ความกล้าหาญ
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงบรรยายถึงคุณลักษณะเฉพาะของบรรดาเหล่าบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้า และบรรดาผู้ประกาศเชิญชวนสู่แนวทางแห่งสัจธรรม พระองค์ได้นับว่าความกล้าหาญและความไม่หวั่นกลัวต่อสิ่งใดนั้น คือส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะพิเศษที่เด่นชัดที่สุดสำหรับพวกเขา โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า
الَّذِينَ يُبَلِّغُونَ رِسالاتِ اللَّهِ ويَخْشَوْنَهُ ولا يَخْشَوْنَ أحَدًا إلّا اللَّهَ وكَفى بِاللَّهِ حَسِيبًا
“บรรดาผู้ซึ่งประกาศสาสน์ของอัลลอฮ์ พวกเขาเกรงกลัวพระองค์ และพวกเขาไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์เท่านั้นทรงเพียงพอแล้วที่จะเป็นผู้คิดคำนวณ” (1)
ทำนองเดียวกันนี้ ในซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง พระองค์ทรงถือว่าบรรดามุญาฮิด (ผู้ต่อสู้) ในหนทางของอัลลอฮ์เป็นบุรุษที่มีจิตใจกล้าหาญ ผู้ซึ่งไม่เคยรู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยในหนทางแห่งการปกป้องสัจธรรมและ อุดมคติอันสูงส่งแห่งอิสลาม และไม่เคยท้อแท้ต่อการตำหนิประณามและการหยามเหยียดของบรรดาคนชั่วแต่อย่างใด และบรรดาผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) และบรรดาศัตรูก็ไม่อาจทำให้พวกเขาเกิดความลังเลใจได้ และด้วยจิตวิญญาณที่แข็งแกร่งและความกล้าหาญที่ไม่มีใครเหมือนนี่เอง ที่พวกเขาจะทำให้บัลลังก์ของบรรดาทรราชแห่งยุคสมัยต้องสั่นสะท้าน โดยที่พวกเขาเหล่านั้นมีหัวใจผูกพันอยู่กับความกรุณาและความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า
يُجَاهِدُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَلَا يَخَافُونَ لَوْمَةَ لَائِمٍ ذَلِكَ فَضْلُ اللَّهِ يُؤْتِيهِ مَنْ يَشَاءُ وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ
“พวกเขาจะต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ และจะไม่หวาดกลัวการตำหนิประณามของผู้ตำหนิประณามคนใด นั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่พระองค์จะทรงประทานมันให้แก่ผู้ที่พระองค์ ทรงประสงค์ และอัลลอฮ์นั้นทรงไพศาลยิ่งอีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง” (2)
แบบอย่างของบรรดาผู้กล้าหาญ
ท่านอบาอับดิลลาฮ์ อัลฮุเซน (อ.) คือแบบอย่างที่ชัดเจนที่สุดของบรรดานักเผยแผ่ศาสนาและผู้ประกาศสาสน์แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่มีความกล้าหาญ ซึ่งท่านได้แสดงให้เห็นถึงความมีจิตใจและจิตวิญญาณอันสูงส่ง ออกมาโดยคำพูดและการกระทำที่ยิ่งใหญ่ของตน ในที่นี้เราจะเปิดเพียงบางส่วนจากหน้าประวัติศาสตร์แห่งความกล้าหาญของมหาบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้าท่านนี้
ความกล้าหาญในการพูด
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) นับจากช่วงวัยเด็กถึงวัยแรกหนุ่ม ท่านเป็นที่ถูกรู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นผู้ที่มีวาจาคำพูดคมคายชัดเจน และเป็นผู้ที่องอาจและกล้าหาญ คุณลักษณะอันน่ายกย่องสรรเสริญนี้ท่านได้รับมรดกสืบทอดมาจากท่านศาสนทูตแห่ง อัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ผู้เป็นตา และจากท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้เป็นบิดาของท่าน ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ขณะที่ยังอยู่ในช่วงวัยเด็กนั้น วันหนึ่งในช่วงแรกของของการเป็นผู้ปกครองของคอลีฟะฮ์ที่สอง ท่านได้นั่งอยู่ในมัสยิดของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ท่านเห็นอุมัร อิบนุค็อฏฏอบนั่งอยู่บนมิมบัร (ธรรมมาสน์) และกำลังกล่าวถึงโองการต่อไปนี้แก่ประชาชน
ٱلنَّبِىُّ أَوْلَىٰ بِٱلْمُؤْمِنِينَ مِنْ أَنفُسِهِمْ
“ศาสดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบรรดาผู้ศรัทธาชน ยิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง” (3)
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เมื่อได้ยินคำพูดที่ขัดแย้งกับการกระทำของคอลีฟะฮ์ ท่านจึงได้ลุกขึ้นจากที่นั่งและกล่าวด้วยความกล้าหาญว่า
انْزِلْ عَنْ مِنْبَرِ أَبِي رَسُولِ الله لَا مِنْبَرِ أَبِيكَ
“จงลงมาจากมิมบัรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ บิดาของฉันเถิด นี่ไม่ใช่มิมบัรของบิดาของท่าน”
อุมัร อิบนุค็อฏฏอบ รู้สึกตกใจเมื่อได้ยินการคัดค้านที่มีท่วงทำนองที่รุนแรงของท่านอิมาม (อ.) พร้อมกับกล่าวว่า
“ท่าน พูดถูกแล้ว ใช่แล้วนี่คือมิมบัรของบิดาท่าน ไม่ใช่มิมบัรของบิดาฉัน มีใครสอนคำพูดนี้แก่ท่านหรือ อะลี บินอะบีฏอลิบ บิดาของท่านใช่หรือไม่?”
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตอบว่า
“ขอสาบานต่อชีวิตของฉันว่า หากในกรณีนี้ฉันเชื่อตามที่บิดาของฉันสอน ฉันก็ไม่ได้กระทำในสิ่งที่ผิดพลาด เพราะว่าท่านคือผู้ชี้นำทาง (ฮาดี) และฉันคือผู้ได้รับการชี้นำทาง(จากพระผู้เป็นเจ้า)”
จากนั้นท่านได้กล่าวต่อไปว่า “โอ้ อิบนุค็อฏฏอบเอ๋ย หากประชาชนได้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนและปกป้องพวกเราอะฮ์ลุลบัยต์แล้ว ท่านก็ไม่อาจมีชัยเหนือวงศ์วานของท่านศาสดามุฮัมมัด และไม่อาจที่จะขึ้นไปนั่งบนมิมบัรของพวกเขาได้ ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงตอบแทนโทษทัณฑ์ในสิ่งที่สาสมแก่ท่าน และโปรดสอบสวนอย่างเข็มงวดในอุตริกรรมที่ท่านได้ก่อขึ้น”
คอลีฟะฮ์อุมัร ลงมาจากมิมบัรด้วยความโกรธจัด และได้ไปพบท่านอิมามอะลี (อ.) พร้อมด้วยผู้ติดตามกลุ่มหนึ่ง และกล่าวกับท่านว่า
“โอ้ อะบัลฮะซันเอ๋ย วันนี้ฮุเซนบุตรชายของท่านได้กระทำในสิ่งที่ฉันไม่เคยพบมาก่อน ในมัสยิดของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) เขาพูดเสียงดังกับฉัน จนเป็นเหตุทำให้บรรดาอันธพาลและชาวมะดีนะฮ์ลุกฮือขึ้นต่อต้านฉัน” (4)
วีรกรรมอันกล้าหาญของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในสงครามซิฟฟีน
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ ด้วยความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของท่านนั้นทำให้ทั้งมิตรและศัตรูต้อง รู้สึกพิศวง วีรกรรมความกล้าหาญต่างๆ ของท่านอิมาม (อ.) ในสงครามญะมั้ล สงครามซิฟฟีนและครามนะฮ์รอวาน เหล่านี้เป็นประจักษ์พยานที่พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นได้เป็นอย่างดีในเรื่องนี้ อับดุลลอฮ์ บิน เกซ รายงานเกี่ยวกับความกล้าหาญต่างๆ ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า
“ในสงครามซิฟฟีน ฉันได้อยู่ในท่ามกลางกองทัพของท่านอิมามอะลี (อ.) และอยู่เคียงข้างท่านอิมาม (อ.) อบูอัยยูบ ซะละมี หนึ่งในบรรดาผู้บัญชาการรบของมุอาวิยะฮ์ได้นำกองกำลังของตนจู่โจมเข้าไปยัง แม่น้ำฟุรอตและปิดกั้นมันจากพวกเรา
กองกำลังทหารของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ร้องทุกข์ต่อท่านเนื่องจากความหิวกระหายที่รุนแรง เพื่อที่จะพิชิตแม่น้ำฟุรอตกลับคืนมา ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งไป แต่พวกเขาก็ต้องกลับมาด้วยความสิ้นหวัง
ท่านอิมามอะลี (อ.) รู้สึกไม่สบายใจอย่างมากในสิ่งที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้นเองท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า
أَمْضي إِلَيْهِ يا أَبَتاهُ؟
"โอ้พ่อจ๋า จะให้ข้าพเจ้าไปตีชิงทางน้ำคืนไหม?”
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า "โอ้ลูกชายของพ่อ จงไปเถิด"
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) พร้อมกับบุคคลจำนวนหนึ่งได้จู่โจมเข้าไปยังกองทหารของฝ่ายศัตรู และได้ขับไล่พวกเขาให้ออกห่างไปจากแม่น้ำฟุรอตได้สำเร็จ ท่านจึงตั้งค่ายพัก ณ ที่นั่น และมอบหมายให้คนจำนวนหนึ่งคอยพิทักษ์ปกป้องแหล่งน้ำนั้นไว้
จากนั้นท่านได้กลับไปหาบิดาของท่านและแจ้งข่าวดีถึงชัยชนะของตนเอง ท่านอิมามอะลี (อ.) เมื่อได้ยินว่าทางน้ำถูกเปิดแล้วท่านถึงกับร้องไห้ มีผู้กล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ว่า “โอ้ ท่านอะลีเอ๋ย นี่คือชัยชนะครั้งแรกในสงครามครั้งนี้ซึ่งเกิดจากฝีมือของท่านฮุเซน (อ.) แล้วทำไมท่านต้องร้องไห้ด้วย” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ใช่ ถูกต้องแล้ว แต่ฉันหวนรำลึกถึงภาพเหตุการณ์ในวันอาชูรอ ซึ่งฮุเซนบุตรชายของฉันจะต้องถูกสังหาร (เป็นชะฮีด) ในสภาพที่เป็นผู้กระหายน้ำ และเนื่องจากความอธรรมที่โหดร้ายนั้น ม้าของเขาจะส่งเสียงร้องและกล่าวว่า ความวิบัติจงประสบกับประชาชาติผู้ซึ่งได้เข่นฆ่าสังหารบุตรชายของบุตรีแห่งท่านศาสนทูตของพวกเขา” (5)
การยึด (มุซอดะเราะฮ์) ทรัพย์สินของพวกทรราช
ตลอดเวลานั้นท่านอิมาม (อ.) มักจะแสดงออกต่อบรรดาศัตรูของอิสลาม บรรดาคนชั่ว และพวกที่ชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ด้วยกับความห้าวหาญและความเด็ดขาดเสมอ และเมื่อใดก็ตามที่ท่านรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ ท่านจะพิทักษ์ปกป้องสัจธรรมด้วยความกล้าหาญ อย่างเต็มความสามารถ และท่านจะถือว่าบรรดาผู้หลงผิดนั้นไม่มีความน่าหวาดกลัวใดๆ เรื่องราวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสามารถและความกล้าหาญของท่านอิมาม (อ.) ในการเผชิญกับบรรดามารร้าย (ฏอฆูต)
ในปีฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 54 หนึ่งในบรรดากองคาราวานขนย้ายทรัพย์สินของรัฐบาล ซึ่งขนย้ายทรัพย์สินจากแผ่นดินเยเมนผ่านเส้นทางของมะดีนะฮ์เพื่อนำไปส่งมอบ ให้แก่มุอาวิยะฮ์ ท่านอิมามฮุ เซน (อ.) ออกคำสั่งแก่บรรดาสาวกของท่านให้สกัดกองคาราวานนั้นไว้ และนำเอาทรัพย์สินเหล่านั้นมาแบ่งสรรแจกจ่ายระหว่างผู้ยากจนขัดสนจากบนีฮาชิมและบุคคลอื่นๆ และในช่วงเวลานั้นเองที่ท่านได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งส่งไปยังมุอาวิยะฮ์ซึ่ง มีเนื้อความดังนี้คือ
أمَّا بَعدُ ؛ فَإنَّ عِيْرا مرَّت بِنا مِنَ اليَمنِ ، تَحمِلُ مالاً وَحُلَلاً وَعَنْبَراً وَطِيْباً إليكَ لِتُودِعَها خَزائِنَ دِمشقَ ، وَتَعُلُّ بها بَعدَ النَّهَلِ بَني أبيكَ ، وَإنِّي احتَجتُ إليها فَأَخَذتُها ، والسَّلام
“หลังจากการสรรเสริญและการสดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า แท้จริงมีกองคาราวานหนึ่งที่เดินทางผ่านมาทางเรา เพื่อที่จะขนทรัพย์สมบัติ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหอมและน้ำหอมต่างๆ จากเยเมนไปยังท่าน เพื่อมอบมันเข้าสู่กองคลังของดามัสกัส และหลังจากนั้นท่านก็จะทำให้บรรดาผู้หื่นกระหายจากลูกหลานของบิดาของท่านได้ดื่มด่ำในทรัพย์สมบัติเหล่านั้น แต่ฉันเองมีความต้องการทรัพย์สินเหล่านี้ ดังนั้นฉันจึงยึดมันไว้ วัสสลาม”
การเคลื่อนไหวในเชิงปฏิวัติและด้วยความกล้าหาญของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นหัวหน้าบรรดาเสรีชนของโลกนี้ ได้สร้างความไม่พอใจและความโกรธแค้นให้แก่มุอาวิยะฮ์ เขาได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งของเขาไปยังท่านอิมาม (อ.) เพื่อข่มขู่และเตือนท่านถึงผลลัพธ์ต่างๆ จากการกระทำดังกล่าว (6)
ในอีกตัวอย่างหนึ่ง จากการเคลื่อนไหวในเชิงปฏิวัติของท่านอิมามฮุเซน (อ.) บนเส้นทางมุ่งหน้าสู่แผ่นดินกัรบะลาและในตำบลตันอีมนั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ยึดทรัพย์สินอันมีค่ามากมายจากกองคาราวานหนึ่งซึ่งกำลังจะมุ่งไปสู่เมืองชามเพื่อนำทรัพย์สินนั้นไปมอบให้แก่ยะซีด
ท่านอิมาม (อ.) ได้ให้ค่าจ้างแก่เจ้าของคาราวานอูฐนั้นอย่างสมบูรณ์ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม (7)
ทายาทที่แท้จริงของผู้เป็นบิดา
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือทายาทผู้สืบทอดความกล้าหาญและความองอาจเด็ดเดี่ยวอย่างแท้จริงจากผู้เป็นบิดาของท่าน คือ ท่านอิมามอะลี บิน อบีฏอลิบ (อ.) มหาบุรุษแห่งสนามญิฮาดและการต่อสู้ผู้นี้ได้พรรณนาถึงจิตวิญญาณแห่งการยืนหยัดอันสูงส่งของตนเองไว้ในหนังสือ “นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์” เช่นนี้ว่า
وَاللّهِ لَوْ تَظَاهَرَتِ الْعَرَبُ عَلَى قِتَالِي لَمَا وَلَّيْتُ عَنْهَا ، وَلَوْ أَمْكَنَتِ الْفُرَصُ مِنْ رِقَابِهَا لَسَارَعْتُ إِلَيْهَا
“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ มาตรแม้นว่าชาวอาหรับทั้งมวลต่างช่วยเหลือกันที่จะสังหารฉัน แน่นอนฉันเองก็จะไม่หันหลังหนีไปจากพวกเขา และหากมีโอกาสเป็นไปได้ที่ (ฉัน) จะทำสงครามกับพวกเขาแล้ว แน่นอนฉันก็จะรีบรุดในสิ่งนั้น” (8)
ในวันอาชูรอ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ และท่านได้ฟาดฟันกองทัพของศัตรูด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของนักต่อสู้ที่มีความเด็ดเดี่ยว และไม่มีผู้ใดสามารถยืนหยัดต้านทานท่านได้ ใน ขณะการสู้รบนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้แสดงให้เห็นถึงความหาญกล้าทางจิตวิญญาณและความยิ่งใหญ่ของจิตใจและความรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) และความศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าอันสูงส่งของท่าน ด้วยการรำพึงรำพันบทกวีต่างๆ เพื่อปลุกขวัญของฝ่ายตนข่มขวัญฝ่ายศัตรู ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้จู่โจมไปยังข้าศึกจากทางด้านซ้ายและด้านขวา พร้อมกับกล่าวว่า
أَنَا الْحُسَيْنُ بْنُ عَلِيّْ آلَيْتُ أَنْ لَا أَنْثَنِي
أَحْمِيْ عِيَالَاتِ أَبِيْ أَمْضِيْ عَلَىْ دِيْنِ النَّبِي
“ข้า คือ ฮุเซน บุตรชายของอะลี ข้าขอสาบานว่าข้าจะไม่ยอมก้มหัว (ให้เหล่าผู้อธรรม)
ข้าจะปกป้องครอบครัวของบิดาของข้า ข้าจะย่างก้าวไปบนศาสนาของท่านศาสดาตลอดไป”
หนึ่งในผู้บัญชาการทหารของยะซีดซึ่งมีนามว่า “ตะมีม บินเกาะห์ฏอบะฮ์” ได้ออกมายืนเผชิญหน้ากับท่านอิมาม (อ.) และกล่าวว่า “โอ้ บุตรของอะลีเอ๋ย ท่านจะแสดงความเป็นศัตรูของตนเองต่อยะซีดไปถึงไหน?”
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวตอบว่า “ฉันมาเพื่อทำสงครามกับพวกท่านก่อน หรือว่าพวกท่านได้บีบบังคับเพื่อทำสงครามกับฉัน ฉันปิดเส้นทางต่อพวกท่านหรือ หรือว่าพวกท่านได้ปิดเส้นทางต่อฉัน? พวกท่านสังหารพี่น้องและลูกหลานของฉัน (จนเป็นชะฮีด) และขณะนี้ระหว่างฉันและพวกท่านนั้น ดาบจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด”
ผู้บัญชาการทหารของยะซีดกล่าวต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) อย่างอุกอาจและลำพองตนว่า “โอ้ ฮุเซน เจ้าอย่าได้พูดสิ่งใดมากไปกว่านี้เลย จงเข้ามาใกล้ๆ เถิด เพื่อข้าจะได้ประจักษ์ถึงความกล้าหาญของเจ้า”
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ควบม้าพุ่งทะยานไปข้างหน้าประหนึ่งดั่งสายฟ้าแลบ และฟาดดาบของท่านลงไปบนต้นคอของผู้บัญชาการทหารผู้โอหังผู้นั้น จนกระทั่งทำให้ศีรษะของเขากระเด็นไปยังทิศทางหนึ่ง การเคลื่อนไหวไปมาของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงและความหวาดกลัวต่อกองทัพของฝ่ายศัตรู จนกระทั่ง “ยะซีด อับฏอฮี” ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งจากบรรดาผู้บัญชากองทัพของฝ่ายศัตรู ต้องตระโกนขู่ตะคอกบรรดาชาวกูฟะฮ์ว่า “ทหารทั้งกองทัพกำลังจะหนีคนเพียงคนเดียวกระนั้นหรือ?”
ยะซีด อับฏอฮี ก้าวออกไปข้างหน้าเพื่อปลุกขวัญและกำลังใจให้แก่กองทัพ และประกาศความพร้อมของตนเองที่จะต่อสู้กับท่านอิมาม (อ.) บรรดาทหารของฝ่ายศัตรูเมื่อได้เห็นเขาออกมาข้างหน้าก็รู้สึกดีใจเนื่องจาก เขาเป็นที่รู้จักกันดีในความกล้าหาญชาญชัยและการสู้รบแบบตัวต่อตัว ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า “เจ้ารู้จักฉันดีแล้วหรือถึงได้ออกมาสู่สนามรบอย่างไม่สะทกสะท้านถึงเพียงนี้”
ยะซีด อับฏอฮี ได้เริ่มการโจมตีโดยไม่สนใจใยดีต่อคำพูดของท่านอิมาม (อ.) และท่านอิมาม (อ.) เองก็ไม่ได้ให้ความปลอดภัยใดๆ กับเขาอีกต่อไป และด้วยกับการปกป้องจากการโจมตีของเขาแล้วนั้น ท่านอิมาม (อ.)ได้ฟาดดาบลงไปบนศีรษะของเขา จนทำให้ร่างที่ไร้วิญญาณของเขาต้องร่วงลงสู่พื้นดิน (9)
เมื่ออุมัร อิบนุซะอัด มองเห็นความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่ไม่มีใครเหมือนของท่านอะบาอับดิลลาฮ์ อัลฮุเซน(อ.) ที่ได้สังหารข้าศึกลงไปคนแล้วคนเล่า และได้ทำให้ฝ่ายศัตรูต้องถอยร่นไปจากทุกทิศทุกทาง ทำให้เขามีความรู้สึกว่ากองทัพของเขาอาจไม่สามารถต้านทานการโจมตีของท่านอิ มามฮุเซน (อ.) ได้อีกต่อไป เขาจึงต้องขู่ตะคอกบรรดาทหารของตนเองว่า
الوَيلُ لَكُم، أتَدرونَ مَن تُقاتلونَ؟ هذَا ابنُ قَتّالِ العَرَبِ، فَاحمِلوا عَلَيهِ مِن كُلِّ جانِبٍ
“ความวิบัติจงมีแด่พวกเจ้า พวกเจ้ารู้ไหมว่าพวกเจ้ากำลังสู้รบอยู่กับใคร นี่คือบุตรของนักฆ่าแห่งอาหรับ ดังนั้นพวกเจ้าจงโจมตีเขาจากทุกทิศทุกทาง”
ภายหลังจากการออกคำสั่งนี้ นักแม่นธนูจำนวนสี่พันคนของฝ่ายศัตรูได้กำหนดเอาท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นเป้าลูกธนูของตน และได้ยิงลูกธนูเข้าใส่ท่านประหนึ่งดังห่าฝน อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็จู่โจมเข้าไปยังค่ายพักทั้งหลาย เมื่อเห็นเช่นนั้นท่านอิมามฮุเซน (อ.) หัวหน้าของปวงอิสระชนจึงได้ตะโกนขึ้นว่า
يا شيعَةَ آلِ أَبي سُفْيانَ! إِنْ لَمْ يَكُنْ لَكُمْ دينٌ، وَكُنْتُمْ لا تَخافُونَ الْمَعادَ، فَكُونُوا أَحْرارًا في دُنْياكُمْ
“โอ้ ชีอะฮ์ของวงศ์วานแห่งอบีซุฟยานเอ๋ย หากพวกเจ้าไม่เชื่อมั่นต่อศาสนา และพวกเจ้าไม่กลัวต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพแล้ว อย่างน้อยที่สุดในโลกนี้พวกเจ้าก็จงเป็นเสรีชนเถิด”
ชิมร์ ได้กล่าวว่า “โอ้ ฮุเซนเอ๋ย เจ้ากำลังพูดอะไรหรือ?”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวขึ้นว่า
أَنَا الَّذي أُقاتِلُكُمْ، وَتُقاتِلُوني، وَالنِّساءُ لَيْسَ عَلَيْهِنَّ جُناحٌ، فَامْنَعُوا عُتاتَكُمْ عَنِ التَّعَرُّضِ لِحَرَمي ما دُمْتُ حَيًّا
“ฉัน คือ ผู้ที่สู้รบกับพวกเจ้า ส่วนบรรดาสตรีนั้นพวกนางไม่มีความผิดใดๆ ดังนั้นตราบที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ เจ้าจงห้ามบรรดาผู้ละเมิดของพวกเจ้าจากการล่วงละเมิดต่อครอบครัวของฉันเถิด” (10)
ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ได้ชี้ถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) โดยกล่าวพรรณนาถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า
فلما رأوك ثابت الجاش غير خائف ولا خاش، نصبوا لك غوائل مكرهم وقاتلوك بكيدهم وشرهم
“เมื่อกองทัพของกูฟะฮ์เห็นท่านมีหัวใจที่กล้าแกร่งและไม่มีความหวาดกลัวใดๆ (และไม่สามารถต่อสู้กับท่านอย่างสุภาพบุรุษได้) พวกเขาจึงได้ใช้แผนการที่เลวทรามต่อท่าน และสู้รบกับท่านด้วยเล่ห์เหลี่ยมและความชั่วร้ายของพวกเขา” (11)
แหล่งอ้างอิง
(1) ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ : อายะฮ์ที่ 39
(2) ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ : อายะฮ์ที่ 54
(3) ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ : อายะฮ์ที่ 6
(4) อัลอิห์ติยาจญ์, เล่มที่ 2, หน้า 14 (ด้วยการสรุป)
(5) มะดีนะตุลมะอาญิซ, เล่มที่ 3, หน้า 139
(6) นาซิคุตตะวารีค, เล่มที่ 1, หน้าท 195 ; ฮะยาตุลอิมามุลฮุเซน (อ.), เล่มที่ 2, หน้า 232
(7) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้า 289
(8) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ริซาละฮ์ อันดับที่ 45
(9) มะอาลิซซิบฏ็อยน์ , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 30
(10) อัลอะวาลิม, อัลอิมามุลฮุเซน (อ.), หน้า 293 ; อัลลุฮูฟ, หน้า 71 ; มะนากิบ อาลิอบีฏอลิบ, เล่มที่ 3, หน้า 258
(11) อัลมิซารุลกะบีร, มุฮัมมัด บินมัชฮะดี, หน้า 503
แปลและเรียบเรียงโดย เชคมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ