้างอิงเดิม

(12) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 16, หน้าที่ 75-77

(13) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 19, หน้าที่ 63

(14) คอดีญะฮ์ กุบรอ นะมูเนฮ์ ซัน มุญาฮิด มุซันมอน

(15) ฏอบะก็อต อิบนุซะอัด, เล่มที่ 1, หน้าที่ 134

(16) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 37, หน้าที่ 34

(17) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้าที่ 3

(18) ริยาฮัยนุชชะรีอะฮ์, มะฮัลลาตี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 209

(19) หนังสืออ้างอิงเดิม


ที่มา : เว็บไซต์ tebyan

แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 569 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25128904
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
30124
36652
241673
24814297
314607
1079962
25128904

ส 21 ธ.ค. 2024 :: 21:33:37